ใส่เต็มที่ vs หนีทีมแกร่ง : วิธีไหนดีกว่ากันเพื่อเป้าหมายแชมป์ ? | Main Stand
โลกของฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นั้นช่างซับซ้อน เราได้เห็นอะไรแปลก ๆ มาพอสมควรจากรายการต่าง ๆ ในอดีต
ฝรั่งเศส ที่มีตัวรุกระดับโลกเลือกเล่นเกมสวนกลับ ในเกมกับ เบลเยียม เมื่อฟุตบอลโลก 2018 เดนมาร์ก ที่เป็นมวยแทน กลายเป็นแชมป์ยุโรปในปี 1992, โปรตุเกส กลายเป็นแชมป์ยูโร 2016 ทั้ง ๆ ที่รอบแบ่งกลุ่มไม่ชนะใครเลยแม้แต่ทีมเดียว
และในยูโร 2020 สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเรื่อง "การไม่ขอเป็นแชมป์กลุ่ม" เพื่อหลีกหนีทีมแกร่งที่รออยู่ในรอบน็อกเอาต์ หลายคนบอกว่าแม้จะดูเหมือนการเล่นที่ไม่เต็มที่ แต่ก็แลกมาซึ่งโอกาสในการไปถึงแชมป์ได้ง่ายกว่า ?
เรื่องนี้จริงหรือไม่ ? หรือเป็นแค่ทฤษฎีที่แค่คิดกันไปเอง ? ติดตามได้ที่ Main Stand
หนีแชมป์รอบแบ่งกลุ่ม เพื่อโอกาสเป็นแชมป์ทัวร์นาเมนต์
รอบแบ่งกลุ่มถือเป็นศึกที่เหมือนการเปิดโอกาสให้กับทีมต่าง ๆ ที่เข้าแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ได้ประเมินศักยภาพของตัวเองในสถานการณ์จริง เพราะนี่คือรอบที่ทุก ๆ ทีมจะมีโอกาสได้ลงแข่งขันเท่ากันหมดคือ 3 นัด (อ้างอิงจากการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย) พวกเขามีโอกาสแพ้ได้อย่างน้อย ๆ 1 เกม เพื่อหาทีมที่ดีที่สุด 2 อันดับแรกเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ต่อไป
สำหรับฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ ยูโร นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมานั้น มีวิธีการที่ต่างออกไปเล็กน้อย เพราะมีการเพิ่มทีมเข้าแข่งขันจาก 16 เป็น 24 ทีม ซึ่งการเพิ่มจำนวนทีม ทำให้เอื้อต่อการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในรอบแบ่งกลุ่มมากขึ้นอีก เพราะนอกจากทีมอันดับ 1-2 ที่เข้ารอบแล้ว ยังมีทีมอันดับ 3 ของแต่ละกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุด 4 จาก 8 กลุ่ม เข้าสู่รอบน็อกเอาต์เพิ่มเข้าไปด้วย
โดยธรรมชาติแล้วการเป็นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้น เราสามารถเห็นความต่างและประเมินได้โดยสัญชาตญาณในทันที อันดับ 1 มักจะเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งจะถูกจับจองด้วยชาติมหาอำนาจด้านฟุตบอลทั้งสิ้น ส่วนอันดับ 2 และ 3 ก็จะลดหลั่นความแกร่งกันลงมา
อย่างไรก็ตามสถานการณ์มันแตกต่างออกไปได้ ภายใต้กลุ่มการแข่งขันที่เรียกว่า "กรุ๊ป ออฟ เดธ" หรือกลุ่มที่เต็มไปด้วยทีมเก่ง ๆ มารวมตัวกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ง่ายที่สุดใน ยูโร 2020 คือสถานการณ์ของ กลุ่ม F ที่มีทีมอย่าง ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ โปรตุเกส รวมถึงอีก 1 ทีมที่เล่นในบ้านของตัวเองอย่าง ฮังการี
เมื่อมีทีมเก่ง ๆ อยู่ในสายถึง 3 ทีม นั่นหมายความว่า ในกลุ่ม F มีโอกาสสูงมากที่ 3 ชาติที่อยู่ในอันดับท็อป 5 ของโลกจะผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ได้ทั้งหมด และนั่นส่งผลกระทบไปยังการแข่งขันในกลุ่ม D (ประกอบด้วย อังกฤษ, สาธารณรัฐเช็ก, โครเอเชีย และ สกอตแลนด์) เพราะหากใครเป็นแชมป์กลุ่มนี้จะต้องเข้าไปเจอกับทีมอันดับของ 2 ของกลุ่ม F ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้ง ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ โปรตุเกส
พูดง่าย ๆ ว่า การได้เป็นแชมป์กลุ่มอาจจะทำให้ทีมทีมนั้นต้องเจองานยากในการเข้ารอบเป็นรองแชมป์กลุ่มในรอบน็อกเอาต์ ซึ่งมันผิดจากสถานการณ์ปกติของฟุตบอล ที่ทุกทีมล้วนอยากจะเป็นผู้ชนะในทุกการลงสนาม
ดังนั้นมันจึงเกิดคำถามขึ้น หรือแม้แต่สื่อจากอังกฤษเองอย่าง Daily Mail ก็ยังเขียนบทความวิเคราะห์ไว้ว่า พวกเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องชนะในเกมสุดท้าย เพื่อให้ อังกฤษ เข้ารอบเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่ม D แล้วไปเจอกันงานที่ง่ายกว่าในรอบต่อไปนั่นเอง ... แต่นี่คือวิธีที่ดีหรือไม่ ? และแฟนบอลของพวกเขาจะรับได้จริงหรือ ?
สู้หรือหนี ? ธรรมชาติกำหนดไว้แล้ว
การลงเล่นแบบไม่เต็มที่นั้น ดูจะเป็นอะไรที่ผิดวัตถุประสงค์ของกีฬาทุกชนิด เพราะปลายทางและความคาดหวังในการแข่งแต่ละครั้งคือชัยชนะ เหตุใดพวกเขาจึงยอมหักหลังแฟน ๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตาเชียร์ด้วยการเล่นแบบ "ไม่หวังชนะ" ด้วย ? ทั้ง ๆ ที่ทุกทีม "ควรจะ" ใส่เต็มที่ทุกเกมเพื่อหวังชัยชนะ
แต่ถ้าหากพวกเขาคิดลึกกว่านั้นล่ะ ? การแพ้ หรือ เสมอ อาจจะเป็นผลงานที่น่าผิดหวัง แต่มันอาจเพิ่มโอกาสในการเป็นแชมป์ของทัวร์นาเมนต์ในบั้นปลายได้ มันก็ควรจะเสี่ยงสักครั้งหรือไม่ ?
เรื่องนี้มีทฤษฎีทางจิตวิทยาที่สามารถอ้างอิงได้อยู่ นั่นคือทฤษฎีที่มีชื่อว่า "สู้หรือหนี" (Fight or Flight) ที่ค้นพบโดย วอลเตอร์ แบรดฟอร์ด แคนนอน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ทฤษฎีนี้ว่าด้วยธรรมชาติของคนเราหรือแม้แต่สัตว์โลกชนิดต่าง ๆ ในยามต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก อาทิ เจอคู่ต่อสู้ที่มีความแข็งแกร่ง หรือเป็นคู่ต่อสู้ที่หากเราเผชิญหน้าด้วยจะมีความเสี่ยงที่เราจะต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ ดังนั้นจึงเกิดการประเมินสถานการณ์ว่า จะสู้หรือหนีดี ?
การเลือกที่จะสู้ คือการตอบโต้ เพื่อต้องการกำราบคู่ต่อสู้และเป็นฝ่ายชนะ ส่วนการหนี คือการหลีกเลี่ยงการปะทะ ถอยออกจากปัญหาที่อาจจะสร้างความเสียหาย
แต่ละทางเลือกล้วนมีข้อดีข้อเสียซ่อนอยู่ การสู้ อาจจะนำมาซึ่งชัยชนะและจบปัญหาได้สำเร็จ แต่ถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คาด ก็จะนำมาซึ่งความเสียหายในทันที
ส่วนการหนีนั้น แม้จะเลี่ยงการกระทบกระทั่ง ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องเสียหาย และลดความเสี่ยงได้ แต่มันก็จะนำสู่ความวิตกกังวล เพราะปัญหาที่เราหนีนั้นมันยังไม่ไปไหน เราแค่เลือกที่จะไม่เผชิญหน้ากับมันในเวลาที่เรารู้สึกว่ายังไม่พร้อมเท่านั้น
ทฤษฎีดังกล่าวเปรียบเทียบกับสถานการณ์เรื่องการ "หนีแชมป์กลุ่ม" ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคงต้องอ้างอิงจากสถานการณ์ของทีมชาติอังกฤษเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดอีกครั้ง เพราะหากอังกฤษเลือก "สู้" และใส่เต็มที่ในเกมรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้าย โดยไม่สนว่ารอบต่อไปจะต้องเจอใคร พวกเขาจะได้เผชิญกับปัญหาทันที ด้วยการ "น่าจะ" ได้ดวลกับ เยอรมัน, ฝรั่งเศส หรือ โปรตุเกส แบบวัดกันไปเลยว่าจะอยู่หรือไป เจ็บแต่จบ รู้ดำรู้แดงกันไปเลย อะไรประมาณนั้น
แต่ถ้าหากพวกเขาได้ประเมินสถานการณ์ และปัจจัยทั้งภายในและภายนอกแล้วพบว่า ทีมของตัวเองยังไม่พร้อมที่จะเจอกับทีมแกร่งในรอบน็อกเอาต์ (16 ทีมสุดท้าย) พวกเขาก็สามารถเลือกใช้วิธีการหนี เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะกับทีมแกร่ง ณ เวลานี้ได้
โดยช่วงเวลาที่พวกเขาหนี จะมีเวลาให้พวกเขาได้ปรับจูนกันอย่างน้อย ๆ อีก 1 แมตช์ กล่าวคือ อังกฤษ อาจจะได้พบรูปแบบการเล่นที่ดีกว่าเดิม หรืออาจจะสามารถหาผู้เล่น 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดได้ หลังจากได้ลองเชิงในรอบ 16 ทีมสุดท้ายกับทีมที่น่าจะอ่อนกว่า ฝรั่งเศส, โปรตุเกส หรือ เยอรมัน ในแง่ของคุณภาพและประสบการณ์
นอกจากนี้การหนี ยังถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เลวนัก เพราะอังกฤษยังสามารถ "คาดหวัง" ได้อีกว่า ทีมแกร่ง ๆ ที่พวกเขาพยายามหนี อาจจะต้องเป็นฝ่ายตกรอบไปก่อน ด้วยน้ำมือทีมไหนสักทีมในรอบน็อกเอาต์ เรียกได้ว่าเป็นการหนีไปพร้อม ๆ กับการยืมมือฆ่าจากทีมอื่น ๆ เลยก็ว่าได้
แต่ที่สุดแล้วต้องไม่ลืมว่า การหนีจากการเป็นแชมป์กลุ่มด้วยการเข้ารอบเป็นอันดับ 2 หรือ 3 เพื่อเจอคู่แข่งที่ง่ายกว่าในรอบน็อกเอาต์นั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นแชมป์ในบั้นปลายอยู่ดี คุณต้องตอบคำถามที่สำคัญที่สุด 1 ข้อให้ได้ก่อน และคำถามนั้นมีอยู่ว่า "อยากแค่เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย หรืออยากไปถึงตำแหน่งแชมป์กันแน่ ?"
เพราะการเป็นแชมป์มีหนทางเดียว คือคุณต้องห้ามแพ้ใครเลยจนเสียงนกหวีดยาวในนัดชิงชนะเลิศจบลง เมื่อมาถึงตอนสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ คุณจะไม่เหลือที่ให้หนีอีกต่อไป สุดท้ายการเผชิญหน้ากับทีมที่มีโอกาสทำให้คุณเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็จะวนกลับมาให้ต้องสู้กันอีกอยู่ดี และเมื่อถึงตอนนั้น คนที่เป็นฝ่ายหนีจะต้องรู้สึกวิตกกังวลกว่า เพราะอุตส่าห์หนีแทบตาย สุดท้ายก็ต้องวนเวียนกลับมาเจอกันอีกจนได้
แกร่งพอหรือไม่ คุณเองที่รู้ดีที่สุด
"อยากเข้าแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย หรือไปถึงตำแหน่งแชมป์กันแน่ ?" ยิ่งตอบคำถามนี้ได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งดีต่อสภาพความมั่นใจและการวางแผนได้ดีในการเผชิญหน้ากับคู่แข่งได้มากขึ้นเท่านั้น
"รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" ปรัชญาจากตำราพิชัยสงครามของ ซุนวู ประโยคนี้ที่ไม่เคยตกยุค หากคุณประเมินแล้วว่าคุณจะเป็นฝ่ายแพ้เพราะรู้ว่าตัวเองอ่อนกว่าจริง ๆ และคู่แข่งก็เก่งมาก ๆ จนไม่สามารถเผชิญหน้ากันตรง ๆ ได้ การหนีอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าอับอาย โดยเฉพาะสำหรับแฟนบอลชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ที่อยากเห็นชาติของตัวเองชนะในทุก ๆ เกมและเกลียดความพ่ายแพ้เป็นที่สุด
แต่ที่สุดแล้วฟุตบอลนั้นวัดกันที่ผลลัพธ์ หากการหนี นำมาซึ่งความสำเร็จในบั้นปลาย ก็ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามกับการหนีครั้งนั้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหนีคู่แข่งที่แกร่งกว่าและผลลัพธ์กลับแย่กว่าเดิมแล้ว นอกจากจะถูกมองว่าขี้ขลาดแล้ว โอกาสที่จะโดนโจมตีซ้ำจากแฟนบอลก็สูงขึ้นเช่นกัน และในยุคโซเชียลมีเดียนี้ รับรองได้ว่าคงร้อนแรงระดับ "ทัวร์ลง" แน่นอน
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเฮดโค้ชแต่ละคนว่าจะเลือกวิธีไหน เพราะ "สู้ หรือ หนี" แทบไม่มีความต่างกันเลยด้วยซ้ำ มันวัดกันที่ว่าคุณประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจไม่ใช่วิธีการที่น่าชื่นชม แค่ขอให้เห็นความสำเร็จที่จับต้องได้ก็เพียงพอแล้ว เป็นการจบทุกข้อสงสัย ไม่ว่าจะหนีหรือจะสู้ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
การเลือกสิ่งที่ดีที่สุด คือการเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุด สำหรับคำถามที่ว่า ใส่เต็มที่ vs หนีทีมแกร่ง วิธีไหนดีกว่ากันเพื่อเป้าหมายแชมป์บอลทัวร์นาเมนต์ ? คำตอบนี้คงต้องตอบว่า "ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามคำถามนี้กับใคร ?"
หากถามทีมที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว พวกเขาคงเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อเป็นแชมป์ เพราะไม่จำเป็นต้องกลัวใคร ... แต่ถ้าหากถามทีมที่มีศักยภาพน้อยกว่าจนไม่สามารถชนกันตรง ๆ ไหว พวกเขาก็จำเป็นจะต้องใช้กลยุทธ์และแท็คติกเข้ามาช่วยให้พวกเขามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
เพราะการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการแก้ปัญหาในยามที่เราพร้อมที่สุด ... ถ้าพร้อมแล้วก็จัดเต็มไม่ต้องหนี วิ่งเข้าชนปัญหานั้นเลยเพื่อความสบายใจในระยะยาว ชนะวันนี้ก็จบวันนี้ และก้าวสู่ปัญหาข้อต่อไปที่ไม่มีใครรู้ว่าจะง่ายหรือยากว่าเดิม
แต่ถ้าอยู่ในสภาพที่ยังไม่พร้อมจะแก้ปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์ที่ลุยเข้าไปโดยอาศัยความกล้าเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากคำชมว่ากล้าหาญแล้ว คุณอาจจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย ... เพราะเลือกสู้โดยไร้การวางแผน มันคือความกล้าหาญที่สูญเปล่า
แหล่งอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD_(%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2)
https://www.dailystar.co.uk/sport/football/england-second-euro-2020-group-24183462
https://www.givemesport.com/1704792-euro-2020-why-england-winning-their-group-could-spell-disaster-for-gareth-southgates-men
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตารางบอลยูโร โปรแกรมแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 พร้อมช่องถ่ายทอดสด
- สรุปผลบอลยูโร 2020 รายชื่อคนยิง แมนออฟเดอะแมตช์ ทุกนัดตลอดทัวร์นาเมนต์
- ทุกคน-ทุกชาติ!! เช็ครายชื่อนักเตะ ครบทั้ง 24 ทีม ลุยศึกฟุตบอลยูโร 2020
- แข่งเมื่อไร ถ่ายช่องไหน มีทีมอะไรบ้าง! ทุกเรื่องต้องรู้กับ "ยูโร 2020" รอบสุดท้าย
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก