ไทย บุกเจ๊า เกาหลีใต้ : ช้างศึก ค่อยๆ พัฒนา หรือ กำลังเจอกุนซือที่ใช่?
TNN ช่อง16
22 มีนาคม 2567 ( 09:15 )
159
นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่สำคัญของ ทีมชาติไทย ในการบุกไปไล่ตีเสมอ เกาหลีใต้ ได้ถึงกรุงโซล ด้วยสกอร์ 1-1 แบ่งแต้มกลับมาประเทศครั้งแรกในรอบ 26 ปี (บุกเสมอ 0-0 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1997)
มาซาทาดะ อิชิอิ ยอดโค้ชแดนซามูไร
ตรงนี้ ต้องยกความดีความชอบให้ มาซาทาดะ อิชิอิ หรือ “ลุงอิ” ยอดโค้ชแดนซามูไรที่รับงานเพียงไม่กี่เดือน ก็สามารถที่จะเสกสรรผลงานที่เป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่แมทช์ในวันนี้ แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนก่อน ในรายการ เอเชียน คัพ ก็เป็น อิชิอิ ที่พาทีมชาติไทยไร้พ่ายในรอบแบ่งกลุ่ม โดยชนะ คีร์กีซสถาน 2-0 เสมอ โอมาน 0-0 และเสมอ ซาอุดีอาระเบีย 0-0 (ก่อนที่จะไปพ่ายต่อ อุซเบกิสถาน 1-2) นอกจากนี้ยังต้องยกนิ้วให้กับนักเตะทีมชาติไทย และทีมงานทุกคน ที่ทุ่มเททำงานกันอย่างหนักเพื่อ 1 แต้ม ที่ล้ำค่าในบ้าน เกาหลีใต้
กระนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนี้ ทำให้สามารถตั้งคำถามได้ว่า “Thailand Way” อันเป็นแนวทางการพัฒนาทีมชาติด้วยแผนแม่บทระยะยาวที่ทำ ๆ กันมาร่วมทศวรรษนั้น แท้จริงยังสมควรที่จะกระทำสืบต่อไปหรือไม่?
ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง
หากศึกษาประวัติศาสตร์ฟุตบอล จะพบว่า เต็มไปด้วย “ปาฏิหาริย์” อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันหรือการประสบความสำเร็จ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในระดับทีมชาติ นั่นคือ ชัยชนะของทีมชาติไทยเหนือเกาหลีใต้ในการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1998 แม้ว่าทีมชาติไทยจะเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 9 คน ในสนาม แต่ก็สามารถยิงประตูชัยไปได้โดยใช้กฎโกลเดนโกล (Golden goal) หรือ กฎประตูทอง ซึ่งในขณะนั้นทีมชาติเกาหลีใต้เป็นทีมระดับที่เคยแข่งฟุตบอลโลก
นอกจากนี้ยังมีทีมชาติกรีซ ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2004 แน่นอน ไม่มีใครทราบถึงการพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศ หรืออัตราการส่งออกนักฟุตบอลไปลีกใหญ่ ๆ ให้ทายชื่อสโมสรฟุตบอลในเมืองเอเธนส์ยังไม่น่าจะมีใครทราบเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยการมีบรมกุนซือนาม ออตโต เรฮาเกล ที่มาพร้อม “เกมรับ” สุดเหนียวเคี้ยวยาก ก็ทำให้กรีซคว้าแชมป์ไปได้ชนิดที่เทพนิยายยังต้องซูฮก
หรือไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างเวียดนาม ที่ได้บรมกุนซือ “พัค ฮัง ซอ” กับสไตล์การเล่น “วิ่งสู้ฟัด” ตามแบบฉบับเกาหลี ทำให้สามารถไปไกลถึงรองแชมป์เอเชียในชุด ยู-23 และแชมป์ เอเอฟเอฟ คัพ ในปี 2018 หลังจากที่ขุนพลดาวทอง ร้างราความสำเร็จไปนาน ได้แต่มองดูเพื่อนบ้านอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผงาดง้ำค้ำอาเซียน
แน่นอน อะไรพวกนี้คือเรื่องของ “ความใช่” ประหนึ่งเจอคู่ชีวิตที่คลิ๊กกันพอดี แต่การเจออะไรที่ใช่ นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ “Random” อย่างมาก นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง (ไม่อย่างนั้นคงไม่เรียกว่าปาฏิหาริย์) อย่างกรีซ พอพ้นจากเรฮาเกลไปแล้ว ก็ค่อย ๆ ดำดิ่งลงเรื่อย ๆ (ทั้งในทางฟุตบอลและเศรษฐกิจ)
หรือแม้แต่คนที่ “เคยใช่” เมื่อกลับมาแล้ว ก็อาจจะไม่เหมือนเดิม อาจจะ “ไม่ใช่” อีกต่อไป อาทิ ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ขยันใช้งาน หลุยส์ ฟาน กัล กุนซือระดับตำนานของวงการฟุตบอล ในฟุตบอลโลก 2022 ก็ไม่อาจเสกสรรความมหัศจรรย์แบบที่เคยทำได้ในฟุตบอลโลก 2014 (ที่พาอัศวินสีส้มจบอันดับ 3) หรือ โยอาคิม เลิฟ ที่เคยพาเยอรมนีผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 แต่ต้องอำลางานคุมทีมชาติด้วยความอัปยศเมื่อปี 2018 มาแล้ว
ทำให้เรื่องแบบนี้ ไม่ต่างจากการ “จุดพลุ” ที่บทจะสว่างวาบ ก็แสบตา แต่เชื้อไฟนั้น ตามธรรมชาติอยู่ได้ไม่นาน แปป ๆ ก็สิ้นแสงลง
เน้นแผนพัฒนาระยะยาวเพื่อเป้าหมายยิ่งใหญ่
ตรงข้ามกับการถวิลหาคนที่ใช่ นั่นคือ “การสร้างทรัพยากร” ที่มั่นคงเป็นรากฐานให้แก่วงการฟุตบอล โดยสร้าง “อะคาเดมี” เพื่อปั้นน้อง ๆ เยาวชนขึ้นมาให้ได้มากที่สุด ด้วยหวังให้มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับรุ่นพี่ ๆ ที่รอวันโรยราไป
แต่อะไรพวกนี้ แน่นอนว่าเป็น “การลงทุนที่มาก และความเสี่ยงสูง” ให้คิดตามว่า การปั้นนักฟุตบอลเยาวชน เราไม่รู้ว่าเด็กพวกนี้ โตขึ้นไปจะการันตีเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ และจะมาปั้นจำนวนน้อย ๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องจ่ายค่าตอบแทน จ่ายค่าดูแลรักษา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เล่นเป็นอาชีพ (ตรงนี้ เสี่ยงกว่าปั้นดาราหลายเท่า เพราะดารา ปั้นจำนวนน้อย ๆ ได้) ตรงนี้คือ “ต้นทุน” ของผู้ที่คิดอยากทำธุรกิจฟุตบอลต้องแบกรับ
แต่ที่อยากให้คิดตาม นั่นคือ หากคิดจะปั้น แต่ยังไม่ทราบว่า “Pain Point” ของตนเองที่ต้องแก้ไขคืออะไร? ย่อมเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จ
อย่างของเกาหลีใต้ หากไปชมการเล่นของเขา จะแปลกใจว่า เหตุใด นักเตะแต่ละคนจึง “วิ่งสู้ฟัด” กันทั้งนั้น เขาทำได้อย่างไร? ตรงนี้ เป็นเรื่องของการที่ขุนพลพลังโสม “รู้เรา” ว่าอะไรคือจุดที่ต้องแก้ไข โดยพวกเขารู้มาเกือบครึ่งศตวรรษเข้าให้แล้ว
ในช่วงนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ได้พบทางออก “วิธีการเล่น” ในแบบของเขา ว่าจะให้ไปต่อบอลแบบละตินอเมริกา เด็กเราทำไม่ได้ จะให้ไปเปิดโหม่งแบบยุโรป เด็กเราก็ทำไม่ได้ ฉะนั้น ให้ใช้ “แรง” ตะลุยเข้าสู้ วิ่งบีบเข้าไปไม่มีเหน็ดเหนื่อย จนในท้ายที่สุด ปัจจุบันนี้ เกาหลีใต้สามารถอยู่ใน Top 30 ของโลกได้
แต่ตรงนี้เป็นดาบสองคม หา Pain Point ได้เร็ว ย่อมทำให้พัฒนาได้ถูกจุด แต่หากหาได้ช้าหรือหาไม่ได้เลย ย่อมเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ความพอดีอยู่ที่ใด
เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจจะได้ข้อสรุปว่า แท้จริง อาจไม่ต้องไป “เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” เพราะหากมีทรัพยากรดีมาแต่ต้น หรือรู้ว่ากำลังจะพัฒนาไปในทิศทางใด ย่อมเป็นรากฐานที่มั่นคง แม้จะไม่เจอคนที่ใช่ หรือมีคนที่ใช่อยู่กับตัว แต่รากฐานไม่มั่นคง ความสำเร็จที่ได้มาแม้จะฉาบฉวย แต่ก็คือความสำเร็จ ย่อมหอมหวานเสมอ แม้จะอยู่ไม่นานก็ตาม
แต่จะให้ดีที่สุด สองสิ่งนี้ต้องมา “บรรจบ” กันพอดี
ที่มาของข้อมูล
หนังสือ Football Goes East: Business, Culture and the People's Game in China, Japan and South Korea
บทความ The Study of Discourse on Change in South Korean Football: Between Tradition and Modernity, from Colonial to Post-Colonial
บทความ Nation, State and Football: The Korean Case
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เกาหลีใต้ VS ไทย 1-1 : ช้างศึกสุดยอด! บุกยันเจ๊า โสมขาว คัดบอลโลก
- ผลบอลและโปรแกรมฟุตบอล ทีมชาติไทย ชุดใหญ่-U23 ตลอดปี 2024 (ช่องดูสด)
- ผลบอลและโปรแกรมฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย (ช่องถ่ายทอดสด)
-------------------------------------------------
วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2023/24 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่!
เคล็ดลับการรับชมพรีเมียร์ลีกให้มันส์จุใจในทุกช่องทาง คลิกเลย!