รีเซต
วงจรเดิม! เจาะลึกความล้มเหลว "แมนยู" ในตลาดซื้อขาย ระเบิดเวลาของ "โอเล่" สู่วันแห่งหายนะ

วงจรเดิม! เจาะลึกความล้มเหลว "แมนยู" ในตลาดซื้อขาย ระเบิดเวลาของ "โอเล่" สู่วันแห่งหายนะ

วงจรเดิม! เจาะลึกความล้มเหลว "แมนยู" ในตลาดซื้อขาย ระเบิดเวลาของ "โอเล่" สู่วันแห่งหายนะ
EkkEReport
6 ตุลาคม 2563 ( 20:45 )
1.1K
2

จ้างโค้ชใหม่ >> ยอมทุ่มซื้อนักเตะ >> ได้ไป UCL >> ทำเงินได้ บอร์ดพึงพอใจ >> ขาดการสนับสนุน ไม่ได้ซื้อนักเตะเป้าหมายที่โค้ชอยากได้ >> ทีมผลงานแย่ >> ปลดโค้ช >> (วนกลับไปจุดเริ่มต้น)

และแล้ว ตลาดซื้อขายนักเตะของลีกยุโรป ในรอบซัมเมอร์นี้ ก็ปิดตัวลงไปเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงเวลา 05.00 น. ของเช้าวันอังคารที่ 6 ตุลาคม ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนว่า ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ คาถิ่น โอลด์ แทรฟฟอร์ด 1-6 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความปราชัยที่เละเทะและพังพินาศที่สุด ในยุคของพรีเมียร์ลีก เทียบเท่ากับที่เคยพ่ายแพ้ให้กับทีมคู่อริร่วมเมือง อย่าง "เรือใบสีฟ้า" แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-6 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2011 จะไม่ได้ช่วยให้ "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้สถานการณ์นี้ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในตลาดซื้อขายวันสุดท้ายแต่อย่างใด หรือถ้าจะพูดตามความเป็นจริงที่ได้เห็นกัน ก็น่าจะเรียกได้ว่า นี่คงเป็นปัญหาที่สายเกินจะแก้ได้ทัน ในเวลาเพียงแค่ 24 ชม. จริงๆ

แม้ในที่สุดแล้ว ยอดทีมแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ จะทำการเปิดตัวแข้งใหม่ได้ถึง 4 ราย ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้าย ก่อนตลาดซื้อขายนักเตะจะปิดตัวลง แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยทำให้ ผลของการเสริมทัพของ ยูไนเต็ด ในตลาดรอบนี้ จะอยู่ในเกณฑ์ "สอบผ่าน" หรืออยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยแม้แต่น้อย กลับกัน หากเราลองพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลลัพธ์ นั้น มันกลับออกมาในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง จนอาจจะเรียกได้ว่า ตลาดรอบนี้ เป็นตลาดที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ล้มเหลว และน่าผิดหวังที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้

หากจะพูดให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ตามปกติแล้ว การได้นักเตะใหม่มาร่วมทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสุดท้ายของตลาด มักจะสร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนบอลเป็นอย่างมาก แต่สำหรับคราวนี้ ความเป็นจริงมันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเปิดตัวแข้งถึง 4 ราย ที่ควรจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับแฟนบอล กลับไม่ได้ทำให้ พลพรรค เรด อาร์มี่ ส่วนใหญ่ รู้สึกดีขึ้นมาแต่อย่างใด แต่พวกเขากลับรู้สึกว่า พวกเขา ถูกหลอก ถูกทรยศ ถูกหักหลัง จากบอร์ดบริหาร และทีมงานซื้อขายของสโมสร ด้วยซ้ำ สังเกตได้ชัดเจน จากความคิดเห็นของเหล่าอสูรแดงจำนวนมากจากทั่วโลก ที่อยู่ในเฟซบุ๊กของ "ปีศาจแดง" เกินกว่าครึ่ง ล้วนแล้วแต่ไม่พอใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับเด็กผีแล้ว นี่มันดูเหมือนการเสริมทัพ แบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด" เสียมากกว่า

ถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า การที่เรามองว่า บอร์ดบริหาร "สอบตก" ในการซื้อขาย เพราะเราด่วนตัดสินไปแล้วว่า นักเตะรายใหม่ที่ซื้อมาในครั้งนี้ เป็นนักเตะที่ไม่เก่ง ไม่ดี หรือจะโชว์ฟอร์มไม่ออกแน่ๆ พวกเขาทุกคนอาจจะเข้ามาแล้วโชว์ฟอร์มได้ดี และสร้างประโยชน์ให้ทีมอย่างมากในอนาคตก็เป็นได้ ซึ่งนั่นล้วนเป็นสิ่งที่ดีกับทีมอยู่แล้ว และถึงวันนั้น ความดีความชอบ ก็คงจะตกเป็นของทีมงานซื้อขาย ที่พวกเขา "ตาถึง" ไปคว้าเพชรเม็ดงามมาได้

แต่ทว่า สิ่งที่เราใช้ในการวิเคราะห์และพิจารณา ณ ตอนนี้ มันเป็นสิ่งที่กองเชียร์ปีศาจแดง น่าจะรู้สึกเหมือนๆ กัน นั่นคือ การสนับสนุนจากบอร์ดบริหารที่ไม่มากพอ และ การทำงานที่ไม่มีระบบ ทำให้แก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด และการที่พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของฟุตบอลเป็นหลัก ต่างหาก ทำให้แฟนบอลทุกคน เริ่มมุ่งเป้าไปที่ บอร์ดบริหาร ที่นำโดย เอ็ด วู้ดเวิร์ด ว่าเป็น ตัวการสำคัญ และเป็นต้นตอของปัญหาที่หยั่งรากลึก และกำลังบ่อนทำลายทีม อย่างแท้จริง

1. การสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร

จ้างโค้ชใหม่ >> ยอมทุ่มซื้อนักเตะ >> ได้ไป UCL >> ทำเงินได้ บอร์ดพึงพอใจ >> ขาดการสนับสนุน ไม่ได้ซื้อนักเตะเป้าหมายที่โค้ชอยากได้ >> ทีมผลงานแย่ >> ปลดโค้ช >> (วนกลับไปจุดเริ่มต้น)
 
 
และนี่คือ วงจรอุบาทว์! หรือ ลูปนรก! ที่แฟนบอลเริ่มรู้แจ้ง เห็นกระจ่าง ได้จากตลาดรอบนี้อย่างชัดเจน เพราะเหตุการณ์นี้ มันไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตำนานกุนซือของทีม วางมือไปในปี 2013 ... เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล, โจเซ่ มูรินโญ่ จนกระทั่งมาถึง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ในเวลานี้ บรรดาผู้จัดการทีมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เคยเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้ แล้วสุดท้ายก็ต้องตกเป็น "เหยื่อ" (หรือกำลังจะตกเป็น "เหยื่อ") ของวงจรอันชั่วร้ายนี้ ด้วยกันทั้งสิ้น ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา
 
หากใครยังมองไม่เห็นภาพ ข้อมูลต่อไปนี้ น่าจะช่วยทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 

นี่คือ ข้อมูลแสดงจำนวนเงินที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้ซื้อนักเตะในแต่ละปี แบบหักลบกับ เงินที่ได้จากการขายนักเตะแล้ว (รายจ่ายสุทธิ) ตั้งแต่ฤดูกาล 2013/14 อ้างอิงจาก ทวิตเตอร์ @Utdarena
 

2013/14 : ใช้ไป 67.8 ล้านปอนด์ (เดวิด มอยส์ คุมทีม ไม่จบฤดูกาล) - เล่น UCL - จบอันดับ 7 ในลีก

2014/15 : ใช้ไป 131.5 ล้านปอนด์ (หลุยส์ ฟาน กัล คุมทีม เป็นฤดูกาลแรก) - ไม่ได้เล่น UCL/ยูโรป้า - จบอันดับ 4 ในลีก

2015/16 : ใช้ไป 48.5 ล้านปอนด์ - เล่น UCL ตกรอบไปเล่น ยูโรป้า - จบอันดับ 5 ในลีก / แชมป์เอฟเอ คัพ

2016/17 : ใช้ไป 124.0 ล้านปอนด์ (โจเซ่ มูรินโญ่ คุมทีม เป็นฤดูกาลแรก) - เล่น ยูโรป้า - จบอันดับ 6 ในลีก / แชมป์ลีก คัพ + แชมป์ยูโรป้า

2017/18 : ใช้ไป 97.6 ล้านปอนด์ - เล่น UCL - จบอันดับ 2 ในลีก / รองแชมป์เอฟเอ คัพ

2018/19 : ใช้ไป 46.9 ล้านปอนด์ (โจเซ่ มูรินโญ่ / โอเล่ กุนนาร์ โซลชา คุมทีม) - เล่น UCL - จบอันดับ 6 ในลีก

2019/20 : ใช้ไป 120.2 ล้านปอนด์ (โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เปิดซีซั่น เป็นฤดูกาลแรก) - เล่นยูโรป้า - จบอันดับ 3 ในลีก

2020/21 : ใช้ไป 35 ล้านปอนด์ - เล่น UCL - ??

 

สิ่งนี้เป็นน่าจะชี้ให้เราได้มองเห็นภาพปัญหาของทีมนี้ได้ดีทีเดียว กล่าวคือ สิ่งที่บอร์ดบริหารกำลังทำอยู่นั้น มันไม่แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน และความกระตือรือร้น ในการที่จะพาทีมกลับไปประสบความสำเร็จ และกลับไปยิ่งใหญ่อีกครั้งเลยแม้แต่น้อย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เคยเป็นมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนัง สโมสรที่อยู่ระดับต้นๆ ของโลก แต่มาในวันนี้ บอร์ดบริหารของพวกเขา กลับดูเหมือนว่า จะพึงพอใจแล้ว กับการที่ทีมได้ไปเล่นศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เท่านั้น เพราะทุกครั้งที่ทีมได้ไปเล่นศึกถ้วยใหญ่ของยุโรป แทนที่บอร์ดจะทุ่มเงิน เพื่อเสริมทัพให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม แต่พวกเขากลับใช้เงินลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การสนับสนุนโค้ชในการสร้างทีมที่แข็งแกร่งของตัวเอง กลับหายไปอย่างน่าสงสัย

ทว่า หากผู้จัดการทีมคนใดที่ทำไม่สำเร็จ พาทีมฟอร์มแย่ และไม่สามารถพาทีมไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกได้ หน้าที่ของบอร์ดบริหารอย่าง เอ็ด วู้ดเวิร์ด นั้นก็ง่ายแสนง่าย นั่นคือ แค่ไล่กุนซือคนนั้นพ้นจากเก้าอี้ แล้วไปหาเฮดโค้ชคนใหม่ เข้ามารับตำแหน่งแทนก็เท่านั้นเอง ทั้งที่จริงแล้ว การจะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของฟุตบอล มันจำเป็นต้องใช้เวลา และต้องมีทรัพยากรที่เหมาะสม งานจึงจะสำเร็จตามเป้าหมายได้ แต่ในเมื่อผู้จัดการทีม ไม่ได้รับการสนับสนุนในการสร้างทีมของเขาอย่างต่อเนื่องแล้ว การเปลี่ยนให้โค้ชคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดเลย เพราะทุกอย่างก็เหมือนต้องกลับไปเริ่มต้น นับหนึ่งใหม่อยู่ทุกครั้ง เปรียบเสมือนกับ "บ้าน" ที่ยังไม่ทันได้สร้างจนเสร็จ ก็ต้องทุบทิ้ง แล้วให้คนอื่นเข้ามาสร้างใหม่ แบบนี้อยู่ร่ำไป

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อดคิดไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้ แนวทางที่บอร์ดบริหารกำลังทำกับทีมอยู่ เป้าหมายของพวกเขาคืออะไรกันแน่ ระหว่าง สร้างทีมเพื่อให้เป็น "แชมป์" จริงๆ หรือ ทำทีมเพื่อ "เงิน" เพียงเท่านั้น เพราะถ้ากลุ่มคนที่อยู่สูงที่สุด หัวเรือใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุดในสโมสร ไม่ได้อยากได้แชมป์แบบจริงจัง แล้ว โค้ช นักเตะ รวมถึง แฟนบอล จะไปมีความหวังอะไรกันได้อีก

 

2. การทำงานที่ไม่มีระบบ ไม่ได้เข้าใจโครงสร้างของฟุตบอล ทำให้แก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดเสียที

ตลอดช่วงตลาดซื้อขายที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลของ ยูไนเต็ด ทั่วทั้งโลก ต่างก็รู้กันเป็นอย่างดีว่า ตำแหน่งที่ โซลชา ต้องการได้มาเสริมขุมกำลังมากที่สุด คือ ปีกขวา ซึ่งเป็นจุดบอด ที่ทีมกำลังขาดอยู่อย่างเห็นได้ชัดในซีซั่นที่ผ่านมา โดยนักเตะที่เป็นเป้าหมายอันดับ 1 ในตำแหน่งนี้ นั่นคือ เจดอน ซานโช่ ปีกตัวเก่งของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ตกเป็นข่าวพัวพันกับทีมมานานหลายเดือน ตั้งแต่ก่อนตลาดจะเปิดด้วยซ้ำ แต่จนแล้วจนรอด จนตลาดเปิดตัวลง ปีศาจแดง ก็ไม่สามารถคว้าตัวเขามาร่วมทีมได้ โดยไม่เคยบอกเหตุผลให้แฟนบอลได้รู้เลยว่า มันเป็นเพราะเหตุใด

จริงๆ แล้ว หากพวกเขามีเงินไม่เพียงพอ ที่จะซื้อ ซานโช่ จริงๆ ในตลาดรอบนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ของโควิด-19 หรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย เพราะหากต้องพลาดจากเป้าหมายแรกจริงๆ หลังจากที่ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแค่พวกเขายอมรับในสถานภาพ เข้าใจในสถานการณ์ของตัวเอง และออกมาบอกกับแฟนบอลด้วยความจริงใจ พร้อมกับพยายามหาตัวเลือกอื่น ที่รองลงมา ที่พอจะเป็นไปได้ ในช่วงที่ตลาดซื้อขายยังมีเวลาอยู่ มันก็จะเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพราะแน่นอนว่า เราคงไม่สามารถได้ตัวนักเตะทุกคนที่อยากได้ในทันที

แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนถึงวันสุดท้ายของตลาด โดยได้เพียงแค่ ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค มาเสริมทีม เพียงคนเดียวเท่านั้น ก่อนที่วันสุดท้ายถึงจะมาทำการเซ็นสัญญากับ นักเตะฟรีเอเยนต์ อย่าง เอดินสัน คาวานี่ สตาร์ชาวอุรุกวัย แบบไม่ต้องเสียเงินค่าตัว แม้แต่ปอนด์เดียว พร้อมกับคว้าตัว อเล็กซ์ เตลเลส แบ็กซ้ายชาวบราซิล มาจากปอร์โต้ ส่วนตำแหน่ง ปีกขวา บอร์ดบริหาร เลือกที่จะไปเซ็นสัญญากับ 2 ดาวรุ่ง ในวัยเพียง 18 ปี นั่นคือ อาหมัด ดิยัลโล่ ตราโอเร่ ปีกอตาลันต้า และ ฟากุนโด้ เปยิสตรี แข้งชาวอุรุกวัย ซึ่งแข้งรายแรกจะต้องรอถึงเดือนมกราคม จึงจะย้ายมาร่วมทัพได้อีกด้วย

ขอย้ำอีกครั้งว่า ดีลทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในวันสุดท้ายวันเดียว ซึ่งมันไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าดีใจเลย เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการวางแผนที่ไม่ดีพอ ทำให้เกิดคำถามในใจแฟนบอลทุกคนว่า ที่ผ่านมานั้น เอ็ด วู้ดเวิร์ด เอาเวลาไปมัวทำอะไรอยู่ และสิ่งนี้ มันนำมาซึ่งปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย เพราะที่สุดแล้ว แม้ "ปริมาณ" จะสำคัญ แต่มันอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า สิ่งที่ลงทุนไปนั้น มัน "ตอบโจทย์" และแก้ปัญหาได้ถูกจุดจริงๆ หรือไม่ เราไม่ได้กำลังดูถูกว่า ทีมซื้อขายของ ยูไนเต็ด ไปเอาใครมาก็ไม่รู้ เพียงเพราะแค่นักเตะคนนั้น ไม่ใช่แข้งดังที่มีชื่อเสียง แต่สิ่งที่เราสงสัย นั่นคือ นักเตะเหล่านั้น เป็นนักเตะทีผู้จัดการทีมต้องการจริงๆ หรือเปล่ามากกว่า หรือ เราแค่เร่งซื้อนักเตะบางคน เพียงเพื่อให้มีใครบางคนเข้าทีมมาให้ทันเวลา ตามที่บอร์ดบริหารต้องการเท่านั้น เพราะสิ่งที่ทีมต้องการอย่างเร่งด่วนที่สุดในเวลานี้ คือ ปีกขวา ที่สามารถลงเล่นได้เลย ไม่ใช่ใครที่ต้องมาใช้เวลาปั้น แล้วก็มาลุ้นอีกว่า เขาจะเล่นได้หรือไม่

นี่จึงทำให้สาวก เรด อาร์มี่ ยิ่งเกิดคำถามค้างคาในใจอีกว่า บอร์ดบริหาร และทีมงานซื้อขาย เข้าใจโครงสร้างของฟุตบอลจริงๆ หรือไม่ และมองฟุตบอลเป็น กีฬา หรือมองฟุตบอลเป็นเพียง ธุรกิจ เท่านั้น เพราะใครก็ตามที่เข้าใจธรรมชาติของกีฬา ย่อมรู้ดีว่า โค้ชทุกคน ล้วนต้องการนักกีฬาที่เขาเห็นแล้วว่า จะสร้างประโยชน์ให้กับทีม ตามแผนที่เขาวางไว้ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ใครก็ได้ เพราะนักกีฬาแต่ละคน ก็ต่างมีจุดเด่น จุดด้อย ที่ไม่เหมือนกัน มันก็เหมือนกับ เชฟ ที่ต้องได้วัตถุดิบที่ถูกต้อง จึงจะทำเมนูที่เขาต้องการได้ ไม่ใช่หยิบอะไรก็ได้ขึ้นมา แล้วจะปรุงให้เป็นเมนูที่รสชาติกลมกล่อมได้

หากไม่เชื่อ ก็ลองไปเปรียบเทียบการเสริมทัพของ แมนยู กับ ทีมอื่นๆ ในระดับท็อปของพรีเมียร์ลีกในตลาดรอบนี้ดูก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น เชลซี, สเปอร์ส, เอฟเวอร์ตัน, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมถึง อาร์เซน่อล แล้วเราจะเห็นและเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า การเสริมทัพอย่างมีคุณภาพ และการให้โค้ชได้แก้ไขปัญหาในจุดที่ควรแก้นั้น มันสามารถช่วยยกระดับทีมให้ดีขึ้นได้มากเพียงใด และทีมใดที่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่ากัน เพราะการที่เราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด มันก็เหมือนกับการเกาไม่ถูก จุดที่คัน ฉันใดก็ฉันนั้น ฉะนั้น ปัญหาที่มีอยู่ มันก็จะไม่มีวันหายไปได้เลย

จากนี้.. เราก็คงทำได้แค่ รอดูกันต่อไปว่า โอเล่ กุนนาร์ โซลชา จะรักษาเก้าอี้ของเขาอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เมื่อบอร์ดบริหารสนับสนุนให้นักเตะได้แบบนี้ และเพียงเท่านี้ .. เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง "วงจรรอบถัดไป" ก็คงจะได้เริ่มต้น นับหนึ่งใหม่อีกครั้ง และไม่ว่าโค้ชคนใหม่จะเป็นใคร ก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง และเอาชนะวงจรนี้ไปได้ ตราบใดที่ระบบความคิดของ บอร์ดบริหารทีม ยังคงเป็นแบบนี้อยู่ แต่ถ้าเกิดโค้ชคนนั้นมีอยู่จริง.. ก็รีบไปเซ็นสัญญามาเลยนะ เอ็ด เพราะเด็กผีทุกคนรออยู่!

 

ปล. แต่หากกุนซือคนนั้น เกิดเป็น "โอเล่ กุนนาร์ โซลชา" ขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะก็ ผมก็จะขอกราบ "น้าโอเล่" งามๆ สัก 3 ทีเลย -/\-

 

"เอกกี้รีพอร์ต"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> ไม่มีเซนเตอร์!! แมนยู ปิดดีลเซ็นแข้งใหม่ 4 คนรวด วันสุดท้ายตลาดซื้อขาย

>> เจ็บปวด! 'เอวร่า'รับไม่ได้ เดือดจัดออกทีวี บอกไม่อยากวิเคราะห์เกมแล้ว หลังผีแพ้ไก่ยับ (ชมคลิป)

>> ทนไม่ไหวแล้ว! สรุป 5 ประเด็น 'เอวร่า' จัดหนัก อัดคลิปซัดแหลก แฉเบื้องลึกอันเน่าเฟะของบอร์ดผี

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี