คนกรุงที่ไม่รุ่ง : เหตุใด "แฮร์ธ่า เบอร์ลิน" จึงเป็นทีมดังเมืองหลวงในยุโรปที่ไม่ประสบความสำเร็จ ? | Main Stand
หากมองถึงการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละประเทศ สิ่งหนึ่งที่เดาได้ไม่ยากคือสโมสรเก่งของแทบทุกชาติจะต้องมาจากพื้นที่เมืองหลวง สาเหตุมาจากเพราะมีปัจจัยรอบด้านที่สามารถส่งให้ทีมใหญ่ของเมืองหลวงประสบความสำเร็จ
แต่ไม่ใช่กับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน นี่คือสโมสรฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดของเมืองที่ยิ่งใหญ่เมืองหนึ่งของโลก แต่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ไม่เคยคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้เลยแม้แต่สมัยเดียว แถมทีมยังตกชั้นเป็นว่าเล่น ไม่ต้องพูดถึงความยิ่งใหญ่ในเวทียุโรปที่ไม่มีถ้วยสักใบมาประดับตู้
เหตุใด แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ถึงมีเส้นทางที่ต่างออกไปจากสโมสรชื่อดังอื่นในเมืองหลวง มาไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
รากฐานที่ควรยิ่งใหญ่
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ถือเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลเก่าแก่ของประเทศเยอรมนี โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1892 ภายใต้การร่วมมือกันของกลุ่มเพื่อน 4 คน โดยหนึ่งในนั้นได้นำชื่อ แฮร์ธ่า ซึ่งเป็นชื่อเรือลำหนึ่งที่ผู้ก่อตั้งคนนี้ได้พบเจอมาตั้งเป็นชื่อทีม โดยชื่อ แฮร์ธ่า ของเรือลำนี้มาจากชื่อของเทพหญิงสูงอายุในความเชื่อตำนานของชาวเยอรมัน ทำให้ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ได้รับฉายาว่า "หญิงชรา" ในเวลาต่อมา
ในยุคแรกเริ่มสโมสรแห่งนี้ พวกเขาสามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองได้จากผลงานอันยอดเยี่ยม ผ่านการคว้าแชมป์ฟุตบอลลีก และฟุตบอลถ้วยของแคว้นเบอร์ลินหลายสมัย รวมถึงเป็นทีมฟุตบอลแรก ๆ ของเยอรมนีที่ชนะการแข่งขันเหนือทีมจากอังกฤษ ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดเกมลูกหนังและมหาอำนาจโลกลูกหนังในยุคเริ่มต้น
ด้วยดีกรีแชมป์ของแคว้นเบอร์ลิน 15 สมัย บวกกับหลังจากมีการเริ่มลีกระดับประเทศอย่าง โอเบอร์ลีกา เป็นครั้งแรกในปี 1945 แฮร์ธ่าก็ยังคงครองความยิ่งใหญ่เอาไว้ได้ด้วยการคว้าแชมป์ลีกได้ถึง 3 สมัย
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ในยุคนั้นเกรียงไกรมาก ถึงขั้นว่าเป็นไม่กี่สโมสรที่ประสบความสำเร็จก่อนยุคที่นาซีจะมีอำนาจยึดครองเยอรมัน และต่อให้ประเทศอยู่ภายใต้เผด็จการของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สโมสรแห่งนี้ก็ยังสามารถเดินหน้าคว้าแชมป์ต่อไปได้โดยไม่ต้องสนใจความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นี่คือช่วงเวลาที่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน กลายเป็นทีมเบอร์หนึ่งของกรุงเบอร์ลินอย่างเต็มตัว ในสภาวะที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศแทบล่มสลาย แต่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก็ยังคงแสดงถึงความแข็งแกร่งผ่านการต่อสู้ในสนามฟุตบอล พวกเขาสร้างความสำเร็จให้กับชาวเบอร์ลินในช่วงเวลาที่ยากลำบากและเป็นหน้าเป็นตาของเมืองได้เป็นอย่างดี
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน มีทุกอย่างที่พร้อมกับการเป็นทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จ ทั้งรากฐานทางประวัติศาสตร์จากความยิ่งใหญ่ในอดีต, DNA ของทีมผู้ชนะ และการเป็นสโมสรยอดนิยมของเมืองหลวงของประเทศ
หากเป็นเมืองอื่น แฮร์ธ่า เบอร์ลิน คงยิ่งใหญ่ไปแล้ว ไม่ต่างกับ เรอัล มาดริด ที่ประเทศสเปน แต่สำหรับเบอร์ลินเมืองหลวงไม่ใช่เมืองแห่งความรุ่งโรจน์ แต่ในทางตรงกันข้าม นี่คือเมืองที่เดินหน้าด้วยบาดแผลที่ไม่มีวันสิ้นสุด
บาดแผลของเบอร์ลิน
ปกติแล้วเมืองหลวงของประเทศจะต้องเป็นเมืองที่รวมความเจริญทุกอย่างเอาไว้ในทุกด้าน โดยเฉพาะยุคอดีตที่การพัฒนาของประเทศยังไม่กระจายตัวไปทั่วดินแดน การได้อยู่ในเมืองหลวงหมายความถึงการใกล้ชิดโอกาสแห่งความรุ่งโรจน์
ทุกเมืองหลวงของยุโรปตะวันตกยักษ์ใหญ่ในอดีตเป็นแบบนี้กันหมด ทั้ง ลอนดอน ของอังกฤษ, ปารีส ของฝรั่งเศส, มาดริด ของสเปน หรือ โรม ของอิตาลี แต่ไม่ใช่กับ เบอร์ลิน ของเยอรมนี เพราะนี่คือเมืองหลวงที่ถูกทำลายหลายครั้งด้วยพิษของสงคราม
ด้วยชัยภูมิของเบอร์ลินที่อยู่ในยุโรปตะวันตก แต่ก็มีพื้นที่ไม่ไกลจากดินแดนของ รัสเซีย มหาอำนาจของยุโรปตะวันออกมากนัก ทำให้เบอร์ลินกลายเป็นเมืองหลวงของ อาณาจักรปรัสเซีย มาตั้งแต่ปี 1701 และสืบตำแหน่งจนเป็นเมืองหลวงของเยอรมันจนถึงปัจจุบัน
แต่ด้วยเบอร์ลินมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทางสงครามมาก เพราะเป็นเมืองที่ปักหลักต่อสู้ได้กับทั้งกองกำลังจากฝั่งตะวันตก และตะวันออก ทำให้เบอร์ลินเปรียบเสมือน "เมืองเกราะป้องกันของทั้งสองฝั่งของยุโรป" ที่จะรุกรานฝั่งใดก็ต้องยึดเบอร์ลินให้ได้ก่อน
ประกอบกับว่าอาณาจักรปรัสเซียตั้งแต่อดีตก็เป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ และทุกชาติก็อยากยึดดินแดนแห่งนี้ ยิ่งทำให้เบอร์ลินกลายเป็นพื้นที่สงครามแทบจะทุกช่วงเวลา นั่นทำให้เบอร์ลินไม่มีโอกาสได้พัฒนาเมืองแบบที่ควรจะเป็น เพราผู้คนจำนวนมากล้มตายไปจากภาวะสงคราม
เบอร์ลินจึงเป็นเมืองที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะอุตสาหกรรมของประเทศเยอรมันย้ายไปตั้งถิ่นฐานโรงงานในพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศกันหมดทั้งภาคตะวันตกและภาคใต้ ขณะที่ตอนเหนือของประเทศก็มีธุรกิจการค้าในฐานะที่เป็นพื้นที่ท่าเรือสำคัญของประเทศ แต่เบอร์ลินกับเมืองทางตะวันออกกลับไม่มีแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเลย
ปัญหาของเบอร์ลินไม่เคยเผยโฉมอย่างจริงจังจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองหลวงที่เคยยิ่งใหญ่ด้วยความเป็นเมืองหลักและเป็นรากฐานของกลุ่มนาซีได้เลือนหายไป มีผู้อพยพจำนวนมากในเวลานั้นไหลเข้าสู่เบอร์ลิน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และพวกเขาก็ต้องมาตามหาชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองหลวง แม้ว่านี่จะไม่ใช่เมืองที่ดีเท่าไหร่นักถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจ
แย่ยิ่งกว่านั้น เบอร์ลินโดนซัดหมัดหนักหลังจากการถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งจากการแยกประเทศของเยอรมนี เป็น เยอรมันตะวันตก และ เยอรมันตะวันออก ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนให้เบอร์ลินเป็นพื้นที่ที่พร้อมจะเกิดสงครามได้ทุกเมื่อ มีทหารของทั้งฝั่งโลกเสรีและฝั่งคอมมิวนิสต์ยืนกันเต็มพื้นที่ของเบอร์ลินไปหมด
ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่คนไม่สามารถหาความสุขของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีทั้งคนที่ต้องใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ ปากกัดตีนถีบ, คนที่เสียครอบครัวหลังจากการแบ่งเมืองเป็นสองฝั่ง หรือหลายคนก็ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงเพราะหวั่นใจจากปัญหาทางการเมือง ด้วยปัญหาทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ความสำคัญของกีฬาลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งหนึ่งที่สโมสรฟุตบอลต้องการคือการสนับสนุนจากแฟนบอล บาเยิร์น มิวนิค เติบโตจากการผลักดันของแรงงานชนชั้นกลางในมิวนิค, แรงงานท่าเรือทางตอนเหนือสนับสนุนทีมฟุตบอลประจำเมืองอย่าง ฮัมบูร์ก เอสเฟา หรือ แวร์เดอร์ เบรเมน จนยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับฝั่งชาวเหมืองในดินแดนตะวันตกที่กลายเป็นแฟนบอลของสโมสรอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หรือ ชาลเก้ 04
แต่สำหรับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน พวกเขาไม่ใช่ทีมที่มีแฟนบอลชนชั้นแรงงานจำนวนมากมาคอยสนับสนุน เพราะนี่ไม่ใช่เมืองแรงงาน ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เมืองที่เศรษฐกิจดีพอที่จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนมีฐานะ
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน จึงขาดแรงสนับสนุนจากแฟนบอลที่จะช่วยผลักดันทีมในระยะยาว โดยเฉพาะหลังจากการเกิดลีกอาชีพของแท้ อย่าง บุนเดสลีกา ในปี 1963 และ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก็ตกชั้นไปอย่างรวดเร็วในปี 1965 เป็นครั้งแรกที่แฮร์ธ่าตกชั้นจากลีกสูงสุด
ปัญหาที่แฮร์ธ่าต้องเผชิญคือนักฟุตบอลหลายคนเลือกยกเลิกสัญญากับทีม เพราะไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ในเบอร์ลินที่กำลังมีปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก โดยเฉพาะการเริ่มสร้างกำแพงเบอร์ลินที่จะแบ่งเมืองนี้ให้เข้าสู่สภาวะตึงเครียดของสงครามอย่างเต็มตัว นักฟุตบอลฝีเท้าดีที่มีทางเลือกจึงย้ายหนีออกจากเบอร์ลินไปจนหมด และนั่นทำให้ทีมตกชั้นไปอย่างรวดเร็ว
ปัญหาของนักฟุตบอลว่าแย่แล้ว ชีวิตของแฟนบอลที่ไม่ได้มีทางเลือกย่อมแย่ยิ่งกว่า ฟุตบอลในเวลานั้นเป็นแค่เรื่องรองและไม่ใช่สิ่งที่คนเบอร์ลินจะหาความสุขได้มากนักกับเกมลูกหนังในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ พวกเขาจึงยอมไปหาสิ่งอื่นที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ดีกว่า
ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จในเมืองหลวงก็เพราะแต่ล่ะทีมมีแฟนบอลหนาแน่น และการที่แฟนบอลจะมีชีวิตที่สามารถหาความสุขผ่านเกมกีฬาได้ก็ต้องมีชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพเสียก่อน ซึ่งนี่ห่างไกลกับสิ่งที่ชาวเบอร์ลินจำนวนมากต้องเผชิญ
แต่ไม่มีสโมสรไหนที่อยากจะเสียความยิ่งใหญ่ของตัวเองไป และนั่นนำไปสู่จุดด่างพร้อยครั้งใหญ่ที่สุดของสโมสรแห่งนี้
ความผิดพลาดที่ทำลายอนาคต
ถึงจะไม่พร้อมหลายอย่างแต่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก็เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี และสโมสรก็ต้องการจะรักษาภาพทีมที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ แม้องค์ประกอบด้านนักเตะและแฟนบอลจะไม่พร้อมก็ตาม
โดยเฉพาะหลังจากที่แฮร์ธ่าตกชั้นไปในปี 1965 เบอร์ลินกลับได้สโมสรใหม่ในบุนเดสลีกาอย่าง ทาสมาเนีย 1900 เบอร์ลิน ซึ่งทำให้แฮร์ธ่ากลัวจะสูญเสียสถานะการเป็นทีมเบอร์หนึ่งของเบอร์ลิน พวกเขาจึงพร้อมทำทุกทางเพื่อกลับมาเล่นในลีกสูงสุดให้ได้
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน สามารถทำได้จริงด้วยการกลับมาสู่บุนเดสลีกาอีกครั้งในปี 1969 แต่มันกลับกลายเป็นความสำเร็จในช่วงสั้น ๆ เพราะในปี 1971 แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก็เข้าไปพัวพันกับการจ้างล็อกผลการแข่งขัน ซึ่งนั่นกลายเป็นมีดที่ปาดคอเชือดอนาคตของสโมสรแห่งนี้ที่จะกลับมายิ่งใหญ่ไปตลอดกาล
แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ถูกมองในแง่ลบอย่างมหาศาลจากชาวเบอร์ลิน แม้จะไม่ตกชั้นแต่กระแสนิยมของสโมสรก็ได้ตายไปหมดสิ้น ทีมติดหนี้มหาศาลจนถึงกับต้องขายสนามของทีมไปใช้หนี้ และเมื่อขาดเงิน แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก็ตกชั้นสู่ลีกา 2 อีกครั้ง และหล่นไกลไปถึงลีกระดับภูมิภาคในยุค 1980s
ความล้มเหลวครั้งนั้นสร้างรากฐานที่เลวร้ายให้กับสโมสรแห่งนี้ ประการแรกคือความสัมพันธ์ของชาวเบอร์ลินกับฟุตบอลที่ลดน้อยลง
ยิ่งประกอบกับชาวเบอร์ลินในเวลานั้นหาทางออกให้กับตัวเองทุกทางที่จะทำให้มีความสุข ในแง่หนึ่งมันทำให้เบอร์ลินวิวัฒนาการหลายด้าน เช่นด้านศิลปะ ดนตรี หรือไปทุ่มเทให้กับการศึกษาหาความรู้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มอบทั้งความสุขและอนาคตให้กับเมืองนี้ได้ดีกว่าการทุ่มเทชีวิตเป็นแฟนบอลเหมือนในอีกหลาย ๆ เมือง
ฟุตบอลจึงกลายเป็นแค่วัฒนธรรมกระแสรองซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อการพัฒนาฟุตบอลในระยะยาว แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคือ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน สอบตกในเรื่องการเป็นตัวแทนของสโมสรฟุตบอลแห่งกรุงเบอร์ลิน
เมื่อ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ไม่สามารถตักตวงความสำเร็จและสถาปนาเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในกรณีของ เรอัล มาดริด ที่สเปน หรือ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ที่ฝรั่งเศส ก็ทำให้ชาวเบอร์ลินที่ชอบฟุตบอลจำนวนไม่น้อยหันไปเชียร์สโมสรอื่นที่ตอบโจทย์ตัวตนของตัวเองมากกว่า
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เบอร์ลินเต็มไปด้วยสโมสรขนาดเล็กจำนวนมากที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมของตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันเบอร์ลินยังคงเป็นเมืองที่มีทีมฟุตบอลอาชีพมากที่สุดในประเทศเยอรมนี
นอกจากนี้นี่ยังเป็นการเปลี่ยนมุมมองของชาวเบอร์ลินต่อฟุตบอล สำหรับคนที่นี่ถ้วยแชมป์ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการได้มีสโมสรฟุตบอลที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น อูนิโอน เบอร์ลิน ทีมของชนชั้นแรงงานที่การคว้าถ้วยแชมป์ไม่ได้สำคัญเท่าการที่พวกเขาได้แสดงพลังของเหล่าแรงงานผ่านการร่วมปรับปรุงสนามเหย้าของทีมด้วยน้ำมือของแฟนบอลที่มาร่วมมือร่วมใจกันล้วน ๆ
ประกอบกับว่าเบอร์ลินคือเมืองที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางสังคมเต็มไปหมด ก็ยิ่งทำให้แฟนบอลทุกคนมีทางเลือกที่จะหาทีมฟุตบอลที่ตรงใจของตัวเองโดยไม่ต้องผูกมัดกับทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
เมื่อความสำเร็จไม่ใช่สิ่งสำคัญในสายตาแฟนบอลรุ่นใหม่แต่เป็นการแสดงออกทางอัตลักษณ์ (ชนิดที่เรียกว่า คนเชื้อสายตุรกีอพยพในเบอร์ลินจะไม่เชียร์ทีมฟุตบอลในเบอร์ลิน แต่จะมีทีมโปรดเป็นทีมที่ตุรกีโดยไปสนับสนุนตามต้นตระกูลของตัวเอง) ยิ่งส่งผลเสียให้กับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน เพราะสโมสรแห่งนี้ไม่ได้มีตัวตนพิเศษอะไรทั้งด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และสังคม ที่จะเป็นหมัดเด็ดในการสร้างแฟนบอลของตัวเอง
สุดท้ายแล้ว แฮร์ธ่า เบอร์ลิน จึงกลายเป็นสโมสรที่ขาดการสนับสนุนในแบบที่ควรจะได้รับมาตลอด เมื่อรู้ตัวอีกทีสโมสรแห่งนี้ก็ไม่ใช่ทีมที่จะไปลุ้นสร้างความสำเร็จเหมือนกับทีมชั้นนำทีมอื่นอีกแล้ว
ช่างมันถ้วยแชมป์ เราไม่แคร์ !
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้เป็นยักษ์เมืองหลวงที่ฟื้นคืนชีพ นั่นคือกฎ 50+1 ของลีกฟุตบอลเยอรมัน
ปกติแล้วทีมในเมืองหลวงของประเทศใหญ่ในยุโรปจะดึงดูดการลงทุนด้วยเงินก้อนโตเสมอ ทั้ง เชลซี, ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ที่ต่างได้เกิดใหม่เพราะมีนักลงทุนเข้ามา แต่สำหรับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน กฎ 50+1 ทำให้ไม่มีนักลงทุนสามารถมาอัดเงินก้อนโตเพื่อปลุกสโมสรแห่งนี้ให้ฟื้นคืนชีพได้
ยิ่งประกอบกับแฮร์ธ่าไม่ใช่ทีมที่มีแฟนบอลมากมายนัก สโมสรจึงไม่ได้มีรายได้ที่จะไปต่อกรกับทีมอื่นในเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นทีมที่มีแฟนบอลจำนวนมากอย่าง บาเยิร์น, ดอร์ทมุนด์ หรือ ชาลเก้ รวมถึงทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่อย่าง ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น, โวลฟส์บวร์ก และ แอร์เบ ไลป์ซิก
การไม่มีโอกาสสร้างทีมขึ้นไปต่อสู้ทำให้แฮร์ธ่าไม่เคยพบกับจุดเปลี่ยนที่จะสร้างทีมให้ขึ้นมาประสบความสำเร็จได้เสียที ถึงขนาดที่ว่าหากจะหาเหตุผลว่าทำไม แฮร์ธ่า เบอร์ลิน จึงเป็นทีมจากเมืองหลวงแต่ไม่เก่ง แฟนบอลเยอรมันจำนวนไม่น้อยก็จะตอบคำถามนี้ด้วยคำตอบที่เรียบง่ายและแทบไม่ต้องการการอธิบายเพิ่มเติม นั่นคือ "แฮร์ธ่าแค่เกิดมาเป็นทีมที่ห่วยแตก"
แม้ว่าในปี 2019 ที่ผ่านมา ลาร์ส วินด์ฮอสต์ (Lars Windhorst) มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Sapinda Group (ปัจจุบันคือ Tennor Holding) จะเข้ามาซื้อหุ้นสโมสรเพื่อช่วยอัดฉีดเงินให้กับทีมเพื่อหวังสร้างรากฐานตามแผนงาน นั่นคือสักวันต้องขึ้นไปสู่กับ บาเยิร์น มิวนิค ให้ได้ แต่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ไม่เคยใกล้เคียงกับจุดนั้นเลย หนำซ้ำยังต้องหนีตกชั้นอยู่ทุกฤดูกาลอีกด้วย
ดูเหมือนว่าความสำเร็จที่ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน รอจะไม่มีอยู่จริง แต่แฟนแฮร์ธ่าจำนวนไม่น้อยก็ภูมิใจและออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต่อให้เป็นทีมที่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับสโมสรอื่นจากเมืองหลวงในยุโรปแต่พวกเขาก็ไม่เคยสนใจ เพราะสโมสรแห่งนี้ผ่านเวลามากว่าร้อยปีและเป็นหนึ่งในทีมที่ร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง ซึ่งแฟน ๆ ก็ภูมิใจในจุดนี้ได้
เพราะในทุกวันนี้ ต่อให้ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน จะไม่ใช่ทีมใหญ่ในเยอรมัน แต่แฟนบอลของแฮร์ธ่าก็ยืนยันว่า นี่คือทีมความภูมิใจของเบอร์ลิน นี่คือทีมที่อยู่คู่กับเมืองและชาติเยอรมันมาแล้วในทุกสถานการณ์
นอกจากนี้ในช่วงการรวมประเทศเยอรมันใหม่อีกครั้ง และการทำลายกำแพงเบอร์ลินในช่วงยุค 90s ได้มีชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนนับหมื่นแห่กันเข้ามาในสนามแล้วเชียร์ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเป็นสโมสรที่อยู่คนละประเทศที่ไม่มีทางข้ามกำแพงมาเชียร์ทีมรักได้ แต่ชาวเยอรมันตะวันออกก็ยังมอบใจให้กับสโมสรจากฝั่งตะวันตกอย่าง แฮรธ่า เบอร์ลิน
ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ไม่ใช่ทีมที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ทีมที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล ไม่ใช่ทีมที่มีแฟนบอลจำนวนมาก แต่สุดท้ายแฮร์ธ่าก็สามารถหาจุดที่สโมสรแห่งนี้ได้แสดงคุณค่ามหาศาลให้กับแฟนบอลของพวกเขาที่พร้อมจะเชียร์ทีมนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพียงแค่นี้ก็ถือว่า แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ประสบความสำเร็จมากแล้วหากมองจากจุดที่พวกเขายืนอยู่
แหล่งอ้างอิง
https://www.footballhistory.org/club/hertha.html#:~:text=Hertha%20BCS%20is%20one,Pokal%2C%20or%20a%20European%20title.
https://www.youtube.com/watch?v=IF_1k_0ACj8
https://www.bigsoccer.com/threads/why-is-berlin-not-a-powerhouse.1133401/
https://web.archive.org/web/20050223023200/http://www.hertha.de/index.php?id=1315
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/hertha-berlin-tourism-shop-tickets-stadium-jersey-watch-buy-5479
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Gazprom : บริษัทพลังงานรัสเซียกับการขยายอำนาจผ่านฟุตบอล ที่ซ่อนเกมการเมืองอยู่เบื้องหลัง | Main Stand
- ตลาดซื้อขายนักเตะ พรีเมียร์ลีก 2022/23 สรุปการย้ายทีม อัปเดตล่าสุด
- รวมข่าวการซื้อขายนักเตะ พรีเมียร์ลีก ข่าวการย้ายทีม ตลาดนักเตะบอล 2022/23
-------------------------------------------------
ดูสด ดูฟรี ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ... พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม
ต้อง App TrueID เท่านั้น โหลดเลย!!
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่
อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก
หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก