รีเซต
Sports Profile : ประวัติ "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตดาวยิงและโค้ช ทีมชาติไทย

Sports Profile : ประวัติ "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตดาวยิงและโค้ช ทีมชาติไทย

Sports Profile : ประวัติ "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตดาวยิงและโค้ช ทีมชาติไทย
EkkEReport
26 พฤศจิกายน 2563 ( 19:30 )
4.7K

ข้อมูลและประวัติล่าสุดของ "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ตำนานศูนย์หน้าจอมตีลังกา และอดีตกุนซือทีมชาติไทย

ข้อมูลส่วนตัว

ชื่อเต็ม : เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

ชื่อเล่น : โก้

ฉายา : ซิโก้

เกิด : 11 สิงหาคม 1973 (2516) ที่จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย

อายุ : 47 ปี

สัญชาติ : ไทย

ตำแหน่ง : กองหน้า

ส่วนสูง : 171 เซนติเมตร

 

เส้นทางลูกหนังและผลงานทีมชาติไทย

เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, โก้ หรือ ซิโก้ ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อกีฬาตั้งให้ในภายหลัง ตามชื่อของตำนานนักเตะบราซิล เป็นบุตรคนสุดท้อง จากทั้งหมด 3 คน ของคุณพ่อสุริยา และคุณแม่ริสม เสนาเมือง ซึ่งมีอาชีพเป็นครูทั้ง 2 ท่าน โดย เกียรติศักดิ์ เกิดที่ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2516 ซึ่งเขาได้เริ่มเล่นฟุตบอล โดยมีคุณพ่อเป็นโค้ชคนแรกในชีวิต

จากนั้นในปี 2525 ซิโก้ และครอบครัว ได้ย้ายกลับไปอาศัยที่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของครอบครัวเสนาเมือง นั่นทำให้ ซิโก้ ต้องย้ายจาก โรงเรียนบ้านหนองแดง ที่จังหวัดอุดรธานี ไปศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ โรงเรียนน้ำพองศึกษา ที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะเรียนที่สถาบันแห่งนี้ จนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสายวิทย์-คณิต แต่เนื่องด้วยความรักที่มีให้กับกีฬาฟุตบอล และยังมีความฝันที่จะติดทีมชาติไทย มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จึงทำให้เขาตัดสินใจย้ายเข้ามาที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเริ่มต้นชีวิตในเส้นทางสายฟุตบอลอย่างเต็มตัว โดย ซิโก้ ได้เข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนพาณิชยการกรุงเทพ ในระดับอนุปริญญา สาขาการบัญชี

โดยเมื่อปี 2533 ซิโก้ ได้ผ่านการคัดเลือก จากนักฟุตบอลที่เข้ามาคัดตัวกว่าพันคน จนมีชื่อติดทีม เยาวชนทีมชาติไทย ได้ไปทำการแข่งขันที่มาเลเซีย ซึ่งนับเป็นการแข่งขันระดับประเทศเป็นครั้งแรกของเจ้าตัว ก่อนที่เขาจะระเบิดฟอร์ม ยิงไปถึง 13 ประตูในการแข่งขันครั้งนั้น ซึ่งจากผลงานอันโดดเด่นในครั้งนั้น ส่งผลให้ สโมสรธนาคารกรุงไทย ทำการดึงตัวเขาไปร่วมทีม

ต่อมาในปี 2535 ซิโก้-เกียรติศักดิ์ ได้เข้าร่วม "ดรีมทีม" หรือที่กลายมาเป็น "ทีมชาติไทย ชุดบี" ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นทีมที่รวมเอานักเตะเยาวชนทีมชาติ ชุด U-19 และบรรดาแข้งดาวรุ่ง ที่มีอายุระหว่าง 19-21 ปี ในเวลานั้นมาเข้าไว้ด้วยกัน โดยมี "บิ๊กหอย" วนัสธนา (หรือชื่อเดิมว่า ธวัชชัย) สัจจกุล เป็นผู้จัดการทีม โดยมีเป้าหมาย เพื่อเตรียมทีมไปสู้ศึกรอบคัดเลือก โอลิมปิก 1996 ณ เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา

โดย ดรีมทีม โชว์ฟอร์มเยี่ยมรายการ เมอร์ไลออนส์ คัพ ที่ประเทศสิงค์โปร์ ในช่วงปลายปี 2535 แม้สุดท้ายจะต้องตกรอบแรกไป ทำให้ ดรีมทีม จึงได้ถูกยกระดับมาเป็น "ทีมชาติไทย ชุดบี" และมีโอกาสสู้ศึกในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ ครั้งที่ 24 ในช่วงต้นปี 2536 ก่อนจะคว้าอันดับ 4 ไปครอง

หลังจากนั้น นักเตะบางคนในชุด ดรีมทีม จึงได้รับโอกาสให้ขึ้นไปเล่นร่วมกับ ทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ในศึก ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือนเมษายน 2536 โดย ซิโก้ ก็เป็นหนึ่งในแข้งกลุ่มนั้นด้วย นี่จึงถือเป็นการติดทีมชาติไทย ชุดใหญ่ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของหัวหอกจอมตีลังกา

อย่างไรก็ตาม ทัวร์นาเมนต์ที่เปลี่ยนชีวิต และทำให้ ซิโก้ แจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัว คือ ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน โดย เกียรติศักดิ์ ถูกส่งลงสนามเป็นตัวสำรองในช่วงท้ายเกม ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ก่อนที่เขาโหม่งเสยบอลเป็นประตูให้ ทีมชาติไทย เอาชนะ พม่า 4-3 คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ซึ่งนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ แชมป์ซีเกมส์ 8 สมัยซ้อนของทย

ขณะที่เส้นทางค้าแข้งกับสโมสร ซิโก้ ได้ย้ายทีมจาก ธนาคารกรุงไทย ไปร่วมทัพ ราชประชา ในปี 2538 ก่อนที่จะย้ายไปสโมสร ตำรวจ ในปี 2540 จากนั้น ดาวยิงทีมชาติไทย จึงได้ออกไปค้าแข้งในลีกต่างแดนเป็นครั้งแรกกับสโมสร เปอร์ลิส ที่มาเลเซีย ในปี 2541

และในช่วงปลายปีนั้นเอง ซิโก้ ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของ แมตช์ในตำนานของทีมชาติไทย ที่เป็นที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ มาจวบจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ การแข่งขัน เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย เกมในรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดย ซิโก้ ทยิงประตูให้ ทีมชาติไทย ขึ้นนำ ทีมชาติเกาหลีใต้ ไปก่อนในนาที 81 ทว่า ไทย มาเหลือผู้เล่นเพียง 9 คน พร้อมกับถูกตีเสมอในช่วงท้ายเกม ทำให้จบ 90 นาที สกอร์เสมอกันที่ 1-1 ต้องเล่นในช่วงต่อเวลาพิเศษ

แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น ในนาทีที่ 5 ของช่วงต่อเวลา เมื่อ ดุสิต เฉลิมแสน เขี่ยบอลให้ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ซัดฟรีคิกจากระยะไกล ส่งบอลเข้าไปตุงตาข่ายอย่างเหลือเชื่อ ทำให้ ไทย เอาชนะ เกาหลีใต้  2-1 ด้วยกฎโกลเด้นโกล ทำเอาสนามราชมังคลากีฬาสถาน แทบแตกเลยทีเดียว จนสุดท้าย ทีมชาติไทย ก็สามารถคว้าอันดับ 4 จากการแข่งขันครั้งนั้นไปครอง

จากนั้นในปี 2542 ซิโก้ ได้พบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อเขาได้รับโอกาสให้ไปทดสอบฝีเท้ากับทีม มิดเดิ้ลสโบรห์ ที่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 15 วัน ก่อนที่สุดท้ายเขาจะไปทดสอบฝีเท้า และได้เซ็นสัญญาร่วมทีม ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ ซึ่งเป็นทีมในดิวิชั่น 1 (เทียบเท่า เดอะ แชมเปี้ยนชิพ) ในเวลานั้น โดย ซิโก้ ได้ลงเล่นกับทีมชุดสำรองเท่านั้น ในระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่อยู่กับสโมสร แต่ก็นับว่ามันเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า ที่มิอาจลืมเลือนเลยทีเดียว

ภาพ : examinerlive.co.uk

 

เกียรติศักดิ์ กลับมาเล่นฟุตบอลในประเทศไทยอีกครั้งกับทีม ราชประชา จากนั้นในปี 2544 สโมสร สิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ จึงได้ติดต่อดึงตัวเขาไปเล่นที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่สโมสร ฮอง อันห์ ยาลาย จะทาบทามให้ ซิโก้ ไปเล่นที่ประเทศเวียดนาม ในปี 2545 โดยดาวยิงชาวไทยโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมตลอด 4 ปีในลีกของประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้เขากลายเป็นที่รักของแฟนบอลชาวเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งที่นี่กลายเป็นสโมสรสุดท้ายที่เขาค้าแข้ง โดยในปี 2549 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายกับทีม ซิโก้ ยังได้รับตำแหน่งโค้ชควบคู่กับการเป็นนักเตะด้วย

ทั้งนี้ ซิโก้ ได้ปิดฉากการลงเล่นในนามทีมชาติ ในเกมนัดกระชับมิตรที่ ทีมชาติไทย เสมอกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1-1 ที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า ในอนาคตเขาจะกลับมารับใช้ทัพช้างศึกอีกครั้ง ในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน

"ผมเองหนีไปเล่นต่างประเทศ เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง ผมเองไปต่างประเทศ ได้ประสบการณ์มา ไปเอาเงินยูเอสดอลลาร์กลับมาเมืองไทยหลาย 10 ล้านบาท และในอนาคตผมก็จะกลับมาเป็นโค้ชทีมชาติไทย ในอนาคต" ซิโก้ กล่าว หลังแมตช์อำลาทีมชาติ

เส้นทางในฐานะกุนซือ

ซิโก้ มีความสนใจด้านการเป็นโค้ชมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเตะ โดยเขาเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ซิโก้ทิปส์ สัญจร ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นโค้ชที่คอยฝึกสอนทักษะการเล่นฟุตบอลให้กับเยาวชนไทยทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2545 ต่อมา ในปี 2549 ซิโก้ ได้ผ่านการฝึกอบรบ ผู้ฝึกสอนระดับบี (B License) จากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มรับงานกุนซือเป็นครั้งแรก กับสโมสร ฮอง อันห์ ยาลาย

โดยหลังจากที่ประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการ ในแมตช์อำลาทีมชาติ เมื่อปี 2550 ซิโก้ ก็เริ่มคุมสโมสรฟุตบอลอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากสโมสร จุฬาฯ-สินธนา ทีมที่เพิ่งได้เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ศึก ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก 2551 โดยเขาทำทีมจบอันดับ 8 ในซีซั่นนั้น โดยในปีต่อมา โค้ชซิโก้ ก็ตัดสินใจรับงานคุมทีม ชลบุรี เอฟซี ก่อนจะพาทีมจบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ พร้อมพาทีมเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกเอเอฟซี คัพ 2552

จากนั้น ปี 2553 โค้ชเกียรติศักดิ์ จึงกลับไปที่ประเทศเวียดนาม เพื่อคุมทีม ฮอง อันห์ ยาลาย อีกครั้ง ทว่าผลงานของทีมไม่ค่อยดีนัก และจบในอันดับ 7 ของตาราง ก่อนที่เขาจะกลับมาคุมทีม บีบีซียู เอฟซี ทีมในดิวิชั่น 1 ของไทย แล้วพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยลีกได้สำเร็จ หลังคว้าอันดับ 3 ของตารางในปี 2554

