มองอย่างเจี๊ยบ 2021 : ทำความรู้จักสุธีรมานคัพ-รำลึกความสำเร็จคู่เฉพาะกิจไทยในอดีต
สวัสดีครับ! นี่คือ "มองอย่างเจี๊ยบ" คอลัมน์สำหรับคนรักแบดมินตัน ในฉบับที่ 17 นะครับ อันดับแรก "อ.เจี๊ยบ" ธนัช อัศวนภากาศ กูรูประจำคอลัมน์ของเรา ฝากผมมากราบขอบพระคุณแฟนๆทุกท่านที่ให้การตอบรับในเรื่องของการตั้งและที่มาของฉายาเหล่านักแบดโลก เมื่อฉบับที่ 16 ยังมีหลายคนที่ตกหล่นไป เดี๋ยวหลังจบศึกใหญ่ สุธีรมาน คัพ 2021 ทางผู้บรรยายของเก่งของเราแจ้งมาว่าจะมาตามเก็บให้ครบอย่างแน่นอนครับผม
มาว่ากันที่ฉบับนี้ครับ ก็แน่นอนว่า รายการระดับเวิลด์ทัวร์ต่างๆที่จะเล่นกันในเดือนนี้ของทวีปเอเชีย ยังคงไม่สามารถทำการแข่งขันได้ แต่ในที่สุด ความทรมานของแฟนๆขนไก่ก็ใกล้จะจบลงแล้ว เมื่อศึกใหญ่อย่าง สุธีรมาน คัพ 2021 รายการประเภททีมผสมชิงแชมป์โลก กำลังจะเกิดขึ้น ในวันอาทิตย์ ที่ 26 ก.ย. 64 - 3 ต.ค. 64 นี้ มีการถ่ายทอดสดทางทรูวิชั่นส์ อย่างแน่นอน ซึ่งทัพนักกีฬาจากไทย ก็ยกพลไปเข้าร่วมล่าชัยกันด้วยถึงที่ประเทศฟินแลนด์
ที่สุดแล้วในฉบับนี้ ผมไม่ได้ต่อสายไปสัมภาษณ์ อ.เจี๊ยบ เหมือนดังเช่น 16 ฉบับก่อนหน้านี้ แต่ทางคัมภีร์แบดมินตันเมืองไทยของเรา ทำการพิมพ์ด้วยตัวเองทุกตัวอักษร และส่งมาให้ผม ก็ต้องกราบขอบพระคุณแทนแฟนๆทุกท่านเอาไว้เลยครับ ที่จะมีบทความดีๆได้อ่านกัน ว่ากันแล้ว เราไปติดตามกันครับ ในชื่อตอน "ทำความรู้จักสุธีรมานคัพและรำลึกความสำเร็จคู่เฉพาะกิจไทยในอดีต"
เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน แฟนๆแบดมินตัน จะได้กลับมาสนุกกันอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน ครับกับการลุ้นเชียร์แบดมินตันทีมผสมชิงแชมป์โลก สุธีรมานคัพ 2021 โดยรายการนี้ ทรูสปอร์ต ถ่ายทอดสดให้แฟนแบดมินตันไทย ได้ชมกันตั้งแต่รอบแรก จนถึงรอบชิงชนะเลิศ มาลุ้นเชียร์ นักแบดทีมชาติไทย ว่าการแข่งขันครั้งนี้ จะสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมาได้อีกครั้งหรือไม่
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักความเป็นมาของ สุธีรมาน คัพ กันก่อนครับ ก็ต้องบอกว่า หลังจากที่มีแบดมินตันทีมชาย และทีมหญิงชิงแชมป์โลก หรือ ที่เรารู้จักกันดี ในศึก โธมัสคัพ และ อูเบอร์คัพ ก็เกิดกำเนิดการแข่งขันแบดมินตันทีมผสมชิงแชมป์โลก ซึ่งจะจัด 2 ปีครั้งสลับกับ ศึกโธมัสคัพ และ อูเบอร์คัพ โดยการแข่งขันชิงถ้วยสุธีรมาน นั้น เพื่อเป็นการให้เกียรติกับ Dick Sudirman นักแบดมินตันอินโดนิเซีย ที่เป็นผู้ก่อตั้ง สมาคมแบดมินตันอินโดนิเซีย จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1989 ที่ จาร์การ์ต้า ประเทศอินโดนิเซีย และเจ้าภาพอินโดนิเซีย ก็เป็นแชมป์ในการแข่งขันครั้งแรก และเป็นครั้งเดียวที่อินโดนิเซีย สามารถคว้าแชมป์ได้
16 ครั้งที่ผ่านมา มีเพียง 3 ชาติเท่านั้น ที่สามารถครองถ้วยสุธีรมานคัพได้สำเร็จ คือ จีน คว้าแชมป์ไป ถึง 11 สมัย ส่วนอีกชาติ สามารถคว้าแชมป์ไปได้ 4 สมัย พอจะนึกกันได้ไหมครับ ว่าคือ ชาติใด ? คำตอบคือ เกาหลีใต้ ครับ ส่วนทีมชาติไทยต้องบอกว่า การแข่งขัน 12 ครั้งแรกที่ผ่านมา ทีมไทยยังไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้เลย แต่ถือว่าปัจจุบัน แบดมินตันไทยมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างดีจนสามารถคว้าที่ 3 มาได้ 3 ครั้งในการแข่งขัน 4 ครั้งหลังสุด โดยทีมไทยคว้าเหรียญทองแดง ได้ในปี 2013 , 2017 และ ล่าสุดในปี 2019
ต้องบอกว่าในการแข่งขัน 4 ครั้งหลังสุด กับ 3 เหรียญทองแดง มีนักกีฬาเพียง 2 คนที่อยู่ในทีมทุกครั้ง แฟนๆ พอจะนึกออกไหมครับว่า 2 คนนั้นคือใคร ? ต้องบอกแฟนๆแบดมินตัน เลยครับว่า ในแต่ละครั้งที่ทีมไทยสามารถฟันฝ่าเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ และคว้าเหรียญทองแดงมาได้นั้น ทีมไทยพลิกล็อค ชนะคู่แข่งในรอบแปดทีมสุดท้ายมาได้ ทั้งนี้ เพราะในการแข่งขัน ทีมไทยมักจะได้เป็นมือวางอันดับ 5–8 สามารถผ่านรอบแรกได้และต้องโคจรไปพบกับมือวางอันดับ 1 -4 ในรอบแปดทีมสุดท้าย ซึ่งก่อนการแข่งขัน คนส่วนใหญ่จะมองว่าทีมไทยคงไม่ผ่านรอบแปดทีมสุดท้ายไปได้
เบื้องหลังความสำเร็จในการที่ทีมไทย พลิกล็อค มาได้ใน 3 ครั้งนั้น ทีมไทยชนะใครมาบ้างและเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก่อนอื่นใด ผมต้องบอกว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งที่ผม สังเกตเห็นและขอชมเลยคือ สต๊าฟฟ์โค้ชทีมไทย มีการวางแผนในการวางมือที่ชาญฉลาด ใช้กฎกติกา มาวางลำดับการเล่น มีการศึกษาคู่ต่อสู้ว่า ประเภทไหนที่แข็งแกร่งและ เราควรจะวางอย่างไร จนเกิด คำว่า "คู่รวมกันเฉพาะกิจ" ด้วยกฎกติกา ว่า ถ้าผู้หญิงเล่นซ้ำ หญิงคู่และ คู่ผสม จะแข่งคู่ผสม ก่อนเป็นคู่แรก
ย้อนกลับไปในปี 2013 ทีมไทย อยู่ร่วมสาย กับ เกาหลีใต้ และฮ่องกง โดยในรอบแบ่งกลุ่ม ไทย ชนะ ฮ่องกง และแพ้เกาหลีใต้ ทำให้ ในสายนี้ เกาหลีใต้ เป็นที่ 1 ในสาย ขณะที่ไทย เข้ารอบเป็นที่ 2 ในสาย จับสายรอบแปดทีมสุดท้าย พบศึกหนัก ญี่ปุ่น ทีมวางอันดับ 2 ซึ่งเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากในขณะนั้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ทีมไทย จะแข็งแกร่งมากในประเภทคู่ผสม คือ นินจาเต่า (สุตเขต ประภากมล) กับ ผู้พันส้ม (สราลีย์ ทุ่งทองคำ) ขณะที่ ญี่ปุ่นแข็งแกร่งมากในประเภทหญิงคู่ ทำให้สต๊าฟฟ์โค้ช วางแผนให้ ส้ม เล่น หญิงคู่และคู่ผสม เพื่อใช้กฎที่จะแข่งคู่ผสมเป็นคู่แรก และหญิงคู่ต้องเล่นเป็นคู่สุดท้าย เพื่อเปิดแมตช์แรกทำแต้มนำให้ทีมไทยก่อน สร้างความกดดันให้กับผู้เล่นญี่ปุ่น และ ก็เป็นผลสำเร็จ เต่า กับ ส้ม ไม่สร้างความผิดหวังให้กับทีมไทย สามารถโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม ถล่มคู่ ญี่ปุ่น ไป 2 เกมรวด 21-19 และ 21-9 คะแนนในเกมสอง บ่งบอกว่าทีมญี่ปุ่นเริ่มสูญเสียความมั่นใจ
คู่ต่อมา Kenichi Tago ก็ตีเสมอให้ญี่ปุ่น โดย ชนะ "เจ้าสอง" ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข ทำให้แต้มรวม มาเสมอกัน ที่ 1-1 ถัดมาในคู่ที่สาม ชายคู่ของไทย มณีพงษ์ จงจิตร กับ นิพิธพนธ์ พวงพั่วเพชร ก็ รวมพลังพลิกล็อค ชนะ คู่มือ1 ญี่ปุ่น ซึ่งมีศักดิ์ศรีรองแชมป์ออลอิงแลนด์ล่าสุดในขณะนั้น ฮิโรยูกิ เอ็นโดะ กับ เคนิชิ ฮายากาว่า คู่ที่แฟนแบดชาวไทยรู้จักดี โดยคู่ไทย พลิกชนะ 27 – 25 , 21- 16 เป็นอีกครั้งที่จะเห็นว่า ทีมญี่ปุ่น มีความกดดันสูง เพราะ ญี่ปุ่นรู้ดีว่า จะพลาดไม่ได้ในคู่นี้ เพราะ คู่ถัดไปจะเป็นหญิงเดี่ยว มีความแข็งแกร่ง จนทำให้ในเกมที่สอง คู่ของไทย สามารถชนะไปอย่างไม่ยากเย็นนัก ทำแต้มให้ทีมไทย ขึ้นนำ 2-1 เมื่อถึงตอนนี้ ทีมไทย ต้องการอีกเพียงแต้มเดียว ก็จะสร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญรางวัลได้เป็นครั้งแรกในศึกแบดมินตันทีมผสมชิงแชมป์โลก เมื่อถึงคู่ที่ 4 น้องเมย์ รัชนก ก็ไม่ทำให้ชาวไทยผิดหวัง เฉือนชนะ ซายากะ ทากาฮาชิ ไปแบบหวุดหวิด เส้นยาแดงผ่าแปด ไป 2-1 เกม 21- 19 , 9 – 21 และ 21 -19 ทำให้ทีมไทย เข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้าถึงคู่สุดท้ายในประเภทหญิงคู่ ทีมไทย น่าจะเป็นรองญี่ปุ่น โดยทีมไทย ส่ง ส้ม (สรารีย์ ทุ่งทองคำ) คู่กับ โอ๋ (กุลชลา วรวิจิตรชัยกุล) ขณะที่ ญี่ปุ่น เป็นคู่ของ มัตซูโตโม่ กับ ทาคาฮาชิ และนั่นคือสิ่งที่ต้องบอกว่า การวางมืออันชาญฉลาดของสต๊าฟฟ์โค้ชและการรวมพลังใจเป็นหนึ่งเดียวของน้องนักแบดในยามที่รวมตัวเล่นในนามทีมชาติไทย จนนำความสำเร็จคว้าเหรียญทองแดงมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในรอบรองชนะเลิศ ไทย แพ้ เกาหลีใต้ ไป 1- 3 คู่
ผลการแข่งขันที่เกิดขึ้นนั้น คู่แรก คู่ผสม เต่า & ส้ม แพ้ คู่ โก ซังฮยุน & คิม ฮานา
คู่ที่สอง บุญศักดิ์ พลสนะ ชนะ ลี ดองคุน
คู่ที่สาม มณีพงษ์ จงจิตร & นิพิธพนธ์ พวงพั่วเพชร แพ้ อี ยองแด & โก ซังฮยุน
คู่ที่สี่ รัชนก อินทนนท์ แพ้ ซัง จีฮยุน
หากใครจำกันได้ ในปีนั้น เป็นทีมจีน คว้าแชมป์โดยชนะเกาหลีใต้ ไป 3–0 ในรอบชิงชนะเลิศ
ข้ามมาที่ปี 2017 ทีมไทย เป็นมือวาง 5-8 เช่นเคย และในรอบแรก ทีมไทยอยู่ร่วมสายกับ จีน และ ฮ่องกง ซึ่งในรอบแบ่งกลุ่มทีมไทย เข้ารอบเป็นที่2 ของสาย และแน่นอน ที่ 1 ในสาย คือ จีน ทำให้ผลการจับสลากในรอบแปดทีมสุดท้าย ทีมไทย ต้องพบศึกหนักดวล เดนมาร์ค ทีมวางอันดับ 2 สต๊าฟฟ์โค้ชทีมไทย ยังเลือกแผนใช้กลยุทธวางมือ เหมือนปี 2013 ที่ทำสำเร็จ โดยครั้งนี้ เลือกให้ ปอป้อ (ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย) รับบทของส้ม คือเล่น 2 ประเภท เพื่อให้ลำดับการแข่งขันเล่นคู่ผสมก่อน และหญิงคู่เล่นคู่สุดท้าย เพราะ หญิงคู่เดนมาร์ก ในขณะนั้น คือ คริสติน่า พีเดอร์เซ่น & คามิล่า ลิเทอร์ จูห์ล เจ้าของเหรียญเงิน อลป 2016 ซึ่งแข็งแกร่งมาก
จากการวางมือ ทีมเดนมาร์ก ที่แข็งแกร่งมาก ดูจะวางมือประมาททีมไทยไปสักนิด เลือกสลับใช้มือ 2 ในบางประเภท ลงแข่งขันหวังจะเก็บมือ 1 ของทีมไว้เล่นรอบรองชนะเลิศกับเกาหลีใต้ โดยในประเภทคู่ผสม ไม่เลือกใช้คู่มือ1 ของเดนมาร์ก ในขณะนั้น คือ โจอาคิม ฟิชเชอร์ เนลเซ่น & คริสติน่า พีเดอร์เซ่น หวังจะให้ ได้พัก เพื่อรอเล่นในรอบรองชนะเลิศ
คู่แรก คู่ผสม เดชาพล พัววรานุเคราะห์ & ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ชนะ มัทธิอัส คริสเตียนเซ่น & ซาร่าห์ ไธเกอเซ่ร สองเกมรวด ทีมไทยนำ 1-0
คู่สอง ทนงศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข แพ้ วิคเตอร์ อเซลเซ่น 2 เกมรวด คะแนนรวม เสมอ 1 -1
คู่สาม บดินทร์ อิสสระ & นิพิธพนธ์ พวงพั่วเพชร แพ้ แมดส์ คอนราด & แมดส์ พีเลอร์ โคลดิ้ง 1-2 แบบหวุดหวิด ซึ่งก็เป็นอีกคู่ที่เดนมาร์ค ประมาททีมไทย โดยไม่ใช้คู่มือ 1 ของเดนมาร์คในขณะนั้น คือคู่ มาธิอัส โบ & คาร์สเท่น มอร์แกนเซ่น แต่ชายคู่เดนมาร์ค ก็เอาตัวรอดไปได้ ทำให้ เดนมาร์ค นำไทย ไป 2-1 คู่ ซึ่งถึงตรงนี้ ทีมเดนมาร์ค ก็มั่นใจว่า ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ แน่นอน เพราะคู่สุดท้าย มีหญิงคู่ Pedersen + Juhl ค้ำอยู่
คู่สี่ รัชนก อินทนนท์ ชนะ ลิเน่ เคจเฟลด์ ไปสองเกมรวด แบบไม่ยากเย็นนัก ทำให้ทีมไทย ตีเสมอเป็น 2-2
คู่ห้า ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย & จงกลพันธ์ กิตติธารากุล พบกับ คู่เก่งของเดนมาร์ค พีเดอร์เซ่น & จูห์ล และเป็นหญิงคู่ “รวมกันเฉพาะกิจ” ของไทย ที่รวมพลังโชว์ฟอร์มได้อย่างเด็ดสะระตี่ สร้างความงุนงง ให้กับเดนมาร์ค รวมทั้งแฟนแบดชาวไทยที่ส่งกำลังใจเชียร์ผ่านการถ่ายทอดสดจากทรูสปอร์ต ประกอบกับ ไม่เคยเห็นคู่ไทยคู่นี้เล่น (จะเห็นได้อย่างไร ก็ เรายังไม่เคยเห็นเลย 555) ต้องยอมรับว่า นี่คือผลงานชิ้นโบว์แดงของสต๊าฟฟ์โค้ช ที่วางแผนและการรวมพลังของน้องนักแบดทีมชาติไทย และ หญิงคู่ รวมกันเฉพาะกิจ ของไทย ก็พลิกชนะ คู่เดนมาร์ก ไปขาดลอย 2 เกมรวด ทำให้ทีมไทย คว้าเหรียญทองแดง เป็นสมัยที่ 2
โดยในรอบรองชนะเลิศ ทีมไทย แพ้ เกาหลีใต้ ไป 1-3 คู่ เป็นอีกครั้งที่ ทีมไทย แพ้ เกาหลีใต้ ในรอบรองชนะเลิศ
ในปี 2019 สุธีรมานคัพ ครั้งล่าสุด ทีมไทย อยู่ร่วมสายกับ ญี่ปุ่น และรัสเซีย โดยในรอบแบ่งกลุ่ม ทีมไทยเข้ารอบเป็นที่สอง มีญี่ปุ่น เป็นแชมป์ของกลุ่ม เมื่อเข้าสู่รอบแปดทีมสุดท้าย โดยจับสลากพบกับ เกาหลีใต้ ทีมวาง 3/4 ซึ่งทีมไทย แพ้ เกาหลีใต้ ในรอบรองชนะเลิศมา ในปี 2013 และ 2017 และก็เป็นอีกครั้งที่ทีมไทย มีจุดแข็งที่ ประเภทคู่ผสม ซึ่งทำให้ทีมไทย จำเป็นต้องหาผู้หญิง เล่นหญิงคู่และคู่ผสม เพื่อที่จะให้ลำดับการแข่งขันเล่นในประเภทคู่ผสม ก่อน ดังนั้น สต๊าฟฟ์โค้ช จึงให้ ปอป้อ เล่น 2 ประเภท โดยเล่นคู่ผสมกับบาส ซึ่งเป็นคู่ที่แข็งแกร่งและหวังแต้มจากประเภทนี้ นอกจากนี้ จะให้ ปอป้อ สลับมาจับหญิงคู่ กับ กิ๊ฟ อีกครั้ง
การแข่งขันคู่แรก เป็นไปตามที่ทีมไทยวางแผนเก็บแต้มแรก และทำได้สำเร็จ โดย บาส & ปอป้อ ชนะ คู่เกาหลี โซ ซุงแจ & แช ยูจุง ไป 2 เกมรวด ทำให้แต้มให้ทีมไทย นำ 1-0
คู่ที่สอง กันตภณ หวังเจริญ ดาวดวงใหม่ชายเดี่ยว สามารถเก็บแต้มที่สองให้ทีมไทยได้สำเร็จ ปราบ เฮียว กวางฮี ไป 2 เกมรวด ทำให้ทีมไทย นำ 2-0 คู่ ต้องการอีกเพียงแต้มเดียว เพื่อการันตีเหรียญทองแดง สมัยที่ 3 ในการแข่งขัน 4 ครั้งหลังสุด
คู่ที่สาม คัง มินย็อค & คิม วันโฮ เฉือนชนะคู่ ติณณ์ อิสริยะเนตร & กิตตินุพงษ์ เกตุเรน ไป 2-1 เกม ทำแต้มให้ทีมเกาหลีใต้ไล่มา 1-2 คู่
คู่ที่สี่ เมย์ ก็สามารถกำราบ สาวน้อยมหัศจรรย์เกาหลีใต้ อัน เซยอง ไป 2 เกมรวด ทำให้ทีมไทย ล้างตาสำเร็จ ปราบเกาหลีใต้ 3-1 เข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ
ขณะที่รอบรองชนะเลิศ ทีมไทย แพ้ จีน ไป 0-3 คู่ ทำให้ทีมไทย คว้าเหรียญทองแดง เป็นครั้งที่ สาม
(ภาพนี้ ใครที่อยู่ตรงกลางโดนเพื่อนรุมอยู่ .....ครับ ดูกันออกไหม ให้เห็นแค่แขนที่ต้นน้ำกอดอยู่)
อีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็จะถึง ศึกสุธีรมานคัพ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม และศึกครั้งนี้ทีมชาติไทยถือว่าขุมกำลังเข้มแข็งในทุกตำแหน่ง โดยอาจจะมีประเภทชายคู่ ที่ดูจะยังเป็นจุดอ่อนของทีมไทย และนี่จะเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี ที่หญิงเดี่ยวสุธีรมานคัพ ไทย ไม่ใช่ น้องเมย์ ด้วยเหตุที่เมย์ ติดภารกิจส่งวิญญาณคุณแม่สู่สรวงสวรรค์ และชาวไทยร่วมส่งกำลังใจให้เมย์ กลับมาเข้มแข็งเป็นกำลังสำคัญให้ทีมอูเบอร์คัพ ต่อไปในเดือน ตุลาคม นี้ แต่ทีมไทยก็มีหญิงเดี่ยวที่แข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งอาจจะยังไม่แข็งแกร่งเท่าเมย์ แต่ก็ถือว่า ความแข็งแกร่งของทีมก็ไม่ได้ลดหย่อนลงไปเท่าใด โดยหญิงเดี่ยวที่จะมาทดแทนในครั้งนี้ จะเป็น หมิว , ครีม หรือ น้องจิว เชื่อว่าชาวไทยคงอยากได้ชมภาพบรรยากาศแบบนี้อีกครั้ง ลุ้นติดตามเชียร์ 17 นักแบดไทย ที่จะไปตะลุยฟินแลนด์ ก่อนจะจบวันนี้ ขอเฉลย นักกีฬา 2 คนที่อยู่ในทีมไทยทุกครั้ง ที่คว้าเหรียญรางวัล คือ เมย์ และ ปอป้อ นั่นเอง แล้วในครั้งหน้า จะมาวิเคราะห์ ความน่าจะเป็นผลการแข่งขันสุธีรมานคัพ ครั้งที่ 17 หลังจากที่ แต่ละชาติ เผยรายชื่อ นักกีฬาออกมา สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
เรียบเรียงโดย : NickyMAN (ธีร์ธวัช กาญจน์วารีทิพย์)