รีเซต
ก้าวข้ามขีดจำกัด : นักกีฬาที่บกพร่องด้านร่างกาย สามารถเอาชนะนักกีฬาปกติได้หรือไม่ ? | Main Stand

ก้าวข้ามขีดจำกัด : นักกีฬาที่บกพร่องด้านร่างกาย สามารถเอาชนะนักกีฬาปกติได้หรือไม่ ? | Main Stand

ก้าวข้ามขีดจำกัด : นักกีฬาที่บกพร่องด้านร่างกาย สามารถเอาชนะนักกีฬาปกติได้หรือไม่ ? | Main Stand
เมนสแตนด์
30 สิงหาคม 2564 ( 13:30 )
267

ภาพของ ออสการ์ พิสโทเรียส อดีตนักวิ่งพาราลิมปิกชาวแอฟริกาใต้ เคยสร้างความฮือฮาให้กับชาวโลก จากการเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิก 2012 มาแล้ว


 

แม้จะไปไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่ พิสโทเรียส ที่ใช้ขาเทียมทรงใบมีด ก็สามารถทำความเร็วแซงนักวิ่งอาชีพไปได้หลายคน เช่นเดียวกับนักพาราลิมปิกในกีฬายิงธนู เทเบิลเทนนิส ยิงปืน และว่ายน้ำ ที่ต่างก็เคยทำผลงานดีพอจะเข้าร่วมแข่งขันในระดับโอลิมปิกมาแล้ว

ในเมื่อนักกีฬาผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ก็ยังสามารถทำผลงานได้ใกล้เคียงหรือดีกว่านักกีฬาทั่วไป มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่การมีร่างกายไม่สมบูรณ์ จะกลายเป็นข้อได้เปรียบสำหรับนักพาราลิมปิกเหล่านี้ ?

Main Stand จะไขข้อสงสัยนี้ให้ได้รับทราบกัน

 

คนไม่มีขาวิ่งได้เร็วกว่า ?

หากลองกางสถิติโลกในรายการวิ่ง ระหว่างนักวิ่งที่มีร่างกายสมบูรณ์ กับนักวิ่งแบบวีลแชร์เรซซิ่ง ซึ่งพิการหรือไม่สามารถใช้งานขาได้อย่างปกติ จะพบว่านักวิ่งที่ร่างกายครบถ้วนนั้น ยังคงถือครองสถิติในระยะ 100, 200, และ 400 เมตรไว้ได้อยู่

ทว่าพอมองไปยังระยะทางที่ไกลออกไป คือตั้งแต่ 800 เมตร จนถึงการวิ่งมาราธอน บรรดานักวีลแชร์เรซซิ่ง ต่างทำเวลาได้ดีกว่านักวิ่งที่ร่างกายสมบูรณ์ทั้งหมด

โดยเฉพาะในการวิ่งมาราธอน มีเพียงแค่ เอลิอุด คิปโชเก้ ที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ด้วยความช่วยเหลือจากเพซเซอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อทำลายสถิติดังกล่าวได้อย่างไม่เป็นทางการ 

แต่กับนักวิ่งแบบวีลแชร์นั้น เวลาดังกล่าวถือว่าค่อนข้างช้าเลยทีเดียว เพราะแม้ ประวัติ วะโฮรัมย์ นักวีลแชร์เรซซิ่งประเภท T54 จากไทย จะทำเวลาไว้ได้ 1 ชั่วโมง 30 นาที 9 วินาที ในพาราลิมปิก ที่ริโอ ปี 2016 เจ้าตัวก็ยังจบด้วยอันดับ 5 ในการแข่งขันระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้พลาดเหรียญรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย

ทำไมนักวิ่งแบบวีลแชร์ ถึงสามารถทำเวลาได้เร็วล่ะ เพราะเขามีล้อหรือ ?

จริง ๆ จะพูดอย่างนั้นก็ทั้งใช่และไม่ใช่ในเวลาเดียวกัน นั่นเพราะนักวิ่งในประเภท T54 ของพาราลิมปิก ยังสามารถใช้กล้ามเนื้อแขนได้อย่างปกติเหมือนกับผู้คนทั่วไป และอาจสามารถใช้งานกล้ามเนื้อส่วนลำตัวและส่วนขาได้บางส่วนด้วย และทั้งหมดนี้เอาไว้ใช้เพื่อช่วยเร่งความเร็วให้เข้าสู่เส้นชัย

แต่สิ่งที่เข้ามาเป็นตัวช่วยนั้น ก็คือรถวีลแชร์ที่พวกเขานั่งอยู่ ซึ่งแค่แรกเห็น ก็สามารถสัมผัสได้แล้วว่า รถดังกล่าวนั้นต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน…

 

ส่วนต่อขยายที่สมบูรณ์แบบ

ในรายการวิ่งระยะสั้น เราจะเห็นนักวิ่งที่ร่างกายสมบูรณ์ พยายามพุ่งตัวออกจากบล็อกให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งแตกต่างไปจากนักวีลแชร์เรซซิ่ง ที่มักใช้เวลานานกว่าเพื่อออกตัวจากจุดสตาร์ต ส่งผลให้ใช้เวลาขึ้นไปแตะความเร็วสูงสุดช้ากว่านักวิ่งปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำความเร็วได้ที่แล้ว นักวิ่งแบบวีลแชร์จะคงความเร็วตลอดช่วงการแข่งขันได้ดีกว่า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากตัววีลแชร์ที่พวกเขานั่งอยู่นี่แหละ

ก่อนอื่นเลย การออกแบบรถวีลแชร์ของนักวิ่งมืออาชีพ ได้ถูกเก็บรายละเอียดไปถึงหลักมิลลิเมตร ไล่ตั้งแต่การใช้เฟรมที่ทำจากอะลูมิเนียมแบบ 6061 T-6 ซึ่งเป็นที่นิยมในการแข่งขันจักรยานระดับอาชีพ การเลือกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางล้อ ปรับรูปทรงให้ถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์ ไปจนถึงการจัดวางองศาของล้อ ให้ทำมุมพอดีกับการใช้มือเป็นตัวขับเคลื่อนได้อย่างสะดวกสบาย

และสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยสำคัญ คืออุปกรณ์ช่วยในการเข้าโค้งบนรถวีลแชร์ ที่ถูกปรับมาเพื่อให้นักวิ่งในพาราลิมปิก สามารถเข้าโค้งได้อย่างพอดิบพอดี โดยไม่สูญเสียความเร็วไปมากนัก เมื่อเทียบกับนักวิ่งที่ต้องใช้ขาทั้งสองข้าง ซึ่งสูญเสียโมเมนตั้มไปพอสมควรระหว่างที่ร่างกายต้องกะระยะการเข้าและออกทางโค้งให้ได้ดีที่สุด

แบรด แครกคิโอล่า จาก BMW Racing ผู้ออกแบบรถวีลแชร์ให้กับ ทาเทียนา แมคแฟดเดน นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติสหรัฐอเมริกา ใช้ในการแข่งขันพาราลิมปิก 2016 ได้กล่าวไว้ว่า "เราดีไซน์วีลแชร์ ด้วยความเข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ แต่เป็นส่วนต่อขยายที่มีผลต่อหลักพลศาสตร์ของนักแข่ง และแทบจะเป็นส่วนหนึ่งกับร่างกายของพวกเขาเลย"

 

ลงแข่งบนสนามที่ต่างกัน

แน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้ว การแข่งขันแบบวีลแชร์ ก็คงไม่อาจนำมาเทียบกับการแข่งขันที่ใช้กล้ามเนื้อขาแต่เพียงอย่างเดียวได้อย่างยุติธรรมนัก ด้วยปัจจัยของเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนต่อประสิทธิภาพของนักกีฬาได้ตลอดทั้งการแข่งขัน ซึ่งต่างจากการก้าวเท้าออกตัววิ่ง ที่ยังคงต้องพึ่งพากล้ามเนื้อและหลักเทคนิคเป็นหลักอยู่

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความทุ่มเทของบรรดานักกีฬาพาราลิมปิกเหล่านี้ ที่ได้รับวิวัฒนาการในด้านการฝึกซ้อมกล้ามเนื้อ และเทคนิคใหม่แบบต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ทำผลงานได้ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง จนเราได้เห็นการทำลายสถิติโลกกับการแข่งขันพาราลิมปิกแบบขาดลอยอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่ประเภทของการแข่งขันแบบอื่น อย่างนักวิ่งที่ต้องอาศัย รันนิ่ง เบลด หรือขาเทียมแบบที่ ออสการ์ พิสโทเรียส เคยสวมใส่นั้น ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการวิ่ง และด้วยรุ่นที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกันก็อาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างการแข่งขันได้

สามารถอ่านเรื่องราวดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mainstand.co.th/MS2021RunningBlade001

สุดท้ายนี้ หากถามว่านักกีฬาผู้พิการสามารถเอาชนะคนปกติได้ไหม คำตอบก็ชัดเจนแล้วว่าในระยะทางหนึ่งผู้พิการเหล่านี้สามารถทำลายสถิติได้แบบขาดลอย แต่ด้วยสนามแข่งขันที่แตกต่างกันและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันของนักวิ่งทั้งสองประเภท ก็คงไม่แฟร์ที่จะสรุปเรื่องดังกล่าวได้อย่างชัดเจนในตอนนี้

แต่ที่สรุปได้อย่างชัดเจน คือความสามารถในการเอาชนะขีดจำกัดของร่างกาย และก้าวข้ามผลกระทบที่มีต่อจิตใจของนักกีฬาผู้บกพร่องทางร่างกายเหล่านี้ ที่กลายมาเป็นแรงผลักดันสำคัญให้พวกเขาทำผลงานได้เป็นอย่างดี แถมยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับผู้คนจำนวนมาก ที่อาจต้องประสบชะตากรรมอันไม่เป็นใจแบบนี้ ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

 

แหล่งอ้างอิง:

https://www.bbc.co.uk/ethics/sport/aspects/paralympics.shtml
https://www.theguardian.com/sport/2016/sep/08/can-disabled-athletes-outcompete-able-bodied-athletes
https://fivethirtyeight.com/features/why-wheelchair-racers-outpace-olympic-distance-runners-but-not-sprinters/
https://phys.org/news/2016-09-technology-paralympics-advances-controversy.html
https://www.paralympic.org/athletics/classification
https://www.popularmechanics.com/adventure/sports/a5529/wheelchair-racing-boston-marathon/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้