รีเซต
ธนิตา วาสประสงค์ : ครูสอนผู้พิสูจน์ว่า "โยคะไม่ต้องท่าเป๊ะและง่ายสำหรับทุกคน" | Main Stand

ธนิตา วาสประสงค์ : ครูสอนผู้พิสูจน์ว่า "โยคะไม่ต้องท่าเป๊ะและง่ายสำหรับทุกคน" | Main Stand

ธนิตา วาสประสงค์ : ครูสอนผู้พิสูจน์ว่า "โยคะไม่ต้องท่าเป๊ะและง่ายสำหรับทุกคน" | Main Stand
เมนสแตนด์
14 ธันวาคม 2563 ( 16:00 )
599

สิ่งหนึ่งที่เราเข้าใจผิดกันมาก เวลาพูดถึงโยคะ นั่นคือ การออกกำลังกายที่ว่าด้วยเรื่องของการยืดเหยียด  เข้าถึงและทำตามก็ยาก เพราะท่าต้องเป๊ะ แล้วไหนจะทั้งปวด ทั้งเมื่อย คนที่เล่นโยคะได้น่าเป็นความสามารถส่วนบุคคล 


 

แต่ นุ่น-ธนิตา วาสประสงค์ คุณครูโยคะ เจ้าของเพจ Yoga at Noon ที่กำลังร่ำเรียนปริญญาเอก ด้านการบำบัดจิตวิทยาด้วยความคิด สติ และการรับรู้ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กลับไม่คิดเช่นนั้น 

"โยคะสไตล์นุ่นจะไม่ฝืนเลย ท่าทุกคนไม่ต้องเป๊ะเหมือนกัน ท่านี้ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ก็ทำอีกท่านึง Alignment มันไม่มีอยู่จริง" 

"นักเรียนที่เรียนกับเราจะบอกว่า ทำไมโยคะมันง่ายขนาดนี้ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าโยคะเป็นเรื่องไม่ยาก"

ทำไม ครูนุ่น ผู้มีประสบการณ์การฝึกโยคะกับปรมาจารย์โยคะทั่วโลก แถมยังเป็นครูสอนโยคะคนเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในด้านการสอน Budokon Yoga 

กลับพูดถึงสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของคนทั่วไปต่อโยคะอย่างสิ้นเชิง ? แล้วถ้าโยคะ ถูกทำให้ดูง่าย และท่าไม่ต้องเป๊ะจริง นั่นยังจะเรียกว่า โยคะ ที่แท้จริงได้อยู่ไหม ? 

 

 

จุดเริ่มต้นของการเข้าวงการโยคะ

อาชีพแรกนุ่นเป็น Audit (นักตรวจสอบบัญชี) ตอนเราทำงานก็รู้สึกว่า อาชีพนี้ยังไม่ถูกใจ ทำได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง ก็ออกมาเรียนปริญญาโท พอมีเวลาว่างจึงไปเรียนโยคะ เพราะอยากผอม เราไม่มีความรู้ว่าโยคะคืออะไร 

พอได้เข้าไปเรียนก็คิดว่า ทำไมมันช้าขนาดนี้ แล้วพอหันไปเห็นคนอื่นทำได้ แต่เราทำไม่ได้ ทำไมเราทำท่าอะไรไม่ได้เลย  ก็บอกตัวเองว่าไม่ไหวแล้ว จำได้ว่าฝึกครั้งแรกร้องไห้ในคลาส คิดว่าทำไมร่างกายเราไม่ได้ดั่งใจ โกรธทุกอย่างไปหมด

เมื่อเวลาผ่านมา เรากลับรู้สึกอยากไปลองอีก อยากเอาชนะ พอเข้าคลาสอีกครั้ง ความคิดเราก็เริ่มเปลี่ยน บอกตัวเองว่าถ้าวันนี้ทำไม่ได้ ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ทำได้ไปเอง เริ่มควบคุมความรู้สึกตัวเองได้มากขึ้น ยิ่งเรียนยิ่งเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของใครของมัน เริ่มคิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องรีบไปตามคนอื่น 

 


 

ทำไมถึงอยากเป็นครูสอนโยคะ ?

ตอนฝึกโยคะ เราก็เรียนกับคุณครูหลายคนแล้วพบว่า ครูแต่ละคนสอนไม่เหมือนกันเลย ซึ่งสำหรับคนที่ฝึกใหม่ ๆ อย่างเรา ทำให้เริ่มงง 

ครูบางคนพูดคนละเรื่องกันเลยด้วยซ้ำ อย่างเช่นเรื่อง Alignment (การจัดระเบียบร่างกาย) บางคนสอนว่าการที่เราทำท่าแล้วมันต้องมีแขนอยู่ตรงนี้ เข่าตรงนี้แบบเป๊ะ ๆ แต่สำหรับครูบางคน Alignment แบบการท่าเป๊ะไม่สำคัญด้วยซ้ำ เขาสอนตรงข้ามกันเลย เราที่ฝึกแรก ๆ ก็งงว่าสรุปมันต้องยังไง ...

คำตอบเมื่อนุ่นได้ฝึกมาทั้งในไทยและต่างประเทศคือ ไม่มีถูกไม่มีผิด ในความจริง โยคะมันละเอียดมาก มีหลายประเภทแยกย่อยออกไปอีก ทั้งแบบเบสิก และแบบผสมผสาน 

อย่างหนึ่งในโยคะที่นุ่นสอนคือ Budokon Yoga โยคะผสมศิลปะการป้องกันตัว วิธีการเคลื่อนไหวร่างกายแตกต่างกับแบบอื่น ถ้าเปรียบเทียบก็คล้ายรำมวยไทย เพราะผู้คิดค้นคือ คาเมรอน เชน นักแสดง Hollywood ที่เล่นหนังบู๊ เขาจึงนำโยคะมาผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ  การเคลื่อนไหวจะช้า ซึ่งเรารู้ว่าการที่จะเคลื่อนไหวช้า ๆ นั้นร่างกายต้องแข็งแรงมากแต่ยืดหยุ่น และเน้นด้านปรัชญาการใช้ชีวิต

ศาสตร์นี้มันใหม่มาก เพราะส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะสอนแบบ หยางโยคะ แต่ที่นุ่นฝึกคือ หยินโยคะ ซึ่งถ้าพูดง่าย ๆ หยินโยคะ คือ เน้นความนิ่ง ส่วนหยาง จะเน้นการเคลื่อนไหว 

หยินโยคะยังช่วยในเรื่องการดูแลข้อต่อ ซึ่งนุ่นก็เรียนกับอาจารย์เฉพาะทางด้านนี้มาเหมือนกัน เขาเป็นนักสรีรวิทยาที่นำโยคะมาผสมกับแพทย์แผนจีน เวลาเราผ่อนคลาย ค้าง 3-5 นาที ข้างในข้อเราที่เป็นเยลลี่ จะเปลี่ยนเป็นน้ำ และเริ่มทำให้เคลื่อนไหวข้อได้คล่องขึ้น

เส้นทางโยคะของนุ่นค่อย ๆ เปลี่ยนมาเรื่อย ๆ อย่างตอนนี้ นุ่นเรียนปริญญาเอกจิตวิทยาการปรึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดค่ะ เรียนเฉพาะทางด้าน MBCT คือ Mindfulness based cognitive therapy หรือ การบำบัดจิตวิทยาด้วยความคิด สติ และการรับรู้ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่นำ Mindfulness Yoga Meditation มาผสมกับการบำบัดทางจิตเวช 

 

 

Mindfulness Yoga Meditation คืออะไร ? ต่างจากโยคะทั่วไปอย่างไร ?

คำว่า Mindfulness หมายถึงการรับรู้ เป็นการฝึกส่วนของจิตใจ ให้มีสติรับรู้กับปัจจุบัน ทำให้ศาสตร์นี้ได้ฝึกทั้งร่างกายและจิตใจ

ในการรับรู้ ประกอบด้วย 4 ด้าน อย่างแรกคือการรับรู้ร่างกายว่าตอนนี้เป็นอย่างไร เช่น ตอนนี้ปลายนิ้วมือขวารู้สึกเย็น ๆ แต่ปลายนิ้วมือปกติ อย่างที่สองคือรับรู้อารมณ์ เราอาจจะรู้สึกได้ว่ากำลังโมโห อย่างที่สามคือรับรู้ความคิด เช่น ตอนให้สัมภาษณ์อยู่ เราก็คิดว่าอาหารหอมจังเลย อย่างที่สี่ การรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งรอบตัว เช่น ดินฟ้าอากาศตอนนี้เป็นยังไง 

ส่วนทางด้านร่างกาย จริง ๆ โยคะมันคือ Mindful Movement ในตัวอยู่แล้ว คือการที่เราเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ทำให้เราได้ทั้งด้านจิตใจ และเราได้เพิ่มจากนั้นก็คือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ 

การบำบัดลักษณะนี้ จะเป็นแนว Group Therapy คือในคลาส จะบำบัดพร้อมกันเป็นกลุ่ม เพราะเราอยากให้ทุกคนเชื่อมโยงกับคนอื่น ให้เข้าใจว่ามนุษย์คนอื่นก็รู้สึกเหมือนกันกับเรา และช่วยซัพพอร์ตกันในการบำบัด เราจะใช้โยคะท่าเบสิก เพราะต้องการเน้นการเข้าใจการเคลื่อนไหวไปกับร่างกายได้ง่ายขึ้น

 

การนำโยคะมาผสมผสานกับการบำบัดทางจิตเวช ช่วยอะไรผู้ฝึก ?

ศาสตร์นี้จะเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Well-being ให้กับคนทั่วไป จนสามารถทำให้ตัวเองมีความสุขขึ้นได้ และลงลึกไปถึงจนถึงการแก้ปัญหาด้านจิตจิตเวช ช่วยได้มากโดยเฉพาะผู้ช่วยซึมเศร้าค่ะ

ถ้าฝึกแบบทั้งร่างกายและจิตใจ การรับรู้หรือ Mindfulness จะส่งเสริมให้เราแบบมีความสุขมากขึ้นในชีวิต ซึ่ง งานวิจัยมากมายสนับสนุนเรื่องนี้ สามารถช่วยกระทั่ง Mental Disorder (ความผิดปกติทางจิตใจ) เช่น โรคซึมเศร้า, Anxiety Disorder (โรควิตกกังวล) 

การที่เราดูแลทั้งกายทั้งจิตใจไปพร้อมกัน เราก็จะสุขภาพดีทั้งคู่ คนหนึ่งคนสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี อย่างอื่นมันก็จะดีตามมา ไม่ว่าจะการทำงาน การใช้ชีวิต พอมีความสุขกับตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองก็สูงขึ้น มันดีไปทุกอย่าง

 

 

โยคะเปลี่ยนแปลงอย่างไรในตัวครูนุ่นบ้าง ?

เมื่อก่อนเราเคยเป็นคนใจร้อน พอได้ฝึกการรู้ตัวควบคุมตัวเองมากขึ้น เรากลายเป็นคนใจเย็น คิดก่อนทำอะไร ไม่ใช่ตอบโต้ทันทีเหมือนเมื่อก่อน

มันคือการรับรู้ว่าตอนนี้เราและเรากำลังหน้าแดง เริ่มจะโกรธ มันอาจเป็นเสี้ยววินาทีที่เราเพราะฝึกโยคะแล้วมันสัมผัสได้กับความคิดเราได้ 

การฝึกโยคะ มันเป็นเรื่องของการควบคุมร่างกาย ซึ่งพอฝึกแล้วทำให้เราควบคุมตัวเองได้ดีมากขึ้น เรื่องการใช้ชีวิตเราก็เช่นกัน เราก็จะทำอะไรก็คิดก่อน เราจะดูสบาย ๆ มากขึ้น 

เพื่อนที่เคยเจอเมื่อก่อนจะดูเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะชอบได้ยินแบบนี้ เวลาอยู่ใกล้ ๆ แล้วรู้สึกเย็น ๆ นิ่ง ๆ เงียบ ๆ ซึ่งถ้ามองตามศาสตร์โยคะ คือ การถ่ายพลังงานด้านบวก คนที่นิ่งสงบจะปล่อยอีออนลบ เราจะสัมผัสได้ถึงพลังงานที่ดีของสิ่งรอบตัวและคนอื่น มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ก็ต้องฝึกจนรับรู้ 

 


 

โยคะสไตล์ครูนุ่นเป็นอย่างไร ต่างกับของคุณครูคนอื่นยังไง ?

นุ่นว่าครูทุกคนก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สำหรับนุ่น นุ่นทำให้โยคะเข้าถึงง่าย สไตล์นุ่นคือไม่ฝืนเลย อยากทำอะไรก็ทำ จะฝึกเพราะอยากผ่อนคลาย หรืออยากเบิร์นแคลอรี หรือแยกทำท่าสวยเหมือนรูปในเน็ต ทำไปเลยถ้าไม่เจ็บ ไม่ว่าจะทำเพราะสุขภาพร่างกาย หรือทำเพราะอยากให้ท่าสวย ก็ทำได้ทั้งหมด

รวมถึงการที่เราทำให้โยคะเข้าถึงง่าย ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำเพจโยคะ หรือบางคนเราไปอ่าน เขาเขียนอิงภาษาบาลี สันสกฤต เรารู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง เราจึงอยากให้ความรู้ที่เข้าถึงง่าย อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าโยคะเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะคนป่วย เด็กหรือผู้ใหญ่ 

คนจะรู้จักเราจากความมีเอกลักษณ์ของคลาส ไม่ว่าจะโยคะเด็ก โยคะเด็กพิเศษ การรวมโยคะกับจิตวิทยา โยคะผสมศิลปะการต่อสู้ 

แต่ละคลาสเราจะต่างกัน Energy แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน เราก็ปรับตามกลุ่มผู้เรียน ถ้าสอนแบบเราไปเรื่อย ๆ แล้วนักเรียนเขาหาว มันก็ไม่ได้ไหม นุ่นอยากให้โยคะเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเฮ้ย ทำไมครูพูดช้า กะพริบตาช้า นุ่นไม่อยากเป็นแบบนั้น 

 


 

ท่าไม่ต้องเป๊ะก็ได้หรือ ?

ยิ่งเราศึกษามากขึ้น ความรู้ด้านสรีระ ทำให้เราเข้าใจว่าร่างกายทุกคนไม่เหมือนกัน Alignment ไม่มีอยู่จริง แต่ละคนมันต่างกัน Alignment อะไรไม่มี ท่านี้ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ก็ทำอีกท่านึง มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ 

นักเรียนเราจะบอกว่า ทำไมโยคะมันง่ายขนาดนี้ ไม่เคยรู้อยู่ว่าโยคะมันง่าย คุณครูก็พูดปกติ ไม่ได้พูดช้า สอนเหมือนเหมือนเพื่อนกันคุยกัน 

สมัยก่อนความเปิดกว้างด้านสรีระ ยังไม่เปิดกว้าง ในเมืองไทยทั้งหมดจะสอน แบบท่าต้องเป๊ะ แขนต้ององศานี้ หัวเข่าต้องอยู่ตรงนี้ 

เมื่อเราบอกไปว่า Alignment ไม่มีจริง สมัยก่อนคุณครูคนอื่น เขาจะมาต่อว่าเราว่า พูดอย่างนี้ได้อย่างไร ซึ่งศาสตร์ที่ใช้ Alignment ก็มี เขาไม่ผิดนะ เราเข้าใจ แต่จริง ๆ โยคะมันกว้างมาก เพราะฉะนั้นทุกคนอาจจะถูกหมดเลยก็ได้ ต้องเข้าใจภาพรวมทั้งหมด 

ตอนไปฝึกที่อเมริกา อาจารย์ทำให้เราเข้าใจว่าสรีระ ทุกคนต่างกันมากอยู่แล้ว พอความเข้าใจตรงนี้ลึกขึ้น ทำให้เราใจดีและใจเย็นกับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองว่า ไม่เป็นไร เราก็อยู่ในเส้นทางของเรา คนอื่นจะทำได้หรือไม่ได้ แล้วมันไม่เกี่ยวอะไรกับเรา พอเราเป็นครูเราก็เลยเข้าใจ รู้เลยว่านักเรียนเขากำลังรู้สึกยังไง นุ่นจะพูดตลอดว่า ไม่แข่งกับใครนะ 

 


 

หลายคนเชื่อว่าโยคะคือของศักดิ์สิทธิ์

นุ่นเชื่อว่า โยคะคือเรื่องธรรมดา เรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องเข้าถึงยาก นุ่นแต่งตัวแฟชั่น แล้วนุ่นโดนบอกว่า ครูโยคะอะไร ใส่สปอร์ตบรา แต่งตัวโป๊ สมัยก่อนคือไม่ได้ เราเรียนอเมริกามาซะเยอะ ก็รับตรงนี้มา แต่สมัยนี้ทำอะไรก็ทำ เป็นครูทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้ เขามองโยคะเป็นศาสตร์ที่สูงมาก ซึ่งนุ่นคิดว่ามันถูกหรือผิด แต่นุ่นก็ใส่ต่อมาเพราะมันเป็นสิทธิส่วนบุคคล 

คนไทยคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม การฝึกโยคะในไทยเลยเป็นการออกกำลังกายเยอะ แต่พอไปฝั่งตะวันตก เขาคิดว่าวิปัสสนาคือเลิศ เขาเชื่อว่าสิ่งนี้คือเป็นของทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร อยากให้คนไทยรู้ว่าสิ่งนี้คือวิปัสสนา คือ การรับรู้ ผสมการใช้ท่าทางในการพัฒนาร่างกายไม่ด้วย ไม่อยากให้คิดว่ามันไกลตัว มันเกิดขึ้นในวัด ทั้ง ๆ ที่มันเกิดในชีวิตประจำวัน ทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิตได้ดีขึ้น 

 

ข้อควรระวังสำหรับการเล่นโยคะ ?

อะไรที่มากไปจะไม่ดี นุ่นเคยเจอคนที่ฝึกโยคะประเภทหนึ่ง เขาฝึกทุกวันและฝึกหนัก บาดเจ็บกันเยอะมาก มีกระทั่งกระดูกหัก ข้อสะโพกหลุด จนเขารู้สึกว่ามันมากไป 

เขาเล่าให้เราฟังว่าอีโก้เป็นเรื่องสำคัญในการฝึกโยคะ เราแข็งแรงเกินมนุษย์ เรารู้สึกเหนือกว่าคนอื่น เราจะทำให้ได้มากกว่านี้ จนบางทีร่างกายมันรับไม่ได้ 

ถ้าอยากร่างกายยืดหยุ่น จิตใจต้องยืดหยุ่นด้วย ทั้งหมดนี้มันเกิดจากความไม่เข้าใจโยคะ ที่เราใจร้ายกับตัวเองมากเกินไป ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ Mindfulness สามารถช่วยได้

 


 

ครูนุ่นออกกำลังกายแบบอื่นบ้างไหม ?

หลัก ๆ คือ โยคะอย่างเดียว อาจจะมีวิ่ง คาร์ดิโอเพื่อลดน้ำหนักบ้าง เพราะนุ่นชอบกิน

 

สำหรับคนที่สนใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโยคะศาสตร์ไหนเหมาะกับเรา ?

ขั้นแรกต้องลองเองก่อน ร่างกายของใครของมัน เข้าคลาสที่หลากหลายและดูว่าความเชื่อของเราเป็นแมทช์กับความสอนแบบไหน ประสบการณ์ช่วยได้ 

บางคนลองไปลองมา พบว่าตัวเองไม่ชอบแบบไหนเลย ชอบแบบของตัวเอง อยากฝึกเองที่บ้าน ไม่ชอบเข้าสตูดิโอ ก็ยังไม่ผิด เพราะทุกอย่างดีหมด อยู่ที่ว่า อันไหนเหมาะกับเราแค่นั้นเอง

 

 

ความสุขของการเป็นคุณครูสอนโยคะ

เรารู้สึกดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้แบ่งปันโยคะให้ทุกคน เราฝึกเองแล้วได้รู้สึกดีมีความสุข และเราได้แบ่งปันความรู้นี้ไปยังคนอื่นด้วยจนทำให้โยคะกลายเป็นของทุกคน ตั้งแต่เด็กน้อย มันทำให้เราอิ่มเอมใจ

ในแง่ของการใช้ชีวิต การที่นุ่นรับรู้ความสุขเล็ก ๆ ในชีวิต คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้น เพราะว่า ทุกนาทีที่ผ่านไปในชีวิตมันจะไม่ย้อนกลับมาอีก แต่โยคะทำให้เราได้ฝึกรับรู้ จนไม่มองข้ามความสุขเล็ก ๆ เหล่านั้น 

มีงานวิจัยบอกว่า มนุษย์จะมีความสุขเมื่อเรารับรู้สิ่งเล็ก ๆ เข้ามาทุกวัน มากกว่าการรอที่จะความสุขจากสิ่งใหญ่ ๆ อย่างการแต่งงานหรือรับปริญญา ความสุขที่สุดเกิดจากการเชื่อมโยงความสุขเล็ก ๆ ตลอดวันโดยที่ไม่ได้มองข้ามมันไป เช่น แค่นั่งอยู่แล้วรู้สึกว่า ดีนะ วันนี้ลมเย็นนะไม่ร้อนเท่าไหร่ นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> 10 เหตุการณ์สำคัญแห่งวงการกีฬา ปี 2020

>> 10,000 ก้าวมหัศจรรย์ : เดินหมื่นก้าวต่อวัน ลดอ้วนได้จริงหรือ ?

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี