รีเซต
วูบขณะออกกำลังกาย...หนึ่งในภาวะเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

วูบขณะออกกำลังกาย...หนึ่งในภาวะเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

วูบขณะออกกำลังกาย...หนึ่งในภาวะเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม
KiTTiSaK
13 มิถุนายน 2564 ( 17:30 )
557

เรียนรู้สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดภาวะวูบหมดสติระหว่างเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้


ภาพที่ คริสเตียน อีริคเซ่น กองกลางทีมชาติเดนมาร์ก วูบหมดสติลงกลางสนามในเกมที่พบกับ ฟินแลนด์ ระหว่างแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ถือเป็นภาพที่ช็อกแฟนบอลไปทั่วทั้งโลก 

ถึงแม้ล่าสุด อีริคเซน จะปลอดภัย และอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดแล้ว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้หลายคนอดที่จะรู้สึกกลัวไม่ได้ เพราะขนาดนักกีฬาอาชีพ ซึ่งสภาพร่างกายแข็งแรงสุดๆ ยังเผชิญกับภาวะนี้ได้ ดังนั้นบุคคลทั่วไปย่อมมีความเสี่ยงแน่นอนเช่นกัน

สำหรับภาวะวูบขณะออกกำลังกาย สิ่งแรกที่ทุกคนสามารถระมัดระวังได้ คือต้องรู้จักประเมินสภาพร่างกายของตัวเอง และไม่หักโหมจนเกินไป ขณะเดียวกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ระบุไว้ว่าภาวะดังกล่าวมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ดังนั้นทุกคนควรทราบเป็นข้อมูลเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ดังนี้

1. อายุ คงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดโรควูบโดยไม่รู้ตัว คนเรานั้นเมื่ออายุ 30 ปี อวัยวะทุกอย่างจะเจริญเต็มที่หมดแล้ว หลังจากนั้นไปอวัยวะก็จะเริ่มเสื่อมมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเส้นเลือดแดง ซึ่งผนังด้านในจะเริ่มหนาขึ้น เนื่องจากมีไขมันมาเกาะ ทำให้รูตีบลงพร้อมกับเส้นเลือดแดงแข็งตัวขึ้น ความยืดหยุ่นลดลง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เมื่อเส้นเลือดตีบก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆลดลง ซึ่งทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมลงตามไปด้วย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ

2. โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้วูบได้ คนที่มีความดันโลหิตสูงนั้นจะต้องมีไขมันเกาะในรูของหลอดเลือดแดงมาแล้วจนรูแคบลงและความยืดหยุ่นสูญเสียไป หรือพูดในด้านตรงข้าม เส้นเลือดแดงจะเปราะแตกได้ง่ายขณะออกกำลังกาย ถ้ารุนแรงเกินไปเส้นเลือดอาจจะแตกได้โดยเฉพาะในสมองจะทำให้วูบและเป็นอัมพาต ถ้าแตกเส้นใหญ่มากอาจถึงเสียชีวิตได้ 

ถ้าออกกำลัง กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าของขณะพัก ฉะนั้นจึงไม่สามารถนำเลือดมาเลี้ยงให้เพียงพอ จะเกิดสภาพกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิตได้ ความจริงคนที่มีความดันโลหิตสูงถ้าได้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถูกต้องจะช่วยรักษาโรคได้ แต่ต้องไม่หนักเกินไป

3. โรคหัวใจ มีหลายชนิดเช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังระหว่างช่องซ้ายขวามีรูรั่ว เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะมาก่อน เป็นต้น บางท่านไม่เคยตรวจร่างกายเลยจึงไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เมื่อออกกำลังกายจึงมีโอกาสหัวใจวายได้ง่ายๆ ทำให้วูบเป็นลม ถ้ามากๆก็ถึงเสียชีวิตได้ นอกจากนี้จะมีข่าวนักกีฬาที่แข็งแรง วูบเสียชีวิตไปให้เห็นอยู่เป็นประจำ

4. เบาหวาน การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนเป็นเบาหวาน จะช่วยให้การควบคุมเบาหวานได้ง่ายขึ้น หรือบางรายอาจจะควบคุมได้โดยไม่ต้องใช้ยาเลย แต่ในกลุ่มคนที่ต้องฉีดยารักษาเบาหวาน อันตรายมาก เพราะขณะออกกำลังกายยาที่ฉีดจะดูดซึมเข้าเส้นเลือดมากกว่าปกติ ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงมากถึงขั้นวูบเป็นลมได้ 

5. โรคโลหิตจาง แน่นอนพวกนี้เลือดน้อยอยู่แล้วทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนอยู่ก่อน เนื่องจากเลือดแดงเป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆในร่างกาย ฉะนั้นเมื่อพวกนี้ออกกำลังกาย ทั้งสมอง กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อที่ใช้ออกกำลังต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โอกาสขาดออกซิเจนมีสูงกว่าคนปกติมาก เป็นเหตุให้วูบได้ง่ายขณะออกกำลังกาย

6. โรคอ้วน คนอ้วนนั้นเส้นเลือดแดงจะตีบมากกว่าคนธรรมดา ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง จนทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมสภาพได้เร็ว ฉะนั้นเวลาออกกำลังกายจึงมีโอกาสวูบได้ง่ายกว่าคนธรรมดา

7. โรคลมบ้าหมู คนที่มีโรคลมบ้าหมูประจำตัวอยู่แล้ว ถ้าขณะออกกำลังกายอยู่เกิดเป็นลมบ้าหมูขึ้นกะทันหันก็จะวูบหมดสติไปได้ทันทีทันใด บางรายไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นลมบ้าหมู เช่นเคยบาดเจ็บทางศีรษะมาก่อน เกิดแผลเป็นในสมอง เมื่อแผลเป็นใหญ่ขึ้นจนถึงจุดหนึ่งกดหรือรัดสมองทำให้เกิดลมบ้าหมูขึ้น ถ้าบังเอิญคนผู้นั้นกำลังออกกำลังอยู่จะทำให้วูบได้ ดังเช่นแชมป์โลกมวยของไทยคนหนึ่งได้ประสบมาแล้ว ทำให้ถูกน็อกโดยไม่ถูกต่อยเลยได้

8. สูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารพิษอยู่มากมาย เช่น ทาร์ นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งสารพิษเหล่านี้ล้วนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ส่งผลต่อการทำให้เส้นเลือดแดงตีบตัน ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงทำให้เม็ดเลือดแดงหมดสภาพไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ 

9. ดื่มเหล้า ฤทธิของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดแดงทั่วร่างกายขยายตัวเป็นเหตุให้สูญเสียความร้อนมากขึ้น และอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลงได้ (แต่ผิวหนังจะรู้สึกร้อนผ่าว) ประกอบกับมีการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้นมาก เนื่องจากแอลกอฮอล์และจากการออกกำลังกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากถึงขั้นวูบได้

10. อากาศเย็นจัด ถ้าออกกำลังในอากาศเย็น เส้นเลือดจะหดตัว ในขณะที่หัวใจเต้นแรงขึ้น เร็วขึ้น จะทำให้ความดันโลหิตขึ้นได้สูงมากจนถึงขั้นอันตราย อาจถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้อีกประการหนึ่ง ร่างกายคนเราสามารถทนต่อความร้อนได้ดีกว่าความเย็น ถ้าอุณหภูมิในร่างกายลดลงไปถึงจุดหนึ่งจะมีการทำลายของเซลล์ของอวัยวะต่างๆได้ ดังเช่นกรณีมือเท้าเน่าจากหิมะกัด

11. อากาศร้อนจัด ส่งผลให้ร่างกายเสียน้ำเสียเกลือแร่มาก ถึงขั้นวูบได้ นอกจากนั้นถ้าอากาศข้างนอกร้อนจัด ความร้อนที่เกิดภายในร่างกายจากการเผาผลาญในการออกกำลังไม่สามารถจะระบายออกมาได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นได้มาก ถ้าเกิน 42 องศาเซลเซียส ระบบประสาทอาจจะถูกทำลายและหยุดทำงาน ถ้าขึ้นสูงกว่านี้สมองอาจจะตายเป็นอัมพาตครึ่งซีก และถ้ายิ่งกว่านั้นจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

12. มลพิษในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ควันพิษ สารพิษ สามารถทำอันตรายกับคนที่ออกกำลังกายได้ ถ้าปริมาณมากพออาจทำให้วูบได้

13. การติดเชื้อ โดยเฉพาะในระบบหายใจ เช่น เป็นโรคหวัด หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม พวกนี้ทำให้การหายใจลดลง ร่างกายขาดออกซิเจนอยู่แล้วถ้าออกกำลังกายต้องการออกซิเจนมากขึ้นทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนจนถึงขั้นวูบได้

14. แรงฮึดสอง จริงๆแล้วพวกเราเข้าใจผิด แรงฮึดสองเกิดขึ้นในระยะแรกของการออกกำลัง กล่าวคือ พอเริ่มออกกำลังกายจะมีการใช้พลังงานชนิดไม่ต้องอาศัยออกซิเจนประมาณ 2-3 นาที ถ้ายังออกกำลังกายต่อไปจะต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ต้องอาศัยออกซิเจนแทน แต่จะมีช่วงเวลาระหว่างการใช้พลังงาน 2 ระบบนี้

ฉะนั้นในช่วงเวลานั้นเอง คนที่ออกกำลังจะรู้สึกเหมือนหมดแรงถึงขั้นเป็นลมได้ แต่ถ้าไม่เป็นลม เมื่อระบบพลังงานที่ใช้ออกซิเจนเริ่มทำงาน ก็จะกลับมาหายเหนื่อยและออกกำลังต่อไปได้ ทำให้เกิดสภาพแรงฮึดสอง หรือที่หลายคนเรียกว่าก็อกสองนั่นเอง

15. โรคภูมิแพ้ต่อการออกกำลังกาย บางคนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าแพ้เหงื่อ แพ้สารที่เกิดในร่างกายจากการออกกำลังกาย เมื่อออกกำลังกายไปพักหนึ่งเกิดอาการแพ้ถึงขั้นวูบเป็นลมหรือหอบหืดได้

16. เครื่องแต่งกาย ถ้าไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศ อาจจะทำให้วูบได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในภูมิประเทศที่อากาศร้อน กลับใส่เสื้อวอร์มหนาออกกำลังกาย  ทำให้ความร้อนในร่างกายระบายออกไม่ได้ ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นมากจนอันตราย หรือในมุมกลับอากาศเย็นจัด แต่ใส่เสื้อผ้าไม่อบอุ่นเพียงพอ จะไม่สามารถป้องกันความเย็นจากภายนอกได้ ทำให้เกิดอันตรายได้ดังข้อ 10

17. ยา โดยเฉพาะยาโด๊ปบางอย่าง เช่น ยาบ้า ถ้ายาหมดฤทธิ์ขณะออกกำลังหรือแข่งกีฬาจะทำให้หมดแรงทันทีจนเกิดอาการวูบ บางรายอันตรายถึงชีวิต ยาบางอย่างไปกดศูนย์บังคับการปรับอุณหภูมิและความดันโลหิตในร่างกาย ฉะนั้นผลของการออกกำลังกายต่ออุณหภูมิและความดันโลหิตจะถูกกดไว้ เป็นผลทำให้สมองหรือหัวใจขาดเลือด ทำให้วูบได้

18. ที่สูง บนพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร ออกซิเจนในอากาศจะน้อยลงมากถึงขนาดทำให้คนมึนงง เวียนหัว ถึงขั้นหมดสติได้ ถ้าความสูงน้อยกว่านี้จะมีผลให้การออกกำลังกาย(แบบแอโรบิก) ทำได้น้อยลงตามปริมาณออกซิเจนที่น้อยลง ถ้าผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ไปพักตากอากาศบนภูเขา และไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้าอาจจะวูบไปได้โดยง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> สาเหตุจากอะไร! แพทย์โรคหัวใจอธิบายอาการ อีริกเซ่น ปมวูบหมดสติกลางสนาม

>> ยอดกัปตัน!! แห่ชม เคียร์ หนึ่งในฮีโร่ช่วยชีวิต อีริคเซ่น ปมวูบหมดสติในสนาม

>> คนบันเทิงส่งกำลังใจ คริสเตียน อีริคเซ่น นักเตะทีมเดนมาร์ก ช็อกหมดสติกลางสนาม ใน ยูโร 2020

-------------------------------------------------

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้