รีเซต
ยากกว่าที่เคย : ความหวังของอาเซียน กับด่านหินลุ้นเหรียญโตเกียวเกมส์

ยากกว่าที่เคย : ความหวังของอาเซียน กับด่านหินลุ้นเหรียญโตเกียวเกมส์

ยากกว่าที่เคย : ความหวังของอาเซียน กับด่านหินลุ้นเหรียญโตเกียวเกมส์
มติชน
19 กรกฎาคม 2564 ( 13:00 )
247

แม้ว่าความหวังในการลุ้นเหรียญรางวัล จากการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ของทัพนักกีฬาจากชาติอาเซียน อาจจะยากขึ้นกว่าคราวก่อนๆ ด้วยเหตุใดหลายประการ ทว่านักกีฬาที่เป็นตัวเต็งที่จะประสบความสำเร็จในศึกครั้งนี้ จะมีใครกันบ้างนั้น เราไปติดตามกันเลย

มหกรรมกีฬา โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่ทัพนักกีฬาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำผลงานได้ดีที่สุด ตั้งแต่ร่วมแข่งขันมาทั้งในแง่เหรียญทองและเหรียญรวม

ทัพนักกีฬาอาเซียนกวาดไปรวม 5 เหรียญทอง 10 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง รวมทั้งสิ้น 18 เหรียญ โดย ไทย เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ทำได้ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง

ขณะที่ สิงคโปร์ เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุด เนื่องจาก โจเซฟ สคูลลิ่ง ฉลามหนุ่มแดนลอดช่อง ซึ่งอายุ 21 ปีในขณะนั้น คว้าเหรียญทองจากกีฬาว่ายน้ำ ท่าผีเสื้อ 100 เมตร ชาย เอาชนะซูเปอร์สตาร์นักกีฬาอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส ของสหรัฐอเมริกา พร้อมทำลายสถิติโอลิมปิกที่ เฟลป์ส ทำไว้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดและสถานการณ์ปัจจุบันหลายๆ ประการ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเปิดฉากในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทัพนักกีฬาอาเซียนจะทวนซ้ำความสำเร็จ เหมือนกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้

ภาพรวมผลงานของนักกีฬาอาเซียนใน “รีโอเกมส์” ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของวงการกีฬาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่เคยเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1924 (ฟิลิปปินส์ เป็นชาติแรกที่เข้าร่วม ส่วนไทยเข้าร่วมครั้งแรกปี 1952) และได้เหรียญทองครั้งแรกปี 1992 จากนักแบดมินตัน อินโดนีเซีย

เว็บดังอย่าง ยาฮู วิเคราะห์ว่า มีสัญญาณหลายอย่างที่ไม่ค่อยสู้ดีนักสำหรับ “โตเกียวเกมส์” ในครั้งนี้ แน่นอนว่าประการแรกสุดคือ การที่ระยะเวลาจากโอลิมปิกครั้งก่อนถึงโอลิมปิกครั้งนี้ห่างกัน 5 ปี ทำให้นักกีฬาหลายคนอายุมากขึ้น สภาพร่างกายโรยราไปตามวัย อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้วงการกีฬาโลกหยุดชะงักไปตั้งแต่ราวเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แม้จะเริ่มกลับมาแข่งขันได้ช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็เป็นแค่บางรายการ และหลายๆ กีฬายังไม่สามารถจัดแข่งได้ตามปกติ ส่งผลกระทบโดยตรงกับการเตรียมความพร้อมของนักกีฬา

ยาฮู ระบุอย่างจำเพาะเจาะจงด้วยว่า โอกาสการคว้าเหรียญรางวัลของทัพนักกีฬาอาเซียนน้อยลง เนื่องจาก สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย โดนแบนห้ามร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้ เนื่องจากการละเมิดกฎการใช้สารต้องห้าม เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงต่อการลุ้นเหรียญรางวัลของทัพนักกีฬาไทย เนื่องจากนักยกน้ำหนักหญิง ถือเป็นความหวังเหรียญทองของเรามาโดยตลอด

ที่ผ่านมา ยกน้ำหนักเป็นกีฬาที่ทำเหรียญรางวัลให้ไทยมากที่สุด 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 7 เหรียญทองแดง รวม 14 เหรียญรางวัล

ยาฮู ระบุว่า พอจอมพลังสาวไทยไม่ได้ร่วมแข่ง ความหวังเหรียญทองสูงสุดของโอลิมปิกเกมส์ จึงตกเป็นของ ฮิดิลีน ดิอาซ นักยกเหล็กสาวทีมชาติฟิลิปปินส์ แม้ว่าที่ผ่านมา นักกีฬาแดนตากาล็อกจะไม่เคยคว้าเหรียญทอง จากโอลิมปิกเกมส์ได้เลยแม้แต่เหรียญเดียวก็ตาม

ดิอาซ คว้าเหรียญเงินจากยกน้ำหนักหญิงรุ่นไม่เกิน 55 ก.ก. หญิง ในรีโอเกมส์ และเป็นความหวังสูงสุดของทัพนักกีฬาฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะเป็นการสิ้นสุดการรอยคอยที่ยาวนาน ในฐานะตัวแทนชาติแรกจากอาเซียน ที่ได้ร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เมื่อ 97 ปีที่แล้ว

ดิอาซ วัย 30 ปี เผยว่า ทุกคนคาดหวังเหรียญทองจากตนในโตเกียวเกมส์ ซึ่งก็ต้องโอบรับความคาดหวังนั้น และพยายามโฟกัสที่เทคนิคและการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง เพื่อไม่เป็นการกดดันตัวเอง ตนไม่อยากพูดว่า สัญญาจะนำเหรียญทองมาให้ได้ แต่อยากจะทำให้ได้

อีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ถือเป็นความหวังของภูมิภาคคือ แบดมินตัน เพราะเป็นกีฬาแรกที่ช่วยปลดล็อกเหรียญทองให้ทัพนักกีฬาอาเซียน เมื่อแบดมินตันบรรจุเข้าชิงเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรกใน **โอลิมปิกเกมส์ 1992** ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยครั้งนั้นเป็นนักกีฬาตบลูกขนไก่ของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นมือท็อปของโลก คว้าไป 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง

กีฬาแบดมินตัน ถือเป็นหนึ่งในกีฬาชูโรงของภาคพื้นอาเซียนมายาวนาน แต่ช่วงหลังๆ นักกีฬาชั้นนำของโลก จากอินโดนีเซียและ มาเลเซีย ทยอยเลิกเล่นไป ยังไม่มีมือท็อปรุ่นใหม่ ที่ขึ้นมาทดแทนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อกัน

โตเกียวเกมส์ครั้งนี้ จะนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2004 ที่มาเลเซียไม่มี ลี ชอง เหว่ย อดีตนักแบดมินตันมือ 1 ของโลก ซึ่งจำใจต้องอำลาวงการในปี 2019 หลังจากมีปัญหาสุขภาพ สืบเนื่องจากอาการมะเร็งในโพรงจมูก โอลิมปิกเกมส์ 3 ครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2008-2016 ลี ชอง เหว่ย ไปไม่ถึงดวงดาว เมื่อเข้าชิงได้ทั้ง 3 ครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ได้เพียงเหรียญเงินมาทั้ง 3 ครั้ง

แม้ว่าต่อให้เขาจะไม่มีปัญหาสุขภาพจนได้ไปแข่งขัน อาจไม่ได้การันตีว่าจะคว้าเหรียญทองให้ทัพนักกีฬามาเลเซียได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีเหรียญติดมือกลับมา

มือ 1 ของมาเลเซียเวลานี้คือ ลี ซี่ เจี๋ย เจ้าของเหรียญทองแบดมินตันชายเดี่ยวกีฬาซีเกมส์ 2019 และแชมป์แบดมินตันรายการใหญ่อย่าง “ออลอิงแลนด์ โอเพ่น” ด้วยชัยชนะเหนือมือ 1 โลกอย่าง เคนโตะ โมโมตะ ในรอบชิงชนะเลิศ

ลี เป็นอีกหนึ่งความหวังสำคัญสำหรับทัพนักกีฬามาเลเซีย แต่ด้วยวัย 23 ปี กับโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรก ต้องหวังให้เขาไม่แพ้แรงกดดันไปเสียเองก่อนด้วย

หันไปมอง โจเซฟ สคูลลิ่ง เจ้าของเหรียญทองว่ายน้ำจากรีโอเกมส์กันบ้าง หลังจบโอลิมปิกเกมส์ สคูลลิ่ง ก็ประสบความสำเร็จในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อีก 2 ปีถัดมา คว้า 2 เหรียญทองไปครอง แต่เมื่อถึงซีเกมส์ 2019 ที่มะนิลา เขาคว้าได้เพียง 1 เหรียญทองประเภทบุคคล และ 3 เหรียญทองประเภททีม แตกต่างจากตอนซีเกมส์ 2015 ที่เขาครองเจ้าสระด้วยผลงาน 9 เหรียญทอง

ในแง่สถิติจากท่าผีเสื้อ 100 เมตร ชาย ซึ่ง สคูลลิ่ง จะลงป้องกันแชมป์ เวลาที่ทำได้ในปัจจุบัน ห่างไกลจากตอนทำสถิติ 50.39 วินาทีในรีโอเกมส์พอสมควร แถมยังมีคู่แข่งน่ากลัวอย่าง กาเล็บ เดรสเซล ของสหรัฐ กับ คริสตอฟ มิลัก ของฮังการีอีกด้วย

ในท้ายที่สุด ยาฮู บอกว่า อีกหนึ่งความหวังสำคัญในการลุ้นเหรียญทองของนักกีฬาอาเซียนคงต้องยกให้ นักเทควันโดสาวไทย ซึ่งเป็นนักกีฬาไทยคนเดียว ที่คว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่แล้ว และมาแข่งต่อในโอลิมปิกครั้งนี้ และมีลุ้นยกระดับผลงานจากเหรียญทองแดงในครั้งที่แล้วได้

น่าจะเป็นเหรียญทองสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดให้กับทัพนักกีฬาจากอาเซียนในครั้งนี้ ในสถานการณ์ที่อาจทำเหรียญไม่ได้เท่ากับโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ผ่านมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้