รีเซต
3 คน 3 คม : "3R" ตำนานเพอร์เฟ็กต์ทริโอ ผูู้บันดาลแชมป์โลกสมัยที่ 5 ให้บราซิล | Main Stand

3 คน 3 คม : "3R" ตำนานเพอร์เฟ็กต์ทริโอ ผูู้บันดาลแชมป์โลกสมัยที่ 5 ให้บราซิล | Main Stand

3 คน 3 คม : "3R" ตำนานเพอร์เฟ็กต์ทริโอ ผูู้บันดาลแชมป์โลกสมัยที่ 5 ให้บราซิล | Main Stand
เมนสแตนด์
11 กรกฎาคม 2565 ( 14:00 )
2.8K

นอกจากวันที่ 30 มิถุนายน จะเป็นวันเงินเดือนออกของใครหลาย ๆ แล้ว วันนี้ยังเป็นวันครบรอบที่ทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 ในฟุตบอลโลก 2002 

 


และหากจะกล่าวถึงทัพเซเลเซาชุดนั้น คงไม่มีใครลืม 3 ประสานอย่าง โรนัลโด้, ริวัลโด้ กับ โรนัลดินโญ่ ในฉายา "3R" ได้อย่างแน่นอน 

นี่คือตำนาน 3 ประสานที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก และนี่คือเรื่องราวการสร้างทีมบราซิลชุดนั้นโดยกุนซือ หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ ที่ถูกวิจารณ์มากมายว่าการพึ่งตัวรุกจากยุโรปแค่ 3 คนนี้ดีพอจะได้แชมป์โลกแน่หรือ ? 

ติดตามเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันชูถ้วยแชมป์ ภายใต้การบุกแบบ "3 คนก็พอ" กับ Main Stand ได้ที่นี่ 

 

บทเรียนจากฟุตบอลโลก 1998 

ว่ากันว่าความผิดหวังเมื่อครั้งอดีตคือบทเรียน คำ ๆ นี้ใช้ได้จริงกับทีมชาติบราซิลชุดฟุตบอลโลก 2002 เป็นอย่างยิ่ง เพราะ ณ เวลานั้นทีมชาติบราซิลกำลังตกหลุมพรางในการใช้งาน โรนัลโด้ มากจนเกินไป พวกเขาให้หน้าที่มากมายกับกองหน้าที่เก่งที่สุดในโลก และแม้ว่าผลที่ออกมานั้นจะยอดเยี่ยมตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มจนรอบรองชนะเลิศ ทว่าเมื่อมาถึงรอบชิงชนะเลิศ กองหน้าที่ดีที่สุดในโลก กลับไม่พร้อมจะลงเล่นแบบเต็ม 100% และนั่นเป็นปัญหาที่แฟนบอลบราซิลยังคงถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ ... เมื่อย้อนกลับไปหลังจากพวกเขาแพ้ให้กับ ฝรั่งเศส 0-3 ประเด็นดังกล่าวร้อนแรงจนถึงขั้นเกิดทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมากมาย 

อเล็กซ์ เบลลอส (Alex Bellos) นักเขียนชาวบราซิล ที่เขียนหนังสือชื่อ Futebol: The Brazilian Way of Life ได้อธิบายสิ่งที่ชาวบราซิลคิดในวันนั้นไว้ว่า มีแนวคิดที่ถูกแบ่งออกมาถึง 5 รูปแบบ แม้ทุกวันนี้จะยังยืนยันไม่ได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง แต่ที่แน่ ๆ 4 ใน 5 ทฤษฎีสมคบคิดของพวกเขานั้นล้วนพูดถึง โรนัลโด้ ทั้งสิ้น 

ทฤษฎีแรกคือ โรนัลโด้ โดนวางยา เนื่องจากมีข่าวว่าก่อนเกมจะเริ่มโรนัลโด้มีอาการชักและท้องเสีย, ทฤษฎีที่ 2 คือ โรนัลโด้ ไม่สบาย และเขามีปัญหาสุขภาพที่ถูกซ่อนไว้เป็นความลับ โดยมีเพียงแพทย์เจ้าของอาการเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้, ทฤษฎีที่ 3 แพทย์ให้ "ยาเม็ดสีฟ้า" ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวดกับ โรนัลโด้ มันทำให้เขาหายปวดท้องก็จริงแต่ผลข้างเคียงคือทำให้เขาง่วงซึมจนทำให้เขาไม่ตื่นตัวจนเล่นไม่ออกในเกมนัดชิงชนะเลิศกับฝรั่งเศส, ทฤษฎีที่ 4 ไนกี้ บังคับให้ทีมชาติบราซิลต้องส่ง โรนัลโด้ ลงสนามในนัดชิงเท่านั้น เพราะมีการตกลงกันไว้แบบเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และทฤษฎีสุดท้ายคือ มีนักเตะบราซิตัดสินใจ "ล้มบอล" ด้วยการขายแชมป์โลกแลกกับเงิน 15 ล้านปอนด์

ไม่ว่าจะทฤษฎีไหนก็มีเรื่องของ โรนัลโด้ มาเกี่ยวข้องทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นในอีกมุมว่า บราซิลชุดฟุตบอลโลก 1998 พึ่งพาเกมรุกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้โรนัลโด้แบกเกมรุกของทีม ซึ่งหากใครที่ได้ดูการถ่ายทอดสดเกมนัดชิงชนะเลิศ และมองด้วยใจที่เป็นกลาง คุณจะสามารถเข้าใจได้ว่าเหตุผลหลักที่ บราซิล ที่เป็นแชมป์ 4 สมัย แพ้ให้ฝรั่งเศส ณ เวลานั้น คือเรื่องของแทคติกล้วน ๆ 

ฝรั่งเศส ชุดนั้นได้ให้บทเรียนสำคัญกับ บราซิล พวกเขาสร้างทีมโดยให้สิทธิ์กับกุนซือ เอเม่ ฌักเกต์ เข้ามาดูแลทีมตั้งแต่หลังปี 1994 ซึ่ง ณ เวลานั้นทีมชาติฝรั่งเศสถูกสื่ออย่าง ESPN เรียกว่า "ทีมชุดวิกฤต" เพราะไม่ได้ไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่มีนักเตะอย่าง ดาวิด ชิโนลา, ฌอง ปิแอร์ ปาแปง และ เอริค คันโตนา 

ฟิลิปป์ ตูร์นอง (Philippe Tournon) นักข่าวชาวฝรั่งเศสบรรยายถึงบรรยากาศในการสร้างทีมว่า "พวกเราอยากได้แชมป์ฟุตบอลโลกในบ้านตัวเอง เราจึงให้ตำแหน่งและอำนาจกับฌักเกต์เพื่อสร้างทีมของเขาขึ้นมา และเขาก็ทำงานอย่างหนักเพื่อหาทีมชุดที่ดีที่สุด แต่ผู้คนไม่เข้าใจ สื่ออย่าง เลกิ๊ป เป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ในช่วงก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม ฌักเกต์ลองทีมด้วยนักเตะหลายคน จนฟอร์มอุ่นเครื่องไม่ดีเอาเสียเลย และพวกเขาเริ่มโจมตีถึงเป้าหมายแชมป์โลกที่ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับทีมชุดนั้น" 

แต่สิ่งที่สมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสทำคือ พวกเขาให้โอกาสฌักเกต์อย่างเต็มที่ ไม่มีการล้วงลูก จนที่สุดแล้วฝรั่งเศสก็ได้สร้างทีมชุดที่แข็งแกร่งมาก ๆ โดยเฉพาะในส่วนของเกมรับที่นำโดยตัวท็อป ณ เวลานั้นอย่าง โลร็องต์ บล็องค์, มาร์กแซล เดอไซญี่, บิเซนเต้ ลิซาราซู และ ลิลิยอง ตูราม ประกอบกับแดนกลางที่เป็นมิดฟิลด์เชิงรับถึง 3 คนทั้ง ดิดิเยร์ เดส์ชองส์, คริสติยอง การอมเบอ และ เอ็มมานูเอล เปอตีต์ ก่อนวางกองหน้าธรรมชาติแค่คนเดียวคือ สเตฟาน กีวาร์ช ซึ่งเหมือนวางไว้เป็นตัวหลอก เพราะหัวใจในแนวรุกจริง ๆ อยู่ที่ ยูริ จอร์เกฟฟ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีเนดีน ซีดาน ต่างหาก

อย่างที่ทุกคนรู้กันแค่นั้นก็เกินพอ ฝรั่งเศสเล่นด้วยความแน่นอนตลอดทัวร์นาเมนต์ เสียประตูแค่ 2 ลูก และมีนักเตะถึง 9 คนที่ยิงประตูได้ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น (มากที่สุดเหนือทุกทีม) สุดท้ายพวกเขาจบด้วยการเป็นแชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์  

บราซิล เองก็ทำคล้าย ๆ กับที่ฝรั่งเศสทำ พวกเขาพยายามไม่สนกระแสกองเชียร์และให้เวลาโค้ชได้สร้างทีมของตัวเอง แต่ความต่างคือพวกเขาจ้างสโคลารี่เข้ามาทำทีมก่อนฟุตบอลโลก 2002 เริ่มเพียง 1 ปีเท่านั้น 

สโคลารี่ ได้รับดาบอาญาสิทธิ์ที่สามารถลองได้จนกว่าจะพอใจเพื่อเป้าหมายแชมป์โลกสมัยที่ 5 และเขาก็จัดให้ตามสั่ง สโคลารี่ใช้นักเตะทั้งหมดถึง 65 คน ก่อนจะประกาศรายชื่อ 23 คนสุดท้ายชุดปี 2002 เขาลองผิดลองถูกจนถึงขั้นที่ว่าพวกเขาแพ้ให้กับทีมรับเชิญอย่าง ฮอนดูรัส ในศึกโคปา อเมริกา ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายมาแล้ว 

สื่อบราซิลก็บอกว่า ณ ตอนนั้นทีมผลงานแย่มาก แต่ในทางกลับกันคือ บิ๊กฟิล ได้สร้างมิติใหม่ขึ้นมาบางอย่าง นั่นคือการแก้ไขปัญหาเรื่องความฟิตและแนวคิดทางการเล่นให้นักเตะในทีมช่วยกันวิ่งช่วยกันไล่ เพื่อกลบจุดอ่อนเดิมสมัยฟุตบอลโลกปี 1998 เนื่องจากเดิมทีบราซิลเป็นทีมที่เน้นเรื่องความสามารถส่วนตัวมากกว่าระบบทีม นอกจากเรื่องของความฟิตแล้วสิ่งที่บราซิลชุดนั้นทำได้อีกอย่างคือการสร้างบรรยากาศในทีมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสื่อบราซิลถึงกับเรียกทีมชุดนั้นว่า "สโคลารี่ แฟมิลี่" เลยทีเดียว 

เบื้องหลังของการลองเพื่อหาสูตรที่ลงตัวเกิดขึ้นจาก ณ เวลานั้น "บิ๊กฟิล" ตั้งใจจะปฏิวัติระบบการเล่นของบราซิลใหม่ เดิมทีบราซิลขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งระบบการเล่น 4-4-2 มาโดยตลอด แต่ในฟุตบอลโลก 2002 สโคลารี่ตั้งใจจะให้ทีมเล่นเกมรับกระชับแดนกลางให้มากขึ้นด้วยการปรับมาเล่นระบบ 3-5-2 ซึ่งหลังจากลองมาพักใหญ่เขาก็ได้นักเตะในส่วนของแดนหลังกับแดนกลางแล้ว ขาดก็แต่เพียงแดนหน้าที่จะต้องหาความลงตัวให้ได้ เนื่องจากตอนนั้นกองหน้าเบอร์ 1 ของพวกเขาอย่าง โรนัลโด้ ได้รับบาดเจ็บตลอดแทบทั้งปีจนไม่ได้ลงสนามต่อเนื่อง บิ๊กฟิลต้องการตัวรุกถึง 2 คนยืนอยู่หลังโรนัลโด้เพื่อแบ่งเบาภาระให้ R9 มากที่สุด เรียกง่าย ๆ ว่าใช้คนให้เป็น คนเก่งยิงประตูก็ให้ทำหน้าที่ยิงประตูเพียงอย่างเดียวก็พอ ซึ่งจุดนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของ 3 ประสานที่ดีที่สุดในโลก 

 

ค้นพบเพอร์เฟ็กต์ทริโอ 

บราซิลชุด "สโคลารี่ แฟมิลี่" มีนักเตะที่เล่นในลีกในประเทศของตัวเองถึง 13 คน โดยตัวรุกแบบที่เอ่ยชื่อแล้วทุกคนรู้จักนั้นมีน้อยมาก มี 3 คนเท่านั้นเป็นตัวชูโรงในแนวรุกนั่นคือ โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ซึ่งนั่นเป็นส่วนผสมที่บิ๊กฟิลพยายามตามหามาตลอด 1 ปีเต็ม แม้ ณ วันประกาศชื่อจะมีคำครหาว่าจริง ๆ แล้วนักเตะเกมรุกคนอื่น ๆ ควรเป็นพวกดาวยิงในลีกยุโรปอย่าง โจวานี เอลแบร์ ของ บาเยิร์น มิวนิค หรือแม้กระทั่ง มาริโอ ยาร์เดล มากกว่าตัวรุกจากลีกบราซิลที่ค่อนข้างโนเนมอย่าง ลุยเซา, เอดิลสัน และ ริคาร์โด้ กาก้า ในวัย 19 ปีก็ตาม แต่นั่นคือตัวเลือกที่บิ๊กฟิลบอกว่า "นี่แหละถูกต้องที่สุดแล้ว" 

ขณะที่เกมรับ บิ๊กฟิล ขนมาเพียบทั้งนักเตะตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟและกองกลางเชิงรับ ซึ่งเขาก็อธิบายว่า 3-5-2 คือระบบที่ลงตัวที่สุดสำหรับทีมชุดนี้ จะมีนักเตะพลังไดนาโมคอยวิ่งไล่บอลเต็มทั้งสนามและช่วยให้ทีมมีสมดุลมากขึ้น 

"ผมจำเป็นต้องสร้างทีม หาคาแร็กเตอร์ ผมเลือกกองหลัง 3 คนคือ ลูซิโอ, เอ็ดมิลสัน และ โรเก้ จูเนียร์ เหตุผลก็เพราะว่าผมจะปล่อยให้ คาฟู และ โรแบร์โต้ คาร์ลอส ได้เล่นเกมที่พวกเขาถนัดที่สุด" 

"นี่แหละคือการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยเหตุผลรองรับที่สุดแล้ว เรามีประสบการณ์แล้วว่าในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นั้นอาจมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้มากมาย และวิธีการเล่นก็ต้องมีอะไรที่พิเศษกว่าปกติ ผมเลือกทุกคนผ่านการตัดสินใจร่วมกับทีมสตาฟโค้ช และท้ายที่สุดแล้วทุกคนได้เห็นแล้วว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง" บิ๊กฟิล อธิบายถึงการเลือกนักเตะของเขา และนั่นหมายถึงการตอบคำถามในแดนหน้าด้วยว่าแค่ โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ แค่นี้ก็เอาอยู่แล้ว 

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สโคลารี่ รอจนกว่า โรนัลโด้ จะพร้อมสำหรับทัวร์นาเมนต์จนนาทีสุดท้าย เขาอธิบายว่าโรนัลโด้คือคนที่ต้องมีอยู่ในทีม เป็นคนที่จะคอยจบสกอร์ชี้ขาดเกม โดยหน้าที่สร้างสรรค์เกมจะเป็นหน้าที่ของนักเตะ 2 ประเภท คนแรกคือนักฟุตบอลที่เยือกเย็นที่สุดและตัดสินใจได้เด็ดขาดที่สุดคนหนึ่ง แม้จะไม่ได้รวดเร็วปราดเปรียวมากแต่พึ่งพาได้ในจังหวะชี้เป็นชี้ตาย คน ๆ นั้นคือ ริวัลโด้ ตัวรุกจากบาร์เซโลน่า 

"ริวัลโด้คือผู้นำในอีกแบบหนึ่ง เขาเป็นคนที่พูดน้อยมาก เขาไม่พูดแม้กระทั่งคำว่าอรุณสวัสดิ์ในตอนที่ตื่นนอน แต่ที่เขาเป็นคือคนที่เงียบ สงบนิ่ง เยือกเย็น และที่สุดก็คือเขาเป็นนักเตะที่พึ่งพาได้" สโคลารี่ กล่าวถึงตัวเลือกหมายเลข 10 ของเขา 

หาก ริวัลโด้ คือสัญลักษณ์ของความแน่นอนแล้ว เขายังต้องการอีกคนที่เขามารับบทบาทตัวรุกข้างหลัง โรนัลโด้ คนนี้จะต้องเป็นคนที่มีความฉูดฉาด คาดเดาไม่ได้ เร็วและหลักแหลมเปี่ยมไปด้วยทักษะ มีความสดใหม่แบบที่ใครก็เอาไม่อยู่ และแน่นอนคน ๆ นั้นคือ โรนัลดินโญ่ ตัวรุกดาวรุ่งจาก ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ที่ ณ เวลานั้นอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น  

หน้าที่ของ โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ นั้นชัดเจนเป็นอย่างมาก นั่นคือพวกเขาทั้ง 3 แทบจะรับเหมาเกมรุกและแบ่งความสำคัญเท่า ๆ กัน ตัวของ โรนัลโด้ จะยืนอยู่เป็นกองหน้าตัวเป้า ขณะที่ ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ จะคอยเคลื่อนที่อย่างอิสระ โดยมีนักเตะอีก 6 คนคอยแย่งบอลมาให้พวกเขา 

บิ๊กฟิล กลบจุดอ่อนของทีมชุดปี 1998 ที่มีนักเตะพยายามเล่นเกมรุกมากเกินไปด้วยการลดจำนวนนักเตะเกมรุกลงแต่ว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีมดงานพยายามตัดบอลและเอามาให้เหล่าตัวรุกที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพได้ขับเคลื่อน สลับตำแหน่ง และเล่นในแบบที่พวกเขาอยากจะเล่นโดยไม่กระทบกับสมดุลของทีม และไม่เสียเหลี่ยมให้กับทีมที่เน้นตั้งรับแล้วสวนกลับ ซึ่งเป็นแทคติกที่ทีมที่เล็กกว่าใช้น็อกบราซิลอยู่บ่อย ๆ  

 

3R - 9,10 และ 11 

ไม่ต้องบรรยายอะไรกันเยอะ 3R คือพระเอกของงานฟุตบอลโลก 2002 เลยก็ว่าได้ แม้จะเล่นเกมรุกกันแบบ 3 คนถ้วนโดยหลัก ๆ แต่พวกเขากลับมีทีมเวิร์กที่เหลือเชื่อ ความเข้าใจเกมและหน้าที่ของแต่ละคนสูงมาก แม้จะมีทักษะเชิงบอลระดับเหนือชั้นและสามารถเล่นแบบโซโล่เพลย์ได้ทั้งหมดก็ตาม 

ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ได้แสดงจุดแข็งที่สุดของตัวเองออกมาให้โลกได้เห็นผ่านทุก ๆ เกมที่บราซิลลงสนาม ซึ่งปลายทางคือพวกเขาเป็นแชมป์โลก ด้วยสถิติชนะรวดทั้งหมด 8 เกม โดย โรนัลโด้ ยิง 8 ลูก คว้าดาวซัลโว, ริวัลโด้ ยิงไป 5 ลูก และ โรนัลดินโญ่ ยิงไป 2 ลูก 

โรนัลโด้ ในทรงผม "ไดโกโระ" ที่ตัดมาเพื่อให้สื่อกับแฟนบอลถามเพื่อเบนโฟกัสจากอาการบาดเจ็บที่กัดกินเขามาร่วมปีโดยเฉพาะ ก็ระเบิดฟอร์มได้ดีที่สุดหลังจากผ่าตัดเข่าครั้งใหญ่ ... 8 ประตูเป็นประตูที่เกิดขึ้นจากการแทปอินหรือยิงในกรอบ 6 หลาถึง 6 ลูก นั่นแสดงให้เห็นว่าโรนัลโด้เวอร์ชั่นฟุตบอลโลก 2002 ไม่จำเป็นต้องลากบอลไกล วิ่งดวล 1-1 กับแนวรับคู่แข่งให้เสี่ยงเจ็บตัวเลยด้วยซ้ำ เขาแค่ใช้สัญชาตญาณกองหน้าอ่านจังหวะและรอยิงลูกประเภทลูกซ้อมก็พอ ไม่ต้องหวือหวามหัศจรรย์แต่ได้ประตู นั่นคือโรนัลโด้ในแบบที่ "บิ๊กฟิล" วางหมากมาเพื่อให้ตอบโจทย์กับร่างกายของเขาที่สุด

ขณะที่ ริวัลโด้ เป็นเหมือนพี่ใหญ่ของ 3R เยือกเย็น แน่นอน และใช้ลูกเก๋าได้ยอดเยี่ยมตามที่บิ๊กฟิลได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ เขาแสดงให้เห็นผ่านการเล่นละครตบตาจนเรียกใบแดงให้คู่แข่งได้ในเกมรอบแรกที่พบกับตุรกี ก่อนจะรับบทมือยิงจุดโทษในนาทีที่ 87 ของเกมนั้น และส่งให้ บราซิล ชนะในเกมเปิดหัว 2-1 นอกจากนี้ริวัลโด้ยังเป็นคนที่รับหน้าที่สลับตำแหน่งกับโรนัลโด้ในตอนที่ R9 ขยับออกไปนอกเขตโทษ ริวัลโด้ก็จะขยับขึ้นมาเป็นศูนย์หน้าแทน และมีถึง 3 จาก 5 ลูกในทัวร์นาเมนต์นี้ของเขาที่เกิดขึ้นจากการแทปอินและการทะลุเข้าไปรับบอลและยิงในกรอบเขตโทษ  

ด้าน โรนัลดินโญ่ น้องใหม่ ณ เวลานั้นคือนักเตะประเภท "ตัวฉาย" ของแท้ เพราะเป็นคนที่ได้เลี้ยงบอลและมีอิสระมากที่สุด ที่สามารถขยับไปทุกที่ในแดนของคู่ต่อสู้โดยไม่มีตำแหน่งตายตัว จุดแข็งของโรนัลดินโญ่ที่คนทั้งโลกได้เห็นพร้อมกันตอนนั้นคือการครองบอลที่คล่องแคล่วว่องไหวและเหนียวแน่นในเวลาเดียวกัน เหนือสิ่งอื่นใดคือเขาเป็นคนที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป บอลจากเท้าของโรนัลดินโญ่เรียกเสียงฮือฮาได้เสมอ และลูกยิงฟรีคิกลักไก่แต่ตั้งใจยิงระยะร่วม ๆ 50 หลาในเกมกับทีมชาติอังกฤษในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก็คือตัวยืนยันถึงความมหัศจรรย์ของโรนัลดินโญ่ในทัวร์นาเมนต์นั้นได้เป็นอย่างดี 

บทสรุปของฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวของแก๊ง 3R เป็นเอกฉันท์ ทั่วโลกได้เข้าใจว่าพวกเขาเป็นทริโอที่ไม่มีใครและไม่มีทางจับอยู่ แม้กระทั่งในนัดชิงกับเยอรมัน บราซิลยังมีการเข้าทำที่หลากหลาย 2 ประตูจาก โรนัลโด้ ในเกมนั้นเกิดขึ้นจากการสร้างจังหวะของ ริวัลโด้ ทั้งสิ้น ลูกแรก ริวัลโด้ ยิงไกลและ โรนัลโด้ เข้าไปซ้ำจ่อ ๆ ขณะที่ลูกที่สองเกิดจากการวิ่งข้ามบอลง่าย ๆ ของ ริวัลโด้ ที่ทำให้ โรนัลโด้ มีพื้นที่ได้ยิงเดี่ยว ๆ จนเป็นประตูตอกฝาโลงในท้ายที่สุด 

นับตั้งแต่วันนั้นไม่มีทริโอชุดไหนที่ทรงประสิทธิภาพชนิดที่ว่าขอแค่บุกกัน 3 คนก็พอได้แบบที่บราซิลทำได้ในฟุตบอลโลก 2002 อีกแล้ว ... แม้เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี แต่หากคุณย้อนไปดูความยอดเยี่ยมของบราซิลที่นำโดย 3R ชุดนั้น รับรองได้ว่าคุณไม่มีทางปฏิเสธความยอดเยี่ยมของทั้ง โรนัลโด้, ริวัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ ได้อย่างแน่นอน  

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.marca.com/en/football/international-football/2021/08/13/611579be268e3e416e8b45f9.html
https://www.theguardian.com/football/2002/may/30/worldcupfootball2002.sport12
https://www.espn.com/soccer/club/france/478/blog/post/3495197/the-story-of-france-1998-world-cup-triumph
https://www.coachesvoice.com/luiz-felipe-scolari-brazil-world-cup/
https://www.theguardian.com/football/2002/jun/29/worldcupfootball2002.sport3
https://sportindepth.com/index.php/2020/11/10/the-story-behind-brazils-2002-world-cup-win/
https://www.theguardian.com/football/2020/mar/30/luiz-felipe-scolari-manager-teacher-brazil-england-world-cup-chelsea-ronaldinho
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10486963/Big-Phil-Scolari-love-Ronaldo-trouble-Chelsea-turned-England.html

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี