รีเซต
คิดไซด์โค้ง : ช่องยูทูบที่เล่าเบื้องหลังดีลซื้อ-ขายฟุตบอลไทย ที่คนไม่ดูบอลไทยก็อยากรู้

คิดไซด์โค้ง : ช่องยูทูบที่เล่าเบื้องหลังดีลซื้อ-ขายฟุตบอลไทย ที่คนไม่ดูบอลไทยก็อยากรู้

คิดไซด์โค้ง : ช่องยูทูบที่เล่าเบื้องหลังดีลซื้อ-ขายฟุตบอลไทย ที่คนไม่ดูบอลไทยก็อยากรู้
เมนสแตนด์
31 สิงหาคม 2563 ( 19:30 )
496

ช่วง 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างที่ฟุตบอลทั่วโลกเงียบเหงาไปไร้การแข่งขัน เพราะปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เหล่าเพจกีฬา โดยเฉพาะเพจฟุตบอล ก็พลอยเงียบเหงา มีคอนเทนต์สนุก ๆ มานำเสนอน้อยลงไปด้วย...


 

แต่มีช่องยูทูบที่เกี่ยวกับฟุตบอลไทยช่องหนึ่ง ที่โผล่ขึ้นมาในช่วงที่ไร้กระแสฟุตบอล โดยใช้ชื่อว่า “คิดไซด์โค้ง” พร้อมกับสโลแกนว่า “เบื้องหลังบอลไทยที่ใครก็อยากรู้” เล่าเรื่องได้สนุก กระชับฉับไว จนมีผู้ติดตามในช่องยูทูบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

เจ-วรปัฐ อรุณภักดี ผู้ประกาศข่าวกีฬาช่องไทยรัฐทีวี และเจ้าของรางวัลนาฏราช สาขาผู้บรรยายกีฬารายการยอดเยี่ยม 2 สมัย คือ เจ้าของช่องยูทูบช่องนี้… เขาลุกขึ้นมาเล่าเรื่องเบื้องหลังฟุตบอลไทย ในมุมของตัวเอง ที่แปลกแตกต่างจากช่องอื่น ๆ ทุก ๆ พร้อมกับวิธีการเล่าเรื่อง ที่ต้องการให้ทุก ๆ คนเข้าถึงได้ ต่อให้ไม่ใช่แฟนฟุตบอลก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เขามักจะมีวิธีการวิเคราะห์และกล้าฟันธงเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องดีลซื้อ-ขายนักเตะ ที่สวนกระแสสำนักข่าวต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยไม่กลัวหน้าแตกแม้แต่ครั้งเดียว และมันก็จริงอย่างที่เขาว่าทุกครั้งไป จนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ขณะนี้ 

เขาเล่าว่าทุกวันนี้ใช้เวลากับการเช็คข้อมูข่าวสาร และตัดต่อคลิปวิดีโอบางส่วนด้วยตัวเองไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ได้คอนเทนต์เนื้อหา ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด แม่นยำที่สุด สนุกที่สุด… 

อะไรทำให้ผู้ประกาศข่าว ที่มีชีวิตลงตัว สุขสบายอยู่แล้ว… ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดูเหน็ดเหนื่อยด้วยตัวเองขนาดนี้ จนสร้างอิมแพกต์ในวงการสื่อฟุตบอลไทย พบกับเจ-วรปัฐ อรุณภักดี ได้ที่นี่ 

 

เล่าจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาทำช่องยูทูบคิดไซด์โค้งหน่อย

จริง ๆมันมีจุดเปลี่ยนอยู่ 2 - 3 เหตุการณ์ ที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำช่องยูทูบเป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้แผนงานอื่น ๆ ของผมมันพังไปหมดตั้งแต่ต้นปี ก็เหลือแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวแหละ ที่ยังทำได้…  

ระหว่างนั้นเราก็คิดทบทวนไปด้วยว่าเรามีจุดแข็งอะไรบ้าง เราก็มาคิดว่า เออ จริง ๆ เราถนัดเรื่องฟุตบอลไทยมากที่สุด และก็พอมีคนรู้จักอยู่บ้างในฐานะที่เป็นผู้บรรยายเกมฟุตบอลทีมชาติไทย บวกกับเราเคยมีความคิดว่าอยากทำเพจหรือช่องยูทูบเกี่ยวกับฟุตบอลไทยด้วยตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่า เออ งั้นหยุดช่องวิจารณ์หนัง (ตอนแรกทำช่องวิจารณ์หนังกับเพื่อน ๆ ก่อน) แล้วมาทำช่อง “คิดไซด์โค้ง” ก่อนดีกว่า 

แต่โอเค… เรารู้แหละว่ามันมีนักเขียน, นักวิเคราะห์, นักวิจารณ์, และนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ อยู่ในพื้นที่นี้เยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนหาจุดเด่น และคาแรกเตอร์ที่แตกต่างออกไป เราค่อนข้างเป็นคนที่แอคทีฟ ก็เลยคิดว่าคลิปวิดีโอที่ถ่ายทอดออกไป ต้องสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของเรา ที่กระฉับกระเฉง ว่องไว จึงเป็นที่มาที่เราพยายามเล่าเรื่องแบบเน้น ๆ เนื้อ ๆ ไม่มีน้ำภายใน 10 นาที หรืออย่างเก่ง 15 นาที และทุกคำพูดของเราต้องแฝงความจริงเสมอ 

 

คอนเซ็ปท์จริง ๆ ของคิดไซด์โค้ง คือ อะไรกันแน่? 

คอนเซ็ปท์เราชัดเจนตั้งแต่ชื่อและสโลแกนเลยนะ… คำว่า “คิดไซด์โค้ง” คือ เราต้องนำเสนอเนื้อหา ที่แตกต่าง จับทางไม่ได้ง่าย ๆ ว่าเราจะนำเสนอเรื่องอะไร อย่างไรในแต่ละวัน เพราะงั้นเราจะไม่กระโดดลงมาเล่นเนื้อหาที่อยู่ในกระแสทุกครั้งไป หรือหากจะเล่นก็ต้องมั่นใจว่า มีข้อมูลชุดความจริงที่แตกต่างอย่างที่อื่นโดยสิ้นเชิง  

ส่วนสโลแกนของเรา คือ “เบื้องหลังบอลไทยที่ใครก็อยากรู้” คำว่า “ใคร” ในที่นี้สำหรับผม คือ “ทุก ๆ คน” ผมคิดว่าเรื่องของฟุตบอลไทย มันมีอะไรที่มากกว่าเรื่องราวในสนาม และมันมีประเด็นเชิงโครงสร้าง ทั้งในรูปแบบของเกมการเมือง, การเอื้อผลประโยชน์, การต่อ-รองเจรจา, หรือกระทั่งเรื่องเชิงธุรกิจ ที่สนุก และน่าสนใจไม่แพ้ฟุตบอลต่างประเทศ มีบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าฟุตบอลนอกอีกด้วยซ้ำ อันที่จริงเรื่องเบื้องหลังของฟุตบอลไทย มันมีอะไรที่เกี่ยวโยงกับชีวิตคนทั่วไปไม่มากก็น้อยเลย 

อาวุธของเราเด็ดคือ Story - Telling ที่ต้องเน้นเลย เพราะผมไม่มีเงินไปลงทุนโปรดักชันอุปกรณ์ราคาแพง มีแค่กล้องฟรุ้งฟริ้ง Mirrorless เก่าๆ ตัวหนึ่ง พร้อมขาตั้งกล้องที่ถ่ายได้แค่มุมเสย High Angle เท่านั้น ไมโคโฟนก็ไม่มี ใช้บันทึกเสียงจากหัวกล้องเอา แต่ทำไงได้...มีเท่าไหนก็ใช้เท่านั้น เพราะกระบี่มันอยู่ที่ใจ

 

คุณมีวิธีรวบรวมข้อมูลในการนำมาเล่าในแต่ละวันอย่างไรให้แตกต่างจากที่อื่น  

ทุกวันนี้งานหลักของผม คือ การเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาทางช่องไทยรัฐทีวี แต่เมื่อเสร็จงาน เราก็ออกไปหาข้อมูล เช็คข้อมูล โทรหา โทรคุยกับแหล่งข่าวหลาย ๆ คน เมื่อมั่นใจทุกอย่างแล้ว ก็อัดวิดีโอและส่งต่อให้น้องคนนึง ที่ช่วยผมตัดต่อ และหาภาพประกอบ เพราะผมนั่งทำทั้งกระบวนการคนเดียวไม่ได้ เนื่องจากมีงานประจำที่ต้องทำอยู่ พอตกกลางคืน ผมก็มานั่งคิดประเด็นว่าพรุ่งนี้จะเล่าเรื่องอะไร  

ปรัชญาการทำงานของผมนั้น อย่างแรก คือ “Content is King” และเนื้อหาต้องน่าเชื่อถือที่สุด การที่เราจะแตกต่างจากคนอื่นได้ คือ เรื่องของคุณภาพงาน คุณภาพของข้อมูลที่เรามี คุณภาพจากการวิเคราะห์ที่ตรงประเด็นของเรา โดยทุก ๆ อย่างมาจากพื้นฐานของข้อมูลข่าว และแหล่งข่าว ที่เราได้รับมาโดยตรง ที่สำคัญมากไปกว่านั้น เราต้อง fact check (การตรวจสอบข้อเท็จจริง) ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตรวจสอบจากหลาย ๆ ทาง ผมไม่สามารถนำข่าว ที่เกิดขึ้นในออนไลน์โดยที่ผมไม่ได้เป็นคนหามามาเล่าได้ เพราะผมไม่รู้ว่า เฮ้ย ข่าวนี้มันมีเบื้องลึก-เบื้องหลังจริงเท็จแค่ไหน แต่เราต้องหาทางมันรู้ด้วยตัวเอง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการเล่าเรื่องเบื้องหลังต่าง ๆ อย่างมั่นใจที่สุด  

 

ยกตัวอย่างเรื่องเบื้องหลังสนุก ๆ ที่เป็นตัวตนของ “คิดไซด์โค้ง” หน่อย ได้ไหม? 

ผมยกตัวอย่างเรื่องการเปรียบเทียบโมเดลทางธุรกิจของเยอรมันกับไทยให้ฟังละกัน มีคลิปหนึ่งที่ผมอธิบายว่าโมเดลธุรกิจของฟุตบอลไทย ควรเดินทางโมเดลธุรกิจของฟุตบอลเยอรมัน โดยให้แฟน ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นหุ้นส่วนสโมสร ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการบริหาร การตัดสินใจ ก่อให้เกิดความรัก ความสัมพันธ์ร่วมกันจริง ๆ มันจะทำให้ผู้บริหารสโมสรนั้น ๆ ไม่กล้าที่จะใช้เงินมือเติบ เพราะเขาต้องคำนึงถึงแฟนบอลที่เป็นผู้ร่วมถือหุ้นด้วย เห็นความสำคัญกับการสร้างกิจกรรมเพื่อชุมชนมากขึ้น เป็นการผูกสัมพันธ์กับแฟนบอลท้องถิ่น 

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ทำให้คนที่ไม่ดูฟุตบอล เข้าใจโครงสร้างธุรกิจฟุตบอลของทั้งสองประเทศ แน่นอนว่าเมื่อเราพูดถึงคำว่าโครงสร้างธุรกิจ มันไม่ใช่ แค่เรื่องฟุตบอลแล้ว มันคือหลักการทางเศรษฐศาสตร์ และบริบทของสังคมด้วย

และก็ยังมีเรื่องเบื้องหลังของเอเยนต์ฟุตบอล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำให้เกิดดีลการซื้อ-ขายต่าง ๆ ในวงการฟุตบอล ที่หากใครได้รู้เบื้องลึก-เบื้องหลังถึงการเจรจา ที่เต็มไปด้วยความแยบยล เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เต็มไปด้วยการวางแผน เรื่องเหล่านี้ มันเป็นบทเรียนให้กับทุก ๆ คนได้ ต่อให้คุณไม่ใช่แฟนบอลก็ตาม และเรื่องเอเยนต์ ผมเตรียมทำเป็นซีรีส์ยาว 4 ตอน ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 1 ตอน ยังมีเรื่องราวเบื้องหลัง ที่หากคุณได้ฟังแล้วต้องทึ่งอีกหลายเรื่องเลยแหละ   

 

ดูเหมือนเป็นงานหนักมาก… คุณมีวิธีในการสร้างพลังขับเคลื่อนในการทำงานแบบนี้อย่างไร? ทั้งที่จริง ๆ ก่อนหน้านี้คุณก็มีชีวิตที่ลงตัวอยู่แล้วในฐานะผู้ประกาศคนดัง  

มันเป็นเรื่องของความกระหายในการทำข่าวนะ… จริง ๆ ผมเป็นคนข่าวมาตลอด บางคนอาจจะไม่รู้ เห็นผมตอนเป็นผู้ประกาศ อยู่หน้าจอ แต่ผมเริ่มทำข่าวภาคสนามจริงจังตั้งแต่ 15 - 16 ปีก่อนแล้ว ตั้งแต่ตอนเป็นช่างภาพ ออกภาคสนามร่วมกับพี่จอมขวัญ (หลาวเพ็ชร์) สมัยอยู่เนชั่น กลับมาก็ตัดต่องานเอง นอนค้างที่ออฟฟิศตื่น เช้าไปช่วยงานรายการข่าวตามช่องฟรีทีวี ที่บริษัทไปร่วมผลิตรายการด้วย (ยุคนั้นคือรายการจมูกมด ช่อง 7 และ สยามเช้านี้ ช่อง 5) และออกไปทำภาพยนตร์โฆษณากับโปรดักชันเฮาส์ระดับโลกอย่าง บริษัท ฟีโนมีนา จำกัด จากนั้นเข้าสู่การเป็นสื่อกีฬาอย่างเต็มตัวกับทั้ง FM96 สปอร์ตเรดิโอ และสยามกีฬาทีวี ที่มีพี่โย - โยธิน อารีย์การเลิศ เป็นผู้อำนวยการสถานีในขณะนั้น ซึ่งแกเป็นแบบอย่างให้กับผม ในเรื่องของการทำงานหนักแบบเงียบ ๆ ถ่อมตน และผมก็ยึดถือการทำงานหนักแบบพี่ ย.โย่ง (เอกชัย นพจินดา) ที่เปรียบเสมือนไอดอลของคนในวงการนี้หลาย ๆ คนด้วย  

ช่วงนั้นผมก็ออกภาคสนามตลอด ทั้งวิ่งข่าว และทำรายการฟุตบอลที่เป็นความสุขของเราในช่วงวัยรุ่นอย่าง “คอบอล สเตเดี้ยม” ซึ่งมันทำให้ผมเข้าใจวัฒนธรรมฟุตบอลไทย และสะสมเรื่องราวในอดีตที่น่าจดจำมากมายไว้ในหัวมาตลอด  จนกระทั่งได้ย้ายมาทำงานเป็นผู้ประกาศเต็มตัวที่ไทยรัฐทีวี ผมก็ออกภาคสนามน้อยลง ค่อย ๆ เฟดตัวออกมา แต่มันมีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ผมอยากมีช่องยูทูบของตัวเอง คือ ตอนที่ผมพากย์ฟุตบอลทีมชาติไทยผ่านไทยรัฐทีวี แล้วมีคอมเมนต์มาดูถูกผมว่า “เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ มีความรู้เรื่องฟุตบอลไทยรึเปล่า ได้มาพากย์บอลทีมชาติ” 

แรก ๆ ผมก็เฉย ๆ หลัง ๆ ผมรู้สึกว่าจะเจอคำถามนี้บ่อย ผมก็อยากจะพิสูจน์ให้เห็นเหมือนกันว่า จริง ๆ ผมไม่ใช่แค่คนโชคดีคนหนึ่ง ที่มีโอกาสมาอยู่หน้าจอ แต่เกิดจากการเรียนรู้ในกระบวนการทำข่าวมาระดับหนึ่ง เข้าใจระบบ เข้าใจโครงสร้างของกีฬาทั้งไทยและต่างประเทศ และเข้าใจบริบทของฟุตบอลไทยจริง ๆ ซึ่งมันก็คงไม่ใช่ความคิดที่ดีนักหรอก หากผมจะมานั่งตัดพ้อหรือโพทนาว่า “เฮ้ย ความจริงผมเคยเป็นนักข่าวนะ” แต่ผมพิสูจน์ให้เห็นเลยดีกว่า และความที่อยากจะพิสูจน์ให้เห็นนี่แหละ คือ แรงขับที่ทำให้ผมมาทำอะไรแบบนี้ในทุก ๆ วัน ซึ่งผมก็ดีใจ ที่ได้เสียงตอบรับที่ดีเกินคาด ในแต่ละคลิปที่ผมอัปโหลดลงไปมีความยาวเกิน 10 นาทีแทบทุกคลิป ผมก็ไม่คิดเหมือนกันว่า เอาจริง ๆ นะเดิมที ผมคิดว่าหากสิ้นปีนี้มีคนกด subscribe ให้ช่องยูทูบเกิน 10,000 ผมก็ดีใจแล้ว เพราะผมมีงานหลัก มีงานประจำทำอยู่ แต่ผ่านมาถึงตอนนี้มีคน subscribe เกือบ 4 หมื่นแล้ว หลังจากลงคลิปหนักๆ ในช่วง 3 เดือนที่โควิดระบาดนี่แหละ  

จริง ๆ มันมีอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่ทำให้ผมตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าผมอยากมาทำช่องยูทูบ คือ เกมที่ทีมชาติไทยเจอกับเวียดนาม ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ซึ่งผมได้บรรยายเกมเกมนั้น และผมอ่านชื่อ “ดั่ง วัน เลิ่ม” (Đặng Văn Lâm) ผู้รักษาประตูของเวียดนาม ที่ปกติคนไทยอ่านว่า “ดัง วัน ลัม” แต่ผมมั่นใจและออกเสียงออกอากาศไปแบบนั้น เพราะว่ารายชื่อชื่อนักฟุตบอลเวียดนามทุกคน ผมให้ชาวเวียดนามแท้ ๆ ที่อยู่ประเทศไทย เป็นคนเขียนการออกเสียงให้ตามหลักการออกเสียงของภาษาเวียดนาม และรีเช็คกับผู้สื่อข่าวเวียดนามอีกรอบ แต่ผมกลับโดนแฟนบอลทั่วประเทศด่าทอเสียหายกันมากมาย อย่างไรก้ตามผมก็เลือกยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกต้องนะครับ และอีกแมตช์นึง ที่ไทยบุกไปเจอเวียดนามที่บ้านเขาในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ผมก็ยังออกเสียงว่า ดั่ง วัน เลิ่ม อีก… 

 

แล้วผลเป็นยังไง? 

ก็โดนด่าเละเหมือนเดิมไงครับ (ฮา) 

แต่ผมก็ยังยืนยันว่าการออกเสียงของผมไม่ผิด และสุดท้ายก็มีชาวเวียดนามในไทยจำนวนหนึ่ง ที่ออกมาช่วย และชื่นชมการทำงานของผม มีบางคนถึงกับส่งคลิปที่คนเวียดนามออกเสียงดั่ง วัน เลิ่ม มาให้ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณพี่วิจิตร สกลธนากร แฟนบอลชาวมุกดาหารที่มีเชื้อสายเวียดนาม ช่วยให้ข้อมูลเรื่องภาษา เรารู้จักกันครั้งแรกตั้งแต่ 4 ปีก่อน เขาโทรมาหาผมผ่านคอลล์เซนเตอร์ของไทยรัฐ บอกว่าอยากคุยกับเราในฐานะที่เป็นบรรยายเกมทีมชาติไทย ในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ก่อนถามเราว่า  “เป็นไปได้มั้ยที่คุณจะเรียกชื่อนักเตะเวียดนามให้ใกล้เคียงถูกต้องตามหลักภาษาของเราที่สุด” แน่นอนผมตอบตกลงทันทีโดยไม่ลังเล และความจริงการออกเสียงนักเตะเวียดนาม ผมก็พากย์แบบนี้ตั้งแต่สมัยโค้ชซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) เป็นกุนซือทีมชาติแล้วนะครับ และบางคนก็อยู่ทีมชุดปัจจุบัน แต่แค่งงว่าทำไมถึงกลายประเด็นใหญ่โต สุดท้ายคิดแค่ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป และไม่ว่าใครจะตีค่าผมยังไง ไม่สำคัญเท่ากับผม ให้ราคาตัวเองยังไงมากกว่า

 

นอกเหนือจากการเล่าเรื่องเบื้องหลังฟุตบอลไทยที่สนุกแล้ว หลาย ๆ ครั้งคุณกระโดดลงมาเล่นกับกระแสการย้ายตัวผู้เล่น และมักฟันธงแหวกจากสื่อสำนักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก หรือสื่อฟุตบอล แถมถูกเสมอ 100% ที่ผ่านมา  

ก่อนอื่นผมขอบอกก่อนว่า...ผมไม่ใช่คนวงในอะไร และไม่เคยทำตัวเป็นคนวงในด้วย เพราะจริง ๆ แล้วเป้าหมายของ “คิดไซด์โค้ง” ไม่ได้ต้องการแค่มาเล่าเรื่องดีลซื้อ-ขายนักฟุตบอล แต่เราต้องการเล่าเบื้องหลังเชิงโครงสร้าง เป็นเนื้อหาแบบ In - Depth Stories (เรื่องเชิงลึก) ฟังหรือดู แล้วต้องสนุก ทึ่งกับเรื่องเบื้องหลัง และเป็นเนื้อหา ที่ใคร ๆ เข้ามาดูมาฟังเมื่อไหร่ก็ได้   

แต่ประเด็นซื้อ-ขายนั้น บางครั้งมันก็เป็นเรื่องใหญ่ อยู่ในความสนใจของคน มันเป็น Human Interest พื้นฐานสำหรับคนชอบดูฟุตบอล มีเรื่องราวเบื้องหลังบางอย่างที่มันน่าเล่าซ่อนอยู่  และสามารถอธิบายให้คนฟังได้เห็นความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของฟุตบอลไทยได้  นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมเริ่มลงมาเล่าเรื่องพวกนี้บ้างเป็นครั้งคราว 

ส่วนเรื่องที่สวนกระแส… ผมก็ไม่ตั้งใจจะขวางโลกหรืออยากดังอะไรหรอก เพียงแต่ผมเชื่อมั่นในชุดข้อมูลของผม ที่ผมหามา และได้รับจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ก็วิเคราะห์ด้วยหลักการและเหตุผล ซึ่งมันมีความจริงซ่อนอยู่เสมอ  

 

คุณไม่กลัวหน้าแหกเลย? 

มันไม่ได้เกี่ยวกับคำว่าหน้าแหกหรือไม่หน้าแหกนะครับ… มันเกี่ยวกับว่า เรามั่นใจข้อมูลในมือเรามากขนาดไหน ซึ่งข้อมูลที่ผมได้รับมา ผ่านการ fact check (การตรวจสอบข้อมูล) ซ้ำแล้วซ้ำอีกกับ reliable source (แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้) ผมก็เล่าและวิเคราะห์สถานการณ์ไปตามที่ผมได้รับมาโดยตรง และผมก็ไม่ได้ไปบอกว่า หากเพจอื่น สำนักอื่นลงข้อมูลผิดพลาดแล้วมันจะไม่ดี มันไม่ใช่แบบนั้น มันดีกว่าไม่ใช่เหรอครับ ถ้าคนเสพมีชุดข้อมูลให้เลือกเสพได้หลากหลาย? มันทำให้เกิดการแข่งขันนะครับ อะไรที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน ย่อมทำให้เกิดการพัฒนา และประโยชน์จะเกิดกับใคร? ก็วงการฟุตบอล และแฟนบอลไม่ใช่เหรอ? 

 

ทำไมคนไม่ดูหรือไม่เข้าใจฟุตบอล ต้องมาดูช่องยูทูบของคุณ? ทำไมต้องพยายามนำเสนอเรื่องเบื้องหลังฟุตบอลไทย ให้คนไม่ดูฟุตบอลไทยเข้าใจ? 

อย่างที่ผมบอก…เรื่องเบื้องหลังของฟุตบอลไทย มันมีอะไรที่เกี่ยวโยงกับชีวิตคนทั่วไปไม่มากก็น้อย

 

การที่นักการเมืองคนหนึ่ง มีบทบาทและมีอำนาจในทีมฟุตบอล ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งจังหวัดได้ มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกคุณงั้นเหรอ? บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาบริหารทีมฟุตบอล จนสร้างรอยยิ้มให้กับผู้คนในชุมชน เกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์นั้น ๆ ก็เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเราเช่นกัน จะใช้โปรดักท์นั้นหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของคุณ แต่แบรนด์เหล่านั้น ผู้บริหารคนนั้น ๆ เข้าไปอยู่ในใจของคนในชุมชน คนในจังหวัดแล้ว 

และเรื่องที่ผมเล่า ต่อให้คุณไม่เป็นแฟนฟุตบอลไทย แต่หากคุณได้รู้ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง คุณก็จะสนุก และอินไปกับมัน คุณจะต้องร้อง อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เหรอ? ทั้งที่คุณอาจไม่รู้จักนักฟุตบอลไทยสักคนเลยก็ได้ 

มันหลายคอมเมนต์ โดยเฉพาะจากผู้หญิง ที่พิมพ์เข้ามาบอกว่า พวกเธอไม่เคยรู้เรื่องฟุตบอลไทยเลย และไม่เคยสนใจ แต่พอได้ฟังคลิปผม ก็เข้าใจมากขึ้น และขอติดตามต่อ นั่น คือ เป้าหมายที่ผมอยากทำให้ได้ และมันก็ประสบความสำเร็จจริง ๆ ตรงจุดนี้ผมแฮปปี้ที่สุดเลยนะ มากกว่าการที่ได้รับเอนเกจเมนต์ดี ๆ เวลาอัปโหลดคลิปลงไปซะอีก 

 

โลกของสื่อกีฬาออนไลน์ในไทยตอนนี้ ตามมุมมองของคุณเป็นอย่างไร? 

ก่อนอื่นต้องบอกว่า...ผมชอบนะที่เห็นคนลงมาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับฟุตบอลไทยเยอะ ๆ นะ มันแสดงให้เห็นว่าฟุตบอลไทย เป็นธุรกิจที่ไปต่อได้ มันเป็นเรื่องธรรมดาของโลกธุรกิจไม่ใช่เหรอ ที่เมื่อมีคนสนใจมาก ก็ย่อมมีผู้ผลิตมาก มันเป็นไปตามกลไกของ demand - supply มันเยอะไปไหม? ไม่เยอะไปหรอก แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วง คือ คุณภาพมากกว่า 

เราต้องยอมรับว่านักข่าวที่หาข้อมูลด้วยตัวเองแบบ Original Content มันน้อยมาก สวนทางกับจำนวนเพจ, สื่อ และช่องยูทูบเกี่ยวกับฟุตบอล ที่ขยายตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามมา คือ พอสื่อไหนนำเสนอข่าวที่เป็นกระแสลงไป ช่องอื่น ๆ ก็เฮโลเทตามกันไปเป็นทอด ๆ ปราศจากการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งถ้ามันผิด มันก็ผิดกันหมด ต่อให้มันถูก มันก็ถูกเหมือนกันหมด โดยไม่มีชุดข้อมูลที่แตกต่าง พอเนื้อหามันเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด...แล้วการแข่งขันมันจะอยู่ตรงไหนล่ะ? 

 

เป้าหมายของคิดไซด์โค้งที่แท้จริง คือ อะไร? 

คำว่า “ไซด์โค้ง” มันสามารถตีความได้หลายความหมาย ไม่ใช่แค่ “ลูกฟุตบอลไซด์โค้ง” แต่เราสามารถเปรียบได้กับแนวคิด, เนื้อหา และการวิเคราะห์ของเราในทุก ๆ เรื่อง ว่ามัน “ไซด์โค้ง” มันต้องเข้าเป้าแบบสวยงาม ไม่ได้เป็นแค่เส้นตรง แปลกแตกต่างจากที่อื่น   

เพราะฉะนั้นในอนาคตแบรนด์ของ “คิดไซด์โค้ง” จะไม่ได้มาเล่าเรื่องราว และวิเคราะห์แค่เรื่องฟุตบอลเพียงอย่างเดียว มันยังมีอะไร ๆ อีกหลายอย่างที่ผมชื่นชอบ มีความสนใจ ทั้งเรื่องหนัง เรื่องเพลง กระทั่งอาหารการกิน และการท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะขยายไปทำเรื่องอื่น ๆ แน่นอน  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> NUMBER20TALK : รายการไลฟ์ของอดีตนักฟุตบอลไทยลีก ที่แบ่งปันชีวิตแข้งระดับโลกลึกกว่าสื่อทั่วไป

>> จิตกร ศรีคำเครือ : การเดินทางตามฝันกว่า 30 ปี โดยมีลิเวอร์พูลเป็นเพื่อนร่วมทาง

ยอดนิยมในตอนนี้