เปิดประวัติ 'เวฟ' วีรพล วิชุมา เจ้าของเหรียญเงิน ยกน้ำหนัก โอลิมปิก 2024
เปิดประวัติ "เวฟ" วีรพล วิชุมา นักยกน้ำหนักทีมชาติไทย ผู้ที่ผงาดคว้าเหรีญเงิน ยกน้ำหนัก โอลิมปิกเกมส์ 2024 รุ่น 73 กก. ชาย มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่
"เวฟ" วีรพล วิชุมา เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2547 ปัจจุบันอายุ 20 ปี พื้นเพเป็นคน ต.กุดหวาย อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ โดยมีผู้ฝึกสอนคนแรกคือ สันติ อดทน โดย "เวฟ" มีนักกีฬาต้นแบบ Lu Xiaojun นักยกน้ำหนักจากจีน โดยเข้ามาติดทีมชาติไทยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 (ปี 2019)
เวฟ วีรพล เป็นนักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ชื่อของ วีรพล ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการยกน้ำหนัก เพราะนักกีฬาหนุ่มคนนี้ได้โชว์ผลงานกวาดเหรียญรางวัลมากมายทั้งระดับประเทศและศึกระดับโลก
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2564 “วีรพล” ได้เริ่มแสดงผลงานอันยอดเยี่ยมจนเป็นที่จับตามอง ด้วยตำแหน่งเหรียญทอง 3 เหรียญจากเวทียกน้ำหนักยุวชนโลก ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก่อนที่จะกลับมาตอกย้ำความแกร่งด้วยการรวบ 3 เหรียญทองในการแข่งขัน EGAT ยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 ชิงถ้วยพระราชทาน พร้อมทำลายสถิติของตัวเองในรุ่น 67 กก. ด้วย
ต่อมาในปี 2565 หลังชื่อของ วีรพล วิชุมา ถูกแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ เวฟก็ได้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ว่าฟอร์มดีไม่มีตก คว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน ในการแข่งขันยกน้ำหยักเยาวชนโลก ที่ประเทศกรีซ หลังจากนั้นก็สะสมเหรียญเพิ่มในการแข่งขันเยาวชนเอเชีย ที่อุซเบกิสถาน ซึ่งจบเกมส์ด้วยการกวาด 3 เหรียญทองกลับบ้าน ทั้งยังส่งท้ายปี 2565 ด้วยการเพิ่มดีกรีประเดิมศึกใหญ่ ด้วยการคว้า 3 เหรียญทองแดง ในรุ่น 67 กก. ชาย จากศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ที่ประเทศโคลอมเบีย
สำหรับ “วีรพล” เคยสร้างผลงานยอดเยี่ยมด้วยการคว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน จาก ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย, เจ้าของเหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ วีรพล ยังเป็นเจ้าของสถิติเยาวชนโลก ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก สถิติ 195 กิโลกรัม ทำได้ใน ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2566 ที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 4 ก.ย.66 และเป็นเจ้าของสถิติเยาวชนโลก น้ำหนักรวม สถิติ 351 กิโลกรัม ทำได้ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครัังที่ 19 “หางโจวเกมส์” เมื่อ 30 ก.ย.66 โดย “หางโจวเกมส์” วีรพล ยกท่าสแนทช์ได้ 156 กิโลกรัม เป็นสถิติที่ดีที่สุดของตัวเองในท่านี้ด้วย ส่วนท่าคลีนแอนด์เจิร์กยกได้ 195 กิโลกรัม
หลังจากตระเวนแข่งขันเพื่อสะสมแต้มยกลูกเหล็กจากทั่วโลก ในที่สุด เวฟ – วีรพล วิชุมา ก็สามารถทำความฝันได้สำเร็จ คว้าโคตาการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักชายมาให้ประเทศไทย และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไปแข่งขันที่โอลิมปิกเกมส์ 2024 โดยเวฟสามารถทำผลงานตามที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติกำหนดไว้ คือ มีสถิติดีที่สุดใน 5 รายการ แบ่งเป็นรายการบังคับ 2 รายการ และรายการเลือกอีก 3 รายการ
ล่าสุดวันที่ 8 ส.ค.67 ทีมไทยยังได้ลุ้นเหรียญรางวัลต่อเนื่องจาก “เวฟ“ วีรพล วิชุมา ดาวรุ่งชาว จ.สุรินทร์ ในรุ่น 73 กิโลกรัมชาย จอมพลังไทยนับเป็นนักกีฬาอายุน้อยที่สุดในรุ่นนี้ โดยวันที่ 10 ส.ค.67 จะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
สำหรับคู่แข่งสำคัญในรุ่นนี้ นำโดย ฉี ซีหยง จากจีน เจ้าของเหรียญทอง โอลิมปิก “โตเกียว 2020” โดยครั้งนั้นทำสถิติโอลิมปิกใหม่ทั้ง 3 ท่า ท่าสแนทช์ 166 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 198 กิโลกรัม, น้ำหนักรวม 364 กิโลกรัม และยังเป็นเจ้าของสถิติโลก ท่าสแนทช์ 169 กิโลกรัม ด้วย นอกจากนี้ ยังมี ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย วัย 21 ปี เจ้าของสถิติโลก น้ำหนักรวม 365 กิโลกรัม และเจ้าของสถิติเยาวชนโลก ท่าสแนทช์ 157 กิโลกรัม
ท่าสแนทช์ วีรพล ออกมายกครั้งแรกผ่านที่ 148 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 เรียกเหล็ก 152 กิโลกรัม แต่ยกไม่ผ่าน แม้จะพยายามออกมาแก้ตัวในครั้งที่ 3 ที่น้ำหนักเดิม แต่ทำไม่สำเร็จ ทำให้สถิติอยู่ที่ 148 กิโลกรัม จบที่ 9 ทำให้ต้องลุ้นหนักในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ส่วนที่ 1 ในท่านี้เป็นของ ฉี ซีหยง จากจีน สถิติ 165 กิโลกรัม
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก วีรพล ออกมากัดฟันสู้เต็มที่ ครั้งแรกยกผ่านที่ 190 กิโลกรัม ยกครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 194 กิโลกรัม และครั้งที่ 3 ฮึดเรียกเหล็กไปที่ 198 กิโลกรัม เพื่อหวังเบียดลุ้นเหรียญรางวัล ปรากฏว่า วีรพล รวมพลังงัดทีเด็ดยกผ่านไปได้แบบสะใจกองเชียร์ พร้อมทำลายสถิติเยาวชนโลกในท่านี้ของตัวเองลงได้ด้วย (สถิติเดิม 195 กิโลกรัม และขณะนี้ วีรพล ยังอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) ขยับสถิติน้ำหนักรวมมาอยู่ที่ 346 กิโลกรัม รับเหรียญเงินไปครอง โดยตอนนี้สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่งนักกีฬาลงแข่งขันใน “ปารีส 2024” ไปแล้ว 3 คน คว้ามาครบ 3 เหรียญรางวัล
ส่วนเหรียญทอง เป็นของ ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย 354 กิโลกรัม (155-199 โดยท่าคลีนแอนด์เจิร์กทำสถิติโอลิมปิกใหม่), เหรียญทองแดง แอนเดรียฟ บอซฮิดาร์ ดืมิทรอฟ จากบัลแกเรึย 344 กิโลกรัม (154-190) ขณะที่ “ตัวเต็ง” ฉี ซีหยง จากจีน แชมป์เก่า ยกท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ไม่ผ่าน 3 ครั้ง ไม่มีสถิติในท่านี้ และไม่มีสถิติน้ำหนักรวม
จากการคว้าเหรียญโอลิมปิกครั้งนี้ของ “วีรพล” ทำให้เจ้าตัวทำตามความฝันตัวเองสำเร็จ เนื่องจากเคยให้สัมภาษณ์หลังคว้าเหรียญเงิน “หางโจวเกมส์“ ว่า ”ผมมีตัวเองป็นไอดอล และเป้าหมายต่อไปคือการคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์“
สำหรับเงินรางวัล ที่ วีรพล วิชุมา ได้รับ จากการคว้าเหรียญเงิน มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 10.1 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โปรแกรมถ่ายทอดสดกีฬา 'โอลิมปิก 2024' วันนี้ พร้อมลิ้งก์ดูสด ที่ทรูไอดี
- ผลและโปรแกรมนักกีฬาไทยใน 'โอลิมปิก 2024' พร้อมลิ้งก์ดูสด
- ผลและโปรแกรม แบดมินตัน 'โอลิมปิก 2024' ของนักกีฬาไทย (ลิ้งก์ดูสด)
- โปรแกรมฟุตบอล โอลิมปิก 2024 วันไหนทีมไหนพบกัน แข่งสนามใด
- โปรแกรมวอลเลย์บอล 'โอลิมปิก 2024' ทีมชายและทีมหญิง (ลิ้งก์ดูสด)
- อัปเดตตารางแข่งโอลิมปิก 2024 Olympics Paris 2024 ครั้งที่ 33 วันไหนแข่งอะไร