รีเซต
Palace : แบรนด์แฟชั่นสเก็ตบอร์ดสุดจี๊ดจากอังกฤษ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการก้าวสู่ระดับโลก

Palace : แบรนด์แฟชั่นสเก็ตบอร์ดสุดจี๊ดจากอังกฤษ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการก้าวสู่ระดับโลก

Palace : แบรนด์แฟชั่นสเก็ตบอร์ดสุดจี๊ดจากอังกฤษ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการก้าวสู่ระดับโลก
เมนสแตนด์
7 ธันวาคม 2563 ( 17:30 )
277

“Since 19xx, Since 18xx, Since 17xx”


 

แบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่มักจะมีตัวเลขปีที่ก่อตั้งเหล่านี้กำกับไว้คู่กับโลโก้แบรนด์เสมอ เพื่อแสดงถึงความเก่าแก่ มีมนต์ขลัง ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าการที่แบรนด์สักแบรนด์จะก้าวจากจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ในเวทีระดับโลกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีปัจจัยหลายอย่างมาประกอบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว หนึ่งในนั้นคือเรื่องของเวลา 

อย่างไรก็ตามก็มีแบรนด์ระดับโลกจำนวนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งหลังจากผ่านเข้าสู่ยุคมิลเลเนี่ยมแล้ว และใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการประสบความสำเร็จ ... Palace Skateboard คือหนึ่งในนั้น

Palace Skateboard ทำอย่างไรถึงใช้เวลาไม่ถึงทศวรรษในการมาถึงจุดนี้ ติดตามเรื่องราวเหล่านั้นได้ที่ Main Stand

 

จิตวิญญาณแห่งลอนดอน

เรื่องราวของ Palace Skateboard เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นยุค 2000s ณ ย่าน วอเตอร์ลู เซาท์แบงค์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยย่านดังกล่าวถือเป็นย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม แตกต่างจากภาพการเป็นเมือง “ผู้ดี” ของลอนดอนอย่างสิ้นเชิง 


Photo : hypebeast.com

ย่านดังกล่าวคือสถานที่รวมตัวกันเพื่อเล่นสเก็ตบอร์ดของแก๊งที่มีชื่อว่า “Palace Wayward Boys’ Choir” หนึ่งในแก๊งที่มีชื่อเสียงและมีจำนวนสมาชิกเยอะที่สุดในประเทศอังกฤษ ทำให้ผู้คนต่างพากันขนานนามย่านนี้ว่า “The Palace”

“การเรียกย่าน วอเตอร์ลู ว่า The Palace มันคือการเสียดสี เพราะนี่คือย่านที่เสื่อมโทรม มีเด็กสเก็ต เต็มไปด้วยยาเสพติด ตรงกันข้ามกับความหรูหราของพระราชวังโดยสิ้นเชิง” เลฟ ทันจู กล่าวกับ The Guardian

ทันจู คือผู้ก่อตั้งแบรนด์ Palace Skateboard และเป็นสมาชิกแก๊ง Palace Wayward Boys’ Choir มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากครอบครัวของเขาเปิดร้านอาหารเล็กๆ อยู่ในละแวกใกล้เคียง ดังนั้นวัฒนธรรมการเล่นสเก็ตบอร์ดจึงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเขา...สำคัญที่สุดก็ว่าได้

ด้วยความที่เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์สูง ทันจู นี่แหละคือคนที่มักจะถ่ายวิดิโอการเล่นสเก็ตบอร์ดของแก๊ง Palace Wayward Boys’ Choir เผยแพร่ออกไปในช่องทางต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่วันหนึ่งเขาจะเกิดความคิดในการก่อตั้งแบรนด์สเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเองขึ้นมา


Photo : www.dazeddigital.com

“มีเพื่อนเราในแก๊งหลายคนที่สังกัดกับทีมสเก็ตบอร์ดทีมต่างๆ แต่พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีนัก ดังนั้นผมจึงคิดขึ้นว่าแล้วทำไมเราไม่ทำแบรนด์สเก็ตบอร์ดของตัวเอง สร้างทีมของตัวเองขึ้นมาเลยล่ะ”

“ถ้าโชคดีประสบความสำเร็จ ผมก็จะมีเงินในการนำพาตัวเองไปเล่นสเก็ตบอร์ดที่ไหนก็ได้ในโลก” ทันจู กล่าว

เมื่อความคิดในสมองถูกกลั่นออกมาผ่านการลงมือทำ Palace Skateboard ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2009 โดยในช่วงแรกจะเน้นไปที่การทำเสื้อผ้าล้อเลียนแบรนด์ชื่อดังอื่นๆ เช่น Versace หรือ Chanel และที่สำคัญคือแบรนด์ภายใต้การดูแลของ ทันจู กลายเป็น “บริษัทรวมเพื่อน” เหล่าชาวแก๊ง Palace Wayward Boys’ Choir ที่ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งก็ได้เข้ามาร่วมงานกับ Palace Skateboard ในส่วนต่างๆ เช่นการออกแบบ รวมไปถึงการกระจายสินค้า ดังนั้นนี่จึงเป็นแบรนด์ที่อัดแน่นไปด้วยอัตลักษณ์ของนักสเก็ตบอร์ดอย่างเต็มเปี่ยม

“เวลาที่พวกเรามีคอลเลคชั่นใหม่ ทุกคนในบริษัทก็จะมาล้อมวงกัน ดูมันไปพร้อมสบถออกมาว่า ตัวนี้เจ๋งว่ะ ตัวนี้ไม่เจ๋งเลย”

“ผมไม่ค่อยชอบเท่าไรที่จะนำเสนอออกไปว่าแบรนด์นี้คือของผม เพราะจริงๆ แล้วมันคือของพวกเราต่างหากล่ะ พวกเราในบริษัทคือเพื่อนที่สนิทกันมากว่า 20 ปี” ทันจู อธิบายกับ Hypebeast

ทันจู ใช้ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่เขามีอยู่กับร้านสินค้าสเก็ตบอร์ดทั่วกรุงลอนดอนให้เป็นประโยชน์ในการกระจายสินค้าไปวางจำหน่าย และสำหรับคอลเลคชั่นแรกของพวกเขาที่เป็นเสื้อผ้าล้อเลียน ภายในเวลาไม่นานก็หมดเกลี้ยงลง ดังนั้นก้าวต่อไป ทันจู จึงมองไปถึงแนวทางของแบรนด์ที่จริงจังกว่าเดิม

เริ่มจากการออกแบบโลกโก้แบรนด์ที่ต้องสื่อตัวตนได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคือต้องโดดเด่นเป็นที่จดจำ ในเรื่องนี้ ทันจู ต้องขอบคุณชายที่ชื่อว่า เฟอร์กัส เพอร์เซลล์


Photo : i-d.vice.com

เฟอร์กัส คือกราฟิกดีไซน์เนอร์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เขานี่แหละคือผู้ออกแบบโลโก้ให้กับ Stussy อีกหนึ่งแบรนด์สตรีทแวร์ในตำนาน เพียงแต่ว่าอีกมุมหนึ่งของเฟอร์กัส เขากลับมีความสัมพันธ์อันสนิทสนมกับแก๊ง Palace Wayward Boys’ Choir รวมถึงตัว ทันจู อย่างไม่น่าเชื่อ

“เฟอร์กัส คือไอดอลของผมเลย พวกเรามักจะไปปาร์ตี้ที่บ้านเขาอยู่บ่อยๆ เมากันเละตลอด”

“เขาคืออัจฉริยะในเรื่องกราฟิก ภายในเวลาไม่นานเขาก็สามารถออกแบบโลโก้ Tri-Tag ออกมาได้อย่างไร้ที่ติ ซึ่งมันก็ยังคงเป็นโลโก้ให้กับแบรนด์ Palace Skateboard จนถึงทุกวันนี้” กาเร็ธ สกีวิส อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งเล่าย้อนความหลัง

เมื่อได้โลโก้แบรนด์มาแล้ว ทันจู ก็เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนแบรนด์ Palace Skateboard ให้เดินหน้าต่อไป และภายในเวลาไม่นานผู้คนก็เริ่มหันมาสนใจแบรนด์เล็กๆ นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุผลสำคัญก็เพราะ Palace Skateboard แตกต่างจากแบรนด์สเก็ตบอร์ดอื่นๆ 

ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ พยายามนำเสนออัตลักษณ์ตัวตนผ่านวิดิโอความคมชัดสูง ใช้ทีมงานมืออาชีพในการถ่ายทำ แต่ Palace Skateboard ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ทันจู กลับเลือกถ่ายวิดิโอพรีเซนต์แบรนด์ด้วยกล้อง VHS ราวกับเป็นการถ่ายทำเล่นๆ ของคนในแก๊ง นอกจากนั้นในวิดิโอยังเต็มไปด้วยภาพวิถีชีวิตของชาวแก๊งสเก็ตบอร์ด มีบทสนทนาว่าด้วยฟุตบอล มีกลิ่นกัญชาลอยมาตามสายลม ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้วิถีชีวิตความเป็นชาวสเก็ตบอร์ดของ Palace Skateboard ดู “จริง” ยิ่งกว่าแบรนด์ไหนๆ ในประวัติศาสตร์


Photo : www.vice.com

“การเล่นสเก็ตบอร์ดก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะวิถีชีวิตความเป็นแก๊งจริงๆ คือการออกมาเฮฮาด้วยกัน เล่นสเก็ตบอร์ด คุยกันเรื่องฟุตบอล สูบกัญชา นั่นคือตัวตนจริงๆ ของเรา”

“ผมเลือกใช้กล้อง VHS ในการนำเสนอก็เพราะต้องการให้บรรยากาศแบบยุค 90s เพราะยุคดังกล่าวคือยุคที่การเล่นสเก็ตบอร์ดในลอนดอนเฟื่องฟูที่สุด และส่งอิทธิพลต่อตัวผมมากที่สุด”

“สิ่งเดียวที่ Palace Skateboard เป็นคือการนำเสนอวิถีชีวิตชาวสเก็ตบอร์ดตัวจริงในลอนดอน เราไม่พยายามเป็นใครที่ไม่ใช่ตัวเอง ไม่บอกว่าสิ่งไหนเท่ หรือสิ่งไหนไม่เท่ แค่เป็นตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเองเท่านั้น นำวัฒนธรรมที่อยู่รอบตัวมาสร้างรรค์เป็นเสื้อผ้า” ทันจู อธิบายแนวคิดการสร้างแบรนด์ของตัวเองออกมา 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าด้วยแนวคิดซื่อตรง ไม่อิงธุรกิจแบบนี้กลับให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดอย่างไม่น่าเชื่อ

 

พร้อมออกสู่โลกกว้าง

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Palace Skateboard พลิกฝ่ามือจากแบรนด์เล็กๆ ระดับท้องถิ่น สู่การเป็นแบรนด์ที่ใครๆ ก็รู้จัก เกิดขึ้นในปีช่วงต้นยุค 2010s โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดความหลั่งใหลกระแสนิยมของแบรนด์ Supreme เข้าสู่ประเทศอังกฤษในระดับปรากฏการณ์ 


Photo : i-donline.com

ถ้าคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่มีคู่แข่งรายใหญ่เข้ามาน่าจะทำให้แบรนด์เล็กๆ อย่าง Palace Skateboard ต้องถึงคราวอวสาน แต่เปล่าเลย การเข้ามาของ Supreme กลับส่งผลตรงกันข้าม เพราะนี่คือการประชาสัมพันธ์ชั้นดีให้กับเสื้อผ้าแนวสตรีทและสเก็ตบอร์ด เมื่อเป็นเช่นนั้นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงอยู่แล้วอย่าง Palace Skateboard จึงสามารถโต้คลื่นไปกับกระแสดังกล่าวได้อย่างไร้รอยต่อ...เมื่อฝุ่นควันของปรากฏการณ์ Supreme เบาบางลง ผลปรากฎว่า Palace Skateboard ก็กลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว 

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือแบรนด์ หนึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือถ้ามีรากฐานที่ดี แข็งแรง ก็สามารถต่อยอดไปได้ง่ายๆ Palace Skateboard ก็เช่นเดียวกัน นี่คือแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง ดังนั้นเมื่อพวกเขามีชื่อเสียงจึงทำให้มีแบรนด์ดังระดับโลกมากมายอยากร่วมงานด้วย

เริ่มจาก Ralph Lauren แบรนด์เสื้อผ้าพรีเมี่ยมที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถึงแม้ตัวตนของแบรนด์กับ Palace Skateboard จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงราวกับขั้วตรงข้าม แต่คอลเลคชั่น Palace Skateboards x Polo Ralph Lauren ในปี 2018 กลับออกมาสวยงามลงตัว 

คอลเลกชั่นดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องแต่งกายฤดูหนาวสำหรับผู้ชาย ได้แก่ เสื้อ, กางเกง, แจ็กเก็ต รองเท้า, หมวก, และสเก็ตบอร์ด รวม 17 ชิ้น เป็นการนำเสื้อผ้าสุดคลาสสิกของ Polo Ralph Lauren มาใส่สีสันและลูกเล่นให้หลุดกรอบความเป็นทางการออกไป จะเห็นได้จากแฟชั่นเช็ตที่มีการถ่ายทำกันในคอนเซ็ปต์คาวบอยตะวันตก นายแบบสวมใส่เสื้อผ้าในคอลเลกชั่นดังกล่าว ขี่ม้าท่ามกลางภูเขาสีน้ำตาล คุมบังเหียนแทนการถือสเก็ตบอร์ด ดูเท่และคอนทราสต์กันอย่างลงตัว


Photo : @supremeleaknews

“มันคือฝันที่กลายเป็นจริง” ทันจู เผยความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับ Ralph Lauren

อีกหนึ่งแบรนด์ที่ต้องกล่าวถึงคือ adidas โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งสองแบรนด์นี้มีการร่วมงานกันอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเคมีตรงกันสุดๆ ออกมากี่คอลเลคชั่นก็ขายดีเทน้ำเทท่า ไม่ต้องพูดถึงราคาในตลาดรีเซลล์ที่พุ่งสูงขึ้นแบบไม่มีแตะแบรค ผลงานล่าสุดคือการร่วมกันออกแบบชุดแข่งขันฟุตบอลของสโมสรยูเวนตุส แชมป์จากศึก Serie A ประเทศอิตาลี ให้ออกมาดูสวยงามขี้เล่นกว่าที่เคยเป็น


Photo : versus.uk.com


Photo : Juventus

“มันเริ่มต้นจากการที่พวกเขา (adidas) อีเมลมาหาผม ผมก็ตอบตกลงในทันที ทุกคนรอบตัวผม รวมถึงผมล้วนเป็นแฟนของ adidas ดังนั้นการได้ทำงานร่วมกันจึงเป็นไปอย่างธรรมชาติมากๆ” ทันจู กล่าว

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ระดับโลกอีกมากมายเช่น Reebok, Umbro และ EVISU ที่ล้วนแล้วแต่ผ่านการร่วมงานกับ Palace Skateboard มาแล้วทั้งสิ้น..

 

พร้อมเปิดรับ

ด้วยมูลค่าแบรนด์ในปัจจุบันที่สูงถึง 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 400 ล้านบาท ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่สูงมากถ้าเทียบกับแบรนด์ชื่อดังอื่นๆ แต่สำหรับแบรนด์ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากย่านเสื่อมโทรมกรุงลอนดอน ก็คงสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า Palace Skateboard เดินทางมาไกลมาก และมันประสบความสำเร็จแล้ว


Photo : mefeater.com

“ผมยังยืนยันคำเดิมที่สิ่งที่ทำให้ Palace Skateboard มาถึงตรงนี้ก็เพราะเราไม่พยายามในสิ่งที่ไม่เป็นตัวเอง” ทันจู กล่าว

ทันจู รวมถึงแบรนด์ Palace Skateboard ชัดเจนในตัวตนและแนวทางของพวกเขามาเสมอนับตั้งแต่วันที่ก่อตั้ง พวกเขาเคยคลั่งสเก็ตบอร์ดยังไง วันนี้ก็ไม่เปลี่ยนไป มันยังคงถูกนำเสนอผ่านออกมาทางสินค้าของพวกเขาอยู่เรื่อยมา

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับ ทันจู และเพื่อนๆ ของเขาคือการ “ทำใจเปิดรับ” ที่ไม่ว่าจะคลั่งสเก็ตบอร์ดมาแค่ไหน แต่ Palace Skateboard ก็พร้อมเปิดรับลูกค้าทุกประเภท ถึงแม้ว่าในชีวิตจะไม่เคยจับสเก็ตบอร์ดมาก่อนเลยสักครั้งก็ตาม

“แค่มีคนชอบสินค้าเราและซื้อมันไปก็ยอดเยี่ยมมากแล้ว เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาคือการนำไปต่อยอดให้กับสเก็ตบอร์ดที่พวกเรารัก ผมไม่เห็นด้วยเลยที่จะบอกว่า Palace Skateboard คือแบรนด์สำหรับนักสเก็ตบอร์ดเท่านั้น มันดูงี่เง่ามากๆ” ทันจู กล่าวปิดท้ายในการให้สัมภาษณ์กับ GQ


Photo : hypebeast.com

นี่แหละคือ ทันจู และ Palace Skateboard...พวกเขาไม่เคยโกหกตัวเอง ไม่เคยดูถูกผู้อื่น แค่สนใจในสิ่งที่ตัวเองรักเท่านั้น ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนกว่านี้เลย แต่มันก็พิสูจน์แล้วว่าแนวคิดง่ายๆ เป็นเส้นตรงแบบนี้ก็นำพาพวกเขามาไกลไม่ใช่เล่น และยังคงมุ่งหน้าต่อไปเรื่อยๆ 

ในปัจจุบัน Palace Skateboard มีร้านค้าอยู่ใน 4 เมืองใหญ่ทั่วโลก ได้แก่ ลอนดอน, นิวยอร์ก, ลอส แองเจิลลิส, และล่าสุดที่ โตเกียว น่าเสียดายที่ยังไม่มีการเปิดในประเทศไทย รวมถึงยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายด้วย ดังนั้นนอกจากการบินไปซื้อถึงหน้าร้านแล้ว การสั่งซื้อออนไลน์จากเว็บทางการดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่นักสเก็ตบอร์ดบ้านเราจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของสินค้า Palace Skateboard หรือถ้าไม่เกี่ยงเรื่องราคาที่บวกเพิ่ม การหาในตลาดรีเซลล์ ตามกลุ่ม Facebook ต่างๆ ก็น่าจะเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด

 

แหล่งอ้างอิง

https://hypebeast.com/2020/8/palace-skateboarding-interview-brand-history
https://blog.streetwearjobs.com/palace-skateboards-history
https://www.gq.com/story/lev-tanju-on-palace-skateboards-x-adidas-and-why-palace-is-better-than-your-average-streetwear-label
https://i-d.vice.com/en_uk/article/a3b7kg/palace-10-years-streetwear-david-sims
https://www.vice.com/en_uk/article/xyexmk/how-palace-skateboards-broke-america
https://www.theguardian.com/fashion/2016/may/03/cult-label-palace-uk-skate-kids-hip-hop-royalty-brand-rihanna-jay-z-teens-dads-leve-tanju

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> อภิชิต วิวัฒน์เวคิน : เจ้าของ Converse นับ 1,000 คู่ ผู้บอกว่า “Sneakerhead ไม่ได้วัดที่จำนวนรองเท้า” | Main Stand

>> เรื่องราวบนกระดานดำ : 10 วันหลังตอนจบของ "Slam Dunk" ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้

ยอดนิยมในตอนนี้