รีเซต
"ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก" ทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ฟุตบอล” | Main Stand

"ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก" ทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ฟุตบอล” | Main Stand

"ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก" ทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ฟุตบอล” | Main Stand
เมนสแตนด์
21 เมษายน 2564 ( 16:30 )
413

ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก กลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดของโลกลูกหนังในปัจจุบัน การรวมตัวของ 12 ทีมฟุตบอลเงินถังในยุโรป เพื่อก่อตั้งลีกฟุตบอลยุโรปของตัวเอง ท้าทายทั้งไอเดียของกีฬานี้ และอนาคตที่อาจเปลี่ยนไปตลอดกาล


 

เพราะทุกคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย กับการตั้งลีกครั้งนี้ ทั้งอดีตนักฟุตบอล, อดีตโค้ช และสื่อมวลชนจำนวนมาก ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะทำลายโลกฟุตบอลหลังจากนี้

เหตุใดคนรักฟุตบอลทั่วโลกจึงออกมาโจมตี ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก, กดปุ่มโกรธให้กับการประกาศเข้าร่วมลีกของทุกสโมสร และออกมาปกป้องเกมลูกหนังที่พวกเขารัก หลังการก่อตั้งลีกนี้

ติดตามได้ที่นี่

 

ทำลายเสน่ห์

ประเด็นที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ว่าเหตุใดยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก คือแนวคิดที่น่ารังเกียจ นั่นคือการทำลายสิ่งที่คนเรียกติดปากว่า "เสน่ห์ฟุตบอล"

เสน่ห์ที่ทำให้หลายคนหลงรักกีฬานี้ คือความคาดเดาไม่ได้ของกีฬาฟุตบอล ทีมยักษ์ใหญ่ไม่ได้ชนะ หรือคว้าแชมป์ทุกครั้ง แต่บ่อยครั้งเราได้เห็นทีมขนาดเล็ก เป็นผู้กล้าก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ กลายเป็นเรื่องราวที่เล่าขานของแฟนบอล


Photo : osseposse.sbnation.com

เลสเตอร์ ซิตี้ กับการกลายร่างจากทีมหนีตกชั้น สู่แชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2015-16, ไกเซอร์สเลาเทิร์น เลื่อนชั้นขึ้นมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกาในปีแรก เมื่อปี 1998 หรือการเห็นทีมอย่าง เอฟซี ปอร์โต, อาหยักซ์ อัมส์เตอร์ดัม, โอลิมปิก ลียง ล้มทีมยักษ์ในฟุตบอลยุโรป หักด้านเข้าสู่รอบลึก แทนที่จะเป็นสโมสรเงินถุงเงินถังพันล้าน

อย่างไรก็ตาม ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะไม่มีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น เราจะไม่ได้เห็นทีมจากโปรตุเกส, เนเธอร์แลนด์, สกอตแลนด์ หรือประเทศใดก็ตาม หักด่านเขี่ยทีมยักษ์ใหญ่ตกรอบ ในฟุตบอลยุโรปอีกต่อไป

แพชชั่นของทีมเล็ก ๆ ที่วิ่งดีใจจนลืมตาย หลังจากเอาชนะทีมระดับโลกจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป เราจะไม่ได้เห็นการดีใจที่บ้าคลั่งของผู้เล่น อาหยักซ์ หลังจากล้ม ยูเวนตุส และ เรอัล มาดริด หรือดวลตัวต่อตัวในเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยุโรป กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

"ในฐานะนักเตะของทีมเล็ก ๆ อย่าง ดันเฟิร์มลิน ในช่วงยุค 60s และโค้ชที่พา อเบอร์ดีน คว้าแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ สำหรับสโมสรเล็ก ๆ ในสก็อตแลนด์ มันเหมือนการได้ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์" เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยกภาพให้เห็นถึงเสน่ห์ฟุตบอลในอดีต ที่ทีมขนาดเล็กต้องเป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลยุโรป


Photo : www.scotsman.com

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ แพชชั่นกับกีฬาฟุตบอลย่อมหายไป โดยเฉพาะสโมสรจากประเทศเล็ก ๆ ทุกปีพวกเขารอคอยที่จะได้เจอกับทีมชั้นนำในฟุตบอลยุโรป พกพาความภูมิใจในฟุตบอลบ้านเกิดไปกับทีมของตัวเอง 

แฟนบอลทีมเล็ก ๆ ล้วนรอคอยว่า วันหนึ่งทีมรักของพวกเขา จะได้เจอกับ เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ เชลซี เพื่อที่จะนำความภาคภูมิใจ ไปเหยียบ ซานติอาโก เบอร์นาเบว หรือ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ในฐานะผู้มาเยือน ร้องเพลงอย่างสุดเสียง เพื่อแสดงถึงความภูมิใจในทีมที่รัก ให้สโมสรยักษ์ใหญ่ได้เห็น

นักฟุตบอลจากประเทศอื่นในยุโรป พวกเขามีความฝันที่อยากจะลงเล่น เจอกับทีมระดับโลกสักครั้ง บางคนฝีเท้าดีไม่พอที่จะได้เล่นในลีกระดับท็อป แต่อย่างน้อย หากพวกเขาทำผลงานได้ดีในลีกของตัวเอง ก็ยังมีโอกาสได้เจอกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ เรอัล มาดริด 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ไม่ต่างอะไรจากแฟนฟุตบอลไทย ที่อยากจะเห็นสโมสรฟุตบ้านเราได้มีโอกาสไปเยือน ทีมดังจาก ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เพื่อหวังประกาศศักดาในเวทีบอลทวีป 

หากแต่สิ่งนั้นกำลังจะไม่เกิดขึ้น เพราะทีมจาก 4 ประเทศข้างต้น หนีไปตั้งลีกของตัวเอง เพราะไม่ต้องการเตะกับทีมจากประเทศเล็ก ให้เมื่อยตุ้มเสียเวลา หากลองมองในมุมนี้ แฟนบอลชาวไทย นักฟุตบอลชาวไทย จะรู้สึกอย่างไร ?

คำถามที่ย้อนกลับมาคือ ถ้าแบบนั้นทีมจากประเทศเล็ก ๆ จะอยากเตะฟุตบอลยุโรปไปเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีทีมใหญ่อันเป็นเป้าหมายของพวกเขาเหลืออยู่แล้ว หมดโอกาสที่จะได้ท้าทาย ประกาศศักดาของทีม กับสโมสรชั้นนำ ซึ่งนี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง หาก ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ถือกำเนิดขึ้น

 

ทำลายความเท่าเทียม

แนวคิดของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ไม่ได้เพียงทำลายเสน่ห์ของเกมฟุตบอล แต่ความเท่าเทียม โอกาสที่ทุกสโมสรควรจะมีเท่ากัน ในกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นรากฐานที่กีฬานี้ยืนหยัดมาโดยตลอด


Photo : www.rte.ie

ไม่ว่าจะเป็นสโมสรไหนในอังกฤษ จะเป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด หรือ เบิร์นลีย์ ทุกสโมสรมีสิทธิ์เท่ากัน คือหากจบอันดับที่ 1 เท่ากับเป็นแชมป์, จบ 4 อันดับแรก ได้ไปยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก, จบ 3 อันดับสุดท้าย ก็ต้องตกชั้น

ต่อให้เป็นสโมสรจากเดอะ แชมเปียนชิพ, ลีกวัน, ลีกทู หรือลีกที่ต่ำกว่านั้นลงไปอีกหลายระดับ ทุกทีมยังคงอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน สามารถฝันว่าสักวัน พวกเขาจะขึ้นไปเล่นบนพรีเมียร์ลีก, คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรป หรือคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก 

