รีเซต
วิเคราะห์ลิเวอร์พูล ไปกับ "วิเคราะห์บอลจริงจัง" กับการเดินทาง 30 ปี จนถึงวันที่ได้แชมป์ลีก

วิเคราะห์ลิเวอร์พูล ไปกับ "วิเคราะห์บอลจริงจัง" กับการเดินทาง 30 ปี จนถึงวันที่ได้แชมป์ลีก

วิเคราะห์ลิเวอร์พูล ไปกับ "วิเคราะห์บอลจริงจัง" กับการเดินทาง 30 ปี จนถึงวันที่ได้แชมป์ลีก
เมนสแตนด์
29 กรกฎาคม 2563 ( 14:30 )
251

"วิเคราะห์บอลจริงจัง" คือหนึ่งในเพจฟุตบอล ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จากคอลูกหนังชาวไทย กับการบอกเล่าเรื่องราวของกีฬาฟุตบอล ผ่านการค้นหาข้อมูล วิเคราห์เรื่องราว สะท้อนแง่มุมให้กับผู้อ่าน


 

นอกจากหลงใหลในกีฬาฟุตบอล จนต้องลุกขึ้นมาทำเพจของตัวเอง กระทั่งประสบความสำเร็จ กลายเป็นนักเขียน ที่มีหนังสือเป็นของตัวเอง แต่อีกด้านของ "วิศรุต สินพงศพร" เขายังคงเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลธรรมดาคนหนึ่ง ที่รอคอยหวังเห็นทีมรัก กลับไปคว้าแชมป์ลีกสูงสุด ที่ห่างหายไปยาวนานร่วม 30 ปี

ระยะเวลา 3 ทศวรรษ จากวันแรกที่พลาดแชมป์ สู่วันแรกที่กลับมาเป็นแชมป์ มีแง่คิด และเรื่องราวมากมาย ที่สะท้อนผ่านการเดินทางไกล ของสโมสรลิเวอร์พูล ที่จะนำมาถูกบอกเล่า ผ่านมุมมองที่ถูกวิเคราะห์อย่างจริงจัง ของ วิศรุต สินพงศพร

 

ก่อนเข้าสู่ยุคตกต่ำในช่วงยุค 90s เหตุใดลิเวอร์พูลจึงถือครองความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลอังกฤษ ในช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น

ต้องย้อนเล่าไปถึงยุคของ บิล แชงค์ลีย์ (ผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูลยุค 60s จนถึงต้น 70s) เขาวางรากฐานไว้ให้กับลิเวอร์พูล ทั้งในแง่ของการทำทีม ด้วยการเน้นเรื่องสปิริตทีม ความกล้าที่จะดึงนักเตะมาเสริมทัพ ถึงจะมีราคาแพง สิ่งสำคัญคือการที่เขาพยายามสืบทอดความสำเร็จ ด้วยการวางแนวทางให้กับคนรุ่นถัดไป ที่รู้จักกันในชื่อ The Boot Room (เดอะบูตรูม)

บ็อบ เพลสลีย์, โจ เฟแกน ล้วนเป็นสมาชิกของ The Boot Room เหมือนกับว่า ลิเวอร์พูลในตอนนั้น หาสูตรสำเร็จของทีมเจอ และส่งต่อผ่านสมาชิก The Boot Room ซึ่งแต่ละคนถูกวางตัวไว้แล้วว่า จะต้องขึ้นมาสืบทอดทีม ในช่วงเวลาหนึ่ง ทีมจึงถูกสร้างอย่างเป็นรูปแบบ และต่อเนื่อง แม้แต่ เคนนี ดัลกลิช ก็เป็นคนที่ถูกวางตัวไว้ให้ขึ้นมาคุมทีม

 


 

จุดเริ่มต้นความเสื่อมถอยของลิเวอร์พูล เริ่มต้นที่จุดไหน

ผมมองว่าเริ่มที่โศกนาฏกรรมเฮย์เซล ปี 1985 ที่ทำให้ลิเวอร์พูลถูกแบนจากฟุตบอลยุโรป 6 ปี จริง ๆ ทีมอื่นในอังกฤษโดน 5 ปี แต่ลิเวอร์พูลในฐานะทีมก่อเรื่อง โดน 6 ปี … สิ่งสำคัญคือภาพลักษณ์ของลิเวอร์พูล ดูแย่ลงหลังจากนั้น นักเตะหลายคนไม่กล้าย้ายมาลิเวอร์พูล เพราะมองว่าทีมภาพลักษณ์ไม่ค่อยดี ส่วนการไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรป ทำให้นักฟุตบอลต่างชาติ ไม่ค่อยอยากมาเล่นที่อังกฤษ ต้องการไปเล่นลีกอื่นมากกว่า

พอเวลาผ่านไป คุณภาพนักเตะของลิเวอร์พูล ค่อย ๆ ดร็อปลงอย่างช้า ๆ แต่ไม่ส่งผลกับลิเวอร์พูล ในช่วงเวลานั้นเท่าไหร่นัก 

อีกจุดเปลี่ยนหนึ่ง คือการเกิดโศกนาฏกรรมฮิลล์โบโร ปี 1989 ตรงนี้ผลไปกระทบกับสภาพจิตใจ ของ เคนนี ดัลกลิช ทำให้เขาลาออกอย่างกระทันหัน จากตำแหน่งผู้จัดการทีม ในปี 1991

ทำให้ทีมต้องหาผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาแทน ซึ่งปกติแล้วลิเวอร์พูล จะมีการวางตัวผู้จัดการทีม ที่จะมาสืบทอดไว้อย่างชัดเจน แต่พอดัลกลิชลาออก ทีมไม่ได้วางตัวแทนเอาไว้ล่วงหน้า ทำให้การทำทีมที่เคยต่อเนื่อง ขาดหายไป อย่างการเข้ามาทำทีมต่อของ แกรม ซูเนสส์ ซึ่งทีมไม่ได้เลือกให้เป็นผู้สืบทอด ตำแหน่งผู้จัดการทีมตั้งแต่แรก ทำให้ทีมเสียสมดุล 

 

ช่วงเวลาที่ลิเวอร์พูลเริ่มไม่ได้แชมป์ลีก ฟุตบอลอังกฤษเริ่มเปลี่ยนผ่าน เป็นธุรกิจมากขึ้น ตรงนี้ส่งผลกระทบกับลิเวอร์พูลหรือไม่

การเปลี่ยนจากดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีก ทำให้เม็ดเงิน ธุรกิจ เข้ามามีบทบาทกับฟุตบอลอังกฤษ สิ่งที่ตามมาคือเทรนด์ฟุตบอล มันเริ่มเปลี่ยนไป คือชาวต่างชาติ เริ่มเข้ามามีบทบาทในลีกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ หรือ ผู้จัดการทีม

ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรอนุรักษ์นิยม ยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง ก่อนหน้านี้ทีมยึดมั่นแนวทางของ The Boot Room มาตลอด ทีมจึงไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง

ซึ่งพอเข้าสู่ยุค 90s ฟุตบอลอังกฤษโบราณ ระบบ 4-4-2 บุกออกปีก ใช้บอลโยน ตอนนั้นตกยุคไปแล้ว เพราะฟุตบอลภาคพื้นยุโรป พัฒนาไปไวมาก มีแนวทางการเล่นใหม่ ๆ ตำแหน่งการเล่นแบบใหม่ ผู้เล่นสไตล์ใหม่ เกิดขึ้นมากมาย แต่ลิเวอร์พูลยังยึดติด กับแนวทางการเล่นแบบ 4-4-2 ซึ่งหลายสโมสรในยุโรป พัฒนาไปไกลมาก

สโมสรในอังกฤษ พยายามจะปรับตัวตาม ด้วยการดึงนักเตะต่างชาติเข้ามา ทั้ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล หรือ เชลซี แต่ลิเวอร์พูล ยังไม่เน้นการซื้อผู้เล่นต่างชาติ ยึดติดกับนักเตะจากสหราชอาณาจักรเป็นหลัก 

เหมือนกับว่าทีมอื่นเดินนำหน้าลิเวอร์พูลไปก่อน กว่าที่ลิเวอร์พูลจะตั้งตัวได้ ทีมอื่นเดินหน้าไปไกลแล้ว ขนาดตอนดึง เชราร์ อุลลิเยร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมนอกสหราชอาณาจักรคนแรก ทีมยังเลือกให้เป็นผู้จัดการทีมร่วมกับ รอย อีแวนส์ สมาชิกคนสุดท้ายจาก Boot Room เลย ทั้งที่ตอนนั้นปี 1998 สโมสรอื่นเดินหน้าในแนวทางนี้ไปไกลแล้ว

ต้องยอมรับว่า ลิเวอร์พูลเป็นสโมสรที่ ยึดติดเรื่องของประเพณีดั้งเดิม ความเป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งทุกวันนี้ลิเวอร์พูลก็ยังเป็นอยู่ และมันสะท้อนลงไปใน่สนามฟุตบอล ขณะที่ทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นทีมที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้ตามกระแสอยู่ตลอด

ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่โลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และโลกฟุตบอลคุณต้องตามให้ทันตลอดเวลา ไม่งั้นจะถูกแซง คือลิเวอร์พูลยังคงเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าสโมสรอื่นเขาเดินไปได้เร็วกว่า เท่านั้นเอง

 


 

เหตุใดการดึงชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน จึงมีความสำคัญกับฟุตบอลอังกฤษ ในยุค 90s

ในความคิดของผม ฟุตบอลอังกฤษ มีความมั่นใจในตัวเองสูง ตอนผมไปอังกฤษครั้งแรก ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมไปอ่านข่าวตามหนังสือพิมพ์อังกฤษ แทบไม่มีข่าวสารของฟุตบอลต่างประเทศเลย ถ้ามีก็น้อยมาก รายงานแค่ผลสกอร์ ซึ่งขนาด 10 ปีที่แล้ว ยังมีการรายงานข่าวบอลต่างชาติน้อยขนาดนี้ ย้อนไปในยุค 90s ฟุตบอลอังกฤษ จะรายงานผลฟุตบอลต่างประเทศน้อยขนาดไหน ?

ในทางตรงกันข้าม ฟุตบอลภาคพื้นยุโรป มีการรายงานข่าว ทำให้มีการพัฒนาให้ทันกันตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่ออกมา ฟุตบอลอังกฤษจึงตามหลัง ฟุตบอลยุโรป จึงต้องเรียนรู้จากฟุตบอลยุโรป

 

ลิเวอร์พูลดึงตัวเชราร์ อุลลิเยร์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามาทำทีม แต่เหตุใดผลงานของทีมยังไม่ดีขึ้น ภาพตรงนี้สะท้อนเรื่องราวอะไรบ้าง

ผมมองว่าลิเวอร์พูลในยุคของอุลลิเยร์ ทีมยังคงเน้นแนวทางดั้งเดิมของสโมสร คือการเน้นปั้นเยาวชนเป็นหลัก ใช้นักเตะในสหราชอาณาจักร ซึ่งอุลลิเยร์ได้เข้ามาทำทีม เพราะเขาเคยเป็นโค้ชทีมชาติฝรั่งเศส ชุดเยาวชนมาก่อน 

แต่ส่วนตัวผมมองว่า ลิเวอร์พูลยุคอุลลิเยร์ที่ผลงานทีมไม่ดี ส่วนหนึ่งเพราะอุลลิเยร์เก่งไม่พอ คือฟุตบอลยุคนั้น ไม่เหมือนกับปัจจุบัน ผู้จัดการทีมมีอำนาจสูงสุด ต้องทำทุกอย่าง ทั้งวางแผนซ้อม คุมทีม หานักเตะ ซื้อขาย เจรจากับนักเตะด้วยตัวเอง 

ปัญหาหลักของลิเวอร์พูลในยุค 90s คือเลือกผู้จัดการทีมไม่ถูกคน เพราะนี่คือตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของสโมสรฟุตบอล พอทีมเริ่มผิดพลาดตรงนี้ อย่างอื่นก็แย่ตามไปด้วย นักเตะที่ซื้อเข้ามาผลงานไม่ค่อยดี ถ้าย้อนดูนักเตะต่างชาติที่ย้ายเข้ามา ในยุคของอุลลิเยร์ ส่วนใหญ่แทบไม่อยู่ในความทรงจำ แม้แต่กับตัวผมที่เป็นแฟนลิเวอร์พูล 

จริง ๆ ลิเวอร์พูลยุคอุลลิเยร์ เรียกได้ว่าผู้เล่นตัวหลักของทีม เป็นอังกฤษเกือบหมด ... ขณะเดียวกันตัวของอุลลิเยร์ มีปัญหากับนักเตะภายในทีมอยู่บ่อยครั้งด้วย

ไม่ใช่ว่า จะไม่ให้เครดิตอุลลิเยร์นะ เขาทำทีมเต็มที่ ผลงานจริง ๆ ไม่ได้แย่ ติดท็อป 4 ตลอด แต่ถ้าจะหวังถึงการลุ้นแชมป์ลีกมันยาก เพราะทีมอื่นเก่งกว่ามาก และนักเตะของลิเวอร์พูลยังดีไม่พอ ซึ่งถ้านักเตะไม่ดีแต่อยากลุ้นแชมป์ คุณต้องมีโค้ชที่เก่งพอ ซึ่งผมมองว่า ผู้จัดการทีมคนแรกที่ลิเวอร์พูลเลือกได้ถูก คือ ราฟาเอล เบนิเตซ 

 


 

แต่การเข้ามาของ ราฟาเอล เบนิเตซ ลิเวอร์พูลยังคงไปไม่ถึงการคว้าแชมป์ลีก ?

ช่วงเวลาเดียวกับการมาของเบนิเตซ เทรนด์ฟุตบอลเริ่มเปลี่ยนไป บุคคลที่สำคัญที่สุดในสโมสรฟุตบอล เปลี่ยนจากผู้จัดการทีม เป็นเจ้าของสโมสร หรือ บอร์ดบริหาร 

เชลซี กลายเป็นทีมที่มีความสำเร็จมาก ในช่วงเวลานั้น เพราะเจ้าของทีมอย่าง โรมัน อบราโมวิช สนับสนุนทีมมาก ซื้อนักเตะให้ตามที่ผู้จัดการทีมต้องการ ทีมจึงเดินหน้า ล่าความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ถ้ามองตามความเป็นจริง ลิเวอร์พูลในช่วงเวลานั้น ไม่ได้เป็นทีมลุ้นแชมป์เต็มตัว ออกแนวลุ้นท็อป 4 มากกว่า การที่ทีมดึงเบนิเตซเข้ามา ส่วนตัวมองว่าทีมมองเรื่องความสำเร็จ ในฟุตบอลถ้วย ซึ่งเบนิเตซทำได้ดี การคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปี 2005 กับ เอฟเอ คัพ ในปี 2006 ด้วยขุมกำลังที่ดูไม่ค่อยดีแบบตอนนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จมาก รวมถึงการประคองทีมให้ไป แชมเปียนส์ ลีก

แต่สิ่งที่เบนิเตซต้องเจอปัญหามาตลอด ในฐานะผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล คือเรื่องการใช้เงิน การซื้อนักเตะ เพราะตอนที่เบนิเตซเข้ามา ทีมยังไม่ได้เปลี่ยนเจ้าของ ลิเวอร์พูลไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ต้องใช้เงินแบบตามมีตามเกิด 

เรื่องเงินกลายเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้ลิเวอร์พูล เปลี่ยนเจ้าของในปี 2007 ตอนนั้นเลือกกันอยู่นาน แต่สุดท้ายทีมมาเชื่อมั่นใน ทอม ฮิคส์ ที่สัญญาว่าจะนำเงินมาลงทุนกับสโมสร และมีประสบการณ์ในการทำทีมกีฬา ซึ่งตรงกับแนวทางของการทำทีมสโมสรฟุตบอลยุคใหม่ จึงขายทีมให้ ทอม ฮิคส์ กับ จอร์จ ยิลเล็ตต์ 

แต่กลายเป็นว่าเลือกผิด ทั้งสองคนไม่ได้นำเงินมาลงทุน ตามที่บอกไว้ตอนแรก ซึ่งที่ลิเวอร์พูลขายทีม ก็หวังจะได้เจ้าของที่เข้ามาสนับสนุน แบบโรมัน อบราโมวิช พอไม่เป็นตามที่คาดหวัง ทีมจึงไม่ได้พัฒนา ไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่องของ ทอม ฮิคส์ กับ จอร์จ ยิลเล็ตต์ เป็นภาพสะท้อนอีกรูปแบบหนึ่ง ของการมีเจ้าของเข้ามาเทคโอเวอร์ ทำทีมฟุตบอล จากที่ก่อนหน้านั้น คนจะเข้าใจว่า มีเจ้าของใหม่ จะต้องเข้ามาทุ่มเงินเป็นร้อยล้าน เพื่อซื้อนักเตะ แต่สองคนนี้เข้ามาทำทีมกีฬา ในฐานะธุรกิจหนึ่ง เน้นหวังผลกำไร ไม่ใช้เงินส่วนตัวในการเข้ามาบริหาร ให้สโมสรหารายได้ด้วยตัวเอง 

เบนิเตซเจอปัญหา เรื่องไม่ได้นักเตะที่เขาต้องการเยอะ เพราะบอร์ดไม่สนับสนุน อยากได้นักเตะใหม่ ต้องขายนักเตะเก่าออกไปก่อน เขาจึงไม่ได้สร้างทีมแบบที่ต้องการ พอเจอบ่อย ๆ ก็บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน

สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงของฟุตบอล ที่อำนาจตกไปอยู่กับเจ้าของทีม หรือบอร์ดบริหาร จะซื้อนักเตะต้องผ่านบอร์ด หรือบางครั้งบอร์ดเป็นฝ่ายหานักเตะมาให้ด้วยตัวเอง ถ้าบอร์ดบริหาร กับ ผู้จัดการทีม ทำงานไม่เข้าขากัน การประสบความสำเร็จเกิดขึ้นได้ยาก 

ท้ายที่สุด เบนิเตซแยกทางกับทีม เพราะว่าบอร์ดบริหารไม่สนับสนุนทีมอย่างที่ควรจะเป็น แต่ว่าย้อนไปตอนนั้น เบนิเตซโดนด่าเยอะมาก เพราะคนยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ คิดว่าเขาเป็นต้นเหตุความล้มเหลว ของลิเวอร์พูล

 

หลังจากยุคของราฟาเอล เบนิเตซ ทำไมลิเวอร์พูลจึงหันกลับมาใช้โค้ชชาวอังกฤษ ที่มาจากทีมเล็ก อย่าง รอย ฮ็อดจ์สัน

หลัก ๆ เป็นเรื่องของการเงิน รอย ฮ็อดจ์สัน ค่าจ้างถูก นักเตะที่อยากได้ ก็ราคาถูก ไม่เรียกที่จะเอานักเตะบิ๊กเนม ซึ่งแนวทางของฮ็อดจ์สัน ตรงกับแนวทางที่ผู้บริหารต้องการ เพราะว่าไม่อยากใช้เงิน

จุดนี้สะท้อนภาพว่า ฟุตบอลยุคใหม่ เรื่องเงินคือเรื่องสำคัญที่สุด ต่อให้ผลงานในสนาม จะดีหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าสโมสรบริหารการเงินได้ไม่ดี ท้ายที่สุดทีมก็จะพังอยู่ดี 

 

 

ลิเวอร์พูลเปลี่ยนแปลงเจ้าของ สู่มือของ จอห์น เฮนรี ในปี 2010 ปัญหาเรื่องเจ้าของทีมเริ่มดีขึ้น แต่เหตุใดลิเวอร์พูลยังคงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

ลิเวอร์พูลตอนนั้น ห่างไกลจากการเป็นแชมป์ลีก ผมมองว่าฟุตบอล ถ้าทีมจะเป็นแชมป์ ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ว่า ทีมดีพอที่จะเป็นแชมป์ แต่ลิเวอร์พูลไม่เคยไปอยู่จุด ที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น ไม่เหมือนกับ แมนฯ ยูไนเต็ด, แมนฯ ซิตี้ หรือ เชลซี

ยุคของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ทีมยังมองในเรื่อง การสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ทั้งการเอาโค้ชหนุ่มไฟแรงที่ผ่านการทำงานในทีมเล็ก หรือดึงนักเตะที่อายุน้อย มีฝีเท้าดี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเข้ามา มีแนวทางการทำทีมที่ค่อนข้างชัดเจน

ตรงนี้ผมมองว่า ลิเวอร์พูลหยิบไอเดียมาจาก ตอนดึง บิล แชงค์ลีย์ มาทำทีม ที่ไปหยิบเขามาจาก ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ในดิวิชั่น 2 ผมมองว่าลิเวอร์พูลกำลังตาหาโค้ชแบบนี้อยู่ ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง แต่คิดว่าเป็นคนที่ใช่ของสโมสร เป็นแนวทางการเลือกโค้ชแบบฟุตบอลอังกฤษยุคก่อน สุดท้ายลิเวอร์พูล ไม่สามารถทิ้งรากเหง้าของตัวเองไปได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน 

ลิเวอร์พูลองค์ประกอบลงตัว ในปี 2013-14 ทีมจึงได้ขึ้นมาลุ้นแชมป์ แต่ว่าถ้าถามผม ปีนั้นหลุยส์ ซัวเรส คือคนสำคัญ อย่างมาก ที่ทำให้ทีมมีลุ้นแชมป์ขนาดนั้น 

พอซัวเรสออกไป ผลงานของทีมจึงร่วงหล่นลง ผมคิดว่ามันสะท้อนเรื่องของ การทำงานในองค์กรว่า การมีคนเก่งแค่คนเดียว มีค่ามากกว่าคนธรรมดาหลาย ๆ คนรวมกัน อย่างการขาย หลุยส์ ซัวเรส ออกไป แล้วนำเงินไปซื้อนักเตะอย่าง มาริโอ บาโลเตลลี, อัลเบอร์โต โมเรโน, อดัม ลัลลานา, ลาซาร์ มาร์โควิช ประโยชน์ที่ได้มา ไม่เทียบเท่ากับการมีซัวเรส อยู่ในทีม

 

สุดท้ายเหตุใด ลิเวอร์พูลจึงมาประสบความสำเร็จในยุคของ เยอร์เกน คล็อปป์

ลิเวอร์พูล ในยุคของจอห์น เฮนรี คือสโมสรมีเจ้าของที่ดี ดูได้จากความสำเร็จที่เขาทำกับทีมเบสบอล บอสตัน เรดซ็อค ในสหรัฐฯ แต่ว่าทีมยังขาดโค้ชที่ใช่ คนที่จะพาทีมไปสู่ความสำเร็จ 

ผมมองว่า ลิเวอร์พูลตอนนั้น พร้อมทำทุกวิถีทาง ที่จะหาโค้ชระดับโลกมาคุมทีม ซึ่งจังหวะมันพอดี กับตอนที่เยอร์เกน คล็อปป์ กำลังว่างงาน และโชคดีที่สไตล์การทำงานของคล็อปป์ ที่เป็นอนุรักษ์นิยมด้านฟุตบอล เข้ากับแนวทางของลิเวอร์พูล

จริงๆ ต้องชมความกล้าของสโมสรที่จะตัดสินใจปลด เบรนแดน ร็อดเจอร์ส กล้าที่จะเสี่ยงไปดึงเอาคล็อปป์เข้ามาทำทีม และได้ตัวมาจริง ๆ

คล็อปป์เข้ามา ทำให้ภาพลักษณ์ของลิเวอร์พูลดีขึ้นมาก เขามีบารมี พิสูจน์ฝีมือและความสำเร็จมาแล้ว กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เป็นคนเข้าใจฟุตบอลสมัยใหม่ ปั้นนักฟุตบอลเก่ง สามารถคุมนักเตะในทีมได้อยู่

 

 

เยอร์เกน คล็อปป์ เข้ามาวางรากฐานให้ลิเวอร์พูล เริ่มประสบความสำเร็จได้อย่างไร 

สิ่งแรกที่คล็อปป์เข้ามาทำคือ เขาเปลี่ยนความคิดของนักเตะก่อน ให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าจะสู้ได้ทุกทีม ถ้าย้อนมองภาพในอดีต นักเตะของลิเวอร์จะขาดความมั่นใจในตัวเอง เจอทีมใหญ่แล้วจะคิดว่าสู้ไม่ได้ แม้แต่แฟนบอลก็คิดว่า ทีมไม่น่าจะชนะสโมสรใหญ่ได้

คล็อปป์พยายามใส่ความเชื่อมั่นตรงนี้ นักเตะต้องเชื่อว่าพวกเขาจะทำได้ แฟนบอลต้องเชื่อว่าทีมจะชนะได้ เพราะถ้าคุณไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ คุณไม่มีทางจะประสบความสำเร็จ

ลิเวอร์พูลก่อนคล็อปป์จะเข้ามา แฟนบอลที่แอนฟิลด์ถ้าทีมตามหลัง นาที 80 ขึ้นไป คนจะเริ่มเดินออกจากสนามแล้ว เพราะไม่คิดว่าทีมจะพลิกกลับมาได้ ตอนแรกที่คล็อปป์เข้ามา เขาตั้งเป้าว่า เขาจะทำให้แฟนบอลอยู่กับทีมจนจบเกม ไม่ออกจากสนาม เพราะทีมต้องสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย และเขาทำได้จริง ๆ

เพราะในปี 2016-17 ลิเวอร์พูลเจอทีมในบิ๊ก 6 ของอังกฤษ 10 นัด ไม่แพ้เลยแม้แต่นัดเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทัศนคติที่คล็อปป์ปลูกฝังให้ลูกทีมได้ผลจริง แต่กลายเป็นว่า ทีมไปสะดุดกับทีมเล็กแทน ปัญหากลายเป็นเรื่องของความสม่ำเสมอ

ลิเวอร์พูล จึงหันไปแก้ปัญหาด้วยการซื้อนักเตะเข้ามาเสริม ซึ่งตรงนี้ต้องให้เครดิตทีมอย่างมาก เพราะทีมสามารถหานักเตะที่เก่ง แต่ราคาถูกเข้ามาร่วมทีมได้เยอะ อย่างเช่น แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, ซาดิโอ มาเน, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม มาอยู่ในทีม พอซื้อตัวเข้าเป้า บอร์ดก็กล้าที่จะใช้เงิน เพราะเห็นแล้วว่าโค้ชเลือกนักเตะเป็น ผู้เล่นอย่าง เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค, อลีสซง เบคเกอร์ จึงตามเข้ามา 

เยอร์เกน คล็อปป์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในเรื่องการชนะใจบอร์ดบริหาร เหมือนกับว่า เราทำงานในบริษัทหนึ่ง ถ้าเราทำงานที่มอบหมายมา ได้สำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะยิ่งได้ความเชื่อใจ ให้ทำงานที่ใหญ่ขึ้น

คล็อปป์ก็เหมือนกัน เมื่อเขาซื้อตัวได้ถูก มาเล่นแล้วผลงานดี บอร์ดบริหารจึงกล้าที่จะให้คล็อปป์ใช้เงิน 

ผมมองว่าการจะสร้างทีมฟุตบอล ต้องผสานการหานักเตะเข้าทีมไว้ 3 รูปแบบ คือ ปั้นนักเตะเยาวชน, ซื้อนักเตะฝีเท้าดีแต่ราคาถูก และ ซื้อนักเตะบิ๊กเนม เข้ามาแก้ไขจุดอ่อน ซึ่งลิเวอร์พูลทำได้ดีทั้งหมด 

 

ฤดูกาล 2018-19 ลิเวอร์พูลได้ 97 แต้ม แต่ยังไม่ได้แชมป์ลีก เหตุใดฤดูกาลถัดมา ลิเวอร์พูลจึงแทบไม่เสริมนักเตะเข้าสู่ทีม

ผมเชื่อในคำนี้ "อะไรที่ไม่เสีย ก็อย่าไปซ่อม" ลิเวอร์พูลตอนนี้คือทีมที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องปรับอะไร แต่ที่ไม่ได้แชมป์ เพราะว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แค่ดีกว่า

ผมมองว่า จุดนี้เป็นการซื้อใจนักเตะของคล็อปป์ด้วย เขาต้องการแสดงให้เห็นว่า การพลาดแชมป์ไม่ใช่ความผิดของใคร ไม่มีนักเตะคนไหน ควรรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการสูญเสียตำแหน่งภายในทีม ปีที่แล้วไม่ได้ไม่เป็นไร ปีนี้เอาใหม่ 

อีกมุมหนึ่ง นักเตะก็มีประสบการณ์มากขึ้น และทีมเวิร์คของนักเตะก็ดียิ่งขึ้น

 

 

ฤดูกาล 2019-20 คือปีที่ลิเวอร์พูลปลดล็อคอาถรรพ์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง เรื่องราวการเดินทางกว่า 30 ปีของลิเวอร์พูล สะท้อนภาพอะไรบ้าง 

ผมมองว่าคนเรา ไม่รู้หรอกว่า วันไหนเราจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว อย่างตอนลิเวอร์พูลไม่ได้แชมป์ลีกปีแรก ใครก็เชื่อว่าเดี๋ยวกลับมาเป็นแชมป์ รู้ตัวอีกที ผ่านไป 30 ปีแล้ว สิ่งที่เราเรียนรู้ได้คือ เราต้องกระตุ้นตัวเองอยู่ตลอด อย่าชะล่าใจ 

อีกแง่หนึ่ง เรื่องของลิเวอร์พูลสะท้อนว่า มนุษย์สักคน ไม่มีทางจะเป็นผู้แพ้ไปตลอด ... บางทีโชคอาจไม่เข้าข้างเรา ความซวยเข้ามาหาตลอด อย่างลิเวอร์พูล ใครจะไปคิดว่าฤดูกาลที่แล้ว แมนฯ ซิตี้ จะชนะ 12 นัดรวด ทั้งที่สะดุดนัดเดียว ลิเวอร์พูลก็เป็นแชมป์ หรือปี 2014 ใครจะไปรู้ว่า เจอร์ราร์ดจะลื่น แม้กระทั่งปีนี้ยังมี COVID-19 ระบาด ชีวิตของลิเวอร์พูลเหมือนมีแต่ความซวยที่เข้ามาขัดขวาง ไม่ให้ทีมได้แชมป์มาตลอด

แต่สุดท้าย ถ้าใจของคุณไม่ยอมแพ้ ไม่มีสิ่งไหนมาหยุดคุณได้ ต่อให้ต้องใช้เวลานาน ต้องเจ็บปวด แต่สักวันเราจะบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ แต่คนที่แพ้ คือคนที่ยอมแพ้ไปก่อน 

ชีวิตมนุษย์ทุกคน ต้องเจอกับปัญหาตลอด แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่า เราจะยอมสู้กับมัน จนถึงท้ายที่สุดหรือเปล่า ซึ่งถ้าเราสู้ต่อ เรามีโอกาสจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าไม่สู้ ก็เท่ากับแพ้

 

-------------------------------------------------

ดูบอลสดพรีเมียร์ลีก ได้ฟรีทางช่อง ไอดี สเตชั่น ง่ายๆเพียงแค่สมัครสมาชิกทรูไอดีและล็อคอิน สมัครสมาชิกทรูไอดีได้ที่นี่ ก็สามารถดูบอลสดได้เลยทันที !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> กิพจัง วริยา : ลิเวอร์พูล กับความผูกผันผ่าน "เปียโน, เฮฟวี่เมทัลฟุตบอล"

>> แหม่!! แชมป์จนได้ : 5 ทศวรรษของการเป็นแฟนคลับลิเวอร์พูล "แอ๊ดดี้" วีรศักดิ์ นิลกลัด

– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station

– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่

– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้