รีเซต
19 ปีที่รอคอยของ เช ยอง ซ็อก โค้ชเลือดเกาหลีหัวใจไทย

19 ปีที่รอคอยของ เช ยอง ซ็อก โค้ชเลือดเกาหลีหัวใจไทย

19 ปีที่รอคอยของ เช ยอง ซ็อก โค้ชเลือดเกาหลีหัวใจไทย
มติชน
27 กรกฎาคม 2564 ( 11:00 )
144

ทัพนักกีฬาไทยเริ่มคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกใน โอลิมปิกเกมส์ 1976 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา จากเหรียญทองแดงมวยสากลของ พเยาว์ พูนธรัตน์

หลังจากนั้น มวยสากลก็เป็นกีฬาหลักที่ช่วยคว้าเหรียญรางวัลให้ทัพในมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2000 ในโอลิมปิกเกมส์ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย กีฬายกน้ำหนักก็กลายเป็นอีกกำลังสำคัญในการลุ้นเหรียญรางวัลของทัพไทย

เมื่อถึง โอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นักกีฬา "เทควันโด" ทีมชาติไทย จึงได้เหรียญรางวัลแรกในประวัติศาสตร์จาก “วิว” เยาวภา บุรพลชัย เป็นเหรียญทองแดงในรุ่น 49 กก.หญิง
4 ปีต่อมาที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน “สอง” บุตรี เผือดผ่อง คว้าเหรียญเงินจากรุ่น 49 กก.หญิง และใน โอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ ก็คว้าเหรียญทองแดงในรุ่น 49 กก.หญิงเช่นกัน

กระทั่ง โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นครั้งแรกที่จอมเตะไทยคว้าเหรียญรางวัลได้มากกว่า 1 เหรียญ เป็น 1 เหรียญเงินจาก “เทม” เทวินทร์ หาญปราบ ในรุ่น 58 กก.ชาย และ 1 เหรียญทองแดงจาก “เทนนิส” พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ รุ่น 49 กก.หญิง

จนมาถึง โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีนี้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเทควันโดไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จจาก “เทนนิส” พานิภัคคนเดิมในรุ่นถนัดของตัวเอง

ระยะเวลา 14 ปีนับจากครั้งแรกที่เทควันโดคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกให้ทัพไทยใน “เอเธนส์เกมส์” ยังหมายถึงความทุ่มเทพยายามที่สัมฤทธิผลของชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ หลังจากรอคอยมานานเกือบ 20 ปีกับโค้ชเลือดเกาหลีใต้หัวใจไทย เช ยอง ซ็อก หรือ “โค้ชเช” ที่นักกีฬาและแฟนกีฬาชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

โค้ชเชเริ่มต้นเส้นทางการเป็นโค้ชเทควันโดทีมชาติไทย ในปี พ.ศ.2545 หรือ ค.ศ.2002 หลังจาก สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย มองหาโค้ชใหม่แทนโค้ชเดิมที่ลาออกไป โดยคิดถึงโค้ชเชซึ่งคุมบาห์เรนมา 1 ปีเศษ และเจอกันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2002 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยติดต่อประสานผ่านสหพันธ์เทควันโดโลก

ด้วยความเป็นโค้ชจากชาติต้นตำรับ โค้ชเชจึงมีความรู้ความเข้าใจในกีฬาเทควันโดเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีระเบียบวินัยสูง ลูกศิษย์ลูกหาแต่ละรุ่นต่างพูดเหมือนๆ กันว่า การซ้อมของโค้ชเชทั้งโหดและหนัก โดยเฉพาะเรื่องวินัยในการฝึกซ้อม แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด ให้นักกีฬาได้พัฒนา ดึงศักยภาพออกมาใช้ให้มากที่สุด

แต่ก็เพราะความเคร่งครัดและนิสัยที่จริงจังก็ทำให้เกิดกรณีปัญหาขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 เมื่อนักกีฬารายหนึ่งจุดประเด็นเรื่องบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง กระแสสังคมแยกเป็นสองฝั่ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่ลูกศิษย์ลูกหาในทีมชาติทั้งอดีตและปัจจุบัน ณ เวลานั้น ต่างก็ออกมายืนยันเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจและเจตนาที่ดีของโค้ชเพื่อการพัฒนานักกีฬา หลังจากเคลียร์ใจกันได้ โค้ชเชก็ได้มุ่งมั่นทำหน้าที่โค้ชทีมชาติไทยต่อไป

โค้ชเชปั้นนักกีฬาขึ้นมาสร้างผลงานระดับนานาชาติหลายต่อหลายรุ่น นอกจากผลงานในโอลิมปิกเกมส์ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังสร้างนักกีฬาเทควันโดระดับแชมป์โลกขึ้นมาถึง 4 คน คือ รังสิญา นิสัยสม ในรุ่น 62 กก. หญิง, ชัชวาล ขาวละออ รุ่น 54 กก. ชาย, ชนาธิป ซ้อนขำ รุ่น 49 กก. หญิง และพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ รุ่น 46 กก.หญิง

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในระดับนานาชาติ ทำให้หลายประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้เอง ติดต่อทาบทามโค้ชเชไปคุมทีม แต่เขาก็เลือกจะอยู่เมืองไทยต่อไป แม้ว่าบางชาติจะเสนอค่าตอบแทนที่สูงกว่าก็ตาม เพราะการร่วมงานกับนักกีฬาไทยมานานกลายเป็นความรักความผูกพันที่โค้ชเชบอกว่าไม่ใช่แค่ศิษย์-อาจารย์ แต่มองนักกีฬาเหมือนลูกสาว-ลูกชายของตัวเองไปแล้ว

ฟีดแบ็กจากแฟนกีฬาชาวไทยเองก็ผูกพันกับโค้ชเชมากพอๆ กับตัวนักกีฬา เพราะความทุ่มเทและความรู้สึกร่วมของโค้ชที่ทั้งยินดีต่อชัยชนะและเสียใจต่อความพ่ายแพ้ของนักกีฬาไทยซึ่งปรากฏให้เห็นในแต่ละแมตช์ แต่ละทัวร์นาเมนต์ สร้างความประทับใจให้แฟนกีฬาชาวไทยอย่างมาก เพราะเขามีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกับทัพนักกีฬาเทควันโดไทย แม้จะเป็นโค้ชชาวต่างชาติก็ตาม

ช่วงเริ่มต้นการทำงาน ด้วยกำแพงภาษาของทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างค่อนข้างยากลำบาก ต้องเน้นการทำท่าทางเป็นตัวอย่างให้ดู โดยมีล่ามภาษาเกาหลีคอยช่วยเสริม

โค้ชเชเล่าว่า ช่วงแรกพยายามสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษที่ตัวเองหัดเรียนตอนไปคุมทีมชาติบาห์เรน แต่ก็มีนักกีฬาบางส่วนที่ไม่พูดอังกฤษ จึงคิดเรื่องเรียนภาษาไทย จนตอนนี้สามารถสื่อสารได้อย่างไม่ติดขัด ถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษย์ หรือให้สัมภาษณ์สื่อได้อย่างลื่นไหลด้วยตัวเอง

ในด้านครอบครัว เมื่อเริ่มใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยยาวนาน โค้ชเชจึงพาภรรยาและลูกมาอยู่ที่เมืองไทยด้วย แรกๆ ภรรยาต้องปรับตัวค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้พูดไทยได้ มีเพื่อนฝูงและสังคมที่เมืองไทย ขณะที่ลูกชายก็โตจนอายุ 12 ขวบแล้ว

ณ จุดหนึ่ง จึงทำให้โค้ชเชคิดจริงจังเรื่องโอนสัญชาติเป็นคนไทย เพราะอยากพานักกีฬาไทยไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในฐานะโค้ชคนไทย ซึ่งได้ดำเนินการไปตั้งแต่ต้นปี แต่ยังไม่เรียบร้อยในตอนนี้

ส่วนชื่อไทยนั้น โค้ชเชมีชื่อที่ลูกศิษย์ตั้งให้เมื่อราว 10 ปีที่แล้วคือ ชัยศักดิ์ ที่ออกเสียงใกล้เคียงกับเช ยอง ซ็อก และความหมายก็ดีเพราะหมายถึงผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม โค้ชเชเองเคยปรารถว่า ต้องขอคำแนะนำจาก “บิ๊กเอ” พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยก่อน เนื่องจากการตั้งชื่อเป็นเรื่องสำคัญ

น่าเสียดายที่กระบวนการขอสัญชาติไทยนั้นยังไม่สิ้นสุด ทำให้โค้ชเชยังไม่สมหวังที่จะเป็นโค้ชชาวไทยผู้พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์

แต่อย่างน้อย ความฝันสำคัญอย่างการพานักเทควันโดไทยไปถึงเหรียญทองโอลิมปิกก็เป็นจริงแล้วที่โตเกียวเกมส์ ทั้งโค้ชเชและตัวพาณิภัคเองมีความมุ่งมั่นตั้งใจว่า จะป้องกันแชมป์ให้ได้ใน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ถึงตอนนั้น ฝันที่จะเป็นโค้ชชาวไทยควบคู่กันไปกับการพานักกีฬาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ของโค้ชเชก็คงสัมฤทธิผลเสียที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

 

ยอดนิยมในตอนนี้