สงสัยกันไหม : เหตุใดเราถึงอินกับฟุตบอลทีมชาติ ชนิดคนไม่ดูบอลยังโคตรอิน | Main Stand
การคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ของทีมชาติไทย ถือเป็นความสำเร็จต้อนรับปี 2022 ให้กับวงการฟุตบอลไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งการกลับมาครองตำแหน่ง "เจ้าอาเซียน" และคืนความสุขให้กับแฟนฟุตบอลชาวไทยได้สำเร็จ
ฟุตบอลไทยดึงความสนใจของคนไทยกลับมาอีกครั้ง ดูได้จากเกมที่พบกับทีมชาติเวียดนามซึ่งกลายเป็นรายการโทรทัศน์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดในปี 2021 แสดงให้เห็นว่าทีมฟุตบอลของไทยมีความหมายกับคนในประเทศนี้มากแค่ไหน
ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่คนไทยที่อินกับฟุตบอลทีมชาติ เพราะคนทั้งโลกก็อินกับฟุตบอลทีมชาติเสมอ เราได้เห็นแฟนฟุตบอลจำนวนมากส่งใจเชียร์ทีมฟุตบอลของประเทศบ้านเกิดกันแบบบ้าคลั่งให้ไปคว้าชัยในการแข่งขันต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ทัวร์นาเมนต์ระดับโลก แต่รวมถึงรายการยิบย่อย แม้แต่ในเกมอุ่นเครื่อง
หากคิดแบบง่าย ๆ เราเชียร์ทีมฟุตบอลประจำชาติ เพราะนี่คือทีมจากประเทศเรา แต่เคยสงสัยกันไหมว่า เหตุใดเราถึงอินกับการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติมาก มากจนชนิดที่ว่าหลายครั้ง เราก็อินจนไม่สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ในการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติได้เลย
เหตุใดถึงอินฟุตบอลทีมชาติ ?
การเกิดเป็นคนไทยและเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทยไม่ใช่พฤติกรรมที่แปลก เพราะในเมื่อเราเกิดเป็นคนไทยก็ต้องเชียร์ทีมฟุตบอลของประเทศไทย ถ้าไปเชียร์เวียดนามนั่นจะเรียกว่าแปลกแน่นอน
แต่มองย้อนไปอีกด้าน เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า เหตุใดเกิดเป็นคนไทยถึงต้องเชียร์ทีมชาติไทยเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงเรามีสิทธิ์จะเลือกเชียร์ทีมฟุตบอลอะไรก็ได้ เหมือนกับที่เรามีสิทธิ์เลือกเชียร์สโมสรฟุตบอลใดก็ได้ตามที่เราต้องการ
หรือหากมองในระดับทีมชาติ คนไทยสามารถเลือกเชียร์ทีมฟุตบอลระดับชาติได้ตามใจแน่นอน เพราะเราก็เลือกเชียร์อังกฤษ, เยอรมัน, สเปน หรือประเทศอะไรก็ตามทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยูโร
แต่สุดท้ายคนไทยก็ยังเชียร์ทีมชาติไทย ไม่ใช่เพราะเลือกที่จะเชียร์ แต่มันฝังอยู่ในจิตสำนึกของเราว่าต้องเชียร์ทีมชาติและพร้อมจะอินไปกับทีมชาติไทยเสมอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทัพช้างศึกประสบความสำเร็จ
เหตุผลชัดเจนว่ามาจากความผูกพันของเราในฐานะคนไทยหรือความเป็นชนชาติไทย ความเป็นชาติไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพราะแค่ว่าเราเกิดบนแผ่นดินอาณาเขตที่ถูกเรียกว่าประเทศไทย แต่ความเป็นชาติเกิดขึ้นมาจากการอยู่ในสังคมที่มีผู้คนพูดภาษาเดียวกัน อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน มีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกัน แม้แต่การก่อเกิดรสนิยมที่เหมือนกันไปจนถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
จนผู้คนที่เกิดในอาณาเขตของแผ่นดินไทยเกิดความผูกพันและรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเกิดความเป็นชาติไทยขึ้นมา เพราะเราไม่รู้สึกผูกพันและเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนในพื้นที่อื่นได้เท่ากับคนที่เรียกตัวเองว่า "เป็นคนไทย"
ความเป็นชาติไทยที่ยึดโยงกันอยู่ทำให้คนไทยเชียร์ทีมชาติไทยโดยที่ไม่คิดจะสงสัยใด ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ของเราในฐานะตัวบุคคลกับคนเวียดนาม คนอังกฤษ หรือคนประเทศใดก็ตามก็แทบจะไม่ต่างกันเลย นั่นคือเราไม่ได้รู้จักกันและมีความสัมพันธ์กันจริง ๆ
ต่อให้เป็น "คนไทย" เหมือนกัน แต่คนไทยไม่ได้มีความผูกพันกันจริง ๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราคนไทยก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันในชีวิตจริงแม้แต่น้อย คนไทยทุกคนไม่ได้มีสายเลือดร่วมกัน และทุกคนในประเทศนี้ก็ไม่ได้รู้จักกัน แต่คนไทยแค่มีความผูกพันผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ถูกสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยคำว่า "ชาติไทย"
การยึดโยงที่เกิดขึ้นถูกเรียกในศัพท์ทางวิชาการว่า "ชุมชนจินตกรรม" เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นชุมชนที่เกิดความผูกพันขึ้นมาด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่สร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเพื่อผูกคนกลุ่มหนึ่งเอาไว้ เพื่อให้คนกลุ่มนั้นรู้สึกผูกพันกันและผลักคนกลุ่มอื่นออกไปจากสังคม
แนวคิดนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาโดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เชื้อสายไอร์แลนด์ผู้ล่วงลับ ที่เสนอทฤษฎีนี้เพื่อ อธิบายความคิดว่า ความเชื่อมโยงระหว่างคนในชาติเดียวกันมาจากไหน ? เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ทำไมมนุษย์จึงมักยินดีกับความสำเร็จของเพื่อนร่วมชาติ ทั้งที่ไม่รู้จักกับบุคคลผู้นั้นเป็นการส่วนตัว
ยกตัวอย่างเช่น เหตุใดเราถึงยินดีกับความสำเร็จของ "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ผู้คว้าเหรียญทองกีฬาเทควันโด ในโอลิมปิก โตเกียว 2020 ทั้งที่เราไม่ได้รู้จักกับเธอเป็นการส่วนตัว แฟนบอลไทยเกือบทุกคนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ ชนาธิป สรงกระสินธิ์, ธีรศิลป์ แดงดา หรือ ธีราทร บุญมาทัน แต่แฟนบอลคนไทยก็ยังตามเชียร์พวกเขายามไปเล่นในต่างแดน และแน่นอนว่าต้องอินกับความสำเร็จของทีมชาติไทย แม้ว่าสุดท้ายเราจะไม่ได้รู้จักและมีส่วนร่วมอะไรกับความสำเร็จของพวกเขาเลย
คำตอบคือเพราะท้ายที่สุด เราทุกคนถูกผูกพันกันไว้ด้วยความเป็นชาติไทย ทำให้เราอินกับทีมชาติไทย ต่อให้จะไม่มีความสัมพันธ์จริง ๆ ไม่ว่าจะในทางสายเลือดหรือการรู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่ความผูกพันที่มีอยู่เป็นการเชื่อมโยงผ่านชุมชนจินตกรรมในฐานะ "พี่น้องร่วมชาติ"
ฟุตบอล + ชาติ = ความอินยกกำลัง 2
อ่านมาจนถึงตรงนี้คุณอาจเริ่มสงสัยว่า มันจะแปลกตรงไหน เพราะเราก็เชียร์ทีมฟุตบอลสักทีมหรือทีมกีฬาอื่น ๆ โดยที่ไม่ได้รู้จักนักกีฬา ทีมงานโค้ช หรือผู้บริหารเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะในระดับสโมสร ที่ไม่มีเรื่องของความเป็นชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ
แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทั่วโลกเชียร์ทีมปีศาจแดงโดยที่ไม่ได้รู้จัก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, คริสเตียโน่ โรนัลโด้, มาร์คัส แรชฟอร์ด หรือใครก็ตามเป็นการส่วนตัว แต่พวกเขายังคงรักสโมสรแห่งนี้สุดหัวใจ รวมถึงแฟนสโมสรอื่นด้วยเช่นกัน ถึงขนาดที่ว่าสำหรับหลายคนสโมสรฟุตบอลคือชีวิต จนเกิดเป็นวลี "คุณเปลี่ยนศาสนาได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนทีมฟุตบอลที่เชียร์ได้"
นั่นก็เป็นเพราะ ทั้งความผูกพันผ่านทีมฟุตบอลและความเป็นชาติต่างทำงานภายใต้แนวคิดชุมชนจินตกรรมเหมือนกัน สำหรับทีมฟุตบอล จิตสำนึกและชุดความคิดที่ถูกสร้างเพื่อปลูกฝังและยึดโยงแฟนฟุตบอลเข้าหากัน เป็นหนึ่งเดียวกัน อาจเกิดจากสี โลโก้ทีม ชุดแข่ง อัตลักษณ์ของทีม เรื่องราวของทีม ไปจนถึงผู้เล่นที่ถูกยกเป็นสัญลักษณ์ของทีม เหมือนกับความเป็นชาติที่ถูกสร้างจากการเชื่อมทุกคนเข้าหากันผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในกรณีแฟนบอลชาวไทยที่เป็นแฟนของสโมสรฟุตบอลในยุโรป คนไทยสามารถมีอารมณ์ร่วมกับสโมสรฟุตบอลที่อยู่คนละซีกโลก แม้ว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ไม่เคยไปประเทศอังกฤษ ไม่เคยไปดูบอลที่สนามแข่งขันจริง ไม่เคยเจอนักฟุตบอลตัวจริงของสโมสรโปรดในดวงใจก็ตาม
แต่แฟนบอลไม่เคยรู้สึกว่าการเชียร์ทีมฟุตบอลที่อยู่ไกลคนละซีกโลกเป็นปัญหาหรือเกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ เพราะทุกคนถูกยึดโยงไว้ด้วยกันผ่านสัญลักษณ์ จิตสำนึก และความเชื่อชุดเดียวกันที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความผูกพันกันแบบชุมชนจินตกรรม
"คุณเปลี่ยนศาสนาได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนทีมฟุตบอลที่เชียร์ได้" จึงกลายเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ชุมชนจินตกรรมผ่านฟุตบอลมีพลังมากเพียงใด เพราะศาสนาก็เป็นหนึ่งในชุมชนจินตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาผูกพันผู้คนเอาไว้เช่นเดียวกัน
การสร้างอารมณ์ร่วมที่ก่อให้เกิดความผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นชาติหรือทีมฟุตบอลจึงทำงานในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะอินกับทีมฟุตบอลหรือแม้กระทั่งทีมกีฬาอื่นเหมือนกับที่เราอินในความเป็นชาติ ไม่ว่าจะเป็นการภูมิใจกับความสำเร็จต่าง ๆ หรือผิดหวังยามเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากแฟนบอลจะอินกับฟุตบอลทีมชาติเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพราะนี่คือการผสานสองแนวคิดชุมชนจินตกรรมเข้าด้วยกัน การยึดโยงทางความคิดไม่ได้ถูกผูกกันไว้ด้วยเรื่องของฟุตบอลเท่านั้น เพราะยังมีอัตลักษณ์ที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงในเรื่องของความเป็นชาติเพิ่มเข้าไปด้วย
นี่จึงเป็นสิ่งที่อธิบายว่า เหตุใดเวลาฟุตบอลทีมชาติไทยแข่งขัน เราถึงได้เห็นคนจำนวนมากเปิดโทรทัศน์ส่งแรงใจไปเชียร์ทีมชาติไทยกันอย่างล้นหลาม ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นแฟนฟุตบอล นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ผูกพันกับทีมฟุตบอลทีมชาติไทยในฐานะทีมฟุตบอล แต่ผูกเชื่อมกันไว้ด้วยจิตสำนึกของความเป็นชาติ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีอารมณ์ร่วมกับฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นอย่างมาก เพราะความผูกพันกับทีมฝังลึกอยู่ในตัวคนไทยอยู่แล้ว ผ่านความเป็นชาติที่ถูกหล่อหลอมไว้กับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และมันก็พร้อมที่จะถูกกระตุ้นออกมาได้ง่าย โดยเฉพาะหากเป็นแฟนเกมลูกหนังอยู่แล้ว
ทางออกของความภูมิใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในโลกปัจจุบันผูกพันกับความเป็นชาติชนิดที่แยกจากกันไม่ขาด แม้ว่าความเป็นรัฐชาติจะเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่แต่ละประเทศเขียนขึ้นก็ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับความเป็นชาติที่มีมาอย่างยาวนาน หล่อหลอมรวมเข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้ลึก ๆ แล้วเรามีความภูมิใจในความเป็นชาติแฝงอยู่
มนุษย์ทุกคนที่ผูกพันกับความเป็นชาติย่อมมีความภูมิใจในความเป็นชาติ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงมันออกมา โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่เจริญมากนัก
คงไม่ใช่เรื่องยากที่ประชาชนในประเทศมหาอำนาจจะแสดงความภาคภูมิใจในชาติของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, จีน, อังกฤษ, เยอรมัน, ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ เพราะพวกเขามีสังคมรอบตัวที่เจริญแล้ว ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจหรือการเมือง ไม่รวมถึงซอฟต์เพาเวอร์ต่าง ๆ ที่สามารถเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศได้ ทั้ง เพลง, ภาพยนตร์, ซีรีส์, เกม, การ์ตูน หรือแม้กระทั่งกีฬา
แต่หลายประเทศไม่ได้เป็นแบบนั้น บางพื้นที่ต้องประสบปัญหากับรัฐบาลที่หัวไม่ก้าวหน้า รัฐบาลที่ไม่ผลักดันสร้างความภูมิใจของความเป็นชาติให้กับยุคสมัยใหม่ ทำให้ประชาชนในประเทศไม่สามารถแสดงออกถึงความภูมิใจในความเป็นชาติ และแปรเปลี่ยนเป็นกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็นพวก "ชังชาติ"
ทั้งที่ความเป็นจริงพวกเขาไม่ได้รู้สึกเกลียดความเป็นชาติของตนเอง เพราะพวกเขาผูกพันกับสังคมของความเป็นชาติไม่ต่างจากคนอื่น หากแต่พวกเขาไม่มีพื้นที่ที่จะได้แสดงออกถึงความภูมิใจตรงนั้นออกมา
โชคดีที่พื้นที่ของฟุตบอลทีมชาติเปิดโอกาสให้คนในประเทศสามารถแสดงความภูมิใจในความเป็นชาติออกมาได้ เพราะฟุตบอล หรือแม้กระทั่งกีฬาอื่น ๆ เปิดโอกาสให้ทุกชาติสามารถประสบความสำเร็จได้จริง ต่อให้เป็นชาติที่เล็กที่สุดหรือมีประชากรเพียงหยิบมือ แม้กระทั่งล้าหลังในเรื่องของการพัฒนา คนจากทุกชาติก็ยังสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีการแข่งขันกีฬาหรือในสนามฟุตบอลได้
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในบางประเทศจะมีอารมณ์ร่วมกับฟุตบอลมาก เพราะมันคือช่องทางไม่กี่ช่องทางที่จะได้แสดงถึงความภูมิใจและความยิ่งใหญ่ของประเทศ เพราะหากไม่ใช่ฟุตบอล หลายคนก็คงไม่รู้ว่าจะไปแสดงออกถึงความภูมิใจในความเป็นชาติได้อย่างไร
การอินกับฟุตบอลทีมชาติจึงถือเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการมีอารมณ์ร่วมทุกอย่างก็ต้องมีขอบเขต เพราะการแข่งขันกีฬาย่อมมาพร้อมกับโอกาสที่จะล้มเหลว และหลายครั้งการอินมากเกินไปกับการแข่งขันกีฬาก็นำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการทำลายข้าวของ ไปจนถึงการคุกคามความเป็นส่วนตัวของนักกีฬา
มีงานวิจัยที่ชี้ออกมาว่า อารมณ์รุนแรงที่ออกมาหลังความล้มเหลวของฟุตบอลทีมชาติไปจนถึงกีฬาชนิดอื่น ไม่ได้ออกมาเพราะผิดหวังที่ทีมฟุตบอลแพ้ แต่มันมาจากความผิดหวังที่พวกเขาไม่สามารถแสดงความภูมิใจถึงความเป็นชาติได้ตามที่หวัง หากแต่เป็นการแสดงถึงความล้มเหลวของชาติ นั่นจึงทำให้อารมณ์ของพวกเขารุนแรงมากขึ้นกว่านักกีฬาในระดับสโมสรในการตอบโต้ผลงานที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย
อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับฟุตบอลทีมชาติเป็นอย่างมาก เพราะ "ชาติ" คือสถาบันที่แข็งแกร่งที่สุดในปัจจบุัน ยิ่งกว่าทีมฟุตบอล รวมถึงศาสนา … ที่เราอาจเลือกที่จะไม่มีศาสนาได้, เลือกที่จะไม่ดูฟุตบอลได้ แต่เลือกที่จะไม่มีชาติไม่ได้ ดังนั้นความเป็นชาติจึงผูกพันอยู่กับมนุษย์แทบทุกคนบนโลก
เมื่อความผูกพันระหว่างมนุษย์กับความเป็นชาติตัดกันไม่ขาด จึงไม่มีทางที่แฟนฟุตบอลจะไม่รู้สึกผูกพันกับฟุตบอลทีมชาติ แม้ว่าบางครั้งจะกลายเป็นแสดงออกที่มากเกินไป แต่สุดท้ายทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า สำนึกความเป็นชาติฝังรากลึกอยู่ในสังคมปัจจุบันมากแค่ไหน
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism
เอกสารวิชาการ Nationalism and Sport
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “มาโน่ โพลกิ้ง” ทำอย่างไร ถึงพาไทยก้าวสู่แชมป์อาเซียนอีกครั้ง | Main Stand
- เต็มอิ่ม! ประมวลภาพแห่งความสุข 'ทีมชาติไทย' ฉลองแชมป์ ซูซูกิ คัพ 2020
- 10 เหตุการณ์สำคัญแห่งปี 2021 ของวงการกีฬาไทย
- 7 นักกีฬาไทยที่น่าจับตามองในปี 2565 | Main Stand
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก
มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะ ตามประสาคนรักกีฬากันได้ที่ TrueID Community คลิกเลย!