รีเซต
เป่าปรี๊ดทรงพลัง : จากผ้าเช็ดหน้าเปลี่ยนผ่านสู่ "นกหวีด" ผู้ตัดสินได้อย่างไร ? | Main Stand

เป่าปรี๊ดทรงพลัง : จากผ้าเช็ดหน้าเปลี่ยนผ่านสู่ "นกหวีด" ผู้ตัดสินได้อย่างไร ? | Main Stand

เป่าปรี๊ดทรงพลัง : จากผ้าเช็ดหน้าเปลี่ยนผ่านสู่ "นกหวีด" ผู้ตัดสินได้อย่างไร ? | Main Stand
เมนสแตนด์
21 ตุลาคม 2563 ( 14:30 )
398


นกหวีดในความทรงจำของคุณมีหน้าตาเป็นอย่างไร ? ... บ้างก็จดจำว่านี่คือเครื่องมือคู่ใจผู้ตัดสินในโลกกีฬา หรือบ้างนึกถึงอุปกรณ์แสดงพลังของมวลมหาประชาชน 

 

ไม่ว่าคุณจะจำนกหวีดในรูปแบบไหน นี่คืออุปกรณ์ที่มีบทบาทในวงการกีฬามายาวนานร่วม 150 ปี เสียงของมันช่วยส่งสัญญาณ ควบคุมเกมการแข่งขันให้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยตั้งแต่ต้นจนจบเกม  

ฟุตบอล คือกีฬาชนิดแรกที่นำนกหวีดเข้ามาในโลกกีฬา กระทั่งต่อมามันได้ถูกนำมาใช้แทบทุกชนิดกีฬา

แต่รู้หรือไม่ก่อนที่ นกหวีด จะมายึดหัวหาดเป็นเครื่องมือผดุงความยุติธรรมของกรรมการ ครั้งหนึ่งเกมลูกหนัง เคยใช้ “ผ้าเช็ดหน้า” ไอเท็มประจำตัวผู้หญิงมาช่วยผู้ตัดสิน ในกีฬาตัวแทนความเป็นสุภาพบุรุษ 

เรื่องราวของอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมเกมกีฬาอย่าง “นกหวีด” มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร ? ในอนาคตโลกจะมี นวัตกรรมหรืออุปกรณ์ ที่ทันสมัยและเข้ากับยุคสมัยได้ดีกว่า นกหวีดหรือไม่ ? 


ก่อนจะมีนกหวีด

ยุคแรกเริ่มของกีฬาฟุตบอล นกหวีดไม่ได้ถูกใช้ควบคุมเกมการแข่งขัน เนื่องจากประเทศผู้ให้กำเนิดของเกมลูกหนังอย่าง “อังกฤษ” ไม่มีนกหวีด เป็นของใช้ส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ในอดีต นกหวีดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีน เพื่อเป็นเครื่องมือส่งสัญญาณของชาวจีน ให้ประชาชนได้รู้ว่า เวลาไหนที่ข้าศึกจะบุกรุกเข้ามา และสามารถเตรียมตัวอพยพได้ทันท่วงที ในช่วงต่อต้านการบุกรุกประเทศจากชาวมองโกล

จากยุคที่ไม่มีนักหวีด ชาวอังกฤษจึงหยิบใช้ของใกล้ตัว อย่าง “ผ้าเช็ดหน้า” มาใช้ทำหน้าที่เหมือนนกหวีดในปัจจุบัน 


Photo : Fact Replubic

ประโยชน์ของผ้าเช็ดหน้า ที่ประเทศอังกฤษ คือการใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ด้วยการโบกผ้าเช็ดหน้าเพื่อเรียกความสนใจของผู้คน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่คนเพศหญิง ที่เรียกได้ว่า สุภาพสตรีทุกคน ต้องมีผ้าเช็ดหน้าติดตัวไว้ (สำหรับเพศชายจะใช้วิธีการโบกหมวกแทน)

แม้สิ่งของประเภทนี้ จะเป็นของเพศหญิง แต่ความสะดวกในการพกพา ทำให้ผู้ตัดสินฟุตบอลยุคบุกเบิก เลือกหยิบผ้าเช็ดหน้ามาใช้เป็นเครื่องมือของกรรมการ ในการควบคุมการแข่งขัน โดยผู้ตัดสินจะใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาว โบกขึ้นฟ้ายามต้องหยุดเกมการแข่งขัน

แต่เนื่องจากผ้าเช็ดหน้ามีความเป็นผู้หญิงมากเกินไป เมื่อถูกนำมาใช้ในเกมที่เต็มไปด้วยผู้ชายอย่างฟุตบอล ทำให้หลายคนเริ่มมองหาอุปกรณ์ทดแทน ต่อการควบคุมการแข่งขันเกมลูกหนัง 

ในปี 1870 หนุ่มวัย 22 ปี นามว่า โจเซฟ ฮัดสัน (Joseph Hudson) ได้เกิดไอเดีย ด้วยการลองนำ นกหวีด ที่เขาผลิตขึ้นเอง เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากการใช้เสียงนกหวีดส่งสัญญาณ มาลองใช้กับการแข่งขันฟุตบอล ที่ตัวเขาได้รับหน้าที่เป็นกรรมการ


Photo : Fact Replubic

ในช่วงแรกที่ฮัดสันเอามาใช้ นกหวีดไม่ได้เป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่ กระทั่งไม่กี่ปีถัดมา นกหวีดเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะหน่วยงานตำรวจของกรุงลอนดอน ได้นำไปใช้งานราชการ ทำให้คนอังกฤษรู้จักนกหวีดมากขึ้น 
 

อำนาจของนกหวีด

ในปี 1878 นกหวีด เริ่มกลายเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับเกมฟุตบอล ในเขตนอตติงแฮม และเชฟฟิลด์ แต่นกหวีดยังไม่ได้มีบทบาทมากนัก กับเกมฟุตบอล เพราะในอดีต การแข่งขัน ไม่ได้มีจังหวะหยุดเกมบ่อยแบบเหมือนปัจจุบัน ขณะที่กรรมการเป็นแค่ผู้ควบคุมยืนอยู่นอกสนามเท่านั้น 

จนปี 1891 กฎของฟุตบอลอนุญาตให้กรรมการ สามารถเข้าไปอยู่ในสนามร่วมกับนักฟุตบอลได้ โดยจะมีผู้ช่วยกรรมการยืนอยู่ข้างสนามอีกสองฝั่ง (ต่อมาพัฒนาเป็นไลน์แมนในปัจจุบัน) 


Photo : Stickhead

ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ กรรมการ มีอำนาจลงโทษนักเตะที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่นการเข้าปะทะที่หนักเกินไป ทำให้การหยุดเกมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และนกหวีดกลายเป็นอุปกรณ์ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น กับเกมฟุตบอล

นกหวีด จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกีฬาฟุตบอล แต่ส่วนใหญ่ยังคงถูกใช้ภายในสหราชอาณาจักร อย่าง ประเทศอังกฤษ, เวลส์, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ เพราะช่วงนั้น กีฬาฟุตบอลยังไม่ได้รับการเผยแพร่ ไปยังหลายประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ในที่สุดการใช้ นกหวีดได้รับการยอมรับ ให้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ตัดสินในกีฬาฟุตบอลแบบไม่เป็นทางการ หลังถูกใช้ในเกมนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอคัพ ที่สนามเวมบลีย์ ในปี 1923 ระหว่างโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

อิทธิพลของนกหวีดดังไกล จนได้นำไปใช้ในฟุตบอลโลกครั้งแรก ปี 1930 ทำให้ 6 ปีหลังจากนั้น นกหวีดได้รับการบันทึกโดย IFAB หรือ คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ ให้นกหวีดเป็นส่วนหนึ่งของกติกาฟุตบอลสากล หรือ Law of the Game อย่างเป็นทางการ 

มีการระบุหน้าที่ของนกหวีดไว้ว่า สามารถใช้เป่าเริ่มต้นเกม และเป่าหยุดเกม หากเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักกีฬา ผู้ตัดสินสามารถใช้นกหวีดเป่าหยุดเกมได้ทันที และเป่าเริ่มเกมได้ใหม่อีกครั้ง เมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ้นสุดลง


Photo : Stickhead

ปัจจุบัน นกหวีด กลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจในเกมฟุตบอล เสียงของมันสามารถควบคุมเหตการณ์ บนสนามแข่งขัน ทำให้บางครั้งกรรมการได้ใช้อำนาจที่ตัวเองมีเกินความจำเป็น ด้วยการเป่านกหวีดหยุดเกมบ่อยครั้ง จนเสียอรรถรสในการรับชม

ทำให้ในปี 2007 ทาง IFAB ต้องเขียนกฎใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้นกหวีดควบคุมการแข่งขัน เพื่อเป้าหมายหลักให้กรรมการใช้นกหวีดอย่างเหมาะสม ในยามจำเป็นเท่านั้น มีกฎที่ชัดเจนกับการใช้นกหวีด ในฐานะอุปกรณ์หลักของกรรมการ ที่จะใช้ในการเป่าหยุดเกม เช่น จังหวะเป่าฟาวล์, แจกโทษ หรือการใช้ VAR รวมถึงการสั่งเล่นลูกตั้งเตะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดโทษ, ฟรีคิก หรือเตะมุม 

 

อนาคตของนกหวีด

ในโลกกีฬาสมัยใหม่ ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่กีฬาเดียว ที่ใช้นกหวีดเป็นเครื่องมือในการควบคุมเกมการแข่งขัน แต่แทบทุกกีฬาใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ เป็นผู้ช่วยของกรรมการต่อการจัดระเบียบเกมกีฬา ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย

นกหวีดอยู่คู่กับเกมกีฬามาร่วม 150 ปี ดังนั้นการจะเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ชนิดอื่น เพื่อมาช่วยควบคุมการแข่งขันคงเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม โลกมีการวิวัฒนาการตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ รวมถึงนกหวีดด้วยเช่นกัน ตั้งแต่นกหวีดเริ่มต้น ถูกคิดค้นขึ้นมา การเปล่งเสียงของวัตถุชิ้นนี้ ต้องเกิดจากลม ซึ่งมาจากการเป่าด้วยปากของมนุษย์เราทั้งสิ้น

หากแต่ว่าหลังจากนี้ อนาคตของเกมกีฬาอาจจะเปลี่ยนไป เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทผลิตนกหวีด Foxcroft ได้คิดค้นนกหวีดที่สามารถส่งเสียงได้ ด้วยการกดปุ่ม โดยไม่ต้องใช้แรงเปล่าจากปากของมนุษย์ นอกจากนี้ยังสามารถเลื่อนปรับโทนเสียงได้ และส่งเสียงได้สูงสุดถึง 120 เดซิเบล หรือเทียบเท่ากับสัญญาณหวอของรถพยาบาล


Photo : The Miror 

บริษัท Foxcroft ได้อ้างว่า เริ่มต้นส่งตัวอย่างของนกหวีดตัวนี้ ไปให้กับ NFL และ NBA สองลีกกีฬายักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทดลองใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เป้าหมายสำคัญของนกหวีดรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้ต้องใช้ลมเป่า คือการเข้ามายึดครองตลาดนกหวีดในเกมกีฬา แทนที่นกหวีดแบบดั้งเดิมทั้งหมด แน่นอนว่าหากเกิดขึ้นจริง รูปแบบการใช้นกหวีดเพื่อควบคุมการแข่งขัน ก็อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคตเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วย กับการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ของนกหวีดให้ทันสมัย … ดอนนี แอพเพล์ย (Donny Appley) กรรมการมากประสบการณ์ของกีฬาบาสเกตบอล แสดงความเห็นว่า นกหวีดแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถเข้ามาทดแทนนกหวีดธรรมดา ที่อยู่คู่กับวงการกีฬามายาวนานกว่า 100 ปี

“ปัญหาของการใช้นกหวีด คือเราต้องใช้มันอย่างเหมาะสม ผมคิดว่าการที่เรามีนกหวีดอยู่ในมือ ที่สามารถกดเมื่อไหร่ก็ได้ จะทำให้เกิดปัญหาตามมา” แอพเพล์ย แสดงความเห็น


Photo : Sport Business 

ในทางตรงกันข้าม ทางบริษัทผู้ผลิตนกหวีดอิเล็กทรอนิค ออกมายืนยันว่า การใช้นกหวีดรูปแบบใหม่จะส่งผลดีกว่านกหวีดแบบเก่า เพราะทำให้กรรมการสามารถหยุดเกมได้อย่างทันท่วงที เพียงแค่กดปุ่มนกหวีดที่อยู่ในมือเท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาเป่าแบบในอดีตที่ผ่านมา

เรายังไม่สามารถรู้ได้ว่า อนาคตของนกหวีดกับเกมกีฬาจะเป็นอย่างไร แต่จากเวลาที่ผ่านมาร่วม 150 ปีที่นกหวีดมีส่วนร่วม กับการควบคุมการแข่งขัน เชื่อได้ว่าอุปกรณ์ชนิดนี้จะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน ไม่ว่าเสียงของมันจะถูกเป่าออกมาจากปาก หรือมาจากการกดปุ่มก็ตาม

แหล่งอ้างอิง

เอกสาร Law of the Game 20/21
http://fitba2014.blogspot.com/2014/06/a-short-history-of-referees-whistle.html
https://www.sportskeeda.com/football/a-short-history-of-the-football-referees-whistle
https://24newsorder.com/is-this-whistle-the-future-of-refereeing/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> จีซองถึงฮึงมิน : ทำไมนักเตะเกาหลีประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกว่าแข้งญี่ปุ่น | Main Stand

>> ไขข้อข้องใจจากหลักฐานการแพทย์ : “เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก” ร้ายแรงถึงจุดจบนักกีฬาอาชีพ ? | Main Stand

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้