แฟนบอลของทุกทีมสามารถฝันได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนของยุโรป เพราะทุกทีมอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน จะเป็นอังกฤษ, สกอตแลนด์, ตุรกี, ยูเครน, รัสเซีย หรือว่า กรีซ แฟนบอลทุกสโมสรแชร์ความฝันร่วมกัน คือการได้ไปแข่งฟุตบอลยุโรป ถ้วยที่ทุกสโมสรมีสิทธิ์เข้าร่วม ขอแค่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้

ทุกอย่างที่ว่ามา คือสิ่งที่แนวคิด ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ยืนตรงกันข้าม ลีกนี้ปฏิเสธการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของทุกสโมสรในยุโรป กลายเป็นการแข่งขันทีมที่อ้างตัวว่าเป็นทีมใหญ่ หรืออภิสิทธิ์ชนของวงการฟุตบอลยุโรป ตั้งลีกขึ้นมาเอง เพียงเพื่อให้ทีมเหล่านี้ ได้โกยเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ไม่ว่า ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก, ยูโรปา ลีก หรือการแข่งขันใดก็ตามของยูฟ่า ต่อให้จะมีค่าตอบแทนไม่สูง (ในมุมมองของทีมใหญ่) แต่สิ่งที่ยูฟ่าทำคือการแบ่งรายได้อย่างเท่าเทียม เพราะฟุตบอลยุโรปคือฟุตบอลยุโรป ทีมจากกรีซมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับ ลิเวอร์พูล ทีมจากเบลเยียมมีคุณค่าเทียบเท่ากับ เชลซี ทุกทีมมีค่าเท่ากัน ดังนั้นการได้ส่วนแบ่งทางลิขสิทธิ์ที่เท่ากัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ขณะเดียวกัน สโมสรฟุตบอลจำนวนมาก พยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อโอกาสที่จะได้ไปเล่นในฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อย่างเท่าเทียม หลายสโมสรวางแผนระยะยาว เป็น 5 ปี หรือ 10 ปี เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสโมสรชั้นนำในประเทศ ต่อสู้ชิงโควต้าสิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลยุโรปให้ได้ 


Photo : www.soccerbible.com

"เอฟเวอร์ตัน กำลังทุ่มเงินกว่า 500 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างสนามใหม่ กับความทะเยอทะยานอยากเข้าไปเล่นในแชมเปียนส์ ลีก นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลอยากให้เป็นไป เพราะพวกเขารักในการแข่งขันเหล่านี้" เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กล่าว

หากแต่ทุกอย่างจะไร้ความหมาย เมื่อมี ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก เพราะสโมสรฟุตบอลทุนหนาได้ออกไปตั้งลีกของตัวเอง รับประกันสิทธิ์ว่าจะได้ไปเล่นฟุตบอลถ้วยใหญ่ทุกปี มีรายได้รับประกันเข้ากระเป๋าอย่างจุใจ โดยไม่ต้องกังวลว่า ปีไหนจะพลาดเป้า ให้กับทีมขนาดเล็กที่เสียบขึ้นมาแทน

ทั้งที่ในความจริงแล้ว อาร์เซนอล ไม่ได้ไปแข่ง ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ยาวนาน 4 ฤดูกาลติดต่อกัน, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ดีไม่พอที่จะผ่านรอบแบ่งกลุ่มในฤดูกาล 2020-21 ขณะที่ เอซี มิลาน ไม่ได้เข้าร่วมฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2013-14 แต่กลับมีส่วนร่วมในการตั้งลีก ที่บอกว่าเป็นลีกสำหรับทีมใหญ่ของยุโรป

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ไม่ได้พิจารณาจากผลงานของทีมฟุตบอล หรือตัดสินกันที่การแข่งขันในสนาม แต่เปลี่ยนสนามแข่งขันเป็นเรื่องของเงินทอง ทีมไหนที่รวยกว่า มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า จึงได้เข้าสู่ลีกนี้

ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ถูกออกแบบมาเพื่อรับประกันว่า สโมสรของเหล่ามหาเศรษฐี จะได้รับเงินก้อนโตทุกปี โดยไม่ต้องกังวลว่าผลงานในลีกของทีม จะห่วยแตกหรือไม่ ต่อให้อาร์เซนอลจบกลางตารางในพรีเมียร์ลีก ทีมยังคงได้เล่นฟุตบอลถ้วยใหญ่อยู่ดี เพียงเพราะมีชื่อเสียงมากกว่า เลสเตอร์ ซิตี้ หรือ เอฟเวอร์ตัน 

ขณะที่ทีมในประเทศอื่น ที่ต่อสู้เพื่อความสำเร็จ คว้าแชมป์ลีก กลับไม่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่ง ในการแข่งขันนี้ เพียงเพราะไม่มีชื่อเสียงมากพอ หรือไม่ได้มีเจ้าของทีมมหาเศรษฐีหนุนหลัง

"โคตรช็อก โคตรงง กับ ซูเปอร์ลีก ของทีมทีมที่ยิ่งใหญ่ และดีที่สุดในยุโรป บอร์ดบริหารของอาร์เซนอล เอาทีมของเรา ไปเข้าร่วมได้ไงวะ" เพียร์ส มอร์แกน ผู้ประกาศข่าวชื่อดังในอังกฤษ อันเป็นแฟนตัวยงของ อาร์เซนอล กล่าวคำที่แสดงให้เห็นว่า ซูเปอร์ลีกแข่งขันกันที่เงิน ไม่ใช่เกมในสนาม


Photo : paininthearsenal.com

แน่นอนว่า ยูฟ่าโกยเงินเข้ากระเป๋าของตัวเองอย่างน่าเกลียด แต่นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ... หลายฝ่ายพูดถึงเงินที่สมควรได้ของทีมยักษ์ใหญ่ เมื่อ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก เกิดขึ้น ทีมเหล่านี้ได้เงินที่ต้องการ

แต่สำหรับทีมขนาดเล็ก กลับตรงกันข้าม หาก เลสเตอร์ ซิตี้ หรือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด จบการแข่งขัน Top 4 ในปีนี้ ทำไมพวกเขาต้องกลายเป็นฝ่ายสูญเสียโอกาส หลายทีมรอเวลาอย่างยาวนานที่จะไปเล่นฟุตบอลยุโรป

ในขณะที่ทีมอย่าง ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์, อาร์เซนอล หรือแม้กระทั่ง ลิเวอร์พูล อาจจะไม่ได้ไปแชมเปียนส์ ลีก ตามโควต้าในปีนี้ แต่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีฟุตบอลซูเปอร์ ลีก คอยมารองรับ และแจกรายได้ก้อนโต โดยไม่จำเป็นต้องสนใจผลงานในลีก

ในอิตาลี อตาลันต้า, ลาซิโอ, โรมา และนาโปลี ที่พวกเขากำลังสู้เพื่อโควต้า 4 อันดับแรก พวกเขาจะสู้เพื่ออะไร เมื่อมี 3 ทีมซึ่งมีสิทธิพิเศษ ไปฟุตบอลยุโรปในทุกปี 

ความเท่าเทียมอันเป็นรากฐานของกีฬาฟุตบอล อยู่ตรงไหนหาก ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก เกิดขึ้น ?

 

ทำลายการแข่งขัน

นับตั้งแต่มีการประกาศถึงแนวคิดการก่อตั้ง ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ขึ้นมา สมาคมฟุตบอลของประเทศที่เข้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, อิตาลี และสเปน ไปจนถึงนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ อย่าง บอริส จอห์นสัน และประธานาธิบดีของฝรั่งเศส อย่าง เอมมานูเอล มาครง ต่างออกมาต่อต้านไอเดียนี้ทั้งสิ้น


Photo : www.newsinheadlines.com

จุดยืนที่ทุกฝ่ายแสดงร่วมกัน คือการมองว่า การแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหม่นี้ จะทำลายเกมการแข่งขันภายในชาติ และลดคุณค่าของฟุตบอลลีกที่ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อเกียรติยศ และศักดิ์ศรี

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ นับตั้งแต่มีการแข่งขันฟุตบอลยุโรป นี่คือเกียรติยศอันศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้ให้กับทีมที่เป็นแชมป์เท่านั้น หากอยากแข่งยูโรเปียน คัพ ก็ต้องเป็นแชมป์ลีก หรือจะไปแข่งฟุตบอลคัพ วินเนอร์ส คัพ ก็มีแต่แชมป์ฟุตบอลถ้วยใบใหญ่ของประเทศเท่านั้น

เมื่อมีการปรับระบบการไปเล่นฟุตบอลยุโรป ตามอันดับในฟุตบอลลีก นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฟุตบอลลีกทุกประเทศเข้มข้น เพราะคุณค่าของการแข่งขัน ไม่ได้อยู่แค่อันดับ 1 แต่ทุกลำดับมีความหมายที่จะกำหนดชะตาของสโมสร ทำให้ทุกเกมการแข่งขันของฟุตบอลมีความหมาย ซึ่งสร้างอารมณ์ร่วมให้กับแฟนบอล ไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์

หากแต่แนวคิดของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะลดความน่าสนใจของฟุตบอลในประเทศ เพราะจากที่ทุกสโมสรต้องต่อสู้เพื่อแย่งอันดับเพื่อไปฟุตบอลยุโรป ทั้ง 15 ทีมที่เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งลีก (เปิดตัวแล้ว 12 ยังไม่เปิดอีก 3) ไม่จำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อทำอันดับอีกต่อไป เพราะมีฟุตบอลถ้วยของตัวเองคอยรองรับอยู่แล้ว 

ต่อให้ อาร์เซนอล จะจบกลางตารางอีกสักสิบปี หรือ สเปอร์ส ไปไม่ถึง Top 4 ของตารางอีกกี่ครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก การันตี

ขณะเดียวกัน เมื่อความสำคัญของฟุตบอลลีกลดลง ทีมเหล่านี้สามารถส่งตัวสำรอง ลงเล่นฟุตบอลลีกในประเทศได้ และเก็บตัวหลักไปแข่งในฟุตบอล ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ซึ่งเป็นรายการที่ใหญ่กว่า และเงินรางวัลมากกว่า 


Photo : www.liverpoolecho.co.uk

ในอนาคต ฟุตบอลลีกในประเทศ สามารถกลายเป็นเพียง "ถ้วยมิกกี้ เมาส์" ของสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้น กับฟุตบอลลีกคัพของอังกฤษ ที่ในอดีตคือฟุตบอลถ้วยที่ทุกทีมต้องใส่เต็ม แต่ปัจจุบันไม่มีใครเห็นค่า โดยเฉพาะสโมสรรดับแถวหน้าของอังกฤษ ที่ใช้เป็นถ้วยลองผู้เล่นเยาวชนไปแล้ว

นี่คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ในอนาคตทีมอย่าง เลสเตอร์, เอฟเวอร์ตัน หรือ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด อาจเป็นเพียงคู่ซ้อมสร้างกระดูกให้ผู้เล่นเยาวชน หรือตัวสำรองของทีม BIG 6 ที่เป็นสมาชิกของยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ไม่มีความหมายมากกว่านั้น

ขณะเดียวกัน ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก ยังเข้ามาทำลายรายได้ของฟุตบอลลีก เพราะเมื่อความสำคัญย้ายไปอยู่กับฟุตบอลถ้วยใหม่ สปอนเซอร์ก็ย้ายตามไปด้วย ในขณะที่ทีมทรงอำนาจกำลังโกยเงินก้อนโตเข้ากระเป๋า ทีมอื่นที่ไม่มีสิทธิ์ร่วม เพียงเพราะพวกเขาไม่มีชื่อเสียงมากพอ ยิ่งเสียรายได้มากขึ้นไปอีก 

สุดท้ายแล้ว สโมสรยักษ์ใหญ่จะโกยเงินเข้ากระเป๋าอย่างไม่มีวันจบสิ้น ขณะที่ทีมเล็กสูญเสียโอกาสที่จะต่อสู้เพื่อรายได้อย่างเท่าเทียม แบบที่ทุกสโมสรความมีสิทธิ์เท่ากัน และว่ากันตามผลงาน 

ความเหลื่อมล้ำของวงการฟุตบอลยุโรป จะยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เคยเป็นเรื่องดีไม่ว่าจะเป็นสังคมไหน เพราะจะมีกลุ่มเพียงหยิบมีที่รวยกระจุก แต่ส่วนใหญ่จนกระจาย 

รายได้ของทีมเล็กที่ลดลงไป ย่อมนำมาสู่การลดงบประมาณของฟุตบอลในภาพรวม การแข่งขันพรีเมียร์ลีกที่แฟนบอลเคยชื่นชมว่า เป็นเกมการแข่งขันที่ทีมไหนก็สามารถเอาชนะกันได้ จะไม่เกิดขึ้น 

เพราะทีมเล็กจะไม่มีทางเทียบเคียงการต่อสู้กับทีมใหญ่ได้อีก ไม่มีนักธุรกิจอยากลงทุนกับทีมขนาดเล็ก เนื่องจากต่อให้ทุ่มเงินไปแค่ไหน ก็ไม่มีทางสู้กับทีมต้นทุนสูง ที่โกยเงินไม่หยุดหย่อน ใน ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก 

 

ทำลายฟุตบอล

ไม่ว่าจะชอบ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก หรือไม่ ความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ ตัวแปรเดียวที่เป็นแรงผลักดัน เรื่องราวทั้งหมดให้เกิดขึ้น คือ "เงิน" 

ไม่ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะพูดถึงอนาคตของฟุตบอลยุโรปผ่านรายการนี้ไว้อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ก้าวไปข้างหน้า คือรายได้ที่มากขึ้นของทุกสโมสรที่เกี่ยวข้อง

แต่อย่างอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องที่ลีกนี้จะให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การแข่งขันของรายการอื่น ผลกระทบที่จะส่งผลต่อฟุตบอลลีก หรือสโมสรอื่นที่อยู่นอกกลุ่มนี้ 


Photo : www.juvefc.com

สิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งแฟนบอลในยุโรปให้ความกังวล คือการเกิด ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะทำให้ฟุตบอลละทิ้งความกีฬา กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว

ไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า กีฬากับธุรกิจผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ฟุตบอลคือ "กีฬา" ไม่ใช่ "สินค้า" ... ธุรกิจควรเข้ามาทำให้วงการฟุตบอลพัฒนา ไม่ใช่ใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจ

นอกจากนี้ การเกิด ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก คือการสะท้อนถึงภาพความเป็น "ของเล่นคนรวย" ที่โลกฟุตบอลปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับสโมสรฟุตบอล โดยไม่ต้องสนใจว่าแฟนบอลจะเห็นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะแฟนบอลท้องถิ่น

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะได้เห็นแฟนบอลลิเวอร์พูลท้องถิ่น นำป้ายไว้อาลัยไปแขวนไว้ที่สนามแอนฟิลด์ หรือการแสดงป้ายที่เขียนว่า "Created by The Poor, Stolen by The Rich" หรือสร้างโดยคนจน ถูกขโมยโดยคนรวย หน้าสนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด เพื่อแสดงถึงจุดสิ้นสุดของสโมสร


Photo : www.dailystar.co.uk

สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ฟุตบอลเป็นเพียงแค่ความบันเทิง และเราไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าจะเห็นเกมสนุก ๆ ฟุตบอลบิ๊กแมทช์ที่ควรค่าแก่การนั่งดูผ่านหน้าจอ

แต่ไม่ใช่กับแฟนบอลที่อังกฤษ หรือประเทศอื่นในยุโรป ... เกมลูกหนังเป็นวัฒนธรรม เป็นชีวิต มีธรรมเนียมที่ยาวนานก่อสร้างมาเป็นร้อยปี ที่สำคัญที่สุด ฟุตบอลสำหรับคนในยุโรปคือตัวแทนของพวกเขา 

คนเหล่านี้ไม่ได้เชียร์สโมสร เพราะทีมนี้เล่นเก่ง หรือมีซูเปอร์สตาร์ แต่พวกเขาเชียร์สโมสรสักทีม เพราะนี่คือทีมฟุตบอลซึ่งพวกเขารู้สึกว่า เป็นทีมของพวกเขา ดังนั้นจะเล่นเก่งหรือไม่เก่ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่พวกเขารักฟุตบอล เพราะนี่คือกีฬาที่เป็นพื้นที่สะท้อนตัวตน สะท้อนชุมชน สะท้อนพื้นถิ่น และความภูมิใจของแฟนบอลออกไป

หากแต่ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก คือการแข่งขันที่แสดงให้เห็นว่า เงินเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนฟุตบอล ไม่ใช่แฟนบอลอีกต่อไป ... ทุกสโมสรสนใจแค่ค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ก้อนโต ไม่เห็นหัวของแฟนบอลท้องถิ่น ที่คอยจูงมือลูกเข้าสู่สนามบอล ยามการแข่งขันมาถึง 


Photo : www.thesun.co.uk

เหตุผลที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ บาเยิร์น มิวนิค ไม่เข้าร่วมกับ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จนถึงตอนนี้ เป็นเพราะว่าทั้งสองสโมสรมีแฟนบอลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และการเข้าร่วมรายการใหม่นี้ ไม่ใช่สิ่งที่แฟนบอลต้องการ 

เพราะสำหรับชาวเยอรมันผู้ถือหุ้น การแข่งขันฟุตบอลเพื่อเงิน ไม่มีความหมายใด ๆ หากเทียบการต่อสู้เพื่อถ้วยอันมีประวัติศาสตร์ล้ำค่า หรือลงสนามเพื่อความภูมิใจของท้องถิ่น 

สโมสรที่ยังไงก็ไม่มีทางเกี่ยวข้องกับ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก เช่น โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค และ สตุ๊ตการ์ท ได้ออกแถลงการต่อต้านลีกนี้ เพื่อเตือนสติทีมหลายพันล้านยูโรทั้งหลายว่า ฟุตบอลเป็นของแฟนบอล และทุกฝ่ายควรจะออกมาต่อสู้ แสดงจุดยืนที่จะรักษาการแข่งขันอย่างเท่าเทียมต่อไป


Photo : soccer.nbcsports.com

แม้ว่าทุกฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนได้หรือส่วนเสีย กับการตั้งลีกครั้งนี้ ทั้งอดีตนักฟุตบอล, อดีตโค้ช และสื่อมวลชนจำนวนมาก ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะทำลายโลกฟุตบอลหลังจากนี้ แต่ก็คงหยุดอะไรไม่ได้ และเราคงต้องรอคอยให้มันเกิดขึ้น

หากวันหนึ่งวงการฟุตบอลกลายเป็นเกมที่ไร้เสน่ห์ หมดสิ้นซึ่งวัฒนธรรมที่น่าหลงใหล กลายเป็นเพียงเกมแห่งธุรกิจ ดูดเอาเงินจากผู้ชมเพียงอย่างเดียว จงอย่าแปลกใจ

เพราะมีคนมากมายที่เสนอถึงคำเตือน แต่ไม่มีใครเลือกที่จะรับฟัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> OFFICIAL : 6 สโมสรพรีเมียร์ลีก ประกาศถอนตัวจาก 'ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก' แล้ว

>> สรุปทุกมิติ : เจาะลึก “ซูเปอร์ลีก” ลีกรวมยอดทีม ที่กลายเป็นมหาสงครามโลกลูกหนัง | Main Stand

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี