รีเซต
จดหมายนิรนาม : สงสัยกันไหมทำไมนักกีฬาจึงเดินกันได้อิสระในพิธีปิดโอลิมปิก ?  | Main Stand

จดหมายนิรนาม : สงสัยกันไหมทำไมนักกีฬาจึงเดินกันได้อิสระในพิธีปิดโอลิมปิก ?  | Main Stand

จดหมายนิรนาม : สงสัยกันไหมทำไมนักกีฬาจึงเดินกันได้อิสระในพิธีปิดโอลิมปิก ?  | Main Stand
เมนสแตนด์
11 สิงหาคม 2564 ( 13:00 )
196

 

มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากลงไปแล้ว ท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจของผู้คนกับการแสดงและการส่งไม้ต่อให้กับเจ้าภาพครั้งต่อไปอย่างประเทศฝรั่งเศส ที่จะมีขึ้นที่กรุงปารีส ปี 2024 

 


แต่หากใครสังเกตจะพบว่าช่วงเวลาที่นักกีฬาแต่ละชาติเดินขบวนเข้าสู่สนามนั้น แตกต่างจากตอนพิธีเปิดอย่างชัดเจน ต่างคนต่างเดินเข้ามากันอย่างอิสระไม่เรียงแถวตามประเทศ ถ่ายรูป พูดคุย ทักทายกับนักกีฬาชาติอื่น ๆ อย่างไม่เป็นพิธีรีตรอง จนดูเหมือนไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก

แต่แท้จริงแล้วการปล่อยให้นักกีฬาเดินเข้าสนามแบบนี้นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่าภาพที่เห็น

เรื่องนี้มีสตอรี่และมีที่มาที่ไปที่น่าประทับใจ โดยเกิดจากการส่งจดหมายนิรนามเพียงฉบับเดียวจากเด็กหนุ่มเชื้อสายจีนคนหนึ่ง ที่ต้องการจะเปลี่ยนมุมมองของโอลิมปิกเกมส์ให้ดีขึ้นเมื่อ 65 ปีที่แล้ว ก่อนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร ติดตามได้ที่ Main Stand

 

พิษสงคราม

โอลิมปิกเกมส์ ถูกขนานนามว่า “มหกรรมกีฬาแห่งมิตรภาพ” ที่ตัวแทนจากทั่วโลกมาร่วมแข่งขันกันด้านกีฬา มีแพ้ มีชนะ มีการให้อภัย

ทว่าหลายครั้ง เราจะเห็นเรื่องราวความขัดแย้งกันของนักกีฬาเกิดขึ้นในการแข่งขัน เพราะถึงแม้จะเป็นเกมกีฬาแต่มันก็คือการแข่งขันกันระหว่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเกิดสงครามด้วยแล้ว


Photo : bryanpinkall.blogspot.com

ย้อนกลับไปในโอลิมปิก 1956 ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ถูกจัดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 ทั่วทั้งโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "สงครามเย็น"

ความตึงเครียดทางการเมืองแผ่กระจายไปทั่วโลก เมื่อสองมหาอำนาจแห่งฝ่ายสัมพันธมิตรอย่าง สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต หันมาเป็นศัตรูกันเอง จากความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกัน 

แม้ทั้งสองชาตินี้จะไม่ปะทะกันโดยตรง แต่ทั้งคู่เลือกใช้วิธีสงครามตัวแทน สงครามเศรษฐกิจ และโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ เป็นสมรภูมิรบ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการณ์คลองสุเอซ, การรุกรานฮังการีของสหภาพโซเวียต, ความตึงเครียดระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก, ตลอดจนข้อพิพาทระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน จนลุกลามเข้ามาสู่วงการกีฬา

ก่อนที่การแข่งขันโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น เจ้าภาพต้องเผชิญกับการถูก “คว่ำบาตร” เมื่อหลายชาติได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดการแข่งขัน


Photo : olympics.com.au

อียิปต์ อิรัก กัมพูชา และเลบานอน ประกาศว่าพวกเขาจะไม่เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อตอบโต้ต่อวิกฤตการณ์สุเอซ เมื่ออียิปต์ถูกรุกรานโดยอิสราเอล สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

เช่นเดียวกับ สวิตเซอร์แลนด์ สเปน และเนเธอร์แลนด์ ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเพื่อประท้วงการปราบปรามการจลาจลของกองทัพโซเวียตในฮังการี ขณะที่อีกหลายชาติสั่งไม่ให้นักกีฬาของตัวเองไปปะปนร่วมกับชาติอื่น ๆ ในหมู่บ้านนักกีฬา

แม้สุดท้ายแล้วการแข่งขันจะสามารถจัดขึ้นได้ โดยมีตัวแทนเข้าร่วมชิงชัย 67 ชาติ ซึ่งน้อยลงจาก 4 ปี ก่อนเพียงแค่ 2 ชาติ แต่จำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันนั้นลดลงอย่างมากจาก 4,925 เป็น 3,342 คน

แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

โปโลเลือด

เหตุความขัดแย้งทางการเมืองและสงคราม แม้จะอยู่ภายนอกสนาม แต่มันก็สามารถลุกลามเข้าสู่วงการกีฬาได้เช่นกัน หากชาติที่ขัดแย้งกันต้องมาแข่งขันกันเองในเกมกีฬา เช่นเดียวกับ ฮังการี และ สหภาพโซเวียต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฮังการีต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ทำให้นักศึกษาและประชาชนชาวฮังการีไม่พอใจ จึงได้ออกมาประท้วงพร้อมก่อจลาจลต่อต้านตามท้องถนนเป็นระยะเพื่อเรียกร้องอิสรภาพ 


Photo : abc.net.au

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มรุนแรงมากขึ้น เมื่อกองกำลังโซเวียตได้เคลื่อนรถถังกว่า 3 พันคัน บุกเข้ามายังประเทศฮังการีอีกครั้ง ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 1956 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการเปิดการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ที่เมลเบิร์น ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปีเพื่อให้สอดคล้องกับฤดูร้อนของประเทศออสเตรเลีย

และเป็นเวลาเดียวกับที่ทัพนักกีฬาฮังการี กำลังเดินทางข้ามทวีปเป็นระยะทางกว่า 473 กม. ทั้งทางเรือและทางเครื่องบินเพื่อมาร่วมแข่งขัน โดยไม่รู้เลยว่าครอบครัวและญาติพี่น้องของพวกเขาจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร...

“ทีมโอลิมปิกของฮังการีได้ยินเรื่องเหตุการณ์รุนแรงในประเทศหลังจากเดินทางมาถึงเมลเบิร์นแล้ว จากนั้นพวกเขาได้ฉีกธงฮังการีที่มีสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาทิ้ง และชักธงฮังการีที่ไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ ขึ้นมาแทน” เคทีย์ เซลลา นักวิจัยกองบรรณาธิการที่ Foreign Policy กล่าว

แม้จะต้องวิตกกังวลกับเหตุการณ์รุนแรงในบ้านเกิด แต่นักกีฬาฮังการียังคงลงแข่งขันตามหน้าที่ และตลอดทัวร์นาเมนต์พวกเขาได้รับเสียงเชียร์และการให้กำลังใจจากแฟน ๆ เจ้าบ้านและอีกหลายประเทศที่อยู่คนละขั้วกับสหภาพโซเวียตอย่างล้นหลาม 

กระทั่งช่วงบ่ายวันที่ 6 ธันวาคม 1956 นักกีฬาของ ฮังการี และ สหภาพโซเวียต ต้องโคจรมาปะทะกันในการแข่งขันโปโลน้ำ รอบรองชนะเลิศ สังเวียนแห่งกีฬาที่ไม่มีปืนและรถถัง


Photo : abc.net.au

“เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เล่นเพื่อตัวเองแต่เพื่อทั้งประเทศของเรา” เออร์วิน ซาดอร์ นักโปโลน้ำฮังการีที่ลงแข่งขันในแมตช์นั้น กล่าว
เสียงนกหวีดดัง … ทั้งสองทีมต่างฉวยโอกาสปะทะและเล่นนอกเกมใส่กัน โดยทั้งเตะและต่อยใส่กันใต้น้ำ พร้อมสบถถ้อยคำถากถางใส่กันตลอดการแข่งขัน 
กระทั่งก่อนจบเกมเพียงนาทีเดียว ทั่วทั้งโลกก็ต้องช็อกเมื่อได้เห็นภาพของซาดอร์ ที่โผล่ขึ้นจากน้ำด้วยใบหน้าที่โชกเลือด
ซาดอร์ ที่ไม่ทันระวังโดน วาเลนติน โปรโคปอฟ ผู้เล่นทีมสหภาพโซเวียตชกที่ใบหน้าอย่างจัง จนเป็นแผลแตกที่คิ้วขวาเลือดไหลอาบเต็มแก้ม 
เลือดหยดนี้ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ในสนามที่เทใจเชียร์ทีมฮังการีต่างโกรธจัด พยายามกระโดดลงมาที่ขอบสระ พร้อมตะโกนด่าทอและถ่มน้ำลายใส่ผู้เล่นโซเวียต จนผู้ตัดสินต้องสั่งจบการแข่งขันและให้ตำรวจเข้ามาระงับเหตุก่อนที่จะบานปลาย
สุดท้ายแม้สงครามที่บ้านเกิดพวกเขาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่สงครามในสังเวียนกีฬา ฮังการีเป็นผู้ได้รับชัยชนะด้วยสกอร์ 4-0 และหลังจากนั้น ซาดอร์ที่ต้องเย็บบริเวณรอบตาถึง 8 เข็ม พร้อมเพื่อนร่วมทีมก็สามารถกรุยทางจนคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ 


Photo : IMDB.com

ภาพของ เออร์วิน ซาดอร์ และเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวถูกขนานนามว่า "Blood in the Water" และได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีในชื่อ “Freedom's Fury” เพื่อรำลึกการครบรอบ 50 ปี ในปี 2006
ทว่าเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนจะถึงพิธีปิดการแข่งขันเพียงแค่ 2 วัน ในเวลานั้นคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและฝ่ายจัดการแข่งขัน ต่างหมดความหวังและไม่สามารถหาทางที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของ “มหกรรมกีฬาแห่งมิตรภาพ” นี้ได้เลย

จนกระทั่งพวกเขาได้รับจดหมายนิรนามที่เขียนด้วยลายมือจากเด็กชาวจีนวัย 17 ปี

 

จดหมายนิรนาม

พิธีปิดโอลิมปิกเกมส์ในยุคแรก ๆ นักกีฬาแต่ละชาติจะเดินขบวนพาเหรดเข้าสู่สนามตามหลังผู้ถือธงของแต่ละชาติ เฉกเช่นเดียวกับช่วงพิธีเปิด หรือบางครั้งไม่มีขบวนนักกีฬาเข้าร่วมเลยก็มี

ซึ่งใน “เมลเบิร์นเกมส์ 1956” ฝ่ายจัดการแข่งขันยังคงเป็นกังวลว่าจะสามารถมีการเดินขบวนตามปกติได้หรือไม่ หลังจากมีเหตุความขัดแย้งระหว่างชาติของนักกีฬาในสนาม


Photo : chinadaily.com.cn

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันก่อนพิธีปิดการแข่งขันที่เมลเบิร์น คริกเก็ต กราวด์ คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้รับจดหมายนิรนามฉบับหนึ่ง ที่เสนอให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นก็คือการสนับสนุน “ให้นักกีฬาเดินขบวนอย่างเป็นอิสระในพิธีปิดการแข่งขัน” เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการไม่แบ่งแยกชาติและดินแดน

และจดหมายฉบับนี้เองที่ได้เปลี่ยนแปลงพิธีปิดโอลิมปิกไปตลอดกาล…

จดหมายดังกล่าวเขียนด้วยลายมือ โดยไม่ระบุชื่อและที่อยู่ผู้เขียน ส่งถึง เคนท์ ฮิวส์ ประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกเมลเบิร์น ใจความว่า...


Photo : chinadaily.com.cn

“คุณฮิวส์ ฉันเชื่อว่ามีคนแนะนำให้เดินขบวนระหว่างพิธีปิดและคุณบอกว่าไม่สามารถทำได้ ฉันคิดว่ามันสามารถทำได้”

“ระหว่างเดินขบวนจะมีเพียงชาติเดียว สงคราม การเมือง และสัญชาติ จะถูกลืมทิ้งไปทั้งหมด จะมีใครที่อยากได้อะไรมากกว่านี้ ถ้าโลกทั้งใบสามารถรวมเป็นชาติเดียวได้”

“คุณสามารถทำได้ด้วยวิธีเล็กน้อย นี่คือสิ่งที่ฉันคิด ไม่มีทีมใดไปด้วยกัน และควรจะมีเพื่อนร่วมทีมไม่เกิน 2 คน พวกเขาจะกระจายตัวกันออกไป”

“ฉันแน่ใจว่าทุกคน แม้แต่ตัวคุณเองก็เห็นด้วยว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดี จะไม่มีใครลืมว่าสิ่งสำคัญในโอลิมปิกเกมส์ไม่ใช่ชัยชนะ แต่เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกคน”

ฮิวจ์ ชอบความคิดนี้ และได้ตอบรับข้อเสนอแนะเพียงหนึ่งวันก่อนพิธีปิดจะเกิดขึ้น ทำให้พิธีปิดโอลิมปิก เกมส์ 1956 เป็นครั้งแรกที่นักกีฬาแต่ละชาติเดินปะปนกันเข้าสู่สนาม และได้รับการยอมรับจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงใน “โตเกียวเกมส์ 2020”

อย่างไรก็ตามกว่าที่คนทั้งโลกจะรู้ว่าผู้เขียนจดหมายฉบับดังกล่าวคือใคร ก็ต้องรอนานกว่า 30 ปี

มหกรรมโอลิมปิกยังคงดำเนินการแข่งขันอย่างต่อเนื่องไปอีก 7 สมัย กระทั่งในปี 1986 บุคคลที่เขียนจดหมายดังกล่าวก็ได้เปิดเผยตัวเองให้สาธารณชนได้รับรู้ 

เขาผู้นั้นคือ “จอห์น เอียน วิง” หนุ่มชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีน ที่ได้เขียนบันทึกตัวอักษรดังกล่าวตอนที่ตัวเองอายุ 17 ปี


Photo : localhistory.kingston.vic.gov.au

วิง ขณะนั้นเป็นเด็กหนุ่มที่ชื่นชอบในการเล่นกีฬา แต่ไม่อยากเล่นฟุตบอลหรือคริกเก็ตเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ในประเทศ เขาจึงเข้าห้องสมุดและหยิบหนังสือเกี่ยวกับโอลิมปิก เกมส์ มาศึกษากีฬาประเภทต่าง ๆ ก่อนจะถูกสะกดด้วยความงดงามของภาพพิธีเปิดการแข่งขัน ที่นักกีฬาทั่วโลกต่างสวมเครื่องแบบประจำชาติเดินขบวนเข้าสู่สนาม

เมื่อออสเตรเลียบ้านเกิดของเขาได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ เด็กหนุ่มจึงใจจดใจจ่อและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

“ในปี 1956 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาถึงบ้านเกิดของผมที่เมลเบิร์น ชาวออสเตรเลียทุกคนภูมิใจมากที่ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา และแสดงให้โลกได้เห็นถึงมิตรไมตรีอย่างแท้จริง พวกเราจะต้อนรับผู้มาเยือนทุกคน และจะเชิญคนจากต่างแดนมาทานอาหารเย็นที่บ้านเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าชีวิตชาวออสเตรเลียเป็นอย่างไร” วิง ย้อนความ

“เมื่อใกล้ถึงวันเปิดงาน มีความผิดหวังเล็กน้อยเนื่องจากความขัดแย้งทั่วโลก และบางประเทศตัดสินใจคว่ำบาตรการแข่งขัน แม้ว่าชาวออสเตรเลียอยากจะต้อนรับผู้มาเยือนทุกคน แต่ก็ยังมีความตึงเครียด”

“เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในการแข่งขันโปโลน้ำ ผมเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผมรู้สึกเศร้าใจที่เห็นนักการเมืองใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขา และเห็นนักกีฬาเป็นเบี้ยในเกมของพวกเขา มันไม่มีประโยชน์ที่จะกรีดร้องและตะโกนใส่นักการเมือง เพราะมันจะเข้าหูข้างหนึ่งแล้วออกที่หูอีกข้างหนึ่ง ผมจำสุภาษิตที่ว่า ‘ปากกาแข็งแกร่งกว่าดาบ’ ได้ดี”

“มันเป็นเย็นวันพฤหัสบดี พิธีปิดจะมีขึ้นในวันเสาร์ ผมจำได้ว่าเคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องพิธีปิด ตอนแรกผมคิดว่าอยากจะให้จัดงานเลี้ยงใหญ่ในวันสุดท้ายสำหรับนักกีฬาและผู้ชมทุกคนในสนาม แต่ผมก็ล้มเลิกความคิดนั้น”

“ในขณะที่นักกีฬาเดินเข้าไปในสนามโดยแยกเป็นประเทศ ทำไมเราไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมและรวมตัวกันเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในนามชาติแห่งโอลิมปิก ด้วยวิธีนี้นักการเมืองจะไม่สามารถแยกนักกีฬาออกจากันได้ เนื่องจากพวกเขาจะเดินตามหลังธงโอลิมปิก” วิง กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียนจดหมาย


Photo : chinadaily.com.cn

หลังเขียนเสร็จ เด็กหนุ่มได้นำจดหมายฉบับดังกล่าวไปหย่อนลงในกล่องรับจดหมายหน้าสำนักงานฝ่ายจัดการแข่งขันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพักของเขามากนัก พร้อมเผยถึงเหตุผลที่ไม่ระบุตัวตนว่า

“ผมไม่ได้ใส่ชื่อหรือที่อยู่ของผมลงในจดหมาย เพราะอาจจะมีคนคิดว่ามันเป็นความคิดที่งี่เง่า”

หลังหย่อนจดหมายลงในกล่อง “วิง” ก็เฝ้ารอที่จะให้ถึงวันพิธีปิดอย่างใจจดใจจ่อ…

 

พิธีปิดแห่งมิตรภาพ

ในช่วงปี 1956 โทรทัศน์ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในครัวเรือนมากนัก มีแค่บางคนเท่านั้นที่จะมีทีวีส่วนตัว

ช่วยบ่ายวันเสาร์ก่อนถึงพิธีปิดการแข่งขัน ผู้คนชาวออสเตรเลียจำนวนมากจึงไปออกันที่ลานกว้างเพื่อร่วมรับชมฉากสุดท้ายของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกร่วมกัน ซึ่ง จอห์น เอียน วิง เองก็เป็นหนึ่งในนั้น


Photo : olympic-museum.de

เขาเห็นภาพที่นักกีฬากำลังเดินเกาะกลุ่มกันเข้าไปในสนามด้วยท่าทางสบาย ๆ หัวเราะและโบกมือให้กับผู้ชมบนอัฒจันทร์ ก่อนจะคิดกับตัวเองว่า “สิ่งที่เห็นนี้มาจากความคิดของเราหรือเปล่า ?”

เด็กหนุ่มเฝ้ารอถึงเช้าวันจันทร์เพื่อที่จะหาคำตอบ เขาซื้อหนังสือพิมพ์ทั้งหมดก่อนจะพบว่าหน้าแรกของทุกฉบับได้ลงเรื่องราวและจดหมายที่เขาเขียน

แม้จะดีใจแค่ไหนที่ได้ช่วยฟื้นฟูความสวยงามของโอลิมปิก แต่เขาก็ยังคงเก็บเรื่องนี้เป็นความลับต่อไป เพราะคิดว่าถึงบอกเพื่อนที่โรงเรียนไปก็ไม่มีใครเชื่อ และไม่สามารถบอกครอบครัวได้ เนื่องจากการเป็นลูกชาวจีนการจะเขียนจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ควรจะต้องขออนุญาตผู้ปกครองก่อนเสมอ

อย่างไรก็ตาม “วิง” ได้ตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับที่สองถึง เคนท์ ฮิวจ์ส อีกครั้ง โดยแจ้งชื่อและที่อยู่ แต่ไม่ขอเปิดเผยสู่สาธารณะ เพื่ออธิบายว่าเหตุใดเขาจึงไม่ต้องการเปิดเผยตัว

ภายหลังจากนั้นไม่นาน ในขณะที่ วิง กำลังทำงานอยู่ในร้านอาหารที่คุณพ่อเป็นเจ้าของ พนักงานเสิร์ฟได้เดินมาบอกกับเขาว่ามีคนมาขอพบ 

ชายคนหนึ่งในชุดทางการได้ยืนรออยู่ ก่อนจะยื่นกล่องพลาสติกให้เขา พร้อมทิ้งท้ายก่อนเดินจากไปว่า “มาจากคุณเคนท์ ฮิวจ์” เมื่อวิงเปิดกล่องดูก็พบว่าในกล่องมี “เหรียญทองแดงโอลิมปิก” อยู่ในนั้น...

เรื่องราวของ จอห์น เอียน วิง แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็นั่นก็ทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและประวัติศาสตร์โอลิมปิก ที่ชายและหญิงซึ่งมาจากสี่มุมโลกได้มาเข้าร่วมผสมผสานกันอย่างอิสระ โดยไม่คำนึงถึงการเมือง สัญชาติ สีผิว หรือศาสนา พร้อมร่วมเดินเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มสดใส ท่ามกลางความตึงเครียดและความไม่สงบทางการเมืองภายนอกสนามในช่วงทศวรรษ 50s

ช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น ทั่วโลกได้เห็นถึงสันติภาพและความสามัคคี นี่เป็นสิ่งที่แสดงถึงพลังของโอลิมปิกอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

https://www.npr.org/sections/tokyo-olympics-live-updates/2021/08/08/1025404479/why-olympic-athletes-dont-march-behind-their-own-flag-at-the-closing-ceremony
https://www.olympic-museum.de/john_wing/jwing.php
https://olympics.com/en/olympic-games/melbourne-1956

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้