ซอร์ยา ลูฮันสก์ : ทีมเล็ก ๆ ท่ามกลางสมรภูมิรัสเซีย - ยูเครน ที่ใช้ยูโรป้าลีกต่อลมหายใจ | Main Stand
“บางทีอาจจะน้อยเกินไปที่จะพูดว่า ซอร์ยา คือจุดสูงสุดของทีมรองบ่อนในฟุตบอลยุโรป”
ห่ากระสุนที่รัวไม่ยั้ง ลูกระเบิดที่ดังกึกก้อง กลายเป็นสิ่งที่คนในเมืองลูฮันสก์ต้องเผชิญ หลังเมืองของพวกเขาต้องกลายเป็นแนวหน้าในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ปะทุมาตั้งแต่ปี 2014
สงครามส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตของผู้คน รวมไปถึงทีมที่อยู่ในเมืองอย่าง ซอร์ยา ลูฮันสก์ จนต้องระหกระเหินลี้ภัยไปเล่นในต่างเมือง และทำให้สถานการณ์ของพวกเขาที่ย่ำแย่ต้องเลวร้ายลงไปอีก
อย่างไรก็ดีภายใต้ปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ซอร์ยา กลับสามารถผ่านเข้าไปเล่นในสโมสรยุโรปได้เกือบทุกปี แถมครั้งหนึ่งยังเคยโคจรมาพบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมดังของอังกฤษ
ติดตามเรื่องราวอันน่าทึ่งของทีมเล็ก ๆ จากยูเครนไปพร้อมกับ Main Stand
สโมสรจากเมืองอุตสาหกรรม
ซอร์ยา ลูฮันสก์ ถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่เก่าแก่ของยูเครน มันถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1923 หรือ 4 ปีก่อนการกำเนิดของ ดินาโม เคียฟ จากคนงานหัวรถจักรในเมืองลูฮันสก์ (ชื่อเดิมโวโลชิลอฟกราด) เมืองอุตสาหกรรม ทางตะวันออกของยูเครน สมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองสภาพโซเวียต
แม้ว่า ลูฮันสก์ เป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องถ่านหิน และศูนย์กลางการผลิตของสหภาพโซเวียต แต่ถึงอย่างนั้น ซอร์ยา ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในลีกของยูเครน ซึ่งเป็นลีกระดับ 4 และเพิ่งขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดในช่วงทศวรรษที่ 1960s โดยมีผลงานที่ดีที่สุดคือการคว้าแชมป์โซเวียตท็อปลีกได้ในปี 1972
แถมหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซอร์ยา ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เมื่อต้องดิ้นรนอยู่ในโซนท้ายตารางของลีกยูเครนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงร่วงตกชั้นลงไปเล่นในลีกระดับ 3 ในช่วงปี 1998-2003
อย่างไรก็ดีทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป หลังการเข้ามาของ ยูริ เวอร์นิดับ อดีตกองหลังของ เซนิต เซนส์ ปีเตอร์เบิร์ก ในตอนแรกเขาเป็นเพียงผู้ช่วยของ อนาโตลี ชานเตฟ โค้ชใหญ่ในตอนนั้น แต่ก็ถูกดันขึ้นมาเป็นกุนซือรักษาการณ์ในปี 2011 และได้คุมทีมเต็มตัวในซีซั่นต่อมา
เวอร์นิดับ ใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย เปลี่ยน ซอร์ยา จากทีมดิ้นรนหนีตกชั้นมากลายเป็นทีมกลางตารางได้อย่างน่าชื่นชม ก่อนที่ในปี 2013 เขาจะสร้างเซอร์ไพรส์พาทีมเข้าไปเล่นในยูโรปาลีกได้สำเร็จ
ฤดูกาล 2013-2014 จึงเป็นซีซั่นที่ชาวเมือง ลูฮันสก์ ต่างรอคอย เพราะนี่คือเกมสโมสรยุโรปครั้งแรกของเมืองในรอบกว่า 40 ปี
แต่น่าเศร้าที่สุดท้ายมันไม่เคยเกิดขึ้นที่เมืองนี้
สงครามแบ่งแยกดินแดน
มันเกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งตัว เมื่อการประท้วงขับไล่ วิคตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย ในการปฏิวัติยูโรไมดาน เมื่อปี 2014 ได้ทำให้ รัสเซีย ตัดสินใจเคลื่อนพลเข้าบุกแหลมไครเมียร์ และให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองลูฮันสก์
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “สงครามดอนบาส” สงครามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงสนามเหย้าของ ซอร์ยา ลูฮันสก์ ที่เสียหายอย่างหนักจากคมกระสุนและลูกระเบิดที่ตกลงกลางสนามจนเป็นหลุมกว้าง จนทำให้พวกเขาต้องหนีตาย ในฤดูกาลเดียวกันกับที่พวกเขาจะได้เล่นฟุตบอลสโมสรยุโรป
Photo : euromaidanpress.com
“ตอนที่ผมและภรรยาไปฮันนีมูน เพื่อนบอกผมว่ามีการสู้รบกันแล้วในเมือง พอเรากลับมาที่นั่นก็กลายเป็นสงคราม” พาพโล โปเชนโก เจ้าหน้าที่ด้านสื่อของซอร์ยากล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2014 กับ Daily Mail
“เราพยายามไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ แต่ทุกวันมันยากขึ้น ตอนกลางคืนเราได้ยินเสียงปืนจากพวกอาวุธหนัก กระจกหน้าต่างสั่นไหว และบางครั้งแผ่นดินก็สะเทือน”
“คุณมักจะได้ยินสัญญาณเตือนภัยการโจมตีกลางอากาศ ขณะที่เครื่องบินรบอยู่บนหัวเรา ความตึงเครียดในเมืองนั้นหนักมาก เราจึงคิดถึงการย้ายออกไปชั่วคราว และออกจากเมืองลูฮันสก์ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และมันก็นานมากแล้วที่เราไม่ได้กลับไป”
ฤดูกาล 2013-2014 จึงเป็นฤดูกาลแห่งความวุ่นวายของ ซอร์ยา อย่างแท้จริง พวกเขาต้องย้ายมาอยู่ที่เมืองซาโปริเซีย ที่อยู่ห่างจากลูฮันสก์ กว่า 320 กิโลเมตร และให้นักเตะและสตาฟโค้ชใช้ชีวิตอยู่ในแฟลตที่สโมสรเช่าให้ไปก่อน
อย่างไรก็ดีด้วยความที่เมืองดังกล่าว ไกลจากถิ่นเดิมของพวกเขากว่า 7 ชั่วโมง จึงทำให้เกมในบ้านของพวกเขาที่ สลาวุติช อารีนา ในฤดูกาลดังกล่าวมีผู้ชมเพียงแค่หยิบมือราวหลักร้อยคนเท่านั้น
ขณะที่เกมสโมสรยุโรป แม้จะย้ายมาเตะที่กรุงเคียฟ (ตอนหลังย้ายมาเล่นที่โอเดสซา) แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เมื่อมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในรอบเพลย์ออฟระดับหลักพัน ก่อนที่ท้ายที่สุดฤดูกาลนั้น พวกเขาจะทำได้ดีที่สุดเพียงแค่รอบเพลย์ออฟเท่านั้น
นอกจากนี้ ซอร์ยา ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน เมื่อการต้องไปเล่นในสนามเมืองอื่นทำให้พวกเขาต้องแบกภาระทั้งค่าที่พักของนักเตะและสตาฟโค้ช ค่าเช่าสนามแข่ง สนามซ้อม อุปกรณ์การซ้อม กลายเป็นรายจ่ายที่สวนทางกับรายได้อันน้อยนิด เนื่องจากไม่สามารถเก็บค่าตั๋วเข้าชมหรือขายของที่ระลึกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“มันเป็นสถานการณ์ที่ยากสุด ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานของเรายังอยู่ที่ลูฮันสก์” เซอร์กี ราไฟลอฟ ผู้บริหารของ ซอร์ยา กล่าวกับ DW
“การต้องไปเล่นในเมืองอื่นทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เราต้องเช่าสนามแข่ง สนามซ้อม อุปกรณ์ฝึกซ้อม และหอพัก”
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่พวกเขาต้องเผชิญ
นักเตะสมองไหล
จากข้อมูลของทางการระบุว่านับตั้งแต่สงครามดอนบาสปะทุขึ้นเมื่อปี 2014 มีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 14,000 คน และอีก 1.5 ล้านคนต้องอพยพหนีตาย เช่นกันกับนักเตะหลายคนใน ซอร์ยา ลูฮันสก์ ที่ขอย้ายออกจากสโมสรเพื่อความปลอดภัย
“มันเป็นเรื่องจริงที่มีคนเสียชีวิตและมันก็ไม่ดีเลย ผู้เล่นหลายคนมีครอบครัว มันอันตรายมากสำหรับภรรยาและลูกของพวกเขา บางคนจึงต้องย้ายออกจากสโมสร” มิฮาอิล ซิวาคอฟ กองกลางชาวเบลารุส ที่อยู่กับทีมในช่วงปี 2015-2016 กล่าวกับ Daily Mail
ยกตัวอย่างเช่น ยานิค โบลี กองหน้าชาวไอวอรี่โคสต์ เขาปฏิเสธที่จะกลับมารายงานตัวในช่วงหน้าร้อน ปี 2014 ก่อนจะถูกขายไปให้ อันซี มาคัชคาลา ในลีกรัสเซีย หรือ ดานิโล ดาวยิงชาวบราซิล ที่เคยมาค้าแข้งกับเชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นคนแรก ๆ ที่ขอย้ายออกทันทีที่สงครามอุบัติขึ้น
“เหตุผลหลักคือสงคราม มันยากมากในการใช้ชีวิตเมื่อสิ่งแบบนี้เกิดขึ้นในเมือง การเข่นฆ่ากัน การยิงกันบนถนน เราออกไปไหนไม่ได้เลยในตอนกลางคืน ครอบครัวของผมไม่อยากกลับไปที่เมืองอีก” ดานิโล กล่าวกับ football.ua
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ซอร์ยา ต้องเผชิญกับสภาวะสมองไหล แข้งฝีเท้าดีย้ายออกจากต่อเนื่อง แถมพวกเขายังไม่สามารถสร้างทีมเยาวชนขึ้นมาทดแทน จากการเป็นทีมลี้ภัย และยากที่สโมสรจะเติบโตอย่างยั่งยืน
“มันไม่ได้แค่ความลำบากที่ต้องออกไปเล่นนอกบ้านของตัวเอง แต่รวมถึงการใช้ชีวิต พนักงานของเราหลายคนมีญาติอยู่ที่นั่น และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เจอกันอีก ทรัพย์สิน และบ้านของพวกเขา ทั้งหมดยังอยู่ที่ลูฮันสก์” เซอร์เก กล่าวกับ Vice
อย่างไรก็ดี ซอร์ยา ก็ไม่ได้ยอมแพ้ พวกเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สโมสรล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธียืมนักเตะมาจากทีมใหญ่หรือซื้อนักเตะดาวรุ่ง ที่ไม่สามารถเบียดขึ้นไปเล่นในทีมชุดแรกของสโมสรใหญ่ได้ ต้องเอามาปลุกปั้นก่อนจะขายออกไปในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ
ยกตัวอย่างเช่น อันดรี ลูนิน ผู้รักษาประตูดาวรุ่งทีมชาติยูเครน ที่ซอร์ยาไปคว้ามาจาก ดนิโปร ก่อนจะขายไปให้ เรอัล มาดริด ด้วยราคาถึง 8.5 ล้านยูโร (305 ล้านบาท) หรือ บอกดาน มิคฮาลิคเชนโก ที่เอามาจาก ดินาโม เคียฟ แล้วขายให้ อันเดอร์เลชท์ ไปในราคา 5 แสนยูโร (ราว 17 ล้านบาท)
แนวทางดังกล่าวทำให้พวกเขาสามารถคงสถานะการเป็นทีมในลีกสูงสุด แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือสามารถคว้าตั๋วเข้าไปเล่นในสโมสรยุโรปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปี 2015-16 ที่พวกเขาคว้ารองแชมป์ยูเครนคัพ จนได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบแบ่งกลุ่มยูโรป้าลีกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
และนั่นคือออกซิเจนถังใหญ่ของพวกเขา
ยูโรปาลีกต่อลมหายใจ
ฤดูกาล 2016-2017 เป็นปีแห่งความหวังของ ซอร์ยา เพราะนอกจากพวกเขาจะผ่านเข้าไปเล่นในยูโรป้าลีกรอบแบ่งกลุ่มแล้ว พวกเขายังได้โบนัสจากการได้ดวลกับทีมดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
สำหรับพวกเขา ยูโรป้าลีก จึงไม่ได้เพียงการได้ไปโชว์ผลงานในต่างประเทศ แต่เป็นเม็ดเงินที่จะเข้ามาจุนเจือสโมสร และเป็นเหตุผลที่ทำให้การไปเล่นในสโมสรยุโรปกลายเป็นเป้าหมายที่พวกเขา “ต้อง” ทำให้ได้ในทุกปี
“เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจากความรักในฟุตบอล ความรักที่มีต่อทีม นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราไปต่อได้ แฟนของเราเชื่อมั่นในตัวเรา และเราก็ต้องไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง” เซอร์เก ราไฟลอฟ กล่าวกับ Vice
ทำให้แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถกำชัยได้เลยในรอบแบ่งกลุ่มครั้งแรกของสโมสร แต่โบนัสจากผลเสมอ 2 นัด รวมไปถึงส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชม ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ก็ต่อชีวิตของพวกเขาไปได้อีกไม่น้อย
“มันมีความหมายกับเรามาก และนำศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่มาสู่สโมสร กับการได้เล่นกับทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เฟเยนูร์ด และ เฟเนบาห์เช” เซอร์เก อธิบาย
“มันเป็นสิ่งสำคัญต่อขวัญกำลังใจ และสถานะทางการเงิน แน่นอนมันช่วยเติมเต็มงบประมาณให้แก่สโมสร”
ผู้บริหารคนเดิมยังกล่าวอีกว่า ผลงานในลีกนั้นมีความหมายต่อการอยู่รอดของพวกเขามาก ถึงขนาดหากว่าถ้าพวกเขาไม่ได้ไปเล่นในสโมสรยุโรป อาจจะทำให้ทีมล้มละลายได้
“มันอาจจะเข้าใจยากสำหรับบางคนที่ไม่ได้อยู่ในยูเครน มันยากสำหรับเรา แต่เราจะจัดการให้ได้” เซอร์เก กล่าว
สถานการณ์ที่บีบคั้นเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงขับสำคัญของสโมสร รวมไปถึงนักเตะดึงจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ออกมา และทำให้ทีมทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องและคว้าตั๋วไปเล่นในยูโรปาลีกได้ทุกปี
แถมในปี 2017-2018 ซอร์ยา ยังได้จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสโมสร หลังคว้าชัยในรอบแบ่งกลุ่มเป็นครั้งแรก ด้วยการเอาชนะ แอธเลติก บิลเบา 1-0 และ แฮร์ธา เบอร์ลิน 2-1 รวมถึงเคยชนะเลสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาล 2020-2021 อีกด้วย
“มันดีมากที่เราได้เข้าไปในรอบแบ่งกลุ่ม มันคือการทำงานอย่างหนักของทุกคนในสโมสร” เซอร์เก กล่าวกับ DW
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของพวกเขายังอีกยาวไกล เมื่อในปี 2022 รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน จนเกิดสงครามลุกลามไปทั้งประเทศ และทำให้เกมลีกของพวกเขาต้องพักเบรกเป็นการชั่วคราว
แต่ไม่ว่า ซอร์ยา จะเผชิญความยากลำบากแค่ไหน เชื่อว่าพวกเขาก็คงจะสู้ต่อไปเหมือนที่ผ่านมา ตราบใดที่ยังมีแฟนบอลสนับสนุน ที่ทำให้สโมสรเดินต่อไปได้
“ผมจะสรุปความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลและสโมสรในคำเดียว นั่นก็คือครอบครัว” อิลยา แฟนบอลของซอร์ยา กล่าวกับ Vice
“แฟนบอลของเราหลายคนรู้จักผู้เล่น โค้ช และแผนกสื่อเป็นการส่วนตัว แม้จะมีงบประมาณที่จำกัดแต่ทีมงานทุกคนก็ทำงานด้วยกำลังใจและพันธสัญญา ในสนามผู้เล่นก็เต็มที่ในทุกเกม”
เพราะแม้สงครามจะทำลายสนาม ทำลายบ้านเรือน หรือทำลายสิ่งปลูกสร้างของพวกเขามากเพียงใด แต่มันก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณนักสู้ของคนเมืองลูฮันสก์ได้ อย่างที่ ซอร์ยา ลูฮันสก์ พิสูจน์ให้เห็นเหมือนที่ผ่านมา
“นักฟุตบอลของเรามีความมุ่งมั่นที่สุดยอด พวกเขาเป็นคนจริง เป็นนักสู้ที่แท้จริง” วลาดิเมียร์ แฟนบอลของซอร์ยากล่าวกับ DW
“พวกเขาสูญเสียครอบครัว สูญเสียบ้าน สูญเสียเมือง เราภาคภูมิใจในตัวพวกเขามาก”
“เราอาจจะเสียเมือง แต่เราก็สร้างทีมขึ้นมาใหม่ได้”
แหล่งอ้างอิง
https://euromaidanpress.com/2021/01/09/fc-zorya-luhansk-a-story-of-war-financial-destitution-and-absolute-fighting-spirit/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-3811892/Manchester-United-s-opponents-Zorya-Luhansk-club-forced-home-Ukrainian-civil-war.html
https://www.vice.com/en/article/pgnk3v/a-club-divided-a-club-united-zorya-luhansk-on-footballs-front-line
https://www.copa90.com/en/creators/creator-collective-archive/collective/futbolgrad/2015/8/zorya-luhansk-from-exile-to-europe
https://www.dw.com/en/zorya-luhansk-a-football-club-in-exile/a-37022726
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- การเมืองเรื่องกีฬา : เจาะเหตุผลเบื้องลึก ทำไม อบราโมวิช ต้องตัดสินใจขาย เชลซี ? | Main Stand
- ดินาโม เคียฟ : สโมสรยูเครนที่เปิดฉากสู้กับรัสเซียผ่านฟุตบอลนานเกือบร้อยปี | Main Stand
- Gazprom : บริษัทพลังงานรัสเซียกับการขยายอำนาจผ่านฟุตบอล ที่ซ่อนเกมการเมืองอยู่เบื้องหลัง | Main Stand
- สงครามกระทบทุกคน : โลกฟุตบอลรับมืออย่างไร จากผลกระทบ "รัสเซียบุกยูเครน" | Main Stand
- ชัคตาร์ โดเนตสก์ : อดีตแชมป์ยุโรปที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งรัสเซีย - ยูเครน | Main Stand
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก