รีเซต
Sports Profile : ประวัติ 'เมย์' รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันที่เก่งที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา

Sports Profile : ประวัติ 'เมย์' รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันที่เก่งที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา

Sports Profile : ประวัติ 'เมย์' รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันที่เก่งที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา
KiTTiSaK
11 มกราคม 2564 ( 16:00 )
9.4K

ประวัติและข้อมูลของ "เมย์" รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันสาวไทย ผู้เคยก้าวขึ้นไปครองแชมป์โลก และตำแหน่งมือ 1 ของโลก พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการแบดมินตันโลกต้องตะลึงมาแล้วนักต่อนัก



ข้อมูลส่วนตัว

  • ชื่อ : รัชนก อินทนนท์
  • ชื่อเล่น : เมย์
  • เกิด : 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538
  • อายุ : 26 ปี
  • ส่วนสูง : 168 เซนติเมตร

จุดเริ่มต้นเส้นทางแบดมินตัน

“เมย์ รัชนก” ย้ายตามครอบครัวจากร้อยเอ็ดเข้ามายังที่กรุงเทพ หลังจากคุณพ่อและคุณแม่ เข้ามาทำงานที่โรงงานทำขนมบ้านทองหยอดของ “แม่ปุก” กมลา ทองกร ซึ่งมีโรงเรียนและสโมสรแบดมินตัน “บ้านทองหยอด” เป็นของตัวเองด้วย

และด้วยความกลัวว่า น้องเมย์จะวิ่งเล่นซุกซนในโรงงานจนเกิดอันตราย แม่ปุกจึงจับ น้องเมย์ มาหัดเล่นแบดมินตันเมื่อตอนอายุประมาณ 6 ขวบ ซึ่งหลังจากหัดเล่นได้ 1-2 ปี เธอก็ลงแข่งขันครั้งแรกในรายการอุดรธานี โอเพ่น และคว้าแชมป์ได้ทันที 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

A post shared by @ratchanokmay


หลังจากนั้น รัชนกลงแข่งขันและได้แชมป์ระดับเยาวชนหลายรายการ พร้อมกับก้าวขึ้นไปสู่เวทีใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อปี 2550 ได้ลงแข่งรายการชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยด้วยวัยเพียง 12 ปี และคว้าเหรียญทองแดงมาครอง ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา น้องเมย์จะผงาดคว้าแชมป์ประเทศไทยในขณะที่อายุแค่ 14 ปีเท่านั้น

สร้างชื่อกระหึ่ม

ไม่เพียงแต่สร้างชื่อในประเทศเท่านั้น แต่ชื่อเสียงและความเก่งกาจของ รัชนก เริ่มขยายออกไปยังต่างประเทศ โดยตอนอายุ 13 ปี น้องเมย์ลงแข่งรายการ เยาวชนชิงแชมป์โลก และทะลุเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้าย 

จากนั้นปีต่อมา รัชนกได้แชมป์ระดับนานาชาติครั้งแรกในวัย 14 ปี ในรายการเวียดนาม อินเตอร์เนชันแนล ชาลเลนจ์ เมื่อปี 2009 และในปีเดียวกันนั้นเอง รัชนกก็สร้างชื่อกระหึ่มวงการแบดมินตัน ด้วยการผงาดคว้าแชมป์เยาวชนชิงแชมป์โลก 2009 ที่ประเทศมาเลเซีย พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์เยาวชนโลกด้วยวัยเพียง 14 ปี 


ณ ช่วงเวลานั้น กราฟของรัชนกถือว่าพุ่งแรงสุดๆ โดยในปี 2010 เธอสามารถคว้าแชมป์ในระดับกรังด์ปรีซ์ กรังด์ปรีซ์ โกลด์ ทั้งเวียดนาม โอเพ่น, อินโดนีเซีย กรังด์ปรีซ์ โกลด์, อินเดีย กรังด์ปรีซ์ โกลด์ และเข้ารอบลึกๆได้อีกหลายรายการ 

และที่สุดยอดคือ รัชนก สามารถป้องกันแชมป์เยาวชนโลกได้อีกในตลอด 2 ปีต่อมา นั่นเท่ากับว่า รัชนก ครองบัลลังก์แชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน ในปี 2009, 2010 และ 2011 ซึ่งเป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทำได้ และยังไม่มีใครทำได้เหมือนเธออีกเลยนับตั้งแต่นั้นมา

ผงาดคว้าแชมป์โลก

หลังจากครองความยิ่งใหญ่ในระดับเยาวชน รัชนกก็ค่อยๆยกระดับฝีมือขึ้นมาแข่งขันในเวทีที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับอันดับโลกที่ไต่สูงขึ้นตามลำดับ โดยสามารถขึ้นมารั้งมือ 9 ของโลกหลังจบปี 2012

ต่อมาในปี 2013 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ รัชนก ต้องจดจำ เมื่อเธอได้แชมป์ระดับซูเปอร์ซีรีส์เป็นครั้งแรก ในรายการอินเดีย โอเพ่น และทำสถิติเป็นแชมป์ซูเปอร์ซีรีส์อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นด้วยวัย 18 ปี 2 เดือน กับอีก 22 วัน


จากนั้น รัชนก ได้ลงแข่งศึกใหญ่อย่างรายการ “ชิงแชมป์โลก” เป็นครั้งแรก และสร้างความตกตะลึงให้กับวงการแบดมินตันอีกครั้ง เมื่อเธอผงาดครองแชมป์โลก 2013 ที่ประเทศจีน ด้วยการปราบ หลี่ เสี่ยวเร่ย มือ 1 ของโลกในขณะนั้น ในรอบชิงชนะเลิศ ชนิดที่แฟนเจ้าถิ่นตกตะลึงไปตามๆกัน

นั่นทำให้ รัชนก กลายเป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้สัมผัสตำแหน่ง “แชมป์โลก” พร้อมกับทำสถิติเป็นแชมป์โลก ประเภทเดี่ยว ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยวัยแค่ 18 ปีเท่านั้น ก่อนจะจบปี 2013 ด้วยการทะยานขึ้นมารั้งมือ 3 ของโลกอย่างยอดเยี่ยม 


ทะยานสู่มือ 1 โลก

จากนั้นปี 2014-2015 รัชนกมีช่วงที่ฟอร์มขึ้นๆลงๆบ้างสลับกันไป แต่ก็ยังมีทัวร์นาเมนต์สร้างชื่อคือการเป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่ได้แชมป์เอเชีย เมื่อเดือนเม.ย. 2015 จากนั้นมาได้แชมป์อินโดนีเซีย โอเพ่น ในเดือนมิ.ย. 2015 

กระทั่งปี 2016  รัชนกกลับมาระเบิดฟอร์มโหดอีกครั้ง โดยสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันคนแรกที่ได้แชมป์ซูเปอร์ซีรีส์ 3 รายการรวดในช่วง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ที่อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นั่นส่งผลให้ชื่อของ “รัชนก อินทนนท์” ในวัย 21 ปี ทะยานขึ้นไปครองตำแหน่งนักแบดมินตัน มือ 1 ของโลกได้อย่างยิ่งใหญ่


ต่อมา รัชนกได้ติดธงไตรรงค์ลุยศึกแบดมินตัน โอลิมปิก 2016 ก่อนจะจอดป้ายที่รอบ 16 คนสุดท้าย เมื่อพ่ายต่อ อากาเนะ ยามากูชิ จากญี่ปุ่น ซึ่งหลังจบโอลิมปิก รัชนกประสบปัญหาอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า ทำให้ต้องพักและพลาดลงแข่งขันไปหลายรายการ จนหล่นมาเป็นมือ 5 ของโลกในตอนสิ้นปี 2016

หลังจากนั้น ฟอร์มของเมย์อาจจะไม่ได้ถึงขั้นเปรี้ยงปร้างต่อเนื่องมากนัก แต่ก็ยังมีแชมป์ให้แฟนๆชาวไทยได้เฮกันทุกปี ขณะเดียวกัน รัชนก ยังเป็นที่ชื่นชมของแฟนกีฬาทั่วโลกจากบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตน โดยน้องเมย์มักจะ “ยกมือไหว้” ทุกคนในสนาม ทั้งผู้ชม ผู้ตัดสิน คู่ต่อสู้ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะลงแข่งขันในไทย หรือในต่างประเทศก็ตาม


ส่วนอันดับโลก รัชนกยังรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ค่อนข้างดี โดยอาจจะมีขึ้นบ้างลงบ้าง แต่ก็เกาะกลุ่มอยู่ในอันดับท็อป 10 มาโดยตลอด โดยปัจจุบัน เธอรั้งอันดับ 5 ของโลก และยังคงเป็นอันดับสูงสุดของนักแบดมินตันสาวไทย ตามด้วย “ครีม” บุศนันท์ อึ๊งบำรุงพันธ์ และ “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ซึ่งรั้งมือ 12 และ 13 ของโลกตามลำดับ จากการจัดอันดับครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ก่อนที่วงการแบดมินตันโลกจะต้องพักยาวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แชมป์และเกียรติประวัติ

  • แชมป์แบดมินตันชิงแชมป์โลก 2013
  • แชมป์แบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก 2009, 2010, 2011
  • แชมป์แบดมินตันชิงแชมป์เอเชีย 2015

  • แชมป์เวียดนาม อินเตอร์เนชันแนล 2009
  • แชมป์สมายลิง ฟิช อินเตอร์เนชันแนล 2010
  • แชมป์เวียดนาม โอเพ่น กรังด์ปรีซ์ 2010
  • แชมป์อินโดนีเซีย กรังด์ปรีซ์ โกลด์ 2010
  • แชมป์อินเดีย กรังด์ปรีซ์ โกลด์ 2011
  • แชมป์ไทยแลนด์ โอเพ่น 2013, 2017
  • แชมป์อินเดีย โอเพ่น 2013, 2016, 2019
  • แชมป์อินโดนีเซีย โอเพ่น 2015

  • แชมป์ไทยแลนด์ มาสเตอร์ส 2016
  • แชมป์มาเลเซีย โอเพ่น 2016
  • แชมป์สิงคโปร์ โอเพ่น 2016
  • แชมป์นิวซีแลนด์ โอเพ่น 2017
  • แชมป์เดนมาร์ก โอเพ่น 2017
  • แชมป์มาเลเซีย มาสเตอร์ส 2018, 2019
  • แชมป์อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส 2020
  • เหรียญทองประเภททีมหญิง ซีเกมส์ 2011, 2015, 2019
  • เหรียญเงินประเภททีมหญิง เอเชียนเกมส์ 2010
  • เหรียญเงินประเภททีมหญิง อูเบอร์คัพ 2018

  • รางวัลนักแบดมินตันดาวรุ่งยอดเยี่ยมปี 2009 จากสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF)
  • รางวัลนักกีฬาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลกปี 2010 จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)
  • รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยุวชนหญิงยอดเยี่ยม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ปี 2552 และ 2553
  • รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554, 2556 และ 2558 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> Sports Profile : ประวัติ "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตดาวยิงและโค้ช ทีมชาติไทย

>> Sports Profile : ประวัติ อุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน แข้งไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เจลีก

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้

 



ยอดนิยมในตอนนี้

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี