หลังปาฏิหาริย์กรีซ : เมื่อมาเฟียยึดครองสมาคมฟุตบอลจนนำไปสู่ความตกต่ำ | Main Stand
ทันทีที่เสียงนกหวีดยาวในสนาม เอสตาดิโอ ดา ลุซ ของ มาร์คุส เมิร์ก ดังขึ้น ชาวกรีซกว่า 11 ล้านคน ก็โห่ร้องด้วยความดีใจ เมื่อทีมชาติของพวกเขาคว้าแชมป์ยูโร ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แชมป์ครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงเกียรติยศในตู้โชว์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวจุดประกายและสร้างความหวังให้แก่วงการฟุตบอลของพวกเขา หลังต้องประสบกับสภาวะซบเซามาหลายสิบปี
อย่างไรก็ดีสุดท้ายมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แถมยังแย่ลงทั้งในแง่ผลงานของทีมชาติ ผู้ชมในเกมลีก และที่สำคัญคือการที่เหล่า “มาเฟีย” อยู่กันเต็มสมาคมฟุตบอล
และนี่คือเรื่องราวของอดีตแชมป์ยูโร ที่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายหลังสร้างปาฏิหาริย์ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ปาฏิหาริย์แห่งกรีซ
มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะหนึ่งเดือนก่อน กรีซ ยังเป็นทีมที่มีอัตราต่อรอง 1-100 ที่จะคว้าแชมป์ยูโร 2004 ที่โปรตุเกส แถมยังร้างราจากรายการระดับนานาชาติมาเป็น 10 ปี
จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปในปี 2001 เมื่อสมาคมฟุตบอลกรีซ แต่งตั้ง อ็อตโต เรห์ฮาเกล กุนซือชาวเยอรมันเข้ามาคุมทีม และเขาก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจในการเกือบบุกไปเอาชนะ อังกฤษ ถึงเวมบลีย์ แต่มาโดนฟรีคิก “ลูกนั้น” ของ เดวิด เบ็คแฮม ในช่วงทดเจ็บไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ไม่นานหลังจากนั้น เรห์ฮาเกล ก็เนรมิตร ทีมชาติกรีซ ให้กลายเป็นทีมแกร่ง คว้าชัย 6 นัดรวดในยูโร 2004 รอบคัดเลือก รวมทั้งบุกไปเอาชนะสเปน ทีมอันดับ 3 ของโลก ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม
“มันเป็นแค่ครั้งที่ 3 ที่กรีซผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ดังนั้นการผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศจึงเป็นความสำเร็จในตัวมันเอง” พานอส โพลิโซอิดิส นักข่าวชาวกรีซ กล่าวกับ BBC Sports
แม้จะทำผลงานได้อย่างโดดเด่น แต่เคยมีใครกล้าที่จะคิดว่าพวกเขาจะไปได้ถึงนัดตัดสิน เพราะตอนนั้นพวกเขารั้งอยู่ในอันดับ 35 ของโลก แถมยังไม่เคยคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์รายการไหนมาก่อน
“มันเป็นปัจจัยที่ทำให้รู้สึกดี แต่ไม่มีใครฝันว่าพวกเขาจะคว้าแชมป์” โพลิโซอิดิส กล่าวต่อ
มุมมองต่อ ทีมชาติกรีซ ก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาประเดิมสนามได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเอาชนะเจ้าภาพโปรตุเกส 2-1 และเป็นจุดเริ่มต้นของ 23 วันสุดมหัศจรรย์ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตะลึง
กรีซ ภายใต้การนำของ เรห์ฮาเกล ที่ใช้แทคติกตั้งรับแล้วโต้กลับ ทำให้คู่แข่งต้องชอกช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งการยันเสมอกับ สเปน 1-1 ในรอบแรก หรือการเขี่ย ฝรั่งเศส แชมป์เก่ากระเด็นออกไปในรอบ 8 ทีมสุดท้าย รวมทั้งการปราบ เช็ก ด้วยซิลเวอร์โกลจนเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ในนัดชิงชนะเลิศพวกเขายังย้ำแค้นเจ้าภาพ ด้วยการเฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 จากประตูของ อันเกลอส ชาริสเตอัส คว้าแชมป์ยุโรปได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยแม้แต่จะผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ด้วยซ้ำ
“มันเป็นความรู้สึกแบบว่า แม้จะมีคำศัพท์ภาษากรีกมากมายแต่ก็แปลออกมาเป็นคำพูดไม่ได้” สเตลิออส จิอันนาโคปูลอส อดีตแข้งโบลตัน วันเดอเรอร์ส และสมาชิกของทีมชาติกรีซในชุดนั้นกล่าวกับ Copa90
“มันยังคงเป็นความรู้สึกที่พิเศษกับการคว้าแชมป์ยุโรป ฟุตบอลกรีซ ไม่เคยมีประสบการณ์กับความสำเร็จแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสโมสรหรือทีมชาติ มันเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ แม้กระทั่งกับคนกรีกเอง”
แชมป์รายการนี้ยังทำให้วงการฟุตบอลกรีซมีความหวัง และถูกคาดหมายว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในการยกระดับสู่การเป็นทีมชั้นนำของยุโรป ทั้งในแง่สโมสรและทีมชาติ
แต่น่าเสียดายที่มันไม่เคยเกิดขึ้น
มะเร็งร้ายที่รักษาไม่หาย
หลังยูโร 2004 วงการฟุตบอลกรีซ อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข แถมแฟนบอลยังได้รับข่าวดี เมื่อ เรห์ฮาเกล โค้ชของพวกเขาตัดสินใจลงหลักปักฐานระยะยาว หลังปฏิเสธข้อเสนอของสมาคมฟุตบอลทีมชาติเยอรมันที่จะดึงเขาไปคุมทีมชาติชุดใหญ่
แต่ช่วงเวลาอันหอมหวานก็อยู่กับพวกเขาได้ไม่นาน หลังทีมชาติของพวกเขาประเดิมสนามในฟุตบอลโลก 2006 รอบคัดเลือกด้วยความพ่ายแพ้ต่อ แอลเบเนีย ทีมรองบ่อน 2-1
กรีซ ต้องรอจนถึงนัดที่ 4 กว่าจะคว้าชัยได้ ด้วยการเอาชนะ คาซัคสถาน ก่อนจะจบรอบคัดเลือกด้วยอันดับ 4 ของกลุ่ม พลาดโอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกอย่างน่าเสียดาย
เช่นเดียวกับคุณภาพของเกมลีก หลังมียอดแฟนบอลเฉลี่ยในสนามที่ลดลงแทบทุกปี จนมาแตะมาที่ระดับ 4,026 คนในฤดูกาล 2016-2017 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของไทยลีก 1 ของไทยในฤดูกาลเดียวกัน (5,428 คน) เสียอีก
นี่ยังไม่นับปัญหาทางการเงินที่เล่นงานพวกเขาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000s โดยจากรายงานของสหภาพนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ หรือ FIFPro เมื่อปี 2021 ระบุว่า สโมสรของกรีซ ค้างค่าจ้างนักเตะเป็นเงินมากถึง 25 ล้านยูโร ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งสำคัญคือ “ความรุนแรง” ซึ่งเป็นมะเร็งร้ายกัดกินวงการฟุตบอลของพวกเขามาตลอด และมันก็เป็นมากกว่าการตีกันในสนาม แต่แทบจะเรียกได้ว่าอาชญากรรม เพราะมีตั้งแต่ดักแทงรุมทำร้ายร่างกายไปจนถึงลอบวางระเบิด
กุมภาพันธ์ 2012 เปตรอส คอนสแตนติเนียส เจ้าของร้านเบเกอรี ถูกลอบวางระเบิดในร้านเพียงเพราะอีกอาชีพของเขาคือผู้ตัดสินในลีกสูงสุดของกรีซ เขาบอกว่าไม่กี่วันก่อนที่เขาจะลงตัดสินในเกมระหว่าง ซานตี กับ โอลิมเปียกอส มีชายสองคนแวะมาหาเขา
“พวกเขายืนยันว่า โอลิมเปียกอส ต้องชนะ และพวกเขาก็ขู่ผม” คอนสแตนติเนียส ย้อนความหลังกับ BBC Sports
“แต่ผมไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ ผมไม่สามารถยอมรับได้”
หลังตำรวจเข้ามาสอบสวน พวกเขาไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ ทำให้เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2011-2012 คอนสแตนติเนียส ตัดสินใจแขวนนกหวีดย้ายไปเล่นการเมือง และได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในนามของพรรคซีริซา พรรคซ้ายจัดของกรีซ ด้วยความหวังจะแก้ไขปัญหานี้
“หลังเหตุระเบิด ผมก็เริ่มกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของครอบครัว ผมส่งลูกไปอยู่ในที่ซ่อน ผมไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงระดับนี้” คอนสแตนติเนียส กล่าวต่อ
อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ามันจะเป็นความฝันที่ยากเกินความจริง
มาเฟียครองวงการ
ในปี 2021 วงการฟุตบอลกรีซเริ่มมีความหวัง เมื่อ ธีโอโรดอส ซาโกราคิส อดีตฮีโร่ของชาติ เจ้าของตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมยูโร 2004 ได้รับเลือกขึ้นเป็นนายกสมาคมฟุตบอลคนใหม่ ด้วยนโยบายมุ่งมั่นปราบทุจริต
ทั้งนี้ ซาโกราคิส ไม่ได้เป็นหน้าใหม่บนเวทีการเมือง เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยรั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ปี 2014 แต่หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 165 วันเขาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง
อดีตกองกลางเลสเตอร์ ซิตี้ รู้สึกท้อใจกับปัญหาอันหนักหนาที่ต้องเผชิญ และประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 พฤษจิกายน 2021 โดยให้เหตุผลว่าในสมาคมมี “บรรยากาศที่เป็นพิษ”
“ปัญหาหลักของเราก็คือการปกครองสมาคมฟุตบอลด้วยคนที่ไม่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือการศึกษาในด้านการจัดการกีฬา พวกเขาเหล่านี้กลับเป็นคนที่มาบริหารสมาคม” จอร์จ ลิคูโรปูลอส นักข่าวชาวกรีซให้ความเห็นกับ Copa90
“สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับวิธีที่คนเหล่านี้ได้รับเลือก สโมสรใหญ่พยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมสมาคม ดังนั้นเกณฑ์ของผู้สมัครจึงไม่ต้องเกี่ยวข้องกับฟุตบอล”
“คุณนึกออกไหม สมาชิกทุกคนขององค์กรไม่มีแม้แต่คนเดียวที่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอล นึกออกไหมว่าคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะจ้างหรือไล่โค้ชออกมาจากตัวแทนของฟุตบอลสมัครเล่น”
แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะเรื่องผู้มีอิทธิพล ในปี 2015 อาริสธิดิส คอร์เรียส อัยการได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับผู้อยู่เบื้องหลังการทุจริต และพบว่ามีคนสำคัญในวงการฟุตบอลกรีซที่มีส่วนในการพยายามล็อกผลการแข่งขันผ่านผู้ตัดสิน
“มีหลายคนที่เข้าข่ายชักนำ เข้าร่วม และควบคุมองค์กรอาชญากรรม เพื่อฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ และทุจริต” รายงานความยาว 175 ระบุ
อย่างไรก็ดี 6 ปีต่อมาคนในวงการฟุตบอล 28 รายจากผู้ต้องสงสัย 68 คน ทั้งผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่สมาคมฯ รวมถึง อีวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และ โอลิมเปียกอส กลับหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด
แถมในระหว่างการพิจาณาคดี ปัญหาความรุนแรงในสนามก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2015 คอนตาส คัตซูลิส แฟนบอลวัย 46 ปีต้องมาสังเวยชีวิตจากการปะทะกันของแฟนบอลในลีกระดับ 3 ที่เกิดขึ้นบนเกาะเครเต จนทำให้ลีกต้องพักเบรก
หรือในปีเดียวกันที่รองประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินถูกทำร้าย รวมถึงเหตุการณ์ที่เหล่าฮูลิแกนบุกลงมาในสนามในเกมดาร์บีแมตช์ระหว่าง พานาธิไนกอส และ โอลิมเปียกอส จนเกิดความวุ่นวาย
แต่ที่โด่งดังที่สุดคือในปี 2018 ที่ อิวาน ซาฟวิดิส ประธานสโมสรพีเอโอเค ชาวรัสเซีย - กรีซ ที่เป็นสมาชิกพรรคยูไนเต็ด ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ได้พกปืนลงสนามไปขู่ผู้ตัดสิน หลังไม่พอใจคำตัดสินที่ปฏิเสธประตูชัยของพวกเขาในเกมพบกับ เออีเค เอเธนส์ จนทำให้เขาถูกปรับและทีมโดนตัดแต้ม
นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม 2018 ธานาสซิส ซีลอส ก็เป็นอีกผู้ตัดสินที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หลังโดนแฟนบอลหัวรุนแรง 4 คนลากลงมารุมทำร้ายจากรถ ในเมืองลาริสซา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
และทำให้ความหวังที่จะยกระดับฟุตบอลอของพวกเขาเป็นแค่ฝันตื่นหนึ่ง
ชาติที่ยูฟ่าตัดหางปล่อยวัด
“มันมีการทุจริตทุกอย่าง เกมในสนามถูกซื้อด้วยการพนัน สิ่งนี้ไม่เคยมีที่ไหน เราไม่ได้สนใจกรีซแล้ว บางเกมก็เล่นถึงนาทีที่ 99 ประธานต้องมีบอดี้การ์ด คุณคิดว่ามันปกติอย่างนั้นหรือ ?” โอลิวิเยร์ คาโป ที่เคยมาค้าแข้งกับเลวาเดียกอส ในฤดูกาล 2013 - 2014 กล่าวกับ So Foot นิตยสารฟุตบอลฝรั่งเศส
อดีตแข้งเบอร์มิงแฮม และ วีแกน อ้างว่าเคยได้รับข้อเสนอจากพวกล้มบอลให้เขาทำให้ตัวเองได้รับใบแดงแต่เขาก็ปฏิเสธไป จากนั้นคนกลุ่มนี้ก็ได้ขู่ว่าจะทำอันตรายแก่เขาและครอบครัว ทำให้ คาโป ตัดสินยกเลิกสัญญาแล้วรีบออกจากกรีซให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดีผู้มีอิทธิพลไม่ใช่ต้นตอของปัญหานี้เพียงอย่างเดียว เมื่อส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของกรีซที่เรียกว่า “วิกฤตหนี้สาธารณะกรีซ” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งกลายเป็นแรงขับที่ทำให้ความรุนแรงระเบิดออกเป็นวงกว้าง
“ในประเทศที่ความถดถอยทางเศรษฐกิจได้ดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปี เยาวชนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องว่างงาน ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้น” จอร์จอส วาสซิเลียดิส อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกีฬา ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2015-2019 กล่าวกับ BBC Sport
“สิ่งเหล่านี้ได้แสดงออกมาในหมู่แฟนบอล และการจัดการที่น่าเป็นห่วงจากผู้ดำเนินการทางเศรษฐกิจที่สนใจฟุตบอลในฐานะสินค้าไม่ใช่กีฬา”
“สถานการณ์ของการพยายามแก้ไขปัญหาของวงการฟุตบอลกรีซติดหล่มมากเกินไป รัฐบาลต้องพิจารณาไปถึงต้นทุนทางการเมืองในทุกการจัดการใด ๆ ความยุติธรรมใช้ไม่ได้แล้วกับประเทศนี้ การแก้ไขปัญหามีทางเดียวคือต้องมาจากภายนอกเท่านั้น”
อันที่จริง ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาได้ตรวจสอบเรื่องเหล่านี้มาตลอด โดยในปี 2011 ยูฟ่า รายงานว่ามีเกมการแข่งขันในฤดูกาล 2009 -2010 มากถึง 41 เกมที่มีผลการแข่งขันน่าสงสัย ก่อนจะกลายเป็นคดีล็อกผลบอลสุดอื้อฉาว
หรือในปี 2016 ที่ ยูฟ่า ได้ส่งคณะผู้แทนเข้ามาหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน แต่ดูเหมือนว่าจะทำอะไรไม่ได้มากนัก เมื่อ 4 ปีหลังจากนั้นคณะผู้แทนต้องเก็บกระเป๋าออกมามือเปล่า โดยที่แทบไม่มีอะไรคืบหน้าไปจากเดิม
“ที่กรีซมันมีความซับซ้อนเพราะเจ้าของสโมสร เราทำอะไรได้ไม่มาก แค่พยายามสร้างการทำงานร่วมกัน นำพวกเขามาอยู่ด้วยกันเพื่อลดความตึงเครียด” ปีเตอร์ ฟูเซ็ค อดีตนักฟุตบอลชาวเช็กที่เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของยูฟ่า กล่าวกับ BBC Sport
“แต่ปัญหาใหญ่ก็คือการขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว เราก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ พอไม่มีสิ่งนี้ทุกคนก็พยายามจะครองอำนาจ”
และมันก็ทำให้ความหวังที่จะกอบกู้เรือที่จมไปครึ่งลำแล้วลำนี้หลุดลอยไป
ยังมีความหวังเสมอ
ปัจจุบัน วงการฟุตบอลกรีซ ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างกระท่อนกระแท่น แม้จะเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในยูโร 2012 แต่พวกเขาก็ไม่ได้ลิ้มรสชาติของรอบสุดท้ายอีกเลยในศึกชิงแชมป์ยุโรป 2 หนหลังสุด เช่นเดียวกับฟุตบอลโลกที่ไม่ได้เข้ารอบอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2014 ที่บราซิล
“ทีมสปิริตในยุคของ เรห์ฮาเกล และ (เฟร์นันโด) ซานโตส หายไปหมดแล้ว นักเตะหลายคนเลิกเล่น เราเสียรุ่นที่ดีที่สุดไปแล้ว และเสียกระบวนการในการพัฒนา” ลิคูโรปูลอส กล่าวกับ Copa90
“ยุคใหม่ของเราใกล้เคียงกับคำว่าหายนะ การแพ้หมู่เกาะแฟโรเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา”
ล่าสุด กรีซ เพิ่งจะพลาดโอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอล 2022 รอบสุดท้ายที่กาตาร์ หลังจบในอันดับ 3 ของรอบคัดเลือก และมีคะแนนห่างจากอันดับ 2 ที่ได้สิทธิ์เพลย์ออฟถึง 5 คะแนน ทำให้พวกเขาต้องเบนเข็มมาโฟกัสที่ยูโร 2024 แทน
แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังไม่หมดหวัง เช่นเดียวกับ จิอันนาโคปูลอส ที่เคยรั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติกรีซในปี 2019 เขาเชื่อว่ากรีซมีโอกาสจะกลับมาได้
และแม้อาจจะเป็นแค่ความฝันที่เลือนราง แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ให้เดินต่อไป
“ผมยังคงมองโลกในแง่ดีเสมอ นี่เป็นบุคลิกของผม” อดีตแข้งโบลตัน กล่าวกับ Copa90
“ผมมีความเชื่อว่ายุคที่ดีที่สุดของฟุตบอลกรีกยังไม่มาถึง คุณต้องมองอนาคตในแง่บวก เพราะฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้”
“การคว้าแชมป์ยูโรนั้นใหญ่มาก และบางทีอาจจะเป็นความสำเร็จที่เราทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครหยุดความฝันของเราได้ ถ้าผมเป็นผู้เล่นในตอนนี้ผมก็คงฝันที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักฟุตบอล จงมีฝัน”
แหล่งอ้างอิง
https://www.copa90.com/en/read/greeces-euro-2004-triumph-and-the-decline-that-followed
https://www.bbc.com/sport/football/60483819
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/euro_2008/greece/7413507.stm
https://www.goal.com/en-us/news/rise-underdog-greece-end-ronaldo-euro-2004/rfl6ko1k472f12xqdifsfj621
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจ็บไม่รู้จักจำ : เหตุใด "เปแอสเช" ถึงล้มเหลวซ้ำซากในฟุตบอลยุโรป | Main Stand
- สเปอร์ส & คอนเต้ : องค์กรที่ไม่ทะเยอทะยานกัดกินคนเก่งได้แค่ไหน ? | Main Stand
- เรื่องราวจากยอดคน : 14 สิ่งที่คุณควรรู้จากสารคดี "เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่มีวันแพ้" | Main Stand
- มองผ่านการเมือง : เหตุผลที่อังกฤษแทรกแซง "เชลซี" แม้สโมสรเสี่ยงล่มสลาย | Main Stand
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก