แรง G คืออะไร ทำไมสำคัญกับการแข่ง F1 นักขับต้องฝึกฝนร่างกายอย่างไร
สำหรับผู้ที่เป็นแฟนกีฬา F1 คงจะคุ้นเคยกับภาพแสดงผลในบางช่วงของการแข่งขันที่แสดงค่า G-force รวมถึงการฝึกฝนร่างกายของนักขับจะมีการฝึกฝนพิเศษเพื่อต้านแรง G ในแบบที่นักกีฬาชนิดอื่นๆ อาจจะไม่ได้ทำกัน แล้วเหตุใดแรง G จึงมีบทบาทในกีฬา Formula1 แรง G คืออะไร สภาพร่างกายที่พิเศษของนักแข่ง Formula1 นั้นเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักกับแรง G ไปพร้อมๆ กัน
แรง G คืออะไร ทำไมสำคัญกับการแข่ง F1
นักขับต้องฝึกฝนร่างกายอย่างไร
แรง G (G-force) คืออะไร
แรง G เป็นหน่วยความเร่งที่ใช้วัดแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อวัตถุ กล่าวแบบง่ายๆ คือความรู้สึกของสิ่งของหนักเนื่องจากแรงโน้มถ่วงนั่นเอง
- แรง G ที่สูงขึ้นหมายความว่าวัตถุจะรู้สึกหนักขึ้น
- แรง G ที่ต่ำกว่าหมายความว่าวัตถุรู้สึกเบาขึ้น
หากเปรียบแบบให้เห็นภาพง่ายๆ การยืนตามปกติแรง G อยู่ที่ 1 (ตามน้ำหนักตัว) การจามแรงๆ ของคนเรามีแรง G อยู่ที่ 3 การไอมีแรง G อยู่ที่ 3.5 รถไฟเหาะตีลังกามีแรง G อยู่ที่ 4 ในขณะที่แรง G การแข่ง Formula1 แบ่งเป็นดังนี้
- การเข้าโค้ง: 5-6 G
- เบรก: 5 G
- การเร่งความเร็ว: 3 G
แรง G มีผลต่อนักแข่งรถ F1 อย่างไร?
ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ระยะทางที่ใช้ในการแข่งจะประกอบด้วยทางโค้งที่มากมายประกอบกับการขับด้วยระยะทางที่ยาวนานและซ้ำกันหลายรอบ ทั้งการเร่งเครื่อง การเบรก และการเข้าโค้ง จึงทำให้นักขับต้องรับกับแรง G อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้าโค้งของแต่ละสนามก็มีความยากและโหดต่างกันไปอย่างเช่น
Circuit de Monaco เป็นสนามสตรีทเซอร์กิตที่ทางนั้นแคบและประกอบไปด้วยโค้งถึง 19 โค้ง ทำให้นักแข่งต้องใช้ทักษะสูงเป็นอย่างมาก หรือ Suzuka Circuit ในญี่ปุ่นที่มีโค้งสนามรูปตัวเอสหลายโค้ง รวมถึงตลอดการแข่งขันรวมวันฝึกซ้อมที่ใช้เวลาถึง 3 วัน และขับครั้งละหลายรอบ นักขับจึงต้องมีสภาพร่างกายและสมาธิเป็นอย่างมาก
ในการแข่งขันนักขับต้องเผชิญกับแรง G สูงมากไม่ว่าจะเป็นการเข้าโค้ง เบรก หรือทำความเร็วในหลายๆ รอบ อย่างเช่นการเข้าโค้งความเร็วสูงในบางโค้งแรง G อาจไปถึง 5G เท่ากับว่านักขับจะรู้สึกถึงร่างกายที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 5 เท่าในระยะเวลาอันรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นแม็กซ์ แวร์สเตปเพน หนัก 71 กิโลกรัม เมื่อขับเข้าโค้งที่มีความแรงระดับ 5G จะเท่ากับว่าแม็กซ์ จะต้องรับน้ำหนักถึง 355 กิโลกรัม ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
อาการบาดเจ็บที่นักขับมักพบมากที่สุดจะเป็นอาการปวดคอ หากร่างกายอ่อนแอไม่มีความพร้อมอาจทำให้เกิดความเมื่อยล้าของข้อต่อ และกล้ามเนื้อเรื้องรัง หายใจลำบาก ระบบหัวใจและหลอดเลือดอาจเกิดความเครียดทำให้มีอาการปวดตา เวียนหัวไปจนถึงหมดสติได้
การฝึกฝนร่างกายของนักขับเพื่อรับแรง G
แฟนกีฬา Formula1 อาจเคยเห็นคลิปที่เฟอร์นันโด อลอนโซ สามารถใช้คอบีบวอลนัทที่มีเปลือกแข็งมากๆ ให้แตกได้ หรือคลิปที่มีการใช้เครื่องดึงหัวสำหรับฝึกแรงต้านเทียบระหว่างคนทั่วไปกับนักขับอย่างแลนโด้ นอริส ผลปรากฎว่าคนปกติสามารถรับแรงดึงได้ 15 กิโลกรัม ในขณะที่แลนโด้ รับแรงดึงได้ถึง 45 กิโลกรัมแบบที่ยังยิ้มได้อยู่
การฝึกร่างกายของนักขับจะมีทั้งการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เพื่อเพิ่มความอดทน ฝึกเวทเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีพละกำลัง ว่ายน้ำเพื่อเสริมความคล่อยตัวและเพิ่มการรับแรงต้าน ที่สำคัญจะมีการฝึกกล้ามเนื้อคอแบบพิเศษโดยการใช้เครื่องรัดศีรษะที่มียางยืดติดอยู่ ผู้ฝึกสอนจะดึงยางยืดไปทางหนึ่ง ในขณะที่นักแข่งต้านแรงดึงไว้ การฝึกฝนกล้ามเนื้อคออย่างหนักและต่อเนื่องจึงส่งผลให้คอของนักแข่งรถจะมีความหนากว่าคนทั่วไป เพราะกล้ามเนื้อคอนั้นสำคัญต่อการรับแรง G ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดการแข่งขันที่ยาวนานถึง 2 ชั่วโมงได้
บทความที่คุณอาจสนใจ
- โปรแกรมฟอร์มูล่าวัน 2024 ลิ้งก์ดูสด ตารางเอฟวัน 2024 ผลเอฟวัน F1
- อัปเดตตารางคะแนน Formula 1 ฤดูกาล 2024 ทุกสนามล่าสุด
- ตารางแข่ง Formula 1 ปี 2024 ฟอร์มูล่าวัน Formula 1 แข่งเดือนไหนแข่งสนามอะไร พร้อมลิ้งก์ดูสด
- รวมเรื่องน่ารู้ formula 1 รู้แล้วดูสนุก! กติกาและศัพท์การแข่งขัน formula 1
-------------------------------------------------