รีเซต
ถอดรหัสจากยอดนักวิ่ง : หาก ภูริพล บุญสอน อยากทำเวลาต่ำกว่า 10 วินาที จะต้องทำอย่างไรบ้าง ? | Main Stand

ถอดรหัสจากยอดนักวิ่ง : หาก ภูริพล บุญสอน อยากทำเวลาต่ำกว่า 10 วินาที จะต้องทำอย่างไรบ้าง ? | Main Stand

ถอดรหัสจากยอดนักวิ่ง : หาก ภูริพล บุญสอน อยากทำเวลาต่ำกว่า 10 วินาที จะต้องทำอย่างไรบ้าง ? | Main Stand
เมนสแตนด์
8 มิถุนายน 2565 ( 13:30 )
11.1K

ในชั่วโมงนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ บิว ภูริพล บุญสอน นักวิ่งดาวรุ่งผู้ได้รับการจับตามอง จากการทำลายสถิติวิ่ง 100, 200 เมตร และ 4x100 เมตรของประเทศไทยลง ด้วยวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น

 


จากการกดเวลาลงไปได้ถึง 10.19 วินาทีในรายการกีฬาแห่งชาติเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา อนาคตของลมกรดหนุ่มรายนี้ถือว่าค่อนข้างสดใสกับการลุ้นเป็นคนไทยคนแรกที่ทำลาย "กำแพง" 10 วินาทีให้ได้ตามความฝันของเจ้าตัว

แต่การวิ่ง 100 เมตรให้ทำลายกำแพงเวลาข้างต้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนับจนถึงทุกวันนี้มีมนุษย์เพียงแค่ 161 คนเท่านั้นที่วิ่งระยะทางดังกล่าวได้เร็วกว่า 10 วินาที พร้อมได้รับการรับรองสถิติจาก World Athletics ว่าเวลาของพวกเขานั้นผ่านเกณฑ์ของสมาคมเป็นที่เรียบร้อย

Main Stand ขอเชิญทุกท่านมาลองวิเคราะห์และเรียนรู้จากเหล่ายอดมนุษย์กลุ่มดังกล่าวกันว่า หากภูริพลต้องการทำลายสถิติ 10 วินาที การวิ่ง 100 เมตรของเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ?

 

ทุกอย่างเริ่มจากจุดสตาร์ท

ทุกสถิติโลกอันยิ่งใหญ่หรือการวิ่ง False Start ที่สุดแสนน่าเสียดายต่างมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน นั่นคือทุกคนต้องออกตัวจากแท่นสตาร์ทและเร่งความเร็วจาก 0 ไปทำเวลาให้ดีที่สุด

ความน่ากลัวของการออกตัวคือคุณจะไม่สามารถพึ่งพาโชคชะตาในการ "เดา" ว่าเสียงสัญญาณสตาร์ทจะมาตอนไหน เพราะมีการวิจัยว่าปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมนุษย์จากวินาทีที่เสียงปืนปล่อยตัวดังจนดีดตัวออกจากแท่นสตาร์ท จะไม่มีทางเร็วกว่า 0.1 วินาทีได้ และตัวแผ่นเซนเซอร์ดังกล่าวจะคอยเช็คว่าแรงกดของเท้านักกีฬานั้นเป็นอย่างไร และพยายามออกตัวไปก่อนได้ยินเสียงปืนหรือเปล่า ?

อโต โบลดอน ผู้คว้าเหรียญเงินวิ่ง 100 เมตรในโอลิมปิกปี 2000 ระบุว่า "บ่อยครั้งที่ผลแพ้ชนะสามารถตัดสินได้จากการตอบสนองต่อเสียงปล่อยตัวของนักวิ่ง คุณต้องไม่เดาเสียงปืนแต่คุณต้องตอบสนองต่อมัน เพราะถ้าคุณเดาพลาดคุณก็ต้องออกจากการแข่งขันไปเลย"

 

ทำตามสัญชาตญาณ

10 เมตรแรกถือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสำคัญ และจะสามารถจำแนกนักวิ่งผู้มากประสบการณ์ออกจากมือใหม่ได้อย่างชัดเจน

"คุณต้องเชื่อมั่นในสัญชาตญาณ เหมือนกับการกระพริบตาและหายใจ ห้ามคิดว่าแขนแกว่งกว้างหรือแคบเกินไปไหมอีกเด็ดขาด" คือคำแนะนำของ จัสติน แกตลิน เจ้าของเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรในโอลิมปิกปี 2004 และผู้ทำเวลาวิ่งได้เร็วสุดเป็นอันดับห้าของโลก ด้วยเวลา 9.74 วินาที

นอกจากนี้คุณอาจสังเกตได้ว่าในช่วงเวลา 20-30 เมตรแรกของการแข่งขัน นักวิ่งหลายคนจะยังคงอยู่ในท่าแบบพุ่งตัวไปข้างหน้าแทนที่จะดีดตัวขึ้นมาวิ่งหน้าตั้งในทันที โดยเรื่องนี้โบลดอนได้อธิบายสาเหตุไว้ว่า "เวลาคุณผลักอะไรหนัก ๆ คุณไม่ได้ดันมันด้วยการยืนตรง แต่คุณจะทำร่างกายให้ทำมุมกับพื้นเพื่อพยายามเอาชนะแรงเฉื่อยและแรงโน้มถ่วงในช่วงแรกของการแข่งขัน"

"คุณต้องผ่อนคลายส่วนหัวของคุณ พยายามทำตัวให้ต่ำเหมือนคุณกำลังผลักอะไรไว้ในช่วง 10-15 ก้าวแรก นี่จะช่วยให้คุณผ่านช่วง 20-25 เมตรแรกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลัง แล้วจึงค่อย ๆ ยืดตัวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งท่าตรง" ซึ่งนี่คือช่วงระยะทรานซิชั่นที่นักวิ่งจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้แรงส่งในตอนออกตัวมาสู่การสับขาเข้าช่วงกดความเร็วสูงสุดของตัวเองต่อ

 

อย่าวอกแวก

ในช่วง 30 เมตรเป็นต้นไป นักวิ่งจะสับขาในตำแหน่งตัวตรงเป็นที่เรียบร้อย ไหล่ตกพร้อมแกว่งแขนเพื่อรักษาโมเมนตัม และลดการเคลื่อนไหวบิดไปมาของลำตัวให้น้อยลง เพื่อไม่ให้สูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น พร้อมกับนำเทคนิคที่นักวิ่งแต่ละคนได้รับการฝึกมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิ่งห้ามทำเด็ดขาดในช่วงนี้คือการชำเลืองมองซ้ายขวาเพื่อเช็กว่าเขาอยู่ตำแหน่งไหนหรือมีใครตามมาใกล้แค่ไหน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ อโต โบลดอน เรียนรู้มาอย่างเจ็บปวดหลังจากหันไปเช็คตำแหน่งของ แฟรงกี้ เฟรเดอริกส์ ในโอลิมปิกปี 1996 จนเสียตำแหน่งให้กับนักวิ่งชาวนามิเบียไป และจบการแข่งขันด้วยการคว้าได้เพียงเหรียญทองแดง

"ผมมั่นใจว่าหลายคนทำได้ (ที่จะไม่วอกแวก) แต่ผมต้องอยู่กับความผิดพลาดดังกล่าวไปตลอดชีวิตว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ผมพลาดเหรียญเงินอีกสมัยในโอลิมปิกไป" นี่คือความรู้สึกของนักวิ่งชาวตรินิแดดและโตเบโก ผู้เข้าเส้นชัยตามหลัง เฟรเดอริกส์ ไปแค่ 0.01 วินาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามความเห็นของ แกตลิน กลับมองว่าในช่วงครึ่งทางของการแข่งขันนั้นเป็นเหมือน "การขับรถ" เพราะว่า "คุณรู้แล้วว่าคุณกำลังทำอะไร แต่แค่คุณเช็คกระจกหลังเหมือนตรวจสอบว่าคุณต้องทำอะไรอีกไหมเพื่อไปให้ถึงจุดสิ้นสุดของการแข่งขันให้ได้"

 

คุณไม่ได้เร็วขึ้นแล้ว

นักวิ่งส่วนมากจะทำความเร็วแตะจุดพีคของตัวเองระหว่างระยะทาง 35-65 เมตร ก่อนจะเริ่มทำความเร็วได้ลดลงจากความล้าของกล้ามเนื้อในร่างกาย ที่ยังคงมีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แน่ชัดอยู่ในปัจจุบัน

ความน่าสนใจคือถ้านักวิ่งต้องหันหน้าเข้าหาแสงแดด การใส่แว่นกันแดดสามารถเป็นตัวช่วยได้ด้วยเช่นกัน เพราะการต้องหรี่ตาเพื่อลดแสงที่ส่องเข้ามาในนัยน์ตานั้นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิ่งทำเวลาได้ช้าลงจากการต้องขยับกล้ามเนื้อและใช้พลังงานเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น

แม้แต่สถิติโลกของ ยูเซน โบลต์ ที่ทำไว้ได้ 9.58 วินาที ยังมีช่วงที่เจ้าตัวชะลอความเร็วลงในระยะ 30 เมตรสุดท้าย หลังจากทำความเร็วสูงสุดถึง 44.72 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตอนผ่านระยะทาง 65 เมตรไป

โบลดอนระบุว่า "ทุกคนต่างทำความเร็วได้ช้าลงในช่วง 35-40 เมตรสุดท้าย หากคุณเห็นใครที่ดูเหมือนวิ่งฉีกจากนักวิ่งคนอื่นไปได้ นั่นแปลว่าเขามีความเร็วลดลงช้ากว่าคนอื่น ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์เดินดิน ยังไงเขาก็ต้องชะลอความเร็วลงในช่วง ⅓ สุดท้ายของการวิ่ง 100 เมตร"

 

อย่าโลภเกินไป

ที่ระยะ 20 เมตรสุดท้ายของการแข่งขันที่คุณอยู่ห่างจากเส้นชัยไปไม่เกิน 3 วินาที อาจฟังดูเป็นช่วงเวลาอันแสนสั้น แต่ก็ยังล้นเหลือเกินพอ สำหรับให้นักวิ่งก่อข้อผิดพลาดขึ้นมาได้อย่างไม่น่าให้อภัย

จัสติน แกตลิน เรียนรู้บทเรียนนี้มาอย่างเจ็บปวด เมื่อเจ้าตัวพยายามเร่งความเร็วของตัวเองในช่วง 10 เมตรสุดท้ายของสนามด้วยความหวังว่าจะฉีกหนี ยูเซน โบลต์ ให้ได้ จนเจ้าตัวเกิดเสียสมาธิและมีอาการเซผิดจังหวะไปจากที่ควรจะเป็น ก่อนจบลงด้วยการเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสอง ตามหลังโบลต์ไปแค่ 0.01 วินาที ในกรีฑาชิงแชมป์โลก ปี 2015

"คุณต้องอย่าโลภ เพราะตามทฤษฎีแล้วมันไม่มีใครวิ่งได้เร็วขึ้นหลังวิ่งผ่านไป 70 เมตร คุณแค่ต้องมั่นใจว่ายังวิ่งต่อไปตามเทคนิคและรูปแบบของตัวเอง เมื่อคุณอยู่ในจุดนั้นแล้วอย่าพยายามเอื้อมหาอะไรที่มากเกินไป เพราะเมื่อไหร่ที่คุณพยายามฝืนตัวเอง ข้อผิดพลาดจะเกิดขึ้นมา" แกตลิน ระลึกถึงช่วงเวลาที่ตัวเองทำพลาดไป

"นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดในการวิ่ง 100 เมตร นั่นคือการที่ต้องทำให้ตัวเองผ่อนคลายและปล่อยให้เส้นชัยเข้ามาหาคุณ"

 

กะจังหวะเข้าเส้นชัยให้ดี

ลำตัว คือส่วนที่ถูกนำมาใช้ตัดสินว่านักวิ่งเข้าเส้นชัยในวินาทีที่เท่าไหร่ จึงทำให้นักวิ่งทั้งหลายต่างพยายามยื่นลำตัวโดยเฉพาะส่วนหน้าอกตัวเองให้เข้าเส้นชัยก่อนเป็นส่วนแรก

ทั้งนี้โบลดอนระบุว่านักวิ่งส่วนมากมักจะกะจังหวะในการยื่นตัวผิดพลาด "บางคนอาจยื่นลำตัวเร็วเกินไปราว 1-2 เมตร ซึ่งถ้าคุณยื่นลำตัวเร็วเกินไปมันจะชะลอความเร็วตัวเองลงและอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี"

เขาแนะนำว่านักวิ่งควรยื่นตัวในจังหวะที่เข้าเส้นชัย เพื่อให้สามารถสับขาเข้าเส้นชัยได้เต็มสปีด แล้วค่อยนำส่วนลำตัวมาลดทอนเวลาหลักเสี้ยววินาทีลงไปอีกทีหนึ่ง

 

ยังมีเวลาเหลือเฟือ

สำหรับ ภูริพล บุญสอน เส้นทางในอาชีพนักวิ่งของเขายังคงสดใสอยู่ เพราะการทำสถิติ 10.19 วินาทีได้ด้วยอายุเพียง 16 ปี แปลว่าเจ้าตัวอยู่ห่างจากสถิติโลกของนักวิ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ทำไว้ได้ 10.15 วินาที อยู่แค่ 0.04 วินาทีเท่านั้น แถมมีลมช่วยที่น้อยกว่าถึง 1.1 เมตร/วินาทีด้วยกัน

โบลต์ ทำสถิติโลกครั้งแรกได้เมื่อมีอายุ 22 ปี และทำเวลาได้พีคสุดตอนอายุ 24 ปี เช่นกันกับนักวิ่งที่เร็วสุดเป็นอันดับสองอย่าง โยฮัน เบลค ผู้ทำเวลา 9.69 วินาทีได้ตอนอายุ 23 ปี กับ ไทสัน เกย์ ที่ทำเวลาได้เท่ากันด้วยวัย 27 ปี แปลว่าเวลาที่เราเห็นจาก บิว นั้นยังไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุดจากประสิทธิภาพร่างกายของเขา

การพัฒนากล้ามเนื้อและทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับการดูแลจากผู้ฝึกสอน ซึ่งมีการใช้เทคนิคและหลักวิทยาศาสตร์การกีฬามาพัฒนาร่างกายลมกรดหนุ่มอนาคตไกลรายนี้ บิว ผู้มีส่วนสูง 183 เซนติเมตรอันเป็นระยะที่ค่อนข้างได้เปรียบในเชิงสรีรศาสตร์ (เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรไทย) ที่อาจทำให้ในสักวันหนึ่งเราอาจได้เห็นสถิติเวลาบนสกอร์บอร์ดจับเวลาลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เลข 9 จริง ๆ ก็เป็นได้

หรือหากมองไปไกลกว่านั้น สถิติโลกของ โบลต์ ก็ไม่ได้เป็นขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์เสียเลยทีเดียว เพราะเมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยทุกอย่างแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถวิ่ง 100 เมตรด้วยระยะเวลา 9.27 วินาทีได้ในขอบเขตที่ World Athletics รับรองให้เป็นสถิติโลกใหม่ได้อยู่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่คำแนะนำของนักวิ่งระดับโลกในข้างต้นได้เปิดเผยไว้ ว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการวิ่ง 100 เมตรคือการ "ปล่อยให้เส้นชัยมาหาคุณ" โดยไม่ต้องฝืนร่างกายตัวเองเพื่อไขว่คว้ามากจนเกินไป

 

แหล่งอ้างอิง:

https://www.topendsports.com/resources/records/speed.htm
https://trackstarusa.com/how-to-run-the-100m/
https://biomechanicblogsprinting.wordpress.com/2015/06/19/9/
https://www.espn.com/espn/feature/story/_/id/17277615/perfect-100-meters-how-run-olympics-fastest-event-right-way
https://sportsscientists.com/2009/08/analysis-of-bolts-9-58-wr/
https://www.worldathletics.org/athletes/thailand/puripol-boonson-14992965

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี