รีเซต
ควิดดิชนานาชาติอยากเปลี่ยนชื่อกีฬา "ควิดดิช" เพราะ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เหยียดเพศจริงหรือ | Main Stand

ควิดดิชนานาชาติอยากเปลี่ยนชื่อกีฬา "ควิดดิช" เพราะ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เหยียดเพศจริงหรือ | Main Stand

ควิดดิชนานาชาติอยากเปลี่ยนชื่อกีฬา "ควิดดิช" เพราะ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เหยียดเพศจริงหรือ | Main Stand
เมนสแตนด์
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 23:55 )
209

 

ควิดดิช ถือเป็นกีฬายอดนิยมในโลกพ่อมดจากภาพยนตร์และนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน และด้วยความรักของมนุษย์ (หรือ มักเกิล) ที่มีให้กับมัน ทำให้กีฬาชนิดดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นบนโลกของเราจนได้

 


หลังจากกระจายตัวไปทุกทวีปทั่วโลก ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นกับกีฬาชนิดนี้ เมื่อกลุ่มคนเล่นกีฬาควิดดิชต่างพร้อมใจกันเลิกใช้คำว่า "ควิดดิช" เพื่อต่อต้านความเห็นของ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้แต่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่แสดงมุมมองต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+

Main Stand จะพาคุณไปสืบค้นต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่การถือกำเนิดของสมาคมควิดดิชนานาชาติ จุดยืนของคนเล่นกีฬาชนิดนี้ที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และเหตุใดพวกเขาจึงเลิกใช้ชื่อกีฬาชนิดนี้ว่าควิดดิช 

 

ควิดดิชมีจริงในโลกมักเกิลด้วยเหรอ ?

เฉกเช่นนวนิยายแฟนตาซีชื่อดังเรื่องอื่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในป็อปคัลเจอร์ที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนไปทั่วโลก และด้วยความคลั่งไคล้ของเหล่านักอ่านที่มีต่อโลกเวทมนตร์นี้มีมากกว่าที่จะปล่อยให้เรื่องราวต่าง ๆ เป็นเพียงตัวอักษรบนหน้ากระดาษ จึงทำให้ คน สัตว์ สิ่งของ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏในนวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ แปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดา หรือ บรรดามักเกิลสามารถจับต้องได้จริง


Photo : iqasport

ควิดดิช กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเวทมนตร์ก็เช่นกัน การแข่งขันที่น่าตื่นเต้นและเสี่ยงอันตรายของบรรดาผู้วิเศษได้ถูกประยุกต์ให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ก่อนจะเริ่มต้นแข่งขันในฐานะกีฬาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 ในเมืองมิดเดิลบิวรี่ รัฐเวอร์มอนต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

กฎกติกาของควิดดิชที่เล่นกันในโลกมนุษย์ทั่วไป (สาวกเดนตายของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เรียกเกมนี้ว่า ควิดดิชของมักเกิล) มีความใกล้เคียงกับกีฬาควิดดิชที่ปรากฏในนวนิยาย

นั่นคือจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองข้าง ทีมละ 7 คน โดยผู้เล่นทั้งสองทีมจะแข่งขันกันทำแต้มให้ได้มากที่สุด ผ่านการโยนบอลเข้าสู่ห่วงทั้งสาม โดยเกมจะจบลงเมื่อทีมใดทีมหนึ่งจับลูกสนิตช์ (ในความจริงคือ ลูกเทนนิส) ได้ ซึ่งผู้เล่นทุกคนในสนามจะขี่ไม้กวาดเหมือนกับเหล่าพ่อมด แต่พวกเขาจะเคลื่อนที่ด้วยการวิ่ง ไม่ได้เหาะเหมือนในภาพยนตร์

ถึงแม้ว่าการวิ่งไล่ลูกบอลโดยมีไม้กวาดแกว่งไปมาบริเวณหว่างขาอาจจะตลกไปบ้างสำหรับบางคน แต่กีฬาควิดดิชก็ได้รับความนิยมบนโลกมนุษย์ไม่แพ้ในโลกภาพยนตร์ เพราะภายในปี 2007 การแข่งขันควิดดิชชิงแชมป์โลกได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองมิดเดิลบิวรี่ รัฐเวอร์มอนต์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ควิดดิชชิงแชมป์สหรัฐอเมริกา ในภายหลัง

เพราะทัวร์นาเมนต์ควิดดิชชิงแชมป์โลกของจริงได้เกิดขึ้นในปี 2012 โดยมี 5 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ประเทศอันเป็นต้นกำเนิดของนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่าง สหราชอาณาจักร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ส่วนแชมป์โลกทีมแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา

นับแต่นั้น ควิดดิชชิงแชมป์โลก จะจัดการแข่งขันขึ้นทุกสองปี โดยการแข่งขันครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2018 (ก่อนจะหยุดยาวเพราะสถานการณ์โควิด-19) มีทีมเข้าร่วมแข่งขันรายการนี้มากถึง 29 ชาติ ซึ่งรวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง เวียดนาม และ มาเลเซีย ด้วยเช่นกัน


Photo : iqasport

เราจึงสามารถพูดได้ว่า ควิดดิช คือเกมกีฬาระดับนานาชาติที่มีผู้คนให้ความสนใจและลงแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลก โดยองค์กรส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่ดูแลเกมการแข่งขันควิดดิชในระดับระหว่างประเทศ ได้แก่ สมาคมควิดดิชนานาชาติ (International Quidditch Association) หรือ IQA

สมาคมควิดดิชนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 โดยก่อนหน้านั้นองค์กรแห่งนี้เคยดำรงอยู่ในชื่อสมาคมควิดดิชระหว่างมหาวิทยาลัย ก่อนกีฬาควิดดิชจะได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย สมาคมควิดดิชนานาชาติ มีสมาชิกทั้งหมด 39 ประเทศ จากทุกทวีปทั่วโลก

 

กีฬาหัวก้าวหน้าเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้กีฬาควิดดิชเป็นที่นิยมไปทั่วโลก นั่นเป็นเพราะนี่เป็นหนึ่งในไม่กี่กีฬาที่ผู้เล่นทุกเพศสามารถลงแข่งขันร่วมกันภายในเกมเดียวได้ โดยกฎกติกาในกีฬาควิดดิชที่เล่นกันในชีวิตจริงกำหนดไว้เพียงว่า แต่ละฝ่ายจะต้องมีผู้เล่นเพศเดียวกันไม่เกิน 4 คนในสนาม (ไม่รวม ซีกเกอร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษ) 

ส่วนผู้เล่นอีกสองคนที่เหลือจะเป็นเพศใดก็ได้นอกเหนือจากนั้น ยกตัวอย่าง ชาย 4 หญิง 2 และ LGBTQ+ อีก 1 คน ทั้งนี้เพื่อให้เหมือนเกมควิดดิชที่ปรากฏในโลกเวทมนตร์ ซึ่งผู้เล่นทุกเพศสามารถเล่นควิดดิชร่วมกันได้


Photo : iqasport

กีฬาควิดดิชจึงเป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างแต่ละเพศ ที่สำคัญที่สุดควิดดิชถือเป็นกีฬาที่เป็นมิตรกับผู้เล่นกลุ่ม LGBTQ+ เนื่องจากชุมชนผู้เล่นกีฬานี้มีแนวคิดหัวก้าวหน้าและเปิดกว้างทางเพศเป็นทุนเดิม โดยต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างกีฬาควิดดิชให้เกิดขึ้นจริงคือบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในโลกปัจจุบัน

การยอมรับผู้เล่นในกลุ่ม LGBTQ+ ของกีฬาควิดดิช ปรากฏในกฎ four maximum หรือ กฎที่กำหนดให้มีผู้เล่นเพศเดียวกันอย่างน้อยสี่คน โดยคำอธิบายของกฎส่วนหนึ่งมีการระบุไว้ว่า

"กีฬาควิดดิชยอมรับผู้เล่นที่ประสงค์จะไม่ระบุเพศของตนตามระบบเพศชายหญิง และเราทราบดีว่าผู้เล่นทุกคนของเราไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง กีฬาควิดดิชยินดีต้อนรับผู้คนจากทุกเพศและทุกตัวตนเข้าสู่เกมกีฬาของเรา"


Photo : iqasport

กีฬาควิดดิชอาจเป็นกีฬาที่มีการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลก โดยในปี 2013 ควิดดิชแห่งสหรัฐอเมริกา (US Quidditch) หรือ USQ ได้สร้างข้อกำหนดเก้าเศษสามส่วนสี่ (Title 9 3⁄4) ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงข้อกำหนดที่เก้า (Title IX) ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกาว่า "ห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในโรงเรียนหรือโครงการการศึกษาอื่น ๆ ที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลาง" 

ซึ่งข้อกำหนดนี้ได้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิงในสถานศึกษาของสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่เก้าดูเหมือนจะกีดกันกลุ่ม LGBTQ+ ออกไป

ข้อกำหนดเก้าเศษสามส่วนสี่ (ซึ่งอิงมาจาก ชานชาลา 9 3⁄4 ในสถานี King's Cross กรุงลอนดอน ประตูเชื่อมโลกเวทมนตร์กับโลกมักเกิลด้วยเช่นกัน) จึงถูกสร้างขึ้นโดยบรรดากลุ่มผู้นิยมกีฬาควิดดิชเพื่อยืนยันว่า ความเท่าเทียมทางเพศจะไม่เกิดขึ้นเพียงชายและหญิงเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย โดย ควิดดิชแห่งสหรัฐอเมริกา ตั้งความหวังไว้ว่า ข้อกำหนดเก้าเศษสามส่วนสี่ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในกีฬาอื่นต่อไป

กีฬาควิดดิชจึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้เล่น LGBTQ+ โดยหลายคนออกมาพูดถึงประสบการณ์แง่บวกที่ได้รับจากการเล่นกีฬาควิดดิช โดยพวกเขารู้สึกว่ากีฬาชนิดนี้ได้ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเรื่องเพศสภาพและยังลดการสร้างภาพจำแบบเหมารวมที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQ+ อีกด้วย


Photo : iqasport

"ฉันรักความจริงที่กีฬาควิดดิชก่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างทุกเพศ ซึ่งตัวฉันเองก็ไม่ใช่ทรานสเจนเดอร์หรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชายหญิงหรอกนะ แต่เพื่อนร่วมทีมของฉันบางคนเป็นเช่นนั้น และพวกเขารู้สึกได้การยอมรับในสังคมควิดดิช เพราะกฎเกี่ยวกับเพศของเรา นั่นทำให้เรื่องเหล่านี้สำคัญกับตัวฉันเหมือนกัน" หนึ่งในผู้เล่นกีฬาควิดดิชที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวชื่นชมการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของเกมนี้

น่าเสียดายที่ความพยายามในการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศของชุมชนคนเล่นควิดดิชยังคงไม่สำเร็จผลดั่งใจหวัง เพราะยังมีผู้คนบางกลุ่มที่ยืนยันว่า LGBTQ+ ไม่สามารถมีสถานะเท่าเทียมกับเพศชายหญิงได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีบางคนที่ออกมาวิจารณ์การกระทำที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

ใครคนนั้นที่เราพูดถึงคือ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้ประพันธ์นวนิยาย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้นำมาสู่ความสัมพันธ์อันแตกหักระหว่างทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้คนในวงการต่างประกาศว่าพวกเขาจะไม่ใช้ชื่อกีฬาชนิดนี้ว่า "ควิดดิช" อีกต่อไป เนื่องจากคอมเมนต์อันอื้อฉาวของนักเขียนชื่อดังก้องโลก เกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในปัจจุบัน

 

เหตุผลที่ต้องบอกลาคำว่า ควิดดิช 

การกระทำของ เจ. เค. โรว์ลิง ที่นำมาสู่ประเด็นอันอื้อฉาวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 2020 หลังเจ้าตัวโจมตีบทความหนึ่งของเว็บไซต์ Devex ที่เลือกใช้คำว่า "บุคคลผู้มีประจำเดือน" แทนคำว่า "ผู้หญิง" ส่งผลให้เธอถูกโจมตีในทวิตเตอร์ ซึ่งหลังจากนั้นอีกราวครึ่งชั่วโมง เจ. เค. โรว์ลิง ได้ตอบโต้ชาวเน็ตด้วยการพิมพ์ข้อความเหล่านี้ลงในทวิตเตอร์


Photo : iqasport

"หากการมีอยู่ของเพศสภาพไม่มีอยู่จริง โลกนี้คงไม่มีการตกหลุมรักคนเพศเดียวกัน หากการมีอยู่ของเพศสภาพไม่มีจริงผู้หญิงคงถูกลบหายไปจากโลกใบนี้ ฉันรู้จักและรักกลุ่มคนข้ามเพศ แต่การลบคอนเซ็ปต์ของเพศสภาพทำให้หลายคนไม่สามารถพูดคุยเรื่องชีวิตของพวกเขาได้อย่างมีความหมาย มันไม่ใช่ความเกลียดชังหากฉันพูดความจริง"

"แนวคิดของผู้หญิงอย่างฉัน คือผู้มีความเห็นอกเห็นใจต่อบุคคลข้ามเพศมายาวนานนับสิบปี ได้รู้สึกถึงความผูกพันที่มีต่อกัน เพราะพวกเขามีความเปราะบางเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องความรุนแรงจากผู้ชายกลับถูกมองว่าเกลียดชังคนข้ามเพศ เพราะฉันคิดว่าเพศสภาพมีอยู่จริงและเราได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผลลัพธ์ของมัน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เหลวไหล"

"ฉันเคารพสิทธิของบุคคลข้ามเพศทุกคนที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบใดที่พวกเขารู้สึกสบายใจและเป็นตัวของตัวเอง ฉันจะเดินขบวนไปกับคุณหากคุณถูกกีดกันจากการเป็นคนข้ามเพศ แต่ในขณะเดียวกันชีวิตของฉันถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยการเป็นเพศหญิง และฉันไม่เชื่อว่าการพูดแบบนี้จะเป็นการแสดงความเกลียดชังแต่อย่างใด"


Photo : iqasport

คอมเมนต์ของ เจ. เค. โรว์ลิง ถูกโจมตีเป็นอย่างมาก เนื่องจากใจความทั้งหมดที่เธอสื่อสารออกมาได้แสดงถึงความเชื่อที่ยึดมั่นต่อ "เพศสภาพแต่กำเนิด" ซึ่งถูกแบ่งเป็นผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น โดยกลุ่มคน LGBTQ+ ยุคปัจจุบัน พยายามต่อสู้เพื่อลบล้างคอนเซ็ปต์ดังกล่าวทั้งหมด หากกลับไปอ่านทวิตของ เจ. เค. โรว์ลิง จะพบว่าจุดยืนของนักเขียนชื่อดังอยู่ตรงข้ามกับการต่อสู้ของกลุ่ม LGBTQ+ อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ เจ. เค. โรว์ลิง ยังเลือกใช้คำว่า "เห็นอกเห็นใจต่อบุคคลข้ามเพศ" ซึ่งหลายคนตีความว่าเป็นการกดให้ LGBTQ+ มีสถานะต่ำกว่าผู้หญิง ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่า เจ. เค. โรว์ลิง คือบุคคลที่มีแนวคิดเฟมินิสต์ หรือ สตรีนิยม ที่สนับสนุนให้เพศหญิงเท่าเทียมกับเพศชาย แต่กลับกลายเป็นว่า เจ. เค. โรว์ลิง มีท่าทีไม่ต้องการให้ LGBTQ+ มีสถานะเทียบเท่ากับเพศหญิง และไม่สามารถก้าวข้ามความจริงที่ว่าพวกเขาเกิดมาเป็นเพศชาย

มีนักแสดงในภาพยนตร์ชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ หลายคน ที่ออกมาวิจารณ์มุมมองของเธอ และสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็น แดเนียล แรดคลิฟฟ์, เอ็มม่า วัตสัน หรือ รูเพิร์ต กรินต์ โดยการออกมาของนักแสดงนำทั้งสามในโลกพ่อมดแสดงให้เห็นว่า แม้แต่บุคคลที่ผูกพันและให้ความเคารพต่อ เจ. เค. โรว์ลิง ก็ไม่อาจยอมรับความเห็นของเธอได้


Photo : iqasport

วงการกีฬาควิดดิชก็เช่นเดียวกัน โดยในเดือนธันวาคม ปี 2021 หลายลีกควิดดิชในสหรัฐอเมริกาเลือกจะไม่ใช้คำว่า "ควิดดิช" เป็นชื่อกีฬาดังกล่าวอีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานของ เจ. เค. โรว์ลิง เนื่องจากมุมมองของเธอต่อกลุ่ม LGBTQ+

"ควิดดิชคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เราสามารถรักษาสถานะทางสังคมที่มีอยู่และพยายามทำตัวเป็นกีฬาที่เงียบเชียบหรือจะทำเรื่องราวให้มันใหญ่โต เพื่อผลักดันกีฬาชนิดนี้สู่ก้าวต่อไป" คำแถลงการณ์จากควิดดิชแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าว

"เราหวังว่าการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ของหลายลีกจะช่วยให้พวกเราตีตัวออกห่างจากงานของ เจ. เค. โรว์ลิง บุคคลผู้สมควรได้รับการตรวจสอบมากขึ้นทุกวัน เกี่ยวกับมุมมองของเธอที่มีต่อคนข้ามเพศตลอดหลายปีที่ผ่านมา"

บรรดาผู้เล่นกีฬาควิดดิชต่างเสนอชื่อต่าง ๆ เพื่อใช้เรียกแทน ไม่ว่าจะเป็น ควิกบอล, ควิกเกอร์, ควิดสไตร์ค หรือ ควอดราบอล อย่างไรก็ตาม พวกเขายังไม่ได้ชื่อเรียกแทน และเกมกีฬานี้ยังคงถูกเรียกโดยแพร่หลายว่า ควิดดิช ต่อไป


Photo : iqasport

ทางฝั่งนักเขียนชื่อดังได้ตัดสินใจตอบโต้การตัดสินใจของบรรดาผู้เล่นกีฬาควิดดิช โดยบริษัท Blair Partnership เอเยนซี่ของ เจ. เค. โรว์ลิง กล่าวว่า บรรดาลีกควิดดิชที่หยิบยืมชื่อกีฬาดังในโลกพ่อมดไปใช้ไม่เคยได้รับการอนุญาตหรือการรับรองโดยตรงจาก เจ. เค. โรว์ลิง เลย มีเพียงบริษัทผู้สร้างหนัง วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เท่านั้น ที่ซื้อลิขสิทธิ์คำว่า ควิดดิช ไปใช้อย่างถูกกฎหมาย 

ดังนั้นแล้วการใช้คำว่า "ควิดดิช" เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของผู้เล่นกีฬาควิดดิชจึงเป็นไปไม่ได้เลย การแถลงของฝั่ง เจ. เค. โรว์ลิง จึงเป็นการพยายามชี้ว่า แท้จริงแล้วพวกเขาพยายามเปลี่ยนชื่อกีฬานี้เพราะเรื่องเงินต่างหาก

ถึงตรงนี้จึงดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะเดินทางมาถึงจุดแตกหักเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากคอมเมนต์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังคงมีการตอบโต้ความเห็นระหว่างผู้เห็นด้วยและผู้ต่อต้านอย่างต่อเนื่อง


Photo : iqasport

กรณีนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเมืองและกีฬา ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่คนรุ่นใหม่เลือกใช้กีฬาที่เขารักเป็นเครื่องมือส่งข้อความแก่สังคม เหมือนกับที่กีฬาควิดดิชต้องการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงและจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้นั่นจะหมายความว่าพวกเขาต้องเป็นศัตรูและหันหลังให้กับบุคคลที่เป็นต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้ก็ตาม

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

กีฬาเหนือจินตนาการ : เจาะกีฬา "ควิดดิช" ของจริงที่ไม่ใช่เพียงโลกเวทมนตร์

Title IX : กฎหมายหนึ่งฉบับ ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของบอลหญิงอเมริกา

 

แหล่งอ้างอิง

https://web.archive.org/web/20150403115551/http://iqaquidditch.org/initiatives.php
https://www.usquidditch.org/about/title-9-3-4
https://www.usquidditch.org/files/USQ_Rulebook_9.pdf
https://twitter.com/jk_rowling/status/1269382518362509313
https://twitter.com/jk_rowling/status/1269389298664701952
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-59726281
https://www.theguardian.com/us-news/2021/dec/20/us-quidditch-leagues-change-name-jk-rowling
https://mlquidditch.com/mlq-usq-pursue-name-change/
https://en.wikipedia.org/wiki/Quidditch_(real-life_sport)#USQ_Championships_(US_Quidditch_Cup)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541