ต่อมา ในปี 2555 โค้ชซิโก้ เข้ารับงานที่ บางกอก เอฟซี ทีมในดิวิชั่น 1 ที่กำลังดิ้นรนหนีตกชั้น ซึ่งเขาก็พาทีมจบอันดับ 10 รอดตกชั้นได้ตามเป้าหมาย กระทั่งช่วงต้นปี 2556 โค้ชซิโก้ ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมฟุตบอลฯ ให้เป็นโค้ช ทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2013 ที่ประเทศเมียนมา ซึ่งเขาก็พาทีมคว้าแชมป์ซีเกมส์ได้สำเร็จ หลังจากที่ทีมชาติไทยพลาดแชมป์มา 2 สมัย

ในปีถัดมา โค้ชซิโก้ ยังได้พา ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ชุดเดียวกันนี้ ไปแข่งขันศึก เอเชียนเกมส์ 2014 ที่ประเทศเกาหลีใต้ และคว้าอันดับที่ 4 มาครอง ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทย เทียบเท่ากับที่ ซิโก้ เคยทำได้ 2 ครั้ง สมัยที่ยังเป็นนักเตะ ทำให้หลังจบทัวร์นาเมนต์นี้ ซิโก้ ได้ก้าวขึ้นมาเป็น หัวหน้าผู้ฝึกสอน ของทีมชาติไทยชุดใหญ่ เพื่อลุยศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2014

โดยในการแข่งขันรายการนี้ กุนซือทัพช้างศึก พาลูกทีมสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยม จนผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ไปพบกับ มาเลเซีย ซึ่งในนัดแรก ทีมชาติไทย เปิดบ้านเอาชนะ เสือเหลือง ไปได้ก่อน 2-0 ทว่าในเกมที่ 2 แฟนบอลไทยก็ต้องพบกับเรื่องไม่คาดฝัน เมื่อทัพช้างศึก ถูก มาเลเซีย ยิงขึ้นนำ 3-0 แต่แล้ว นักเตะไทยก็สร้างปาฏิหาริย์ได้สำเร็จ เมื่อกลับมายิง 2 ประตูรวดในช่วงท้ายเกม ทำให้ ไทย เอาชนะ มาเลเซีย ไปด้วยสกอร์รวม 4-3 แบบลุ้นระทึกทั้งประเทศ ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ ส่งผลให้ ซิโก้ สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นคนไทยคนแรก ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลอาเซียนได้สำเร็จ ทั้งในฐานะนักเตะและโค้ช

จากการคว้าแชมป์อาเซียนได้เป็นครั้งแรก ในรอบ 12 ปีของ ทีมชาติไทย ได้ปลุกกระแส "บอลไทย ฟีเวอร์" ให้กลับมาอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากต่างหันมาสนใจฟุตบอล โดย โค้ชซิโก้ ยังคงพาทีมทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ในการแข่งขันศึก ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย 2018 ในปี 2558-2559 จนสร้างประวัติศาสตร์ผ่านของรอบ 12 ทีมสุดท้าย ของโซนเอเชีย พร้อมคว้าตั๋วศึก เอเชียนคัพ 2019 รอบสุดท้ายได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ผลงานของทีมชาติไทยในรอบ 12 ทีมสุดท้าย กลับออกมาไม่ดีดังเดิม เมื่อพวกเขาต้องไปปะทะกับยอดทีมระดับยักษ์ใหญ่ของทวีปเอเชีย โดยเก็บได้เพียง 1 แต้ม จาก 7 นัดที่ลงสนาม นั่นส่งผลให้ โค้ชซิโก้ ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติไทย ในวันที่ 31 มีนาคม 2560 หลังจากที่เขาพาทีมไปพ่ายให้กับ ทีมชาติญี่ปุ่น 0-4 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 หรือ 3 วันก่อนหน้านั้น

ซิโก้ กลับมารับงานกุนซืออีกครั้ง หลังเปิดตัวเป็นเฮดโค้ชของทีม "สิงห์เจ้าท่า" การท่าเรือ เอฟซี ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน ทว่าผลงานการคุมทีมในคราวนี้ กลับไม่สวยหรูนัก เมื่อเขาทำทีมได้เพียง 10 นัดในเกมลีก ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังทีม ชนะแค่ 1 นัด เสมอ 3 นัด และแพ้ไปถึง 6 นัด ซึ่งหลังจากนั้น "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็ไม่ได้รับงานคุมทีมอีกเลย จนกระทั่งช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 ซิโก้เข้ารับตำแหน่งเป็น เฮดโค้ช ให้กับ ฮอง อันห์ ยาลาย ทีมเก่าของเขา เป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่เขาพักจากงานโค้ชมานาน 3 ปีเต็ม

 

เกียรติประวัติ

รางวัลในฐานะนักเตะ

ทีมชาติไทย :

  • พ.ศ. 2536 แชมป์ ซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ประเทศสิงคโปร์ (สมัยที่ 1)
  • พ.ศ. 2537 แชมป์ คิงส์คัพ ครั้งที่ 25 ประเทศไทย
  • พ.ศ. 2537 แชมป์ อินดิเพนเด้นท์คัพ ครั้งที่ 7 ประเทศอินโดนีเซีย
  • พ.ศ. 2538 แชมป์ ซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ประเทศไทย (สมัยที่ 2)
  • พ.ศ. 2539 แชมป์ ไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 1 ประเทศสิงคโปร์
  • พ.ศ. 2540 แชมป์ ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย (สมัยที่ 3)
  • พ.ศ. 2541 อันดับที่ 4 เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประเทศไทย
  • พ.ศ. 2542 แชมป์ ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ประเทศบรูไน (สมัยที่ 4) และรางวัลดาวซัลโว
  • พ.ศ. 2543 แชมป์ คิงส์คัพ ครั้งที่ 31 ประเทศไทย
  • พ.ศ. 2543 แชมป์ ไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 3 ประเทศไทย และรางวัลนักเตะทรงคุณค่า
  • พ.ศ. 2544 เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย 2002
  • พ.ศ. 2545 อันดับที่ 4 เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 14 ประเทศเกาหลีใต้
  • พ.ศ. 2545 แชมป์ ไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 4 ประเทศสิงคโปร์-อินโดนีเซีย

ธนาคารกรุงไทย :

  • พ.ศ. 2532 แชมป์ ถ้วย ก
  • พ.ศ. 2536 แชมป์ ถ้วย ข

ตำรวจ :

  • พ.ศ. 2541 แชมป์ กีฬากองทัพไทย

เปอร์ลิส :

  • พ.ศ. 2542 รองแชมป์ มาเลเซีย ซูเปอร์ลีก

ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ :

  • พ.ศ. 2543 รองแชมป์ ดิวิชั่น 1 อังกฤษ

สิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ :

  • พ.ศ. 2545 แชมป์ เอส.ลีก

ฮอง อันห์ ยาลาย :

  • พ.ศ. 2546 แชมป์ วี-ลีก
  • พ.ศ. 2546 แชมป์ เวียดนาม ซูเปอร์คัพ
  • พ.ศ. 2547 แชมป์ วี-ลีก
  • พ.ศ. 2547 แชมป์ เวียดนาม ซูเปอร์คัพ

รางวัลในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน

ทีมชาติไทย :

  • พ.ศ. 2556 แชมป์ ซีเกมส์ 2013 ครั้งที่ 27 ประเทศเมียนมา
  • พ.ศ. 2557 อันดับที่ 4 เอเชี่ยนเกมส์ 2014 ครั้งที่ 17 ประเทศเกาหลีใต้
  • พ.ศ. 2557 แชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014
  • พ.ศ. 2559 เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย 2018
  • พ.ศ. 2559 เข้ารอบสุดท้าย เอเอฟซี เอเชียนคัพ 2019
  • พ.ศ. 2559 แชมป์ คิงส์คัพ 2016 ครั้งที่ 44
  • พ.ศ. 2559 แชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2016

 

"เอกกี้รีพอร์ต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> Sports Profile : ประวัติ "ลีซอ" ธีรเทพ วิโนทัย ตำนานกองหน้าทีมชาติไทย

>> Sports Profile : ประวัติ ซนฮึงมิน ยอดดาวยิงเอเชียผู้เขย่าเวทีพรีเมียร์ลีก

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้