รีเซต
ไม่ทันได้ขึ้นรถ : ทำไม Fast & Furious Tokyo Drift จึงจบได้ใน 5 นาทีหากอิงตามบริบทสังคมญี่ปุ่น?

ไม่ทันได้ขึ้นรถ : ทำไม Fast & Furious Tokyo Drift จึงจบได้ใน 5 นาทีหากอิงตามบริบทสังคมญี่ปุ่น?

ไม่ทันได้ขึ้นรถ : ทำไม Fast & Furious Tokyo Drift จึงจบได้ใน 5 นาทีหากอิงตามบริบทสังคมญี่ปุ่น?
เมนสแตนด์
19 สิงหาคม 2563 ( 22:00 )
903

Fast & Furious ถือเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่อยู่คู่กับคอหนังมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ภาค 1 ในปี 2001 จนทุกวันนี้ก็จ่อเข้าใกล้ภาค 9 ที่จะเข้าฉายในปี 2021 เข้าไปทุกที


 

เส้นเรื่องของหนังโดนเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ จากหนังแข่งรถ สู่หนังแอ็คชั่นจารกรรม อันเป็นจุดขายของแทบทุกภาค ทว่ามีอยู่ภาคหนึ่งที่ถือว่าเป็น ไซด์สปิน ที่เนื้อหาหลุดจากเส้นเรื่องหลักของภาคอื่น ๆ นั่นคือ The Fast and the Furious: Tokyo Drift ภาค 3 ของแฟรนไชส์ ที่เข้าโรงฉายในปี 2006 นั่นเอง

การดริฟต์รถและสุดระห่ำในโลเคชั่นเมืองหลวงของญี่ปุ่น คือภาพแห่งความทรงจำ มัน, ลุ้น และ เท่ คือคำจำกัดความที่เหมาะกับ Tokyo Drift อย่างที่สุดแล้ว 

และวันนี้เราจะมองย้อนกลับไปในตัวหนังภาคนี้ โดยจะนำวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นจริง ๆ มาเทียบกันดูว่า แท้ที่จริงแล้วหาก Tokyo Drift เกิดขึ้นบนโลกแห่งความจริง ฉากไหนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง ?    ติดตามได้ที่นี่

 

กลิ่นใหม่ที่ได้ใจคนดู

แค่ชื่อก็ชัดเจนแล้ว เพราะจั่วหัวจัดเต็มมาทั้งคำว่า "โตเกียว" และ "ดริฟต์" ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาค 1 และภาค 2 ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย

เรื่องราวของ ฌอน บอสเวลล์ (แสดงโดย ลูคัส แบล็ก) เด็กหนุ่มชาวอเมริกันที่ชอบการขับรถซิ่ง ผู้ถูกแม่ดัดสันดานด้วยการส่งมาอยู่กับพ่อ ทหารกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ประจำการในประเทศญี่ปุ่น ก่อนมาพบกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่ว่าจะการเรียน, อาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ และแน่นอนคือการแข่งรถที่เป็นธีมหลังของเรื่อง ซึ่งการมาญี่ปุ่นของ ฌอน นั้นเขาได้พบว่า สำหรับการแข่งรถนั้นไม่ได้มีแค่การใช้ความเร็วเสมอไป ที่นี่นิยมการ "ดริฟต์" หรือการสาดเข้าโค้งโชว์ลีลาการควบคุมรถ และนับหน้าถือตาเซียนด้านการดริฟต์ในฐานะราชา หรือ "Drift King" เลยทีเดียว


Photo : caamfest.com

เสน่ห์ของ โตเกียว ดริฟต์ คือการได้จัดเต็มในด้านการโชว์เทคนิคการดริฟต์ ภาพการแข่งขันดริฟต์ที่สนุกและเร้าใจ เสียงดังเอี๊ยดอ๊าดเมื่อยางบดลากกับถนน รวมถึงการปรากฎตัวของ ฮาน ลู (แสดงโดย ซอง คัง) เซียนดริฟต์ผู้ลึกลับและอาจารย์ของพระเอก ที่กลายเป็นตัวละครยอดนิยมของแฟรนไชส์ในเวลาต่อมา 

ทุกอย่างล้วนผลักดันให้ Tokyo Drift กลายเป็นภาคที่ถึงแม้จะเปลี่ยนสีเปลี่ยนกลิ่น และเป็นภาคที่ทำรายได้น้อยสุดของแฟรนไชส์ แต่สุดท้ายหนังก็ยังคงทำกำไร มีรายได้รวมทั่วโลกอยู่ที่ราว 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,000 ล้านบาท จากทุนสร้าง 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2,600 ล้านบาท ซึ่งนับว่าไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับหนังที่ไม่ได้ใช้ดาราแม่เหล็กอย่าง พอล วอล์คเกอร์ (รับบท ไบรอัน โอคอนเนอร์) กับ วิน ดีเซล (เจ้าของบท โดมินิค ทอเร็ตโต้) เหมือน 2 ภาคแรก ... และที่สำคัญ มันทำให้ Fast & Furious กลับมาฟื้นคืนชีพ กลายเป็นแฟรนไชส์หนังดังระดับโลกมาถึงทุกวันนี้


Photo : fastandfurious.fandom.com

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ Tokyo Drift ฝากไว้นอกจากความสนุกและความบันเทิงแล้ว พวกเขายังสอดแทรกเรื่องราวต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นเอาไว้ การนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมสอดแทรกเข้าไปในเนื้อเรื่องกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าประทับใจ และทำให้หลายคนเกิดหลงรักและใฝ่ฝันจะไปยังกรุงโตเกียว หรือประเทศญี่ปุ่นสักครั้งในชีวิต นี่คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก 

อย่างไรก็ตามหนังก็ยังคงเป็นหนัง เพื่อให้ได้ความบันเทิงทั้งภาพและเสียงที่กลมกล่อมนั้น จำเป็นต้องแต่งเติมตัวช่วยเข้าไปพอสมควร และสำหรับ Tokyo Drift นั้นก็แต่งเติมเข้าไปไม่น้อย และหลายสิ่งที่พวกเขาเติมเข้าไปนั้นว่ากันว่าหากจะอิงตามเรื่องจริงแล้ว มันยากมากที่จะเกิดขึ้นในเมืองหลวงของญี่ปุ่นแห่งนี้ 

 

หากอิงตามกฎหมาย

ในเรื่องนั้น ฉากเปิดโลกของ ฌอน กับการดริฟต์ เกิดขึ้นเมื่อเขาไปยังสนามแข่งดริฟต์ครั้งแรก นั่นคือลานจอดรถบนห้างสรรพสินค้า ซึ่งแท้จริงแล้วมันยากมากที่จะเกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่นได้ เพราะนอกจากเรื่องพื้นที่ซึ่งแคบจนเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายแล้ว มันยังง่ายต่อการถูกตำรวจดักจับอีกด้วย (แต่ถ้าเป็นแค่งานมีตติ้งคนรักรถนั้นก็ว่าอีกเรื่อง)


Photo : fastandfurious.fandom.com

โดยปกติแล้ว แม้ ดริฟต์ จะเป็นหนึ่งในประเภทการแข่งขันที่ชาวญี่ปุ่นนิยม แต่พวกเขามักจะไปแข่งขันกันในสนาม (อย่างเช่นรายการ D1 Grand Prix) หรือไม่ก็ในภูเขาตามชนบทยามค่ำคืนที่แทบไม่มีคนใช้รถใช้ถนน (แบบในมังงะ Initial D - ซึ่ง Tokyo Drift ก็มีฉากลักษณะนี้เช่นกัน) มากกว่า และด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้อีกหลาย ๆ ฉากไม่สามารถเกิดขึ้นจริง (หรือมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้น) ได้ เช่น การขับรถไล่ล่าที่ DK (Drift King - ในเรื่องชื่อ ทาคาชิ) ซิ่ง Nissan 350Z ล่า ฌอน ใน Mitsubishi Lancer Evolution VIII และ ฮาน ใน Mazda RX-7 ท่ามกลางฝูงชนที่พลุกพล่านกลางกรุงโตเกียวนั้น สามารถรวมกันเป็นกรณีที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด 

หากจะพูดตามความน่าจะเป็นบนโลกแห่งความจริงแล้ว ฌอน อาจจะไม่มีรถขับและได้รู้จักการดริฟต์เลยด้วยซ้ำ ฉากแข่งดริฟต์บนที่จอดรถห้างสรรพสินค้านั้น เขาเข้าไปงัดข้อกับ DK ก่อนที่จะมีการท้าทายกันเกิดขึ้น จนกระทั่งนำมาสู่การปรากฎตัวของ ฮาน ที่อยู่ ๆ ก็ยื่นกุญแจรถ Nissan Silvia S15 ให้กับ ฌอน เอาไปแข่งแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง (ก่อนจะพังยับเป็นซากกลับมา) ... จุดนี้คือสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศญี่ปุ่น

เริ่มกันด้วยข้อกฎหมายการจราจรและการขับขี่ของญี่ปุ่น อันเป็นสิ่งสำคัญของเหตุผลที่ว่า "คนญี่ปุ่นไม่ให้ใครยืมรถมั่ว ๆ" ก่อนเลย ที่นี่กฎหมายทางด้านการจราจรเข้ม และมีการจับปรับกันอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แค่การไม่มีใบอนุญาตขับขี่เท่านั้น แต่ยังมีกฎยิบย่อยมากมาย เช่น ขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ขัดขวางการสัญจรของเด็กเล็ก ไม่รักษาระยะห่างจากคนเดินเท้าในระยะที่ปลอดภัย ไม่ชะลอรถ ในถนนคนเดิน ล้วนแต่เป็นความผิดที่จะต้องโดนหักคะแนนใบขับขี่ เสียค่าปรับทั้งสิ้น

สำคัญที่สุดคือมาตรา 65 ของ พ.ร.บ. การจราจรของญี่ปุ่น ที่ระบุว่า ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย รวมถึง "ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด" ในข้อกฎหมายที่เน้นตัวเข้มนี้ หากเราเอามาเปรียบเทียบกับ ฌอน ในฉากนั้น แน่นอนว่าเขาคือ "ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด" อย่างแท้จริง 


Photo : www.slashfilm.com

ประการแรก เขายังเรียนชั้นมัธยมปลายและเพิ่งมาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้ไม่นานนัก แน่นอนว่ามันมีโอกาสสูงที่เขาจะ "ไม่มีใบขับขี่ในญี่ปุ่น" และหากจะมองถึงทฤษฎีสมคบคิดให้จริงจังขึ้นมาอีกหน่อย อาจจะพบว่า ฌอน มีโอกาสที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะในสนามแบบอินดอร์นั้นถูกจัดขึ้นเหมือนกับมีปาร์ตี้ขนาดย่อม ๆ มีสาว ๆ มีเครื่องดื่ม มีบูธดีเจ ... ดังนั้นกับเด็กที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองและเข้าสังคมใหม่อย่าง ฌอน มีโอกาสสูงที่เขาเผลอใจลองลิ้มชิมรส เบียร์สักขวดสองขวดไปแล้วก็เป็นได้  

ดังนั้นสมมติว่า ฌอน ถูกจับ ฮาน จะต้องซวยไปด้วย เพราะตามกฎหมายแล้ว การให้ผู้อื่นยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะมีโทษจำคุกและโทษปรับแทบเท่ากับผู้ขับขี่ นั่นคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน เลยทีเดียว ดังนั้นโดนธรรมชาติของมนุษย์ (ไม่ใช่แค่ชาวญี่ปุ่น) การจะให้ยืมรถที่เป็นของส่วนตัว (และของรัก) กับคนแปลกหน้าที่เคยเจอครั้งแรก แถมยังเอาไปทำเรื่องเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ทำให้ดูแล้วมันจะเป็นเรื่องที่อาจจะไม่เมคเซนส์เท่าไหร่ 

 

มองมาที่วัฒนธรรม

ไม่ใช่แค่ทางกฎหมายเท่านั้น ทางหากมองไปที่วัฒนธรรมและค่านิยมของชาวญี่ปุ่นแล้ว การแข่งดริฟต์รถในตึก, การไล่ล่ากันท่ามกลางฝูงชน, การท้าทายเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่กระทั่งการยืมรถ ก็ถือเป็นสิ่งไม่น่าจะพบเห็นในชีวิตประจำวันและสังคมชาวญี่ปุ่นง่าย ๆ เช่นกัน 


Photo : thehundreds.uk

เรื่องนิสัยใจคอโดยธรรมชาติของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้น มักจะมีค่านิยมและทัศนคติทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเป็นอนุรักษ์นิยม กล่าวคือพวกเขาเชื่อมั่นในขนบธรรมเนียมที่ถือปฎิบัติกันมายาวนาน หนึ่งในนั้นคือการมองคนต่างชาติที่มีความแตกต่างว่าเป็น "คนนอก" หรือในเรื่องมักจะมีการเรียก ฌอน ด้วยคำว่า "ไกจิน" (ย่อมาจากคำว่า ไกโคคุจิน ที่แปลว่า คนต่างชาติ) อยู่แทบจะตลอดทั้งเรื่องเลยทีเดียว พวกเขามีความแอนตี้คนต่างชาติ หรือแม้แต่กระทั่งลูกครึ่งที่ไม่ได้มีหน้าตาที่เป็นสเตริโอไทป์เหมือนกับชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่อย่างชัดเจน  

ยกตัวอย่างง่ายที่สุด เอาแบบให้เห็นภาพในโลกความจริงคือ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสหญิงลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น ที่เคยขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกนั้น ก็มีชีวิตที่ยากลำบากในการต่อสู้กับอคติที่มีต่อคนต่างเชื้อชาติในสังคมญี่ปุ่น ก่อนที่จะโด่งดังมีชื่อเสียงนั้น พ่อของเธอถึงขั้นพาทั้ง นาโอมิ และแม่ ย้ายไปอยู่ที่บ้านของพ่อที่ ลองไอส์แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่ นาโอมิ อายุเพิ่งจะ 3 ขวบ เนื่องจากที่นั่นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเล่นเทนนิสมากกว่า 

ครั้งหนึ่งตอนอายุ 11 ปี นาโอมิ ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมครอบครัวของแม่ที่บ้านเกิดในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แต่กลายเป็นความทรงจำที่ไม่ดีนักของเธอ เมื่อโดนคุณตาดูถูกเรื่องการเรียนแบบโฮมสคูล และมองว่าเทนนิสเป็นแค่งานอดิเรก เป็นอาชีพไม่ได้ เรียกได้ว่าเธอไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวฝั่งแม่ที่เป็นชาวญี่ปุ่นเท่าไรนัก จนกระทั่งเธอกลายเป็นมือ 1 ของโลก เป็นแชมป์แกรนด์สแลม และมีชื่อเสียง นั่นแหละการยอมรับจึงจะเริ่มขึ้น และกลายเป็นกระแส นาโอมิ ฟีเวอร์ ในญี่ปุ่นอยู่พักใหญ่ สวนทางกับสิ่งที่เธอเคยเจอมาก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน


Photo : www.washingtonpost.com

มีการสำรวจโดยกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 โดยระบุถึงเกือบ 1 ใน 3 ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่า เคยเผชิญกับคำพูดดูหมิ่น และ 40% ถูกเลือกปฏิบัติด้านที่อยู่อาศัยอีกด้วย ชัดเจนว่าจากตัวอย่างและสถิติที่กล่าวมา สำหรับ "ไกจิน" อย่าง ฌอน นั้น ยากเหลือเกินที่เขาจะได้รับรถจาก ฮาน, แข่งขันกับราชาของวงการดริฟต์ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงตัว ยากูซ่า ตัวเอ้ระดับประเทศและต่อปากต่อคำอย่างไม่กลัว เหมือนกับในตัวหนังยอดนิยมเรื่องนี้ 

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ปรากฎใน Tokyo Drift ซึ่งยากจะเกิดบนโลกแห่งความจริง เนื่องจากเหตุผลทางสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เช่น ฉากเข้าโรงเรียนของ ฌอน ซึ่งมีนักเรียนมีทรงผมแปลก ๆ ย้อมผมสีสันสดใส ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากจะเห็น เพราะหลายโรงเรียนในญี่ปุ่นมีกฎห้ามเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งกฎข้อนี้ก็มีมาแต่นานนม และมาจากความเป็นอนุรักษ์นิยม ที่เชื่อมั่นว่าชาวญี่ปุ่นต้องมีผมสีดำเท่านั้น เรื่องนี้เคยเป็นเรื่องเป็นราวมาแล้วในปี 2017 ที่มีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองโอซาก้า ซึ่งมีผมเป็นสีน้ำตาลโดยธรรมชาติ ทว่าทางโรงเรียนไม่เชื่อและบังคับให้เธอย้อมผมเป็นสีดำ จนมีเรื่องฟ้องร้องค่าเสียหายจากโรงเรียนเป็นเงินถึง 2.2 ล้านเยน หรือราว 640,000 บาทมาแล้ว 

 

ก็แค่ลองคิดดู อย่าซีเรียส ...

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะเกิดความตะขิดตะขวงในใจว่า อะไรกันนักหนา หนังก็คือหนัง ไม่แปลกที่จะเพิ่มสิ่งต่าง ๆ ลงไปเพื่ออรรถรส ... ซึ่งเราเองก็คิดเช่นนั้น เพราะทั้งเป็นแค่การเปรียบเทียบและมุมมองในทางที่ "มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า" แต่ในทางกลับกัน หากจะมองอีกหนึ่งมุม ก็น่าสนใจว่าเรื่องทั้งหมดอาจจะเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ได้ เพราะบนโลกนี้นอกจากปรากฎการณ์ธรรมชาติอย่างพระอาทิตย์ขึ้น- พระอาทิตย์ตก แทบไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ อะไรก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง 

เพราะทุกคนมีความแตกต่างในแบบของตัวเอง ฮาน อาจจะไม่ใช่คนหัวอนุรักษ์ (ที่สำคัญ ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะ ฮาน เป็นชาวเกาหลีใต้) แต่เป็นคนหัวก้าวหน้า เพราะอย่างน้อย ๆ เขาก็คลุกคลีกับชาวต่างชาติมานานนม ยืนยันด้วยการปรากฎตัวของ โดมินิค ทอเร็ตโต้ ในช่วงตอนจบของเรื่อง และเรื่องราวในภาค 4-6 ที่ย้อนไทม์ไลน์กลับไปก่อนภาค 3 ดังนั้นเขาจึงอาจจะคิดกับ ฌอน ในแบบที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่ "ไกจิน" เหมือนที่คนอื่น ๆ มอง 


Photo : french.fansshare.com

นอกจากนี้เขาอาจจะอิ่มตัวกับวงการแข่งรถแล้ว (เห็นได้ชัดจากฉากขับ RX-7 ทำโดนัทขอเบอร์สาวนักซิ่ง) และอยากจะเดิมพันอะไรบางอย่าง หรือเห็นแววการเป็นนักดริฟต์ในตัวของฌอนก็เป็นได้ เพราะสุดท้ายตอนจบของเรื่อง ฌอน ก็กลายเป็นผู้ที่คว้าชัยชนะ กลายเป็น DK คนใหม่ในที่สุด ... หากจะมองในมุมนี้ มันก็เป็นไปได้ และมีเหตุผลรองรับเช่นกัน


Photo : caamfest.com

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม The Fast and the Furious: Tokyo Drift คือหนังภาคต่อที่สร้างความน่าจดจำให้แฟน ๆ แฟรนไชส์ Fast and Furious ด้วยการหยิบเอาการแข่งขันดริฟต์, วัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น, ด้านมืดของสังคมยากูซ่า ผสมผสานกันเอาไว้อย่างน่าประทับใจ สนุกตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่อง นั่นคือความสำเร็จที่มีค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเงินที่หนังทำได้เลยด้วยซ้ำ

 

แหล่งอ้างอิง

https://akibatan.com/2019/08/tokyo-public-schools-will-stop-forcing-students-with-non-black-hair-to-dye-it-official-promises/
https://www.posttoday.com/politic/report/313237
https://voicetv.co.th/read/cl2LthLhR
https://www.longtunman.com/9302
http://faqjapan.com/10-ways-tokyo-drift-is-not-like-the-real-japan/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

กระทิงลุยน้ำ!! TECNOMAR FOR LAMBORGHINI 63 เรือยอร์ชสปอร์ต สุดเร้าใจ

เต๊ะ-ศตวรรษ : ขวัญใจยุค 90S และมุมชีวิตที่เปลี่ยนไปจากสตั๊ดระดับโลก 300 กว่าคู่

– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้