เจาะความสำเร็จ "วีลแชร์เรซซิ่งไทย" ที่ครองความยิ่งใหญ่ในพาราลิมปิก | Main Stand
ผลงานของทัพนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งไทย ยังคงยอดเยี่ยมในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ด้วยการกวาดไปถึง 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง หรือคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของเหรียญรางวัลรวมที่ประเทศไทยได้ในพาราลิมปิกครั้งนี้
หากย้อนกลับไปในพาราลิมปิกครั้งที่ผ่านมา วีลแชร์เรซซิ่ง เป็นกีฬาที่นำเหรียญทองให้ทัพนักกีฬาไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2000 คว้าได้ 4 เหรียญทอง // ปี 2004 คว้าได้ 2 เหรียญทอง // ปี 2008 ทำได้ 1 เหรียญทอง // ปี 2012 แม้ไม่ได้เหรียญทอง แต่ก็ทำได้ 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ ปี 2016 ทำได้ 4 เหรียญทอง
เพราะเหตุใด กีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง จึงเป็นกีฬาที่ประเทศไทย ครองความเป็นหนึ่งได้ยาวนาน และเพราะอะไร กีฬาชนิดนี้จึงมีนักกีฬาหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการอย่างต่อเนื่อง
ไม่ใช่แค่ใครก็ได้
แม้ภาพจากการถ่ายทอดสด อาจจะดูเหมือนง่ายดายกับการทำให้รถวีลแชร์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็ว แต่การจะทำให้รถมีความเร็วตามที่ต้องการได้นั้น ไม่ได้ทำได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่เกิดจากการสร้างความคุ้นเคยที่ยาวนาน และอีกสิ่งที่สำคัญคือความใจสู้
ประวัติ วะโฮรัมย์ เจ้าของ 7 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ นับตั้งแต่ปี 2000 และคว้าเหรียญรางวัลมาได้รวม 16 เหรียญ เปิดเผยกับทีมข่าว Main Stand และรายการลุยสนามข่าวเย็นทางช่อง T Sport 7 ว่า มีนักกีฬาคนพิการที่ต้องการมาเล่นกีฬาชนิดนี้เป็นจำนวนมากตลอดช่วงเวลา 20 กว่าปีที่เขาอยู่ในวงการ ก่อนจะผันตัวมาเป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอน แต่สุดท้ายแล้วกลับเหลือนักกีฬาที่อยู่ในเส้นทางนี้เพียงไม่กี่คน
"วีลแชร์เรซซิ่ง จำเป็นต้องใส่ใจกับการฝึกไม่ต่างกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ในอดีตมีนักกีฬาจำนวนมากที่เข้ามาเก็บตัวกับเรา แต่ว่ามีนักกีฬาที่พร้อมจะก้าวไปกับเราจริง ๆ ไม่มากนัก เพราะการฝึกซ้อมวีลแชร์เรซซิ่งในแต่ละวันนั้นหนักมาก"
"เราฝึกซ้อมกันวันละ 2 ช่วงเวลา มีทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น ต้องเรียนรู้เทคนิคการปั่นและการเล่นเวต บางวันก็ต้องซ้อมปั่นออกถนน ประมาณ 20-30 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นนักกีฬาที่รู้สึกว่าไปกับมันไม่ได้ก็จะค่อย ๆ ถอนตัวออกไป"
"ปัจจุบันมีนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่เก็บตัวร่วมกันประมาณ 12 คน อาจจะไม่ใด้มีข่าวสารอะไรมาก แต่จริง ๆ แล้วกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งมีการแข่งขันที่ต่อเนื่องเหมือนกรีฑาของคนปกติ เวลาซ้อมเราก็จะต้องเก็บตัวเป็นเวลานานไม่ต่างกับนักกีฬาทั่วไปเลย เพราะฉะนั้นทุกคนที่จะเล่นกีฬาชนิดนี้จะต้องให้เวลาในชีวิตไปกับมัน ไม่ใช่แค่ใครที่บกพร่องทางร่างกายก็จะมาเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ง่าย ๆ"
สรีระที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ประวัติ เล่าว่า เขาโชคดีที่มีสรีระที่เหมาะสมกับกีฬาชนิดนี้ เพราะจะทำให้การเคลื่อนไหวบนวีลแชร์ทำได้ดีกว่านักกีฬาคนอื่น ๆ ในโลกนี้ เมื่อมีสรีระดีแล้วต้องมาเสริมด้วยเทคนิคการปั่น เราก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ง่าย นำมาประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น
"สิ่งสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญที่สุดเลย ก็คือสรีระของนักกีฬาไทย ที่ผ่านมาสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมฝึกซ้อม จะมีสรีระที่ยอดเยี่ยมมาก่อน พอสรีระดี เทคนิคต่าง ๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น ต้องยอมรับว่าในช่วงที่วีลแชร์เรซซิ่งอยู่ในช่วงรุ่งเรือง นักกีฬาของเรารูปร่างดีกันทุกคน"
"อย่างพงศกร แปยอ ที่คว้า 3 เหรียญทองในพาราลิมปิกครั้งนี้ ตอนที่เห็นครั้งแรก ผมสังเกตแล้วว่านักกีฬาคนนี้มีอนาคตที่ดีได้แน่ ๆ ก็ได้ไปติดต่อพูดคุยกับน้อง จนกระทั่งได้มาอยู่ในแคมป์ทีมชาติ พอน้องได้เข้ามาแล้วก็รู้สึกสนุกไปกับมัน ด้วยความที่พงศกรมีสรีระที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ"
"หรืออย่างอธิวัฒน์ แพงเหนือ จริง ๆ แล้วเพิ่งจะเริ่มมาฝึกซ้อมกับเราได้ไม่นานนี้เอง แต่อธิวัฒน์มีสรีระที่ดีมาก ๆ เหมาะมากกับการเล่นวีลแชร์เรซซิ่ง พอเขาเข้ามาฝึกกับเราได้ไม่นาน เขาก็ได้เรียนรู้เทคนิคการปั่นจากทีมงาน และวันนี้เขาก็ได้เหรียญทองเรียบร้อยแล้ว"
"จะเห็นได้เลยว่า สรีระของนักกีฬาไทยในการแข่งวีลแชร์เรซซิ่งไม่แตกต่างจากนักกีฬาต่างชาติเลย แต่ทั้งหมดอยู่ที่การฝึกซ้อมและเทคนิคด้วย"
ถึงรูปร่างดี แต่ทักษะก็ต้องฝึกด้วย
ไม่ใช่แค่รูปร่างเพียงอย่างเดียวที่สำคัญ หากแค่รูปร่างดีแล้วทักษะไม่ได้ การประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
ทีมงานโค้ช เช่น อำไพ เสือเหลือง หรือแม้แต่ประวัติ วะโฮรัมย์ ได้พยายามเรียนรู้เทคนิคจากต่างประเทศ นำมาปรับใช้กับนักกีฬาไทยอยู่เสมอ เช่นเรื่องถุงมือที่ใช้สำหรับการปั่น แม้ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้มีการนำเอาถุงมือแบบที่นักกีฬายุโรปหรืออเมริกามาใช้กัน แต่ก็พยายามเรียนรู้ที่จะผลิตเองและนำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุที่มีอยู่ สุดท้ายในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 นักกีฬาไทยก็ได้รับอุปกรณ์ที่สนับสนุนให้การแข่งขันประสบความสำเร็จจนได้
"ที่สำคัญก็คือเทคนิคการซ้อม เราจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ นำมาปรับกับสิ่งที่ดีอยู่แล้ว การฝึกซ้อมของนักกีฬาไทย ต้องต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทุก ๆ ฝ่าย รวมถึงผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญของกีฬาชนิดนี้"
พงศกร แปยอ เจ้าของ 5 เหรียญทองในประวัติศาสตร์พาราลิมปิก วัย 24 ปี เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่จะเข้ามาเล่นกีฬาชนิดนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวมากนัก ด้วยความที่สภาพร่างกายไม่ปกติ จึงอดไม่ได้ที่พ่อกับแม่จะเป็นห่วง
"ตอนที่จะเข้ามาฝึกซ้อม พี่ประวัติเป็นคนที่มาติดต่อกับพ่อแม่ผม มาช่วยพูดคุยให้ว่า การเล่นกีฬามันสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ ตอนแรกที่บ้านก็ไม่ค่อยเห็นภาพ แต่ก็ตัดสินใจให้มาลองเข้าแคมป์ดู"
"พอเข้ามาอยู่ในแคมป์ทีมชาติ ตอนแรกก็เข้ามาเป็นรุ่นน้อง ก็ต้องทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่การบริการ, หุงข้าวให้พี่ ๆ เขา เราก็อดทน แต่ก็มีความสุขดี พี่ ๆ ทุกคนใจดี"
"มาซ้อมในช่วงเเรกก็ต้องฝึกปั่นเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ออกถนนบ้าง ซ้อมกับลู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องอดทน ที่ผ่านมาก็เคยท้อ แต่พอเราฝึกไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเห็นผล"
"ในพาราลิมปิก 2020 ครั้งนี้ ในประเภท 100 เมตร เราต้องมาเจอกับ เบรนต์ ลากาตอส นักกีฬาจากแคนาดา ที่เราไม่เคยชนะเขาเลย แต่พอมาในครั้งนี้ผมก็ชนะเขาได้ วินาทีที่เข้าเส้นชัยเลยรู้สึกดีใจมาก ๆ"
ระบบการสร้างนักกีฬาที่ต่อเนื่อง
ประวัติ วะโฮรัมย์ ให้ทรรศนะว่า ทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติหรือรายการสำคัญอื่น ๆ ทางทีมงานผู้ฝึกสอนวีลแชร์เรซซิ่งจะเดินทางไปเสาะหานักกีฬาใหม่ ๆ มาร่วมทีมชาติอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เจอนักกีฬาใหม่ ๆ ในช่วงเวลาแบบนี้ทุกครั้ง และปัจจุบัน ทั้งพงศกร แปยอ, อธิวัฒน์ แพงเหนือ และ ภูธเรศ คงรักษ์ ทั้งหมดมาจากเวทีเหล่านี้ทั้งสิ้น
"จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยมีนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งหลายคน นักกีฬาเหล่านี้ต่างก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นอนาคตของกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งจึงค่อนข้างสดใส และน่าจะสร้างความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือสภาพร่างกายของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งสามารถเล่นได้ค่อนข้างนาน โอกาสที่จะสร้างความสำเร็จจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย"
"ผมดีใจนะที่พาราลิมปิกครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดให้แฟนชาวไทยได้ชม ในอดีตเชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยได้รู้จักกับกีฬาคนพิการ พอเราสร้างความสำเร็จให้ชาวไทยได้เห็น ทำให้ต่อจากนี้ไปก็อาจจะมีนักกีฬาที่สนใจอยากเข้ามาเล่นเพิ่มมากขึ้น ระบบนี้เอื้อต่อการสร้างนักกีฬาเช่นเดียวกัน"
ผู้มีดีกรีนักกีฬาวีลแชร์พาราลิมปิก 6 สมัยทิ้งท้ายว่า "นักกีฬาคนพิการทุกคนต้องฝ่าฟันอุปสรรค ดูแลสภาพร่างกายตัวเองก็ลำบากแล้ว ดังนั้นใจคุณต้องเข้มแข็งมาก ๆ
"จะว่าไปแล้ว การเตรียมทีมเข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง แทบจะไม่ต่างจากกรีฑาของคนปกติเลย กว่าจะได้เข้าไปแข่งขันในรอบสุดท้าย หรืออย่างในพาราลิมปิก ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการทำเวลาและควอลิฟายเพื่อเข้าแข่งขันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นความทุ่มเทของนักกีฬาชนิดนี้จึงต้องมีมากพอ ๆ กับนักกีฬาชนิดอื่น ๆ"
"เรื่องของการตอบแทนความสำเร็จและการสนับสนุน ผมมองว่าเราเองก็มีความทุ่มเทไม่แพ้กีฬาชนิดใด" ประวัติ วะโฮรัมย์ กล่าวทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ก้าวข้ามขีดจำกัด : นักกีฬาที่บกพร่องด้านร่างกาย สามารถเอาชนะนักกีฬาปกติได้หรือไม่ ? | Main Stand
- นายก็เป็นฮีโร่ได้นะ : ไฮสปีด พาราฮีโร่ กันดีน ฮีโรบนวีลแชร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาพาราลิมปิก | Main Stand
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก