รีเซต
เชอร์รี่-พัชณิษฐ์ : หญิงไทยผู้ออกแบบโลโก้ "Super Bowl" ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเด็กฝึกงาน | Main Stand

เชอร์รี่-พัชณิษฐ์ : หญิงไทยผู้ออกแบบโลโก้ "Super Bowl" ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเด็กฝึกงาน | Main Stand

เชอร์รี่-พัชณิษฐ์ : หญิงไทยผู้ออกแบบโลโก้ "Super Bowl" ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเด็กฝึกงาน | Main Stand
เมนสแตนด์
8 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:30 )
477

ซูเปอร์โบวล์ คือการแข่งขันกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก นี่คืองานที่คนรักกีฬาอเมริกันฟุตบอลทั่วโลก ต้องการมีส่วนร่วมสักครั้งในชีวิตก่อนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้ร่วมงานในอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้


 

สำหรับ ซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 55 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ที่กำลังจะมาถึง มีหญิงไทยวัยเพียงแค่ 24 ปี ได้มีโอกาสร่วมงานกับ NFL ผ่านการออกแบบหนึ่งในโลโก้ที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้นตอนที่ดีไซน์โลโก้ชิ้นนี้ เธอยังเป็นเพียงเด็กฝึกงาน ที่ไม่เคยผ่านการทำงานจริงจังมาก่อน แม้แต่ชิ้นเดียว

พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์ หรือ เชอร์รี่ หญิงสาวจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ย้ายไปตามความฝันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คือผู้ออกแบบโลโก้ชิ้นนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่มีความหมาย และมอบความสุขให้กับคนทั้งเมืองแทมปา กับอีเวนต์กีฬาที่เคยเป็นแค่ฝันสำหรับเธอเท่านั้น

 

เริ่มต้นจากการหาตัวตน

อายุ 15 คือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตมนุษย์ การก้าวข้ามผ่านจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่เริ่มต้นจากจุดนี้ หลายคนเริ่มวางเป้าหมายให้กับตัวเอง เพื่อจะก้าวเดินตามเส้นทางฝันอย่างถูกต้อง และมีความสุขยามชีวิตต้องเติบใหญ่

แต่ พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์ หรือ เชอร์รี่ เด็กสาวจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กำลังอยู่ตกอยู่ในวังวนของความเป็นผู้ใหญ่ เธอไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด เพราะเส้นทางที่คนอื่นชี้ให้เธอไป กลับไม่ใช่ก้าวที่อยากจะไปต่อ

"ตอนนั้นที่บ้านค่อนข้างกดดัน อยากให้ไปเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อไปเป็นหมอ หรือวิศวะ แต่เรารู้ดีว่า ใจไม่ได้ไปทางนั้น เพราะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากตามหาตัวเอง เพื่อจะได้เลือกให้ถูกว่า เราต้องการเรียนอะไรต่อ จะได้แน่ใจจริง ๆ ว่าเราเลือกไม่ผิด"

"ก่อนขึ้น ม.4 มีสอบชิงทุนพอดี ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา เราจึงขอที่บ้านว่า 'ให้ไปได้ไหม ?' อยากไปลองเรียนที่นั่น เพราะเรารู้สึกว่า ไม่ค่อยได้เรียนอะไรที่อยากเรียนตอนอยู่ที่ไทย ไปค้นหาตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ทั้งชีวิต เน้นเรียนแค่ วิทยาศาสตร์ กับ คณิตศาสตร์"

กรอบเดิม ๆ ของการศึกษาไทย บีบให้ พัชณิษฐ์ เลือกทางเดินใหม่ให้กับตัวเอง เธอสามารถสอบชิงทุนผ่าน และจากบ้านเกิดของตัวเอง บินข้ามซีกโลกมาที่เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไล่ล่าหาตัวตนบนแผ่นดินแห่งเสรีภาพ ซึ่งเธอคิดไม่ผิดที่ออกเดินทางไกล มาใช้ชีวิตยังโลกใบใหม่แห่งนี้

"เราได้เรียนวิชาที่ไม่เคยได้เรียนเยอะมาก เพราะการศึกษาที่นี่ไม่ได้บังคับวิชาให้เรียนทั้งหมด แต่จะมีวิชาที่เราสามารถเลือกเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา การแสดง หรือศิลปะ"

"เราเลือกไปเรียนศิลปะ เพราะตอนอยู่ไทยไม่มีโอกาสได้เรียน ลงวิชาทั้ง ออกแบบเว็บไซต์, ถ่ายรูปฟิล์ม, ปั้นเครื่องปั้นดินเผา, วาดภาพ, ออกแบบต่าง ๆ"

"มันสนุก และมีความสุขมาก รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราทำได้ดี เหมือนพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง รู้ตัวเลยว่าอยากเรียนต่อทางด้านนี้ ไม่อยากไปเรียนด้านวิทย์-คณิตแล้ว"

ช่วงเวลาแห่งความสุขของพัชณิษฐ์ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลังจากครบกำหนด 1 ปี เธอต้องเดินทางกลับมาเรียนที่ประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ด้วยความฝันที่อยากทำงานด้านศิลปะ หญิงสาวคนนี้รู้ดีว่า การศึกษาของบ้านเรา จะไม่ช่วยให้เธอไปถึงเป้าหมายได้ดีเท่ากับอยู่ที่สหรัฐฯ

พัชณิษฐ์จึงร้องขอคุณพ่อ-คุณแม่ พูดคุยอย่างเปิดอกให้ส่งเธอเรียนต่อที่อเมริกา แม้จะขัดต่อความต้องการของพวกเขา 

"เราส่งรูปให้พ่อกับแม่ดูว่า อยู่ที่สหรัฐฯ เราได้ทำอะไรบ้าง ที่ไม่มีโอกาสได้ทำตอนเรียนอยู่ไทย บอกพวกท่านไปตรง ๆ ว่าเราสนุกมากกับการเรียนที่นั่น ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน"

"เขาไม่อยากให้เราอยู่ต่อยาว ๆ เพราะเห็นว่ายังเด็ก อยากให้กลับมาตอนเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่า แต่สุดท้าย ก็บอกไปชัดเจนว่า เราเจอตัวเองแล้ว นี่คือทางที่จะเดินไป ยังมีอะไรที่อยากทำอีกเยอะ เดี๋ยวจะกลับมาเรียนต่อที่ไทย แต่สุดท้ายอยู่ยาว จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้กลับ (หัวเราะ)"

พัชณิษฐ์กลับมาเรียนชั้นมัธยมต่ออีกครั้งที่เมืองแทมปา ครั้งนี้เธออยู่ยาวจนเรียนจบ และเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่นี่ โดยตอนแรกได้เรียนด้านสถาปัตย์ ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนสาย ย้ายไปเรียนด้านกราฟิกดีไซน์ ในเวลาต่อมา

"ตอนแรกเลือกเรียนสถาปัตย์ เพราะว่ากังวลเรื่องรายได้ อยากมีงานที่ดูมั่นคง แต่พอเข้าไปเรียนจริง ๆ รู้เลยว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ได้อยากทำงานด้านนี้ จึงเบนเข็มมาทางกราฟิกดีไซน์"

"พอจะย้ายมาเรียนกราฟิกดีไซน์ คุณพ่อไม่อยากให้เรียนนะ เพราะท่านคิดว่าพอเรียนจบมา จะต้องมาเป็นร้านรับจ้างทำไวนิล แบบที่มีอยู่แถวบ้าน (หัวเราะ) อธิบายอยู่นานหลายเดือน กว่าท่านจะเข้าใจว่า กราฟิกดีไซน์คืออะไร ทำงานแบบไหนได้บ้าง"

 

คุณได้ร่วมงานกับ NFL !

พัชณิษฐ์ ได้รับการปลูกฝังความรู้มากมายในมหาวิทยาลัย University of Tampa ทั้งการปลูกฝังพื้นฐานงานศิลปะด้านต่าง ๆ ทักษะในการออกแบบ แม้กระทั่งการเลื่อยไม้ ไปจนถึงความรู้ด้านการตลาด

ชีวิตการเรียนของเธอเป็นไปได้ด้วยดี แต่ก่อนจะได้รับใบปริญญามาครอบครอง เธอต้องผ่านการฝึกงาน เพื่อได้รับการการันตีว่า เคยมีประสบการณ์ทำงานแบบมืออาชีพ ซึ่งกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่ทำให้หญิงสาวจากประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมงานในอีเวนท์กีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

"เรายื่นฝึกงานไปเยอะมาก ซึ่งโดนปฏิเสธมาเยอะ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ จนกระทั่งมาได้ที่บริษัท Schifino Lee พอถึงวันแรกที่เข้าไปร่วมงาน หัวหน้าก็บอกมาเลยว่า บริษัทมีโปรเจกต์ใหญ่ที่กำลังทำอยู่ คือออกแบบโลโก้ซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 55 ให้กับเมืองแทมปา ที่เป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นคือตกใจมาก (หัวเราะ)"

"เพราะเขาตัดสินใจ ให้เด็กฝึกงานเข้ามาร่วมออกแบบกับงานนี้ด้วย อันที่จริง ทางบริษัทต้องการให้เป็นเหมือนกับแบบฝึกหัดเฉย ๆ" 

"แต่เราคิดว่า นี่คืองานชิ้นสำคัญ โอกาสที่จะได้ทำโปรเจ็คต์ใหญ่ มาอยู่ตรงหน้าแล้ว ขอจริงจังกับงานนี้ ทำให้เต็มที่ไปเลย ได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือกก็ไม่เป็นไร"

อเมริกันฟุตบอล หรือ "ฟุตบอล" สำหรับคนอเมริกัน ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในชีวิตของพัชณิษฐ์ เพราะตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่เมืองแทมปา เธอกลายเป็นแฟนกีฬาตัวยง และหนึ่งในทีมเธอชื่นชอบ คือ แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส ทีมฟุตบอลประจำเมืองในลีก NFL

"ย้อนไปตอนอยู่ที่ไทย เราไม่เคยรู้จักฟุตบอลมาก่อนเลย ย้ายมาอยู่อเมริกาใหม่ ๆ ยังเรียกฟุตบอลสื่อถึงกีฬาฟุตบอลแบบเดียวกับบ้านเราอยู่เลย แต่ที่นี่เรียกว่า ซอคเกอร์ ตอนนั้นงงมาก เพราะไม่รู้ว่ากีฬาฟุตบอลของที่นี่คืออะไร"

"แต่ตอนนี้อินมาก มีโอกาสได้ไปดูในสนามอยู่บ้าง บรรยากาศดีมาก ๆ คนละเรื่องกับชมผ่านโทรทัศน์ คนที่นี่เชียร์กีฬาจริงจังมาก ถ้าเกิดทีมแพ้ แฟนที่เดินออกจากสนามก็จะบ่น ตะโกนด่ากันไม่หยุด แต่ถ้าทีมชนะ จะฉลองกันแบบบ้าคลั่ง ตะโกนเสียงดัง ขับรถบีบแตรรอบสนาม"

"อันที่จริง ตอนเรียนอยู่ชั้น ม.4 เราเคยเป็นนักกีฬาแฟลกฟุตบอล (Flag Football - กีฬาที่คล้ายอเมริกันฟุตบอล แต่ลดความรุนแรงในการปะทะลงมา) ของโรงเรียนด้วย เล่นทั้งตำแหน่ง รันนิงแบ็ค, ไวด์รีซีฟเวอร์ และ ไลน์แบ็คเกอร์ เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และสนุกมาก เพราะย้อนไปตอนนั้นไม่เคยได้มีโอกาสทำอะไรแบบนี้มาก่อน"

ความคุ้นชินกับกีฬาฟุตบอล บวกกับการใช้ชีวิตที่แทมปาเป็นเวลาหลายปี กลายเป็นแต้มต่อให้พัชณิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ไอเดีย รังสรรค์แบบโลโก้ที่จะสะท้อนความเป็นตัวตนของเมือง และเกมคนชนคน ออกมาได้อย่างชัดเจน ตามคอนเซปต์ของงานที่เธอได้รับ

"เราเลือกคอนเซปต์ของโลโก้ มาจากเทศกาล Gasparilla ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของแทมปา ที่เกี่ยวกับโจรสลัด มีการเดินแห่ขบวนในใจกลางเมือง เอาเรือโจรสลัดขนาดใหญ๋มาตั้งทุกปี เราคิดว่าตรงนี้คือสิ่งที่สะท้อนความเป็นแทมปาออกมาได้ดี"

"บวกกับ แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส ก็มีสัญลักษณ์ของทีมเป็นโจรสลัด เราคิดว่าคงจะสามารถเข้ากันได้ดี กับฝั่งฟุตบอล จึงเสนอไอเดียนี้ไป"

แม้จะเป็นไอเดียของเด็กฝึกงาน แต่ทุกอย่างวัดกันที่ความคิด ไม่ใช่อายุ หรือ ลำดับขั้นในที่ทำงาน บริษัท Schifino Lee ได้ส่งคอนเซปต์โลโก้ที่พัชณิษฐ์คิดค้นขึ้น ให้กับทาง NFL ซึ่งตรงใจกับสิ่งที่ลีกกีฬาอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ต้องการแบบพอดิบพอดี

"วันหนึ่งหัวหน้าโทรมาหา บอกให้เข้าออฟฟิศด่วนที่สุด พอเราเข้าไป เห็นคนทั้งบริษัทมายืนรออยู่หน้าประตู ตอนนั้นตกใจมาก" 

"จนหัวหน้าพูดว่า 'เขาเลือกโลโก้ของคุณ ไปใช้ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ยินดีด้วย หลังจากนี้คุณจะได้ร่วมงานกับ NFL' เราช็อคไปเลย"

 

ความจริงที่ยิ่งกว่าความฝัน 

3 เดือน คือระยะเวลาทั้งหมด กับการออกแบบโลโก้ที่ถูกเรียกว่า "Super Bowl Host Committee Logo" ซึ่งจะเป็นโลโก้ตัวแทนของเมืองแทมปา ในการเป็นเจ้าภาพจัด ซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 55 ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์โปรโมตเมือง ตลอดช่วงเทศกาลของเกมที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

จากคอนเซปต์เรือโจรสลัด ได้ผ่านการปรับโฉม ใส่ลูกอเมริกันฟุตบอลไปเป็นท้องเรือ ใส่คลื่น และลายน้ำ เพื่อสะท้อนถึงแหล่งท่องเที่ยวประจำเมือง รวมถึงใส่สัญญะที่แสดงถึงจำนวน "5" เพื่อสอดคล้องการเป็นผู้จัดเกมชิงแชมป์ของ NFL ครั้งที่ 55 รวมถึงนี่คือครั้งที่ 5 ของเมืองแทมปา กับการเป็นเจ้าภาพซูเปอร์โบวล์

แต่กว่าโลโก้จะเสร็จสมบูรณ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายของพัชณิษฐ์ เพราะนี่คืองานชิ้นแรกในชีวิตของเธอ ที่เปรียบเสมือนการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง และกลายเป็นประสบการณ์ชิ้นสำคัญให้กับเธอ

"การทำงานตรงนี้ทั้งยาก และกดดัน ตั้งแต่งานของเราถูกเลือก หลังจากนั้นไม่ใช่การฝึกงานแล้ว หลังจากนี้จะซีเรียส ทำงานอย่างจริงจัง เหมือนมืออาชีพเต็มตัว ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง"

"เราได้ทักษะจากการทำงานครั้งนี้มาเยอะมาก โดยเฉพาะการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์ ต้องเป็นทั้งผู้พูดที่ดี สามารถโน้มน้าวใจลูกค้า ให้หันมาเลือกไอเดียต้นฉบับตามที่เราต้องการ และเป็นผู้ฟังที่ดี เข้าใจถึงความต้องการของเขา"

"การทำงานชิ้นนี้ได้บอกเราว่า อาชีพกราฟิกดีไซน์ แท้จริงเป็นอย่างไร มันคืองานที่เราต้องทำตามความต้องการของคนอื่น นั่นคือลูกค้า และเราต้องยอมรับให้ได้"

"อย่างโลโก้อันนี้ ตอนแรกเราอยากให้เรือหันหน้าไปทางซ้าย เพราะถ้าใส่ตัวอักษรเข้าไปคำว่า Tampa Bay จะสวยมาก แต่ว่าลูกค้าให้หันไปทางขวา เพราะจะได้สอดคล้องกับธีมของงานที่ว่า Forward Forever ซึ่งการหันเรือไปทางขวา จะเหมาะกับการเดินหน้ามากกว่า เราก็ต้องยอมรับตรงนี้ ถึงแม้ว่าใจจะอยากให้เรือในโลโก้ หันไปทางซ้ายมากแค่ไหนก็ตาม"

ปัจจุบัน พัชณิษฐ์ ผ่านการฝึกงาน เรียนจบมหาวิทยาลัย กลายเป็นวัยทำงานอย่างเต็มตัว ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญที่เธอได้รับกับการทำงานชิ้นนี้ แต่ความหมายที่มากกว่า คือการได้เป็นส่วนหนึ่ง ของอีเวนท์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา 

ซึ่งมีความหมายมากขึ้นไปกว่าเดิม เพราะในฤดูกาลนี้ แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส สร้างสถิติเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ของ NFL ที่ได้ชิงถ้วยลอมบาร์ดี โทรฟี ในสนามเหย้าของตัวเอง

โลโก้ที่พัชณิษฐ์ออกแบบ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขให้กับคนเมืองแทมปา กับช่วงเวลาที่พิเศษยิ่งกว่าความฝันเช่นนี้ เช่นเดียวกับตัวเธอที่ได้เป็นส่วนสำคัญ กับงานที่มีความหมายกับเมืองที่ผูกพัน และทีมฟุตบอลในดวงใจ

"เราเคยแอบฝันนะ ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าโลโก้ที่เราออกแบบได้ติดอยู่ทั่วเมืองแทมปา และตอนนี้โลโก้ที่เราออกแบบ ติดอยู่ทุกที่ทั่วเมืองจริง ๆ มันคือฝันที่เราไม่กล้าแม้แต่จะฝัน กลายเป็นความจริงขึ้นมา"

"จนถึงตอนนี้ เรายังรู้สึกเหมือนกับอยู่ในความฝัน เพราะไม่เคยคิดว่าจะได้มีโอกาสทำงาน ในอีเวนต์ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ ได้รวดเร็วขนาดนี้ พอมองย้อนกลับไป ได้ทำอะไรแบบนี้ ตั้งแต่ยังเป็นแค่เด็กฝึกงาน มันน่าเหลือเชื่อมาก ๆ"

"สิ่งที่เรามีความสุขมากที่สุด คือตอนที่เห็นคนชอบงานของเรา เข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อ เราเจอน้องคนหนึ่ง ยืนดูโลโก้ของเราออกแบบ และมองเห็น เข้าใจความหมายถึงสิ่งที่ตั้งใจใส่ลงไป” 

“ในฐานะคนออกแบบเราดีใจมาก รู้สึกว่าความพยายามทั้งหมดที่ทำลงไป มีความหมาย ไม่เสียเปล่า ซึ่งเราต้องการแค่นี้จริง ๆ" พัชณิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพประกอบบทความ : Patchanit Sriviroch

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> งานสบาย!! บัคคาเนียร์ส ถล่ม ชีฟส์ ขาดลอย 31-9 คว้าแชมป์ซูเปอร์โบลว์ (ชมคลิปไฮไลท์)

>> แข่งเมื่อไร ถ่ายช่องไหน และทุกเรื่องน่ารู้ "ชีฟส์ บู๊ บัคคาเนียร์ส" ซูเปอร์โบวล์ 55 พร้อมลิ้งก์ดูสด

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้ ใช้ฟรี 7 วัน!!!!

ยอดนิยมในตอนนี้