รีเซต
มาสเคราโน่ - เตเวซ : ดีลที่ทำให้โลกฟุตบอลรู้จักโครงสร้างธุรกิจแบบบริษัทเจ้าของร่วม | Main Stand

มาสเคราโน่ - เตเวซ : ดีลที่ทำให้โลกฟุตบอลรู้จักโครงสร้างธุรกิจแบบบริษัทเจ้าของร่วม | Main Stand

มาสเคราโน่ - เตเวซ : ดีลที่ทำให้โลกฟุตบอลรู้จักโครงสร้างธุรกิจแบบบริษัทเจ้าของร่วม | Main Stand
เมนสแตนด์
26 ตุลาคม 2563 ( 18:30 )
524

ปลายฤดูกาล 2006-07 เวสต์แฮม ลงเล่นเกมสุดท้ายของพรีเมียร์ลีกด้วยการบุกเยือน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยเป้าหมายเดียวคือ "ต้องชนะเพื่ออยู่รอด" 


 

ในเกมวันนั้น คาร์ลอส เตเวซ ช็อคแฟนบอลปีศาจแดงใน โอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่กำลังรอฉลองแชมป์หลงจบเกม ด้วยการซัดประตูโทนและทำให้ ยูไนเต็ด พ่ายคารัง ... แต่ทีมที่เจ็บกว่านั้นคือ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด

ชัยชนะของ "ขุนค้อน" ทำให้ "ดาบคู่" ต้องกระเด็นตกชั้น ดูแล้วมันเหมือนจะเป็นวัฏจักรของฟุตบอล ทว่าเรื่องมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เมื่อสุดท้าย เชฟฯ ยูไนเต็ด ร้องขอความเป็นธรรมด้วยการเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านปอนด์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเป็นสมาชิกใหม่ในถิ่น อัพทัน พาร์ค ของ เตเวซ และ ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ คือการกระทำที่ผิดกฎอย่างชัดเจน

วันนี้เราจะย้อนคดีประวัติศาสตร์ที่ทำให้โลกฟุตบอลรู้จักคำว่า "เจ้าของมือที่ 3" เป็นครั้งแรก เวสต์แฮม ผิดจริงไหม ? ใครพา 2 นักเตะคนนี้มาอังกฤษ ? และท้ายที่สุด พรีเมียร์ลีกตัดสินอย่างไร ?

ติดตามได้ที่นี่ 

 

อีกมุมของโลกฟุตบอล

ฟุตบอลอังกฤษนั้นเป็นลีกอาชีพแบบเต็มใบ เป็นลีกที่เป็นเหมือนต้นแบบของอีกหลาย ๆ ลีกฟุตบอลบนโลกนี้ และนั่นเองทำให้กฎทุกอย่างที่พวกเขาวางไว้ ได้พยายามอุดช่องโหว่จนกลายเป็นกฎที่สามารถให้ความเป็นธรรมได้กับทุกฝ่าย 

แต่ใด ๆ ก็ตามทุกอย่างล้วนมีครั้งแรกเสมอ ในปี 2006 มีสิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยเจอ และไม่เคยได้วางกฎรับมือเอาไว้แบบ 100% ช่องโหว่เล็ก ๆ ช่องนั้น ถูกเปิดทางโดยกลุ่มธุรกิจที่ชื่อว่า Media Sports Investment (MSI) ที่อธิบายตนเองว่าเป็น "บริษัทกองทุนเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน" ทว่าเมื่ออยู่นอกแผ่นดินอังกฤษ MSI มีธุรกิจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการเป็นเอเย่นต์ในวงการฟุตบอล

พวกเขามีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับนักฟุตบอล ดูแลเรื่องการเจรจาสัญญาและการโยกย้ายต้นสังกัดและเอกสารทุกอย่าง เพื่อให้นักฟุตบอลทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ นั่นคือการเตะฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าด้วยความหลักแหลมของ เคีย จูรับเชียน ที่เห็นโอกาสบางอย่างในฟุตบอลบราซิลช่วงต้นยุค 2000s เมื่อการเงินของแต่ละทีมต่างระส่ำระสาย ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

สโมสรเหล่านี้เหมือนกับคนที่กำลังจะจมน้ำ ใครยื่นมือช่วยก็ต้องคว้าไว้ก่อน จะเจออะไรข้างหน้าพวกเขาไม่รู้ แต่ถ้าไม่ยอมคว้าไว้รับประกันได้เลยว่า "ตายแน่" 

จูรับเชียน พา MSI บุกแดนบราซิล ตามคำแนะนำของ ปินี่ ซาฮาวี่ ซูเปอร์เอเย่นต์รุ่นแรกของโลกฟุตบอล ดินแดนที่อุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีพร้อมส่งออกไปยังต่างแดน และหากว่าถ้าทำเป็น คอนเน็คชั่นแข็ง แม้การเงินไม่แข็งแรง แต่หานำนักเตะในทีมออกสู่ตลาดยุโรปได้ก็จะทำเงินครั้งมหาศาล และสโมสรที่พวกเขาเล็งไว้คือ โครินเธียนส์ ทีมระดับมหาอำนาจแดนแซมบ้า

MSI ตัดสินใจขอซื้อหุ้นสโมสร โครินเธียนส์ 51% เพื่อตั้งใจจะทำธุรกิจปั้นแล้วส่งออกแบบเต็มที่ นอกจากขอซื้อหุ้นแล้ว MSI ยังยื่นเงื่อนไขพร้อมเคลียร์หนี้ทั้งหมดที่สโมสรมี และขอแลกกับสิทธิ์ในการซื้อขายผู้เล่นในทีมแบบเต็ม 100% ด้วยวิธีของพวกเขาเอง 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น มาจากบริบทในช่วงต้นยุค 2000s ซึ่งราคานักเตะบราซิลที่ย้ายไปต่างแดนนั้นถูกมาก เพราะเป็นการซื้อขายกันระหว่างสโมสรโดยตรง และแน่นอนว่าสโมสรจากบราซิลย่อมเสียเปรียบในการเจรจากับสโมสรในยุโรป จึงทำให้พวกเขาได้ราคานักเตะได้ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น โรนัลดินโญ่ มีค่าตัวแค่ 5 ล้านยูโร เมื่อย้ายจาก เกรมิโอ ไป ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง และ ริคาร์โด้ กาก้า ที่ย้ายจาก เซา เปาโล ไป เอซี มิลาน ด้วยราคา 8 ล้านยูโร 

เมื่อเราลองเปรียบเทียบกับราคานักเตะจากลีกบราซิลในยุคนี้จะเห็นความแตกต่างชัดเจนมาก อาทิ โรดริโก้ โกเอส และ วินิซิอุส จูเนียร์ ที่ย้ายไป เรอัล มาดริด ด้วยราคา 40 ล้านยูโร ทั้ง ๆ ที่อายุแค่ 18 ปีเท่านั้น หรือจะย้อนไปอีกสักหน่อย นักเตะอย่าง ริชาร์ลิซอน ที่ย้ายไปอยู่กับทีมระดับล่างของพรีเมียร์ลีกอย่าง วัตฟอร์ด ก็ยังมีราคา 20 ล้านยูโร เลยด้วยซ้ำ 

ดังนั้นการที่ MSI ขอใช้สิทธิ์ในการซื้อขายนักเตะแบบเต็มระบบ ก็เพราะว่าพวกเขาอยากจะทำให้นักเตะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะดูเห็นแก่ตัวไปบ้าง แต่วิธีการของพวกเขาก็ทำให้องค์กร MSI และทีม โครินเธียนส์ รู้สึก "วิน" จากจำนวนเงินที่ได้ทั้งสิ้น 

ทุกอย่างเหมือนจะดูดี ทว่า MSI สอดไส้ข้อแลกเปลี่ยนไปว่า หากสโมสรได้กำไรไม่ว่าเท่าไรก็ตาม 51% ของกำไรทั้งหมดจะถูกหักเป็นของทาง MSI แต่เพียงผู้เดียว แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็บริหารสโมสรแบบซื้อมาขายไปจนทำกำไรได้ถึง 500% โครินเธียนส์ ก็ยิ้มรับส่วนแบ่งที่ได้มาโดยที่ไม่รู้ว่าเพาเวอร์ของระบบเอเย่นต์ในบราซิลนั้นทรงพลังมาก ลักษณะของ MSI ไม่ต่างอะไรกับการเป็นเจ้าของสโมสรเลย ...

ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่กับการเอากำไรจากสโมสรไปให้เอเย่นต์ แน่นอนว่ามันผิด แต่พวกเขาใช้วิธีเลี่ยงบาลีด้วยวิธีฉลาดแกมโกง โดยพวกเขาจะนำเงินทุนของตัวเอง อัดฉีดใส่สโมสรก่อนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และจากนั้นจึงให้สโมสรเอาเงินส่วนนั้นมาซื้อนักเตะอีกที ซึ่งเจ้าของเงินที่แท้จริงก็เป็นเจ้าของนักฟุตบอลไปโดยปริยาย 

และดีลที่ MSI โชว์ศักยภาพในการตัดสินใจของพวกเขาคือการดึงตัว คาร์ลอส เตเวซ ดาวรุ่งชาวอาร์เจนติน่าดีกรีแชมป์โอลิมปิกจาก โบคา จูเนียร์ส เข้าสู่ทีม โครินเธียนส์ ด้วยราคา 24 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าเป็นราคาการซื้อขายนักเตะที่สูงที่สุดในอเมริกาใต้ ณ เวลานั้น เท่านั้นยังไม่พอ MSI ยังปิดดีล ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ ห้องเครื่องจาก ริเวอร์เพลท คู่ปรับร่วมแดนฟ้าขาวมาอีกคน ในราคาราว ๆ 10 ล้านยูโร 

เจตนาครั้งนี้ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ พวกเขาทุ่มเงินซื้อ เตเวซ และ มาสเคราโน่ ก็เพราะว่า เมื่อทั้ง 2 คนย้ายมาอยู่กับ โครินเธียนส์ พวกเขาทั้งคู่ก็จะกลายเป็นสมบัติของ MSI ที่เป็นเจ้าของเงินแต่โดยดี ซึ่งนักเตะ 2 คนนี้ถูกวางตัวไว้ให้เป็นบ่อเงินบ่อทองที่จะมาซึ่งกำไรก้อนมหาศาลในอนาคต และทุกอย่างก็เริ่มขึ้นเมื่อทั้ง 2 คนจะได้ไปพรีเมียร์ลีก 

 

ดีลช็อคโลก

ช่วงเวลาที่ เตเวซ และ มาสเคราโน่ ลงเล่นให้กับ โครินเธียนส์ นั้น ทั้งคู่ต่างโดดเด่นอยู่แล้ว เพราะเป็นนักเตะฝีมือดี และระดับความแข็งแกร่งของลีกก็ต้องถือว่ายังห่างชั้นจากลีกชั้นนำในยุโรปพอสมควร ความโดดเด่นที่เตะตานำพามาซึ่งการติดต่อของหลากหลายทีมในยุโรป และเป็นทีมดัง ๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น เรอัล มาดริด เป็นต้น 

หากการซื้อขายเป็นไปตามกลไกเดิม คือสโมสรคุยกับสโมสร คงไม่แคล้วที่ เตเวซ และ มาสเคราโน่ จะต้องเป็นนักเตะของ มาดริด หรือทีมใหญ่อื่น ๆ ในไม่ช้า เพราะตัวนักเตะเองก็จะแฮปปี้กับการได้ไปเล่นให้ทีมใหญ่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตลาดซื้อขายช่วงซัมเมอร์ฤดูกาล 2006-07 กำลังใกล้จะปิดตัวลงกลายเป็นว่าม้ามืดที่ไม่เคยมีข่าวกับทั้งคู่อย่าง เวสต์แฮม สโมสรระดับกลางค่อนล่างของพรีเมียร์ลีก กลับคว้าตัวพวกเขาไปครองพร้อม ๆ กัน

ภาพข่าวการชูเสื้อวันเดอร์คิดพร้อมกัน 2 คน ก่อให้เกิดคำถามไปทั่วโลกฟุตบอล ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้เรื่อง MSI และระบบเอเย่นต์ครองตัวนักเตะเท่าไรนัก ความสงสัยจึงเกิดขึ้นว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้ เตเวซ และ มาสเคราโน่ ตัดสินใจย้ายมาค้าแข้งให้กับเวสต์แฮมแบบเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ เตเวซ ที่ยอมรับว่าเขาแทบไม่รู้จักสโมสรนี้เลยด้วยซ้ำก่อนจะมาเป็นสมาชิกของทีม 

หลายคนตีความไปต่าง ๆ นานา คิดว่า ดีลนี้เกิดจาก MSI นี่แหละ แต่เป็นการย้ายแบบไม่มีลับลมคมใน พวกเขาแค่ย้ายนักเตะจาก โครินเธียนส์ มายัง เวสต์แฮม ซึ่งเป็นทีมที่พวกเขากำลังคิดจะซื้อทีม หรือว่าง่าย ๆ การย้ายทีมครั้งนี้เป็นการส่งนักเตะให้ด้วยความเสน่หา เพื่อทำให้การซื้อสโมสรแห่งนี้ง่ายขึ้นในอนาคต ไม่ว่านักเตะจะเต็มใจหรือไม่ สุดท้ายก็ต้องย้ายเพราะ "ผู้ใหญ่คุยกัน" 

เมื่อย้ายมาร่วมทีมทั้ง เตเวซ และ มาสเคราโน่ ต่างก็ต้องพยายามอย่างมากในการปรับตัว พวกเขาไม่ใช่นักเตะเด่นในตอนแรก แถมยังมีข่าวลือว่า อลัน พาร์ดิว กุนซือของทีมออกอาการเซ็งพอสมควร เพราะเขาไม่อยากได้นักเตะ 2 คนนี้ เพราะไม่เข้าแท็คติก หนำซ้ำยังค่าเหนื่อยแพงจนปิดโอกาสซื้อตัวนักเตะคนอื่นอีกต่างหาก 

ในช่วงแรก เตเวซ กลายเป็นดาวยิงสากติดเท้า เขายิงประตูไม่ได้นานถึง 1,142 นาที ขณะที่ มาสเคราโน่ ยิ่งแล้วใหญ่ ได้ลงสนามแค่ 7 นัด แต่ไม่ได้โชว์ศักยภาพอะไรออกมาเลย ขณะที่สถานการณ์ของ เวสต์แฮม อยู่ในโซนตกชั้น และมีแต้มห่างจากโซนอยู่รอดถึง 10 คะแนน ซึ่งว่าตรง ๆ แล้วมันยากมาก 

การเปลี่ยนแปลงมาเริ่มขึ้นในอีกหลายเดือนให้หลัง เตเวซ ซัดประตูแรกให้กับทีมได้และเริ่มขึ้นมายึดตัวจริงโดยจับคู่กับ บ็อบบี้ ซาโมร่า ก่อนจะกลายเป็นตัวหลักในเวลาต่อมา ทว่าในเคสของ มาสเคราโน่ นั้นไม่ไหวที่จะปั้น พาร์ดิว เลิกให้โอกาสเขาลงสนาม จนทำให้ทาง MSI ส่งเขาให้กับ ลิเวอร์พูล ยืมตัว (MSI ได้เงินอีกประมาน 1.5 ล้านปอนด์จากการยืมตัวครั้งนี้)    

ซึ่งก่อนจะย้ายก็เกิดปัญหาอีก เพราะกฎว่าด้วยการย้ายทีมของฟีฟ่าระบุว่า ในรอบ 1 ปีปฏิทิน (กรณีนี้คือ 1 กรกฎาคม - 30 มิถุนายน ของปีถัดไป) แม้นักเตะสามารถขึ้นทะเบียนได้กับ 3 สโมสร แต่สามารถลงเล่นได้เพียง 2 สโมสรเท่านั้น ซึ่ง มาสเคราโน่ ได้ลงเล่นให้กับ โครินเธียนส์ และ เวสต์แฮม ไปแล้ว ทว่าพวกเขาก็เอาชนะกฎจากช่องโหว่เล็ก ๆ ด้วยการเลี่ยงบาลีอีกครั้งว่า เวสต์แฮม ได้ยกเลิกสัญญากับ มาสเคราโน่ ไปแล้วเช่นกัน นั่นทำให้นักเตะเป็นฟรีเอเย่นต์และสามารถย้ายทีมได้นั่นเอง 

ในกรณีของ มาสเคราโน่ นั้นจบลงไป แต่สำหรับเรื่องของ เตเวซ ต้องว่ากันต่อ เพราะเขาสร้างปรากฎการณ์ไว้มากมายเหลือเกิน 

 

จุดเริ่มต้นการปิดตำนานเจ้าของร่วม 

ปัญหาใหญ่คงไม่เกิดขึ้นหาก คาร์ลอส เตเวซ ไม่โชว์ฟอร์มระดับเทพและส่งเอฟเฟ็กต์กับหลายทีมในลีกขึ้นมา 

เตเวซ เริ่มฉายแสงกลายเป็นแข้งแห่งความหวังในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล เขากลายเป็นกองหน้าที่แบกทีมได้ ยิงประตูต่อเนื่อง จนสามารถช่วยลดช่องว่างจาก 10 แต้มให้เล็กลงเรื่อย ๆ สุดท้าย เวสต์แฮม ก็ได้ลุ้นรอดตกชั้นจนนัดสุดท้าย และอย่างที่เรารู้กัน เตเวซ ซัดประตูผีจับยัดให้ เวสต์แฮม บุกมาชนะถึง โอลด์ แทรฟฟอร์ด 1-0 ส่งผลให้ขุนค้อนเป็นผู้อยู่รอด ขณะที่ เชฟฯ ยูไนเต็ด ต้องรับกรรมตรงนั้นไป  

เรื่องทุกอย่างมาระอุจนเป็นปัญหามากขึ้น เพราะเมื่อฤดูกาลจบลง ดันมีข่าวว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องการซื้อตัว เตเวซ ทว่าการเจรจาครั้งนี้กลับการเป็นการเจรจาระหว่าง แมนฯ ยูไนเต็ด กับทาง MSI ไม่ใช่การคุยกับต้นสังกัดอย่าง เวสต์แฮม ... เมื่อนั้นเอง เชฟฯ ยูไนเต็ด ก็เปิดศึกขึ้นศาลเพื่อของความเป็นธรรม 

เรื่องนี้ทำให้ เชฟฯ ยูไนเต็ด โมโหมาก เนื่องจากพวกเขารู้ทั้งรู้ว่าการย้ายทีมของ เตเวซ นั้นผิดกฎข้อที่ 18 ของพรีเมียร์ลีก ที่ห้ามให้มีบุคคลที่ 3 หรือ Third Party มีอิทธิพลต่อการเป็นเจ้าของร่วมนักเตะ 

อันที่จริง เรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกมาพูดถึงแล้วก่อน เตเวซ จะมาที่ เวสต์แฮม ทว่าตอนนั้นยังไม่มีประเด็นมากนัก จากกฎที่ยังคลุมเครือเพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน แต่หนนี้ทาง เชฟฯ ยูไนเต็ด ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลกีฬาโลกสอบสวนการย้ายทีมของ เตเวซ อีกครั้ง สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการลงโทษคนที่ทำผิดกฎ และร้องขอให้พรีเมียร์ลีกทำการตัดแต้มเวสต์แฮม หากทาศาลกีฬาโลกสอบสวนแล้วว่า "ผิดจริง"  

เรื่องราวชุลมุนมาก เตเวซ จะย้ายไป แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ไม่ได้ แม้ฤดูกาลจะจบลงไปแล้วถึง 2 เดือน เพราะยังหาไม่ได้ว่าใครคือเจ้าของนักเตะที่แท้จริง ขณะที่ฝั่ง เวสต์แฮม กับ เชฟฯ ยูไนเต็ด ก็ต้องขึ้นศาลต่อสู้กัน แม้จะยากในส่วนของการตัดแต้มและทำให้ เชฟฯ ยูไนเต็ด รอดตกชั้น เพราะกฎของพรีเมียร์ลีกนั้นมีช่องโหว่ตั้งแต่แรก แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้จนกระทั่งหยดสุดท้าย ด้วยการขอเรียกร้องค่าชดเชยจาก เวสต์แฮม ถึง 50 ล้านปอนด์ เพราะเป็นเหตุทำให้ทีมของพวกเขาต้องตกชั้นไป  

การฟ้องร้องดำเนินต่อไปอีกนานเป็นปี ๆ สุดท้าย เวสต์แฮม ก็เลือกที่จะจบเรื่องนี้ด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับ เชฟฯ ยูไนเต็ด ไปเป็นเงินถึง 20 ล้านปอนด์ แบ่งจ่าย 5 ฤดูกาล ซึ่งถือเป็นการจ่ายค่าปรับที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ 

นอกจากนี้ พวกเขาไม่เคยได้เงินสักปอนด์จากการย้ายทีมของ คาร์ลอส เตเวซ เพราะสุดท้ายทาง MSI ก็ส่ง เตเวซ ให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ยืมตัวใช้งาน 2 ซีซั่น ด้วยค่าตัวราวปีละ 5 ล้านปอนด์ ก่อนที่จะขายขาดให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2009 ด้วยราคา 47 ล้านปอนด์ 

ขณะที่ทาง MSI ก็ต้องหมดเส้นทางทำกินในอังกฤษ เพราะกรณีของ เตเวซ กลายเป็นกรณีศึกษาที่นำมาซึ่งการปิดช่องโหว่ของ "บุคคลที่ 3" อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ธุรกิจในบราซิลก็โดนฟ้องด้วยในข้อกล่าวหา "ดำเนินการด้วยการใช้บัญชีต่างประเทศจำนวนมาก และเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากรที่ผิดกฎหมาย" ซึ่งทรัพยากรที่ผิดกฎหมายในที่นี้ก็คือ "นักฟุตบอล" นั่นเอง ที่สุดแล้วแม้จะมีการยกฟ้องในบั้นปลาย แต่ โครินเธียนส์ ก็ยกเลิกสัญญากับ MSI หลังจากนั้นไม่นานนัก

เรื่องความวุ่นวายทุกอย่างจบลง เหลือเพียงการเข้าตามตรอกออกตามประตูเท่านั้น ... ไม่เหลือช่องโหว่ให้คนหัวหมออีกต่อไป ... 

 

แหล่งอ้างอิง

https://footballpink.net/the-curious-case-of-tevez-and-mascherano-a-transfer-saga-worth-an-oscar/
https://www.theguardian.com/sport/david-conn-inside-sport-blog/2011/aug/23/carlos-tevez-legal-battle-revealed
https://en.wikipedia.org/wiki/Carlos_Tevez
https://en.wikipedia.org/wiki/Media_Sport_Investment
https://mgronline.com/sport/detail/9520000030094
https://thesefootballtimes.co/2015/05/30/when-tevez-and-mascherano-went-to-west-ham/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> แชมป์แห่งความใส่ใจ : เบื้องหลังแชมป์หญ้าสวยที่ไม่ใช่เรื่องตลกของ แมนฯ ยูไนเต็ด

>> หมดยุครุนแรง : เกิดอะไรกับลูกหนังสมัยใหม่ ที่ทำให้แข้งฮาร์ดแมนไร้ที่ยืน | Main Stand

 

ช่องดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ และกีฬาชั้นนำทั่วโลก >> คลิกที่นี่

ดูบอลพรีเมียร์ลีกฟรี ทุกสัปดาห์ ผ่านทาง ID Station >> คลิกที่นี่

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

ยอดนิยมในตอนนี้