บันไดสู่อเมริกันเกมส์ : ตีแผ่ความจริงอีกด้านที่มืดมนของกีฬามหา'ลัยอเมริกา | Main Stand
รากฐานสำคัญของ "อเมริกันเกมส์" อุตสาหกรรมกีฬาและความบันเทิงที่คนทั่วโลกหลงรัก มีที่มาจากจากรั้วมหาวิทยาลัย
ด้วยโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาให้ เด็กอเมริกันผู้ปรารถนาอยากเข้าสู่ทุกลีกอาชีพในประเทศ ต้องผ่านการคัดกรองด่านแรกจาก NCAA (NATIONAL COLLEGIATE ATHLETICS ASSOCIATION) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่คอยทำหน้าควบคุมการแข่งขัน ดูแลส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสู่สนามจริง
Photo : www.thedenverchannel.com
กีฬาระดับมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกา จึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชม และกลายเป็นจุดหมายสำหรับเยาวชนทุกคนที่ต้องการอยากเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งอเมริกันเกมส์ เพราะนี่คือบันไดก้าวใหญ่ที่พวกเขาจะได้เปลี่ยนชีวิตไปสู่สร้างรายได้ก้อนโต และมีชื่อเสียงดังระดับโลก
แต่บนโลกทุนนิยมที่ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ หลังม่านกีฬามหา'ลัย ในอเมริกา กลับซ่อนไปด้วยรอยมืดดำ, เอารัดเอาเปรียบ, ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่สะท้อนความจริงอีกด้านซึ่งไม่ได้สวยงามเหมือนฉากหน้า
ต้นตอปัญหา
ทุกประเภทกีฬาในระดับมหาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส หรือ กีฬาอะไรก็แล้วแต่ ต้องอยู่ภายใต้การจัดของ NCAA หรือ NATIONAL COLLEGIATE ATHLETICS ASSOCIATION องค์กรที่ดูแลภาพรวมของตลอดตั้งแต่ปี 1906 โดยเป้าหมายหลักคือการ "ปกป้องเยาวชนจากการแข่งขันที่อันตรายและแสวงหาผลประโยชน์ในเวลานั้น"
ต่อมาในปี 1955 ผู้อำนวยการอย่าง วอลเตอร์ ไบเออร์ส ได้ตั้งกฎข้อแรกที่มีความสำคัญสุดขึ้นมา นั่นคือ ห้ามนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยรับค่าจ้างหรือเงินสนับสนุนในการลงทำการแข่งขันกีฬาทุกประเภท โดยให้สาเหตุใว้ว่า "นักกีฬาเหล่านี้ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ แต่เป็นเพียงแค่มือสมัครเล่น"
Photo : www.wbur.org
กฎข้อนี้ถูก NCAA กำชับอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้นักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยทุกคน ไม่สามารถรับเงินหรือค่าจ้างจากสถาบัน และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังรับรายได้จากบุคคลภายนอก หรือสปอนเซอร์ไม่ได้อีกด้วย
ส่วนทาง NCAA มีหน้าที่เก็บเงินทั้งหมดจากตั๋วแข่งขัน ของที่ระลึก ลิขสิทธิการถ่ายทอดสด รวมถึง สปอนเซอร์ แบบเต็ม ๆ จำนวนเงินที่เข้าองค์กรในแต่ละปี พุ่งสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
แต่บุคคลในองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลรายรับรายจ่ายเงินจำนวนนี้ กลับถูกปิดบังไม่ให้คนทั่วไปได้ทราบ โดย NCAA เลี่ยงบาลีด้วยการกล่าวเป็นภาพรวมว่า รายได้ในแต่ละปีมีการแบ่งให้ฝ่ายไหนไปใช้บ้าง
ในฤดูกาล 2019-20 เงิน 222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการแข่งขันตลอดปี ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับอุปรณ์กีฬา การเดินทางและที่พักอาศัย 153.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแบ่งให้สำหรับค่าดูแลนักกีฬา หากมีอาการบาดเจ็บ 64.5 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ
Photo : www.ncaa.org
รวมถึงจำนวนเงินอีกหลายล้านเหรียญที่ใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ อีกมากมาย แม้ทาง NCAA ได้แบ่งเงินไปให้หลายฝ่ายใช้เพื่อเป็นผลประโยชน์ในการพัฒนาแผนกกีฬาจริง แต่ก็ไม่มีการมอบให้นักกีฬาที่ลงทำการแข่งขันโดยตรง
"เด็กอายุ 17-21 ปี กำลังเสี่ยงร่างกายและชีวิตของตัวเองในสนาม เพื่อความบันเทิงของเหล่านักธุรกิจที่นั่งนับกำไรไปวัน ๆ โดยไม่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนเลย" สตีเว่น ก็อดฟรีย์ นักข่าวจาก SB Nation พูดถึงความไม่ยุติธรรม
นอกจากนักข่าวที่เห็นตรงข้ามกับกฎของ NCAA แล้ว ยังมีนักกีฬาอาชีพหลายคนที่ออกมาให้ความคิดเห็นอีก ยกตัวอย่าง เช่น เลบรอน เจมส์ นักบาสสตาร์ดังของทีม แอลเอ เลเกอร์ส
"นักกีฬากับครอบครัวของเขาไม่ได้รับอะไรนอกจากคำว่า ‘ขอบคุณ' จากสิ่งที่เขาทำ" เจมส์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Washington Post
จ่ายใต้โต๊ะ
เมื่อมีกฎที่ตัดเรื่องการให้ค่าจ้างกับผู้เล่นไป ทุกสถานศึกษาต้องใช้ผลงานในสนาม และสิ่งอำนวยความสะดวกนอกสนาม เป็นสิ่งเย้ายวนและดึงดูดนักกีฬาระดับมัธยมให้เข้ามาเล่น
ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ที่มีความสำเร็จทางด้านกีฬาย่อมมีงบประมาณที่เยอะกว่า เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า รวมถึงชื่อเสียงที่โด่งดัง ก็สามารถดึงดูดนักกีฬาที่เก่ง ๆ ได้มากกว่าสถาบันที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
Photo : factoryofsadness.co
เห็นได้ชัดจากการแข่งขัน College Football Playoff หรือ รอบชิงแชมป์ประเทศของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลของทุกปี ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมามีแต่ชื่อสถาบันเดิม ๆ เช่น แอละบามา, โอไฮโอ สเตท กับ เคลมสัน เข้ามาแข่ง เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างทีมทุนหนากับสถานศึกษาขนาดเล็กนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด
ยกตัวอย่าง ในการดราฟท์ NFL ประจำปี 2016 ผู้เล่น 10 อันดับแรกที่ถูกเลือก เป็นนักเรียนจาก โอไฮโอ สเตท ถึง 3 คน ประกอบด้วย โจอี โบซา แนวรับของ แอลเอ ชาร์จเจอร์ส, อีซีเคียว เอลเลียต ตัววิ่งของ ดัลลัส คาวบอยส์ กับ อีไล แอปเปิล ตัวรับของ นิวยอร์ก ไจแอนท์ส แม้ปีนั้น โอไฮโอ สเตท อาจไปไม่ถึงศึกชิงแชมป์ประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นนักกีฬาของสถาบันการศึกษาใหญ่ ๆ ที่มีชื่อในวงการกีฬาของสหรัฐอเมริกา คือแต้มต่อสำคัญสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ
เมื่อสู้ไม่ได้ด้วยวีธีถูกกฎหมาย ก็กลายเป็นที่มาประโยคสแลงภาษาอังกฤษอย่าง "If you can't beat 'em, cheat 'em" แปลเป็นไทยว่า "ถ้าคุณไม่สามารถชนะพวกเขาได้ ก็โกงแม่งซะเลย" อธิบายการกระทำของหลาย ๆ มหา'ลัย ที่ต้องการดันตัวเองขึ้นมาสู่กับเหล่ามหาอำนาจของวงการ
การจ่ายตังค์ใต้โต๊ะให้กับนักกีฬา จึงเป็นเส้นทางลัดง่ายสุด โดย สตีเว่น ก็อดฟรีย์ นักข่าวจากสำนัก SB Nation ที่ได้ทำการสืบสวนในเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่าสถานศึกษาเหล่านั้นจะทำการจ้าง Bag Man หรือ ผู้ถือเงินกระเป๋าที่มีเงินสด เป็นคนนัดหมาย และมอบเงินสินบนให้กับตัวนักกีฬา
Photo : www.bannersociety.com
จำนวนเงินสดที่จะจ่าย ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักกีฬาแต่ละคน บางคนถ้ามหาวิทยาลัยต้องการตัวจริง ๆ ก็พร้อมที่จะจ่ายเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 300,000 บาท ส่วนบางคนอาจจะตกอยู่แค่หลัก 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 150,000 บาท
เคสที่ได้รับความสนใจในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาก็คือ ลีโอ ลูอิส นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของ มิสซิสซิปปี สเตท เจ้าตัวยอมรับว่าตัวเองได้รับเงินสินบนจากหลายมหาวิทยาลัย ในช่วงมัธยมปลาย ส่วนมากแล้วจะมาจากโรงเรียนที่ไม่ค่อยได้แชมป์เท่าไหร่ แต่ก็มีพวกมหาอำนาจของวงการกีฬามหาวิทยาลัยอยู่ในนั้นด้วย
"ผมได้รับเงินรวม ๆ แล้วเป็นจำนวนมากกว่า 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงมัธยมปลาย จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศครับ" ลูอิส เคยกล่าวผ่านสื่อ
การให้เงินใต้โต๊ะ เปรียบเสมือนสัญญาใจระหว่างทางมหาวิทยาลัยกับตัวนักกีฬา ถือเป็นการทำผิดกฏร้ายแรงของ NCAA และหากถูกจับได้ ตัวนักกีฬาที่รับสินบนก็ย่อมมีความผิด ถึงขั้นโดนสั่งห้ามลงเล่นกีฬาระดับมหาวิทยาลัยตลอดอาชีพก็มีมาแล้ว
การที่มหา'ลัยพร้อมเปย์แบบไม่ยั้ง เพื่อให้ได้นักกีฬามัธยมระดับท็อป ๆ ของประเทศเข้ามาสู่ทีม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวเลขเม็ดเงินที่มีโอกาสทำได้นั้นสูงจนยากที่จะปล่อยผ่าน ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย เท็กซัส ที่โกยเงินไปกว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 จากการลงทำการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล
ทำให้เงินจำนวน 10,000 - 20,000 เหรียญ เพื่อใช่ในการจ่ายใต้โต๊ะกับนักกีฬาที่จะเข้ามาสร้างรายได้หลักหลายล้านเลยเป็นสิ่งที่คุ้มสุด ๆ แม้มันจะผิดกติกาก็ตาม แต่ทุกฝ่ายพร้อมเสี่ยงทำมัน
ปั่นเกรด
NCAA ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยทุกคน จึงตั้งกฎขึ้นมาว่า นักกีฬาทุกคนต้องมี GPA ขั้นต่ำอยู่ที่ 2.0/4.0 หรือ ประมาณเกรดตัวเลข C
หากนักกีฬาคนไหนไม่สามารถมีคะแนนเฉลี่ยที่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ ก็จะหมดสิทธิ์ทำการลงแข่งทันที นำมาซึ่งการโกงอีกแบบที่เกิดขึ้นบ่อยในห้องเรียน นั่นคือการปั่นเกรด
เมื่อมาดูคะแนนการเรียนแต่ละประเภทเห็นได้ชัดว่า นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล อยู่ในอันดับท้าย ๆ ที่ประมาณ 2.4/4.0 โดยมีหลายเหตุผลที่ทำให้เกรดเฉลี่ยออกมาค่อนข้างต่ำ
จากผลการวิจัยของสถาบันในระดับดิวิชั่น 1 แห่งหนึ่ง มีการสรุปออกมาว่า นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลใช้เวลาในการซ้อม, ประชุมทีม, เข้ายิม, ดูไฮไลท์ และเดินทาง รวมกันแล้วมากกว่า 3 เท่า ของเวลาที่มีให้กับการเข้าเรียน จึงทำให้มหา'ลัยต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้นักกีฬาของตัวเองมีเกรดดีพอสำหรับการลงเล่น
Photo : theconversation.com
ในปี 2016 NCAA ทำการลงโทษ มหาวิทยาลัย มิสซูรี หลังจากพบว่า ทางโรงเรียนได้มีการจ้างครูสอนพิเศษช่วยทำการบ้านและข้อสอบให้นักกีฬาของทีมอเมริกันฟุตบอล 12 คน โดยเหตุผลมาจากการที่นักกีฬาเหล่านี้ไม่มีเวลาเข้าคลาสเนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปซ้อมกับทีมเพิ่ม
"มหา'ลัยมอบเงินเป็นจำนวน 3,000 เหรียญให้กับฉัน เพื่อเป็นรางวัลในการช่วยให้นักกีฬาทุกคนสอบผ่าน" โยลันดาร์ คูมาร์ ครูสอนพิเศษเปิดเผยความจริงผ่านสื่อ
ในประเทศอื่น ๆ เราอาจเห็นครูสอนพิเศษมาช่วยนักกีฬาเพื่อเตรียมพร้อมในการสอบ แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นการช่วยเหลือเฉย ๆ ไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือโกงข้อสอบ แบบที่เป็นในสหรัฐอเมริกา
การปั่นเกรดเป็นกลยุทธ์มหา'ลัย ต้องทำเพื่อให้นักเรียนโฟกัสกับเรื่องกีฬามากที่สุด เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ความสำเร็จในสนามแข่งขันให้ผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินมหาศาล พร้อมจะทำการทุจริตเพื่อคว้ามาให้ได้
สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขนาดมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันส่งเสริมเรื่องของการศึกษา ยังพร้อมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ในสนาม และเม็ดเงิน ส่วนตัวนักกีฬาก็ทำทุกวิธีทาง เพราะหวังว่าความสำเร็จในเวที NCAA จะนำไปสู่การได้ไปเล่นในระดับอาชีพ
การเปลี่ยนแปลง
ปัญหาต้นตอของการโกงทั้งหมด ย้อนกลับไปที่องค์กร NCAA ผู้เหมาเงินทุกสตางค์จากการแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัยของอเมริกา ปฏิเสธโอกาสให้นักกีฬาที่เป็นแรงงานหลักในการหารายได้เข้าสู่ NCAA เป็นการตอกย้ำจุดบกพร่องของระบบ แต่ทุกปัญหาก็ย่อมมีทางออก
เสียงเรียกร้องขอความยุติธรรมจากเหล่านักกีฬาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ดังไปทั่วประเทศ จนเริ่มมีผู้คนจากหลายฝ่ายให้ความสนใจและพร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นทางมหา'ลัยเอง หรือ คนแม้แต่บางส่วนในองค์กร NCAA เอง ได้มีการเริ่มพิจารณาโอกาสของการอนุญาตให้นักกีฬา สามารถมีรายได้จากการลงแข่งขัน และสปอนเซอร์ส่วนตัว
"เรากำลังทำทุกวีถีทางเพื่อสนับสนุนนักกีฬาวิทยาลัย โดยทาง NCAA ได้รับฟังข้อเสนอแนะมากมายจากทางเรา ผมมั่นใจว่าเรากำลังก้าวสู่สิ่งที่จะสร้างความยุติธรรมที่สุดสำหรับตัวนักกีฬา" ไมเคิล เดรค ประธานของมหาลัย โอไฮโอ สเตท ได้กล่าว
ท่าทีปัจจุบัน NCAA เตรียมที่จะเปิดโอกาสให้นักกีฬาหารายได้จากชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และ ความเหมือนของตัวเอง
Photo : thespun.com
หมายความว่า ถ้ามีคนนำตัวนักกีฬาไปอยู่ในเกม, ไปถ่ายโฆษณา หรือ ไปวาดภาพ หากออกมาแล้วมีความเหมือนคล้าย ตัวนักกีฬาสามารถหารายได้จากการกระทำดังกล่าวได้ทันทีแบบถูกกฎหมาย
นับเป็นก้าวแรกสู่การพังกำแพงที่ปิดโอกาส ไม่ให้นักกีฬารับผลตอบแทนมาเป็นเวลาเกือบ 70 ปี
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เยาวชนนับหมื่นกว่าชีวิตในแต่ละปีต้องอยู่ในระบบที่ใช้พวกเขาเหมือนทาส คอยเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงเพื่อหาเงินและสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของอย่างองค์กร NCAA
ความเจ็บช้ำจากการไม่ได้รับอะไร เป็นค่าตอบแทนกำลังสิ้นสุดลงแล้ว เพราะมีการคาดการรณ์ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า NCAA จะเปิดโอกาสให้นักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยหาร้ายได้แบบถูกกฎหมาย
ถึงแม้อาจจะมาช้าแต่ก็ไม่มีคำว่า สายเกินไป สำหรับสิ่งที่ถูกต้อง
แหล่งอ้างอิง
https://thecomeback.com/nfl/the-electoral-map-of-football-the-nfl-vs-college-football.html
https://www.sportsmediawatch.com/college-football-playoff-ratings-bcs/
https://www.huffpost.com/entry/johnny-manziel-ncaa-eligibility_b_3020985
https://www.washingtonpost.com/sports/2019/09/30/lebron-james-joins-fight-against-ncaa-announcing-support-fair-pay-play-act/
https://www.saturdaydownsouth.com/mississippi-state-football/report-msu-lb-leo-lewis-received-20000-recruitment-mother-alleges-650000-payment-lsu/
https://compendent.com/616/college-athletes/#:~:text=In%20a%20study%20conducted%20by,on%20a%204%2Dpoint%20scale.
https://www.ncaa.org/sites/default/files/2018DIENF_AcademicMisconductBooklet_20180321.pdf
https://theconversation.com/its-naive-to-think-college-athletes-have-time-for-school-100942
https://www.insidehighered.com/news/2019/02/01/ncaa-punishes-missouri-blatant-case-academic-fraud
https://www.npr.org/2020/04/29/847781624/college-players-are-now-closer-to-getting-paid-after-ncaa-board-oks-plan
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> เกียรติยศบนความอับอาย : การออกแบบโลโก้สุดมึนของ NBA ที่แม้แต่คนต้นแบบยังไม่พอใจ | Main Stand
>> วีเจย์ ซิงห์ : ยอดนักกอล์ฟที่พาประเทศฟิจิเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ชิงชังบ้านเกิดตัวเอง | Main Stand
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้ ใช้ฟรี 7 วัน!!!!