เล่าสู่กันฟัง : เก็บตกโมเมนต์แห่งมิตรภาพในโตเกียวเกมส์
"เพราะบางครั้งผลแพ้ชนะ ก็ไม่สำคัญเท่ามิตรภาพและการเข้าร่วมแข่งขัน" .. เราลองไปย้อนดูเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ไปพร้อมกัน
ท่ามกลางการขับเคี่ยว เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในเวทีใหญ่ของโลกกีฬาอย่าง โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทางหนึ่งก็อาจเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่ง หรือบรรยากาศตึงเครียดระหว่างนักกีฬาชาติต่างๆ เหมือนอย่างกรณีวิวาทะริมสระโอลิมปิกระหว่าง นักกีฬาสหรัฐอเมริกา กับ รัสเซีย ว่าด้วยการใช้สารต้องห้าม เมื่อไม่กี่วันก่อน
แต่อีกทางก็มีเรื่องราวดีๆ ที่แสดงให้เห็นถึงน้ำใจนักกีฬาระหว่างเพื่อนร่วมทีมหรือแม้กระทั่งจากคนที่เป็นคู่แข่งกัน
อย่างเช่นเรื่องราวดีๆ ในการแข่งขันกระโดดสูงชาย ที่กลายเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในรอบกว่า 100 ปี
เรื่องมีอยู่ว่า หลังการขับเคี่ยวนานกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่สามารถหาผู้ชนะที่แท้จริงได้ เนื่องจาก จานมาร์โก้ ทัมเบรี่ นักกรีฑาชาวอิตาเลียน กับ มูทาซ บาร์ชิม ของกาตาร์ ต่างกระโดดเคลียร์ที่ความสูง 2.37 เมตร ในครั้งแรกเท่ากัน ขณะที่ มักซิม เนดาเซเกา ของเบลารุส กระโดดเคลียร์ความสูงได้เท่ากันจริง แต่ใช้จำนวนครั้งมากกว่า จึงหลุดไปเป็นเหรียญทองแดงก่อนแล้ว
หลังจากนั้น ทัมเบรี่กับบาร์ชิมผลัดกันกระโดดที่ความสูง 2.39 เมตร แต่ไม่มีใครเคลียร์ได้
อันที่จริง ทัมเบรี่ซึ่งเป็นอดีตแชมป์โลกปี 2016 เคยเคลียร์ความสูง 2.39 เมตร มาแล้ว ขณะที่บาร์ชิม เจ้าของเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกเกมส์ปี 2012 และเหรียญเงินปี 2016 ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเคยกระโดดผ่านความสูง 2.43 เมตร ซึ่งเป็นสถิติดีที่สุดอันดับ 2 ตลอดกาลมาแล้วด้วยซ้ำ
สำหรับทัมเบรี่ เขามุ่งมั่นตั้งใจกับโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้มากๆ เพราะเคยได้รับบาดเจ็บก่อนแข่งที่รีโอเดจาเนโรเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จนฝันสลาย และในศึกโตเกียวเกมส์ครั้งนี้ เขาก็เอาที่ประคองแข้งที่เคยใช้เวลานั้นติดตัวไปเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้วย
ขณะที่บาร์ชิม ถ้าคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ก็จะทำให้เขามีเหรียญรางวัลโอลิมปิกครบถ้วนจากการร่วมแข่งขัน 3 ครั้ง
เมื่อต่างไม่มีใครเคลียร์ความสูง 2.39 เมตรได้ เจ้าหน้าที่เข้าไปคุยกับทั้งคู่ เสนอเรื่องการ “จั๊มป์ออฟ” หรือผลัดกันกระโดดทีละครั้งเพื่อหาผู้ชนะ
ตอนนั้นเองที่บาร์ชิมถามว่า “เราแชร์เหรียญทองกันได้มั้ย?” เมื่อเจ้าหน้าที่พยักหน้ารับ นักกีฬาทั้ง 2 ชาติก็ตีมือกันเสียงดัง แล้วสวมกอดด้วยความดีใจ ต่างฝ่ายต่างวิ่งไปฉลองกับสต๊าฟโค้ชของตัวเอง
และนี่ก็เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1912 หรือเมื่อ 109 ปีที่แล้ว ที่มีการแชร์เหรียญทองในการแข่งขันกรีฑาโอลิมปิกเกมส์เกิดขึ้น
ก่อนหน้านั้นในการแข่งขันกรีฑาเช่นกัน ก็มีเหตุการณ์น่าประทับใจเกิดขึ้นในการแข่งขันวิ่ง 800 เมตร ชาย รอบรองชนะเลิศ เมื่อ อิไซอาห์ จีเว็ตต์ ของสหรัฐ กับ ไนเจล อามอส ของบอตสวานา พลาดชนกันจนล้ม
แต่แทนที่จะโกรธหรือหงุดหงิดกับการพลาดโอกาสเข้ารอบ ทั้งคู่ต่างช่วยดึงกันลุกขึ้นมา แล้วกอดคอวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กัน
ด้านการแข่งขันกระดานโต้คลื่นซึ่งบรรจุชิงเหรียญทองเป็นครั้งแรกก็มีช่วงเวลาอบอุ่นน่าประทับใจเกิดขึ้นเช่นกัน
คาโนอะ อิการาชิ หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน ความหวังของเจ้าถิ่น ผิดหวังอย่างหนักหลังพ่ายให้ อิตาโล่ เฟร์ไรร่า นักกีฬาบราซิล เพราะเป็นการพ่ายแพ้ที่ชายหาดซึ่งเขาเล่นมาตั้งแต่หัดโต้คลื่นใหม่ๆ
เท่านั้นไม่พอ เขายังตกเป็นเป้าโจมตีของพวกเกรียนคีย์บอร์ดแดนแซมบ้าที่พยายามเหยียดเชื้อชาติด้วยถ้อยคำรุนแรง
แต่อิการาชิก็ก้าวข้ามความผิดหวังและการเสียดสีของแฟนกีฬาฝ่ายตรงข้าม และใช้ความรู้ด้านภาษาโปรตุเกสของตัวเอง ช่วยเป็นล่ามให้เฟร์ไรร่าในการแถลงข่าว จนได้รับเสียงชื่นชมและคำขอบคุณจากทั้งนักข่าวและเฟร์ไรร่าเอง
ขณะที่บรรยากาศการสั่งลาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของตำนานนักยิมนาสติกหญิง ออกซาน่า ชูโซวิติน่า เป็นไปอย่างอบอุ่นเรียกน้ำตา
ชูโซวิติน่าของทีมอุซเบกิสถาน ปัจจุบันอายุ 46 ปี ทำสถิตินักยิมนาสติกอายุมากที่สุดที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และยังเข้าร่วมมากครั้งที่สุดอีกด้วย
เส้นทางการแข่งขันโอลิมปิกของตำนานยิมหญิงคนนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1992 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ก่อนคู่แข่งเกือบทุกคนของเธอจะเกิดเสียอีก
ชูโซวิติน่าลงแข่งขันให้กับทีมชาติสหภาพโซเวียต (ยูนิฟายด์ทีม) อุซเบกิสถาน เยอรมนี และกลับไปอุซเบกิสถานอีกครั้ง เคยร่วมคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิงกับยูนิฟายด์ทีม และเหรียญเงินโต๊ะกระโดดกับทีมชาติเยอรมนี เมื่อปี 2008
เธอร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายกับอุปกรณ์ถนัด แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถทำแต้มผ่านรอบคัดเลือกเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศได้
ชูโซวิติน่าโบกมือลาฮอลล์ที่เกือบว่างเปล่าอย่างเหงาๆ แต่ทั้งนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเจ้าหน้าที่ในสนาม ณ เวลานั้น ต่างพยายามปรบมือและส่งเสียงเชียร์ให้ดังที่สุด เพื่อทดแทนเสียงแฟนๆ ที่ไม่อาจร่วมเป็นสักขีพยานการอำลาของนักกีฬาประวัติศาสตร์รายนี้ได้
กล่าวกันว่า บรรยากาศการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปีนี้ไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ เพราะต้องเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แม้จะจัดแข่งได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขและหลักปฏิบัติมากมาย
สำหรับนักกีฬาหลายคน การได้เข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง ได้กลับมาเจอหน้าเพื่อนๆ ในวงการเดียวกัน ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งไปแล้ว
ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด รอบแรก นัดสุดท้าย รีเบ็คก้า คาวัลคันตี้ จากบราซิล แกล้งเทน้ำใส่หลังของ เคลลี่ แคล นักกีฬาอเมริกันขณะกำลังให้สัมภาษณ์
ซึ่งแคล ผู้ชนะในแมตช์นั้นหัวเราะแล้วบอกกับนักข่าวว่า ตื่นเต้นมากๆ หลังพ้นช่วงกักตัว เพราะจะได้นั่งทานข้าวร่วมกับเพื่อนๆ ต่างทีม ถึงแม้จะยังต้องเว้นระยะห่างก็ตาม
หรือหลังจบแมตช์เทนนิสหญิงเดี่ยว มาร์เคต้า วอนดรูโซว่า นักหวดสาวชาวเช็ก ก็เข้าไปกอดแบบอ้อนๆ แสดงความยินดีกับ เบลินด้า เบนซิช ผู้ชนะชาวสวิส หลังจบพิธีรับเหรียญ เรียกรอยยิ้มจากทั้ง 2 ฝ่ายและแฟนๆ ที่ชมการสัมภาษณ์จากทางบ้าน
เพราะบางครั้งผลแพ้ชนะก็ไม่สำคัญเท่ามิตรภาพและการเข้าร่วมแข่งขัน เหมือนที่บาร์ชิมผู้แชร์เหรียญทองกระโดดสูงชายกับทัมเบรี่ บอกว่า ต่างคนต่างมองตากันและเข้าใจกันดี ตนคิดว่าด้วยผลงานของตัวเองในครั้งนี้ สมควรเป็นผู้ชนะ เขาก็เช่นกัน
“สิ่งนี้เหนือกว่าการแข่งขันกีฬา แต่เป็นการส่งสารถึงเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 ความหวังลุ้นเหรียญโอลิมปิก 2020 ของทัพนักกีฬาไทย พร้อมโปรแกรมแข่งขัน
- โปรแกรมแข่งขันโอลิมปิก 2020 โปรแกรมนักกีฬาไทย พร้อมช่องถ่ายทอดสด
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก