รีเซต
พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : บทเรียนจากความพ่ายแพ้ที่สร้างนักเทควันโดหมายเลข 1 ของโลก | Main Stand

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : บทเรียนจากความพ่ายแพ้ที่สร้างนักเทควันโดหมายเลข 1 ของโลก | Main Stand

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : บทเรียนจากความพ่ายแพ้ที่สร้างนักเทควันโดหมายเลข 1 ของโลก | Main Stand
เมนสแตนด์
25 กรกฎาคม 2564 ( 07:00 )
1.1K

“ความพ่ายแพ้ในโอลิมปิก 2016 ทำให้หนูบอกกับตัวเองว่า หลังจากนี้เจอใคร หนูจะเตะไม่ยั้ง ต่อให้ต้องทำแต้ม 50 หรือ 60 แต้มก็จะทำ ไม่อยากเจอกับเหตุการณ์พลิกมาแพ้อีกแล้ว”

 


ไม่ใช่เรื่องเกินไปสักนิด หากจะยกให้ “เทนนิส - พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” นักเทควันโดหญิงวัย 23 ปี เป็นความหวังสูงสุดของทัพนักกีฬาไทยใน โอลิมปิก เกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เพราะเธอคือนักเทควันโดหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลก ในรุ่น 49 กิโลกรัม เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 2 สมัย, แชมป์เวิลด์ แกรนด์สแลม 2 สมัย, แชมป์เอเชียนเกมส์ 1 สมัย และแชมป์เอเชีย 2 สมัย 

เธอมักถูกจดจำในฐานะ “หญิงแกร่ง” ที่พร้อมจะไล่เตะคู่แข่งแบบไม่ไว้หน้า เปี่ยมไปด้วยทักษะและความอัจฉริยะในฐานะนักเทควันโด 

แต่ความจริงแล้ว จุดเริ่มต้นของ พาณิภัค เต็มไปด้วยความยากลำบาก เธอพ่ายแพ้ให้กับหลายสิ่งในชีวิตทั้งในและนอกสนาม พบกับอุปสรรคมากมายที่ทำให้เธอกลายเป็น สุดยอดนักเทควันโด แบบที่เราเห็นในทุกวันนี้

 

เด็กสาวผู้เกิดมาแพ้ ? 

ภาพของ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่เราได้เห็นกันจนชินตา คือการขึ้นโพเดียมรับเหรียญทอง หลังจากคว้าชัยชนะในการแข่งขันเทควันโด หากแต่ย้อนไปในวัยเด็ก เธอกลับเป็นเด็กสาวที่แพ้ได้อย่างง่ายดาย ทั้งอาหารทะเล หรือแม้กระทั่ง ผงชูรส

“ตอนเด็กเป็นคนผอมแห้ง ไม่ค่อยมีแรง เพราะไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกัน ทำให้แพ้อาหารง่าย กินอะไรไม่ค่อยได้ แพ้อาหารทะเล แพ้ผงชูรส” 

“คุณพ่อก็เลยผลักดันให้เล่นกีฬาค่ะ เพราะที่บ้านชอบเล่นกีฬากันมาก ได้ทั้งการออกกำลังกายและใช้เวลาร่วมกัน” พาณิภัค ที่มีชื่อเล่นว่า ‘เทนนิส’ ส่วนพี่ชายกับพี่สาว มีชื่อเล่นว่า ‘เบสบอล กับ โบว์ลิ่ง” กล่าวถึงคุณพ่อศิริชัย ผู้ชักนำให้เธอเข้าสู่การเล่นกีฬา  

วิ่ง, ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, ปิงปอง, วอลเลย์บอล คือตัวอย่างกีฬาที่ พาณิภัค เคยเล่นในวัยเด็กเพื่อให้สุขภาพของเธอแข็งแรงขึ้น แต่มีกีฬาหนึ่งที่เธอเล่นมาตลอดเช่นกัน แต่กลับไม่เคยชื่นชอบ นั่นคือ เทควันโด

“หนูเล่นเทควันโด มาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เพราะพี่ชายเคยเล่นมาก่อน เป็นนักกีฬาไปแข่งตามรายการต่าง ๆ หนูก็ชอบตามไปเชียร์พี่ชาย”

“แต่ตัวหนูไม่กล้าเล่นเทควันโดเลย ดูเป็นกีฬาที่น่ากลัวมาก มีความรุนแรง ไม่เหมาะกับเด็กที่ไม่มีแรงแบบตัวหนู ตอนนั้นที่ลองตัดสินใจไปเล่น เพราะติดพี่ชายมาก อยากตามไปเล่นด้วย”

“ตอนนั้นสัญญากับพ่อไว้เลยว่า ห้ามส่งลงแข่งขันนะ เพราะว่าในใจกลัวมาก และไม่เคยคิดอยากจะแข่งขัน แค่อยากไปเล่นกับพี่ชาย พอลองไปซ้อมจริง ๆ ไม่เคยรู้สึกชอบเลย ก็เหมือนกับไปนั่งเล่นนอนเล่นที่ยิมมากกว่า”

ระยะร่วม 2 ปี ที่เด็กหญิงตัวน้อยฝึกวิชาเทควันโด ถึงจะไม่ได้ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว แต่อย่างน้อย พาณิภัค ที่หลงรักในการออกกำลังกาย ย่อมไม่ปฏิเสธโอกาสที่เธอจะได้ขยับแข้งขาเพื่อให้สุขภาพของตัวเองดีขึ้น

กระทั่งอายุได้ 9 ขวบ พานิภัค ได้รับข้อเสนอให้ลงแข่งขันเทควันโดจากคุณพ่อของเธอ เพื่อแลกกับการได้ไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ทำให้เด็กสาวคนนี้จำใจตอบตกลง เข้าสู่สนามแข่งเทควันโดเป็นครั้งแรกในชีวิต

“วันนั้นสู้ไม่ได้เลยค่ะ” พาณิภัค ย้อนความหลัง “แพ้ 0-7 จนกรรมการสั่งปรับแพ้ไม่ให้แข่งต่อ ตกรอบแรกเลยค่ะ”

“การแพ้ครั้งนั้น จุดประกายทำให้อยากเล่นเทควันโดจริงจัง เพราะโกรธตัวเองมาก ที่ก่อนหน้านี้ไม่ตั้งใจซ้อม เราไปแข่งได้ยังไง กับตัวเองในสภาพแบบนั้น”

“หลังจากนั้นก็กลับมาซ้อมให้หนักมากขึ้น จากปกติซ้อมรอบนักเรียนช่วง 5 โมงถึง 6 โมงครึ่ง ก็ขอคุณพ่อซ้อมต่อรอบนักกีฬา ถึง 2 ทุ่มครึ่ง เพราะตอนนั้นอยากไปแข่ง และตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่า ที่แพ้ครั้งนั้นเพราะไม่ตั้งใจ เราอยากทำให้เต็มที่ แล้วจะกลับไปชนะให้ได้”

 

ฝันที่ห่างไกล 

เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ความพ่ายแพ้ยังคงเป็นเพื่อนสนิทของ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แม้ว่าจะตั้งใจซ้อมอย่างหนักจนถึงช่วงค่ำ ผ่านความเหนื่อยล้าอย่างมากแล้ว กับการเป็นเด็กในวัยประถมที่ทุ่มเททั้งด้านการเรียนและกีฬา แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามที่เธอหวัง

“มันห่างไกลมากค่ะ เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ ทุกอย่างไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ทุกครั้งที่แพ้จะร้องไห้เยอะมาก แต่คุณพ่อก็คอยให้กำลังใจอยู่ตลอด บอกว่ายังมีแมตช์แข่งอีกเยอะ ความพ่ายแพ้ก็ให้ถือเป็นประสบการณ์”

“หนูมีโอกาสไปแข่งขันชิงแชมป์ภาคใต้ตอนอายุ 11 ปี ที่จังหวัดพัทลุง แมตช์นั้นกำลังใจดีมาก เพราะนอกจากคุณพ่อที่ตามไปเชียร์หนูทุกที่ พี่สาวกับพี่ชายก็ลงจากกรุงเทพฯ มาช่วยเชียร์ จนเตะได้เหรียญทองเป็นครั้งแรก”

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหรียญรางวัลจากการแข่งขันเทควันโด เริ่มเข้ามาคล้องคอเด็กหญิงพาณิภัค พร้อมกับทักษะที่โดดเด่นขึ้น จนเธอเริ่มมองถึงฝันหนึ่งที่เธอไม่เคยกล้าฝันมาตลอด นั่นคือการไปคัดตัวกับทีมชาติไทย

“ตอนแรกรู้สึกว่าไกลตัวมาก เพราะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ตั้งแต่เริ่มเล่นมา ตอนอายุ 12 เคยไปคัดระดับภาค แต่ว่าคัดไม่ติดค่ะ กลับมาบอกตัวเองว่าต้องซ้อมให้หนัก ต้องเก่งขึ้น เพื่อจะได้คัดให้ติด เพราะอยากได้สิทธิ์ไปคัดตัวทีมชาติ”

“ปีถัดมาตอนอายุ 13 ก็คัดตัวติดเป็นตัวแทนภาคไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ได้เหรียญทองมา ซึ่งตอนนั้นถ้าใครได้เหรียญเงิน กับเหรียญทอง จะได้สิทธิ์ไปคัดตัวกับทีมชาติ”

จากเด็กที่แพ้มาเป็นปี พาณิภัค สามารถทำฝันของเธอให้กลายเป็นจริง แต่เรื่องราวของเธอไม่เคยง่ายเหมือนทุกช่วงเวลาในฐานะนักเทควันโด เพียงแค่วันแรกที่ได้ฝึกซ้อมกับทีมชาติ เธอก็รู้ว่าการจะเป็นนักกีฬาทีมชาติต้องผ่านความยากลำบากมากเพียงใด

“การคัดตัวทีมชาติเป็นสิ่งที่ยากและน่ากลัวมากค่ะ ความโหดร้ายอย่างแรกคือต้องห่างจากครอบครัว เพราะต้องย้ายจากสุราษฎร์ธานี มาเก็บตัวที่กรุงเทพฯ จากที่เคยอยู่บ้านก็ต้องมานอนหอคนเดียว”

“อีกเรื่องที่ลำบากคือการซ้อม เพราะเราต้องเตะเข้าคู่กัน ถึงจะเป็นเด็กใหม่ แต่เราก็ต้องซ้อมกับรุ่นพี่ทีมชาติซึ่งเก่งมาก และตอนซ้อมพวกพี่ ๆ ใส่กันไม่ยั้ง พอต้องวนมาเจอกับทุกคน ก็รู้เลยว่าพวกพี่ทุกคนเก่งมาก ส่วนตัวเราก็อ่อนมาก”

“วันแรกที่ซ้อมโดนรุ่นพี่เตะปากแตก จนไปนั่งร้องไห้โทรหาคุณพ่อบอกว่า ‘ไม่เอาแล้ว อยากกลับบ้าน’ คุณพ่อตอบกลับมาว่า ‘ใครกันที่บอกว่าอยากติดทีมชาติมาก ก่อนจะมาคัดตัว ทำไมมายอมแพ้ง่ายแบบนี้ ไม่สู้ให้ถึงที่สุดก่อน ถ้าโดนไล่ออกจะไม่ว่าเลย’”

คำปลุกใจของคุณพ่อทำให้ พาณิภัค เงยหน้าสู้ต่อไป แม้เธอจะต้องเผชิญกับความหนักหน่วงของการฝึกซ้อมในแคมป์ทีมชาติ การันตีความโหดโดย “โค้ชเช” ชเว ยอง ซอก ที่เรียกร้องให้เธอทุ่มเทสุดตัว ทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อหวังจะเป็นผู้อยู่รอดของการคัดตัวในครั้งนี้

“มันยากมากค่ะ เพราะผ่านไปอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ จะมีการคัดตัวออกเรื่อย ๆ เราต้องสู้ทั้งกับตัวเองและกับคนอื่น ซ้อมหนักเตะกัน 3-4 ชั่วโมงไม่มีหยุด โดนทำโทษบ้างบางครั้ง ทุกคนก็เก่งกันหมด แต่ว่าก็ต้องสู้ค่ะ ไม่สู้ก็โดนเขาเตะ”

เลือด เหงื่อ และน้ำตา ของผู้หญิงที่ชื่อ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ไม่ไร้ความหมาย 5 เดือนหลังจากเข้ารับการคัดตัว ชื่อของเธอถูกส่งในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย ลงแข่งขันรายการ โคเรีย โอเพ่น ปี 2011 ทำให้ฝันที่ไม่กล้าฝันของเด็กสาววัย 14 ปี กลายเป็นจริงในที่สุด

“ตอนนั้นแค่มีชื่อติดก็ดีใจมากแล้ว หลังจากที่ได้ชุดเทควันโดที่มีธงชาติไทยติดอยู่ คืนนั้นเอากลับไปใส่นอนที่ห้อง เพราะว่าดีใจมาก ทัวร์นาเมนต์นั้นที่บ้านบินไปเชียร์ที่เกาหลีใต้กันทุกคน เพราะกลัวจะไม่มีครั้งต่อไป ต้องรีบไปเชียร์ก่อน”

 

เรียนรู้จากคราบน้ำตา

พาณิภัค ไม่ทำให