รีเซต
ปูมหลังทางวัฒนธรรม ? : ทำไม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถึงเป็นคู่ปรับตลอดกาลในวงการกีฬา | Main Stand

ปูมหลังทางวัฒนธรรม ? : ทำไม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถึงเป็นคู่ปรับตลอดกาลในวงการกีฬา | Main Stand

ปูมหลังทางวัฒนธรรม ? : ทำไม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถึงเป็นคู่ปรับตลอดกาลในวงการกีฬา | Main Stand
เมนสแตนด์
11 ตุลาคม 2564 ( 17:30 )
342

หากพูดถึงคู่ปรับตลอดกาลในเกมกีฬาประจำภูมิภาคอาเซียน "อินโดนีเซีย-มาเลเซีย" ย่อมเป็นสองชาติที่ทุกคนนึกถึง เพราะไม่ใช่แค่การแข่งขันในสนามที่เข้มข้น แต่การเผชิญหน้าของแฟนกีฬาทั้งสองชาติ ต่างดุเดือดและมีความรุนแรง ราวเกิดการจราจลในเมือง

 


Main Stand หาเหตุผลว่าทำไมทั้งสองชาติถึงแย่งชิงความดีเด่นทางกีฬาอย่างดุเดือด จนเกินกว่าจะเป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ กับคำตอบที่แสดงให้เห็นความขัดแย้งระดับชาติในยุคสงครามเย็น ก่อนลามเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทั่งเรื่องเล็กน้อยแบบการแย่งชิงสิทธิต้นกำเนิดสตรีทฟู้ดข้างถนน

 

เพื่อนบ้านที่ความสัมพันธ์ไม่เคยราบรื่น

ความสัมพันธ์ระหว่าง อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ถือเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างชาติที่มีความสำคัญ และซับซ้อนที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากย้อนกลับไปในวันที่มาเลเซียประกาศตนเป็นรัฐสหพันธ์ อินโดนีเซียไม่ยอมรับการถือกำเนิดของเพื่อนบ้าน เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องดินแดนทับซ้อน ซึ่งนำมาสู่การเผชิญหน้าทางทหารที่ตึงเครียดมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อาเซียน

ย้อนกลับไปยังยุคล่าอาณานิคม ทั้ง อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ต่างไม่ใช่ประเทศเอกราชที่มีอิสระในการปกครองตนเองอย่างประเทศไทย โดย อินโดนีเซีย ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิดัตช์ และถูกปกครองภายใต้ชื่อ ดัตช์อีสต์อินดีส หรือ หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ส่วน มาเลเซีย ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติช และถูกปกครองภายใต้ชื่อ บริติชมาลายา


Photo : twitter.com/WWIIpix

สถานการณ์ของทั้งสองประเทศตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ จักรวรรดิญี่ปุ่นบุกเข้ายึดดัตช์อีสต์อินดีส และบริติชมาลายา เมื่อสงครามดังกล่าวจบลง ซึ่งผลลัพธ์คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน และต้องเปิดทางให้เจ้าอาณานิคมจากตะวันตก กลับมาครองพื้นที่เดิมอีกครั้ง

แต่ด้วยกระแสของการปฏิวัติเพื่อเอกราชซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อินโดนีเซียจึงประกาศตนเป็นเอกราชจากจักรวรรดิดัตช์ในปี 1945  นำมาสู่สงครามเอกราชอินโดนีเซีย ซึ่งกินเวลายาวนานจนถึงปี 1949 โดยอินโดนีเซียในเวลานั้น ได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการใช้อินโดนีเซียเป็นประเทศกันชนการขยายตัวของแนวคิดคอมมิวนิสต์ในภายภาคหน้า แถมยังเป็นการทำลายอำนาจของกลุ่มจักรวรรดินิยม ซึ่งเป็นขั้วอำนาจเก่าของโลกได้อีกด้วย

ทางกลับกัน สถานการณ์ของมาเลเซียแตกต่างไปจากอินโดนีเซียโดยสิ้นเชิง จักรวรรดิบริติชสามารถกลับเข้ามาปกครองดินแดนบริติชมาลายาอย่างง่ายดาย แต่เนื่องจากกระแสปฏิวัติเพื่อเอกราชที่กำลังลุกฮือในอินโดนีเซีย เจ้าอาณานิคมอังกฤษหวาดกลัวอย่างมากว่า ชาวมาเลเซียจะมองการลุกฮือจากเพื่อนบ้านเป็นเยี่ยงอย่าง และนำแนวคิดปฏิวัติเข้ามาในประเทศ จักรวรรดิบริติชจึงส่งกองกำลังทหารไปช่วยเหลือจักรวรรดิดัตช์สู้กับอินโดนีเซีย เพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มจักรวรรดินิยมเอาไว้


Photo : what-when-how.com

ผลลัพธ์ของสงครามเอกราชอินโดนีเซียจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติในปี 1949 หลังสหรัฐอเมริกาประกาศระงับค่าปฏิมากรรมสงครามจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเนเธอร์แลนด์ไม่ยอมถอนกำลังจากดัตช์อีสต์อินดีส อินโดนีเซียและจักรวรรดิจึงเข้าสู่การประชุมโต๊ะกลมดัตช์–อินโดนีเซีย ซึ่งผลจบลงด้วยการถ่ายโอนอำนาจเอกราชสู่อินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ

สำหรับ มาเลเซีย พวกเขาต้องมองดูเพื่อนบ้านเฉลิมฉลองด้วยบรรยากาศของความเป็นเอกราชอยู่นานเกือบทศวรรษ แม้จักรวรรดิบริติชจะเพิ่มอำนาจให้ชาวมาเลเซียมากขึ้น และยกระดับบริติชมาลายาขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพแห่งประชาชาติ เช่นเดียวกับ ออสเตรเลีย หรือ นิวซีแลนด์ ภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐมาลายา แต่สิ่งเดียวที่ชาวมาเลเซียต้องการ คืออิสระในการปกครองประเทศเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย

วันที่ชาวมาเลเซียรอคอยสิ้นสุดลงในปี 1957 เมื่อ สหพันธรัฐมาลายา ประกาศตนเป็นเอกราชจากจักรวรรดิบริติช และปกครองตนเองต่อไปภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐมาลายา ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้ อินโดนีเซียกำลังเผชิญหน้าปัญหาเรื่องเขตแดนของประเทศอย่างหนัก เริ่มจาก ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนนิวกินีของเนเธอร์แลนด์ หรือ นิวกินีตะวันตก ที่อินโดนีเซียอ้างว่า อยู่ในขอบเขตดินแดนทางธรรมชาติของตน


Photo : nam.ac.uk

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อินโดนีเซียเปิดฉากความตึงเครียดกับมาเลเซียอย่างจริงจัง เกิดขึ้นปี 1962 เมื่อเกิดเหตุการณ์ "การปฏิวัติบรูไน" ซึ่งขณะนั้น รัฐสุลต่านบรูไน ยังอยู่ภายใต้การดูแลของอังกฤษ และมีแผนจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นประเทศใหม่ในปี 1963 แต่เหตุพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อ พรรคประชาชนบรูไน (Tentera Nasional Kalimantan Utara - TNKU) พรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่ต่อต้านการเข้าร่วมกับมาเลเซีย สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 1962

เพื่อป้องกันไม่ให้แผนการที่วางไว้ล่มไม่เป็นท่า บรรดาชนชั้นสูงในบรูไนปฏิเสธจะจัดการประชุมเพื่อหาข้อตกลงกับรัฐบาลใหม่ พรรคประชาชนบรูไน จึงตัดสินใจใช้กองทัพใต้ดินก่อการปฏิวัติ แต่โชคร้ายที่ชนชั้นนำบรูไนมีมหาอำนาจตะวันตกหนุนหลัง เมื่ออังกฤษส่งกองทัพจากสิงคโปร์เข้ามาดูแลความเรียบร้อยในบรูไน กลุ่มกบฏจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และพรรคประชาชนบรูไน ถูกแบนจากประเทศตลอดกาล


Photo : imago-images

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบรูไน สร้างความไม่พอใจแก่อินโดนีเซียเป็นอย่างมาก เพราะอินโดนีเซียขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของ ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการประกาศเอกราช และยังเป็นผู้ก่อตั้งพรรคแห่งชาติอินโดนีเซีย (Partai Nasional Indonesia) พรรคการเมืองที่รวมแนวคิดชาตินิยมเข้ากับลัทธิมาร์กซ์ เป็นแนวคิดที่เรียกว่า ลัทธิมาร์แฮน หรือ ลัทธิมาร์กซ์ที่ปรับให้เข้ากับความเป็นอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียขณะนั้นจึงถือได้ว่าเอียงซ้ายเต็มขั้น เพราะนอกจากพรรคชาติอินโดนีเซียแล้ว รัฐบาลของซูการ์โนยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย หรือ เปกาอี (Partai Komunis Indonesia - PKI) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่มีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต และสนับสนุนแนวคิด Self-Determination หรือการปฏิวัติด้วยกองกำลังแห่งชาติ เพื่อต่อต้านอิทธิพลจากโลกตะวันตก จึงเห็นชัดเจนว่า อินโดนีเซีย คือ ผู้สนับสนุนการปฏิวัติของพรรคประชาชนบรูไนอยู่ลับ ๆ เนื่องจากเอียงซ้ายด้วยกันทั้งหมด

ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียในปี 1963 จึงถือเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิขนาดย่อมของสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในเอเชีย เพราะมาเลเซียได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเครือจักรภพแห่งประชาชาติ และสหรัฐอเมริกา ในก่อตั้งสหพันธ์มาเลเซีย ในปี 1963 โดยมาเลเซียประกาศควบรวมคาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสิงคโปร์ และเกาะบอร์เนียวเหนือเข้าเป็นของตน (ส่วน บรูไน ถอนตัว เนื่องจากความขัดแย้งก่อนหน้ากับอินโดนีเซีย)

เกาะบอร์เนียวเหนือกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเวลาต่อมา เพราะมาเลเซียอ้างการแบ่งพรมแดนเช่นนี้ตามเส้นแบ่งเขตแดนที่จักรวรรดิบริติช และจักรวรรดิดัตช์ ตกลงร่วมกันในสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ ค.ศ. 1814 และสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ ค.ศ. 1824 ซึ่งนำมาสู่เส้นพรมแดนความยาว 1,881 กิโลเมตร ระหว่าง อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย บนเกาะบอร์เนียว

แต่ อินโดนีเซีย ซึ่งต่อต้านแนวคิดจักรวรรดินิยมสุดฤทธิ์ ย่อมไม่ยอมรับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นโดยชาติตะวันตก และกล่าวอ้างว่าอินโดนีเซียยังมีสิทธิในการปกครองเกาะบอร์เนียวทั้งหมด ความตึงเครียดครั้งนี้นำมาสู่การเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองชาติบนคาบสมุทรมาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว โดยเป็นการปะทะที่กินเวลายาวนานถึงสามปี

ความขัดแย้งครั้งนี้บานปลายจนลุกลามเป็นการถอนตัวจากสหประชาชาติของอินโดนีเซีย ในปี 1965 เพื่อเป็นการประท้วงที่มหาอำนาจในโลกเสรีนิยม ทั้ง สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร คอยสนับสนุนมาเลเซียเบื้องหลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจแห่งโลกคอมมิวนิสต์ ด้วยเช่นกัน


Photo : history.org.uk 

การเผชิญหน้าของอินโดนีเซียและมาเลเซีย สิ้นสุดลงในปี 1966 ซึ่งถือเป็นผลพวงจากเหตุการณ์เกสตาปู (Gestapu) ซึ่งนำมาสู่การถอดถอนซูการ์โนจากตำแหน่งประธานาธิบดี และการสังหารหมู่สมาชิกพรรคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ถือเป็นการปิดฉากแนวคิดสังคมนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการยุติพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีสมาชิกมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก โดยคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ราว 1-3 ล้านคน

เมื่อความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติยุติลง อินโดนีเซีย จึงยอมรับการถือกำเนิดของประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ และดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตมาร่วมกันจนปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้น ความบาดหมางที่ทั้งคู่เคยมีร่วมกันในช่วงก่อตั้งประเทศ ไม่เคยจางหายไป และยังคงมีให้เห็นเป็นความตึงเครียดระหว่างสองประเทศในปัจจุบัน

 

กระจกสะท้อนความขัดแย้งระดับวัฒนธรรม 

ปัจจุบัน อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ยังคงมีข้อพิพาทเขตแดนที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้อยู่อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น เกาะอัมบาลัต, ช่องแคบมะละกา และน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งสองประเทศไม่เคยลดลาวาศอกต่อกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งพบเจอเรือประมงของอีกฝ่าย พวกเขาจะทำการจับกุมและกักตัวเรือประมงเหล่านั้น ด้วยข้อหาลักลอบตกปลาผิดกฎหมายทันที


Photo : novinite

แต่อีกหนึ่งปัญหาระหว่างทั้งสองชาติที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในช่วงหลายปีหลัง คือ ปัญหาแรงงานอินโดนีเซียในมาเลเซีย โดยในปี 2014 มีรายงานว่าชาวอินโดนีเซียราว 2.5 ล้านคน เดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในมาเลเซีย ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า แรงงานต่างชาติที่ทำให้งานในมาเลเซียราว 83 เปอร์เซ็นต์ คือ ชาวอินโดนีเซีย

จุดเริ่มต้นการเข้ามาทำงานในมาเลเซียของชาวอินโดนีเซีย เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของมาเลเซียในช่วงทศวรรษ 1980s ถึง 1990s ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ประสบภาวะวิกฤติในปี 1997 ผู้คนจำนวนมากตกงาน และตัดสินใจเดินทางไปเสี่ยงตายในมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการเดินทางข้ามแดนเพื่อเข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

เมื่อเดินทางเข้ามาเป็นแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากในมาเลเซียจึงประสบปัญหาความยากจน, การเอารัดเอาเปรียบ, การทำร้ายร่างกาย, การล่วงละเมิดทางเพศ และการค้ามนุษย์ มีรายงานว่า ชาวอินโดนีเซียราว 3 แสนคน ทำงาน 18 ชั่วโมงตลอด 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อแลกกับค่าจ้างเพียงน้อยนิด

แม้ชาวอินโดนีเซียจะยังถือเป็น "ภูมิบุตร" หรือชาวมลายูดั้งเดิม ซึ่งช่วยให้รอดจากการถูกเหยียดผิว และเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในมาเลเซีย (ชาวจีนมักตกเป็นเหยื่อของแนวคิดนี้) แต่ด้วยการถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศ ส่งผลให้ชาวมาเลเซียบางส่วนมองอินโดนีเซียด้วยสายตาที่ "ไม่เท่ากัน" คล้ายกับที่ชาวไทยบางส่วนมองแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา

ทั้งนี้ ความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมของสองประเทศ ยังนำมาสู่ข้อพิพาทในเรื่องของรากเหง้าที่แท้จริงในแต่ละวัฒนธรรมว่าชาติไหนคือต้นกำเนิดแท้จริงกันแน่ โดยมาเลเซียได้นำวัฒนธรรม เช่น เพลงพื้นเมืองราซาซายัง, ศิลปะผ้าบาติก หรือ หนังตะลุงอินโดนีเซีย ไปโฆษณาการท่องเที่ยว ทั้งที่ศิลปะเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากอินโดนีเซียทั้งหมด ซึ่งความไม่พอใจตรงนี้นำไปสู่แนวคิดต่อต้านมาเลเซีย (Anti-Malay sentiment) ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย

ความไม่พอใจนี้ก่อเกิดเป็นรูปธรรมในปี 2015 เมื่อนักกิจกรรมชาวอินโดนีเซียไปรวมตัวประท้วงหน้าสถานฑูตมาเลเซียในกรุงจาการ์ต้า เพื่อต่อต้านการกล่าวอ้างเป็นต้นตำรับอาหาร "ลุมเปีย" หรือเปาะเปี๊ยะชนิดหนึ่งของมาเลเซีย ทั้งที่ลุมเปียเป็นสตรีทฟู้ดที่สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนในอินโดนีเซีย


Photo : upinthenusair

ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่าง อาหาร ส่งผลให้ทั้งสองชาติค่อนข้างเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นกังวลที่สื่ออินโดนีเซีย มักนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับมาเลเซียในลักษณะที่ใส่สีตีไข่ และบิดเบือนไปจากความเป็นจริง จนส่งผลให้แนวคิดต่อต้านมาเลเซียขยายวงกว้างขึ้นในระยะหลัง

ทางกลับกัน สื่ออินโดนีเซียโจมตีสื่อมาเลเซียว่าถูกควบคุมโดยรัฐบาล และชอบนำเสนอภาพลักษณ์ด้านลบของชาวอินโดนีเซียสู่สายตาชาวมาเลเซียเสมอ พร้อมกันนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังโจมตีการใช้คำว่า "อินดอน" ของสื่อมาเลเซีย แทนการเรียกชาวอินโดนีเซียว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย

ปัญหาระหว่างทั้งสองชาติที่เล่าทั้งหมดนี้ อาจทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเกมฟุตบอลระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียกลายเป็นเรื่องเล็ก อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เราอาจบอกว่าบทบาทคู่ปรับในเกมกีฬาของทั้งสองชาติ ถือเป็นความขัดแย้งภายใต้หนึ่งวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และความขัดแย้งในวงกว้างด้วยเช่นกัน

 

ความเดือดดาลที่ข้างสนาม 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความขัดแย้งระหว่าง อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ที่เกิดขึ้นในวงการกีฬา เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประโยคที่กล่าวว่า "Down with Malaysia!" หรือแปลเป็นไทยใจความว่า "ดับซ่าพวกมาเลเซีย" 

ประโยคนี้ถูกพูดครั้งแรกโดยซูการ์โน ในระหว่างการเผชิญหน้าของทั้งสองชาติในปี 1963-1966 ได้กลายเป็นวลีเด็ดของแฟนบอลอินโดนีเซีย เพื่อกล่าวโจมตีทีมชาติมาเลเซีย ท่ามกลางความจริงที่ว่า คำพูดเหล่านี้คือการปลุกระดมแนวคิดชาตินิยมแก่ชาวอินโดนีเซีย และใช้เป็นข้ออ้างในการเข่นฆ่าชาวมาเลเซียในเวลาต่อมา

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่เกิดเหตุอันน่าเศร้าเมื่อปี 2011 เมื่อแฟนบอลชาวอินโดนีเซียสองรายเสียชีวิตจากความวุ่นวายในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลชาย มหกรรมกีฬาซีเกมส์ ที่เจ้าภาพอินโดนีเซีย พ่ายแพ้ในการยิงจุดโทษแก่มาเลเซีย 3-4 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการจะแสดงพลังของชาวอินโดนีเซีย โดยก่อนเริ่มการแข่งขัน นักเตะมาเลเซียต้องการรถหุ้มเกราะ เพื่อป้องกันแฟนเจ้าถิ่นที่อาจทำร้ายพวกเขาระหว่างเดินทางไปสนาม

เคราะห์ร้ายที่ความบ้าคลั่งของชาวอินโดนีเซียกลับมาทำร้ายพวกเขาเอง เพราะมีแฟนบอลมากกว่าหนึ่งแสนคนเข้าไปชมการแข่งขันใน เกลอรา บังการ์โน สเตเดี้ยม (หรือ เสนายัน ที่คนไทยคุ้นหู) ทั้งที่สนามสามารถจุผู้ชมได้เพียง 8 หมื่นคน ส่งผลให้มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตจากความวุ่นวายในหมู่ผู้ชมที่เกินความจุ และถูกขังอยู่บนอัฒจันทร์ เนื่องจากตำรวจต้องปิดประตูเข้าออกระหว่างการแข่งขัน เพราะมีแฟนจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตั๋วเข้าชม

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังสร้างความโมโหแก่แฟนบอลอินโดนีเซียที่พลาดตั๋วเข้าชม จนก่อเหตุความรุนแรงลงมือเผาซุ้มขายตั๋ว ที่สำคัญยังมีเด็กชายวัย 9 ขวบที่อาการโคม่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้อีกด้วย ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า ฟุตบอลซีเกมส์เป็นการแข่งขันในรุ่น ยู 23 คงไม่มีแฟนบอลประเทศใดในโลกที่เอาเป็นเอาตายกับการแข่งขันระดับนี้ แต่เนื่องจากความขัดแย้งของอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ก้าวผ่านไกลกว่าคำว่ากีฬาไปมาก ความสูญเสียดังกล่าวจึงเกิดขึ้น

บทเรียนที่เกิดขึ้นในปี 2011 ไม่ได้ทำให้แฟนบอลทั้งสองฝ่ายจดจำถึงความรุนแรงนอกสนาม ซึ่งจะนำมาแต่ความสูญเสีย ทั้งสองชาติโคจรมาพบกันอีกครั้งในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2022 ที่ เกลอรา บังการ์โน สเตเดี้ยม แห่งเดิม เมื่อมาเลเซียตีเสมอเจ้าถิ่น 2-2 แฟนบอลของทัพการูด้าอารมณ์พุ่งพล่านอีกครั้ง

คราวนี้พวกเขาวิ่งข้ามสนามไปยังที่นั่งทีมเยือนและขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ ทั้ง พลุแฟลร์, โลหะ และขวดแก้ว ใส่แฟนบอลมาเลเซีย จนการแข่งขันต้องยุติชั่วคราวเป็นเวลาราว 10 นาที และเมื่อทีมเยือนยิงประตูแซงเจ้าถิ่นเป็น 3-2 แฟนบอลอินโดนีเซียจึงก่อความวุ่นวายในรูปแบบเดิมอีกครั้ง จนแฟนบอลชาวมาเลเซีย 300 คน ต้องเดินทางด้วยรถบัสที่มีรถตำรวจขนาบข้างออกจากสนาม

หลังจบเกมการแข่งขันนัดดังกล่าว สจ็วร์ต รามาลินกัม เลขาธิการสมาคมฟุตบอลมาเลเซีย ออกมาประณามการกระทำของแฟนบอลอินโดนีเซีย และยังตำหนิสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียที่ไม่สามารถรักษาสัญญาในการรักษาความปลอดภัยให้แก่แฟนบอลมาเลเซียได้ เพราะทุกคนในอาเซียนรู้ดีว่า แฟนบอลชาวอินโดนีเซียบ้าคลั่งและอารมณ์ร้อนมากแค่ไหน


Photo : coconuts.co

"สิ่งที่เกิดขึ้นหมายความว่า ทีมที่เป็นเจ้าบ้านล้มเหลวในการรักษาสัญญาที่จะจัดเกมการแข่งขันอย่างเรียบร้อย และควบคุมพฤติกรรมของแฟนบอลเจ้าถิ่น ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจบเกม นี่คือเหตุการณ์ที่ทำลายภาพลักษณ์ของฟุตบอลอินโดนีเซีย"

เมื่อทั้งสองทีมกลับมาพบกันอีกครั้งที่สนามบูกิต จาลิล กรุงกัวลาลัมเปอร์ ความรุนแรงแบบจัดเต็มกลับมาอีกครั้ง เพราะแฟนบอลทั้งสองฝ่ายขนกันมาทั้งขวดแก้ว, พลุแฟลร์ หรือแม้กระทั่งกรวยจราจร ก่อนขว้างปาใส่กันแบบเต็มเหนี่ยวทั้งในและนอกสนาม ผลสรุปคือ แฟนบอลมาเลเซียถูกตำรวจจับกุมไป 27 คน ส่วนแฟนอินโดนีเซียถูกจับกุมไป 14 คน

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในมาเลเซียเทียบไม่ได้กับเหตุการณ์ที่กรุงจาการ์ต้า ซึ่งสุดท้าย FIFA สั่งปรับทีมชาติอินโดนีเซียเป็นเงิน 45,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น กาโต้ เอส เดวา โบรโต้ รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาอินโดนีเซีย เรียกร้องให้มาเลเซียมีความกล้าจะเอ่ยคำขอโทษ เหมือนกับที่เคยประณามอีกฝ่ายบ้าง

"เราไม่เคยรับโทรศัพท์สักสายหรือจดหมายสักฉบับจากกระทรวงกีฬามาเลเซีย ที่แสดงความเป็นกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น อย่างน้อยพวกเขาน่าจะอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเอ่ยคำขอโทษสักหน่อยก็ยังดี"

แม้กีฬาอื่นจะไม่มีความรุนแรงมากเท่านี้ แต่ความเข้มข้นในสนามยังคงไม่ลดละไปจากเดิม เห็นได้จากโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่ผ่านมา เมื่อสองนักแบดมินตันชายจากมาเลเซีย อารอน เจี่ย และ ยิค โซห์ วุย สามารถเอาชนะคู่แข่งจากอินโดนีเซียไปได้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่ง โซห์ วุย กล่าวถึงชัยชนะครั้งนี้ว่า "ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา"

ความเป็นคู่ปรับของอินโดนีเซีย-มาเลเซียในโลกกีฬา จึงเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดของทั้งสองชาติตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และยังเป็นภาพสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเกมกีฬา ซึ่งไม่มีวันแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด และยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเสมอมา 

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Indonesia%E2%80%93Malaysia_relations
https://en.wikipedia.org/wiki/Indonesians_in_Malaysia
https://en.wikipedia.org/wiki/Indonesia%E2%80%93Malaysia_border
https://en.wikipedia.org/wiki/Indonesia%E2%80%93Malaysia_confrontation
https://en.wikipedia.org/wiki/Indonesia%E2%80%93Malaysia_football_rivalry
https://web.archive.org/web/20160101065239/http://www.kemlu.go.id/Pages/IFPDisplay.aspx?Name=BilateralCooperation&IDP=196&P=Bilateral&l=en
https://books.google.co.th/books?id=4N_OCwAAQBAJ&pg=PT142&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false
http://www.theborneopost.com/2011/10/21/indonesia-to-resume-sending-maids-to-malaysia-from-dec-1/
https://web.archive.org/web/20121018023102/http://www.unhcr.org/refworld/country,,,,IDN,,4b94b5d7c,0.html
https://web.archive.org/web/20100817161139/http://www.thejakartaglobe.com/home/malaysian-police-arrests-indonesian-maritime-officers-deny-shooting/391234
https://web.archive.org/web/20110411144605/http://www.thejakartapost.com/news/2011/04/10/malaysia-protests-ri-arrest-two-fishing-boats.html
https://www.thejakartapost.com/news/2015/03/15/14-ri-military-police-arrested-malaysia.html
http://www.theborneopost.com/2015/09/15/sarawak-fishermen-missing-after-allegedly-encroaching-into-indonesian-waters/
https://web.archive.org/web/20120620185045/http://www.thejakartapost.com/news/2012/06/18/a-never-ending-story-cultural-disputes-between-indonesia-and-malaysia.html
https://www.channelnewsasia.com/commentary/malaysia-indonesian-football-hooligans-fan-violence-world-cup-859956
https://www.chinadaily.com.cn/sports/2011-11/22/content_14142936.htm
https://www.channelnewsasia.com/asia/indonesia-apologises-malaysia-violence-world-cup-qualifier-859336
https://www.malaymail.com/news/sports/2019/10/09/indonesia-slapped-with-fifa-fine-over-crowd-trouble-in-match-against-malays/1798678
https://malaysia.news.yahoo.com/malaysia-vs-indonesia-football-qualifier-052532183.html
https://worldofbuzz.com/indonesia-wants-malaysia-to-apologise-for-violence-in-bukit-jalil-stadium-during-match/
https://news.abs-cbn.com/sports/11/22/11/sea-games-two-die-malaysia-win-football-gold
หนังสือ ทีปะ นุสันตารา ไอดิต กับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย โดย ตวงทิพย์ พรมเขต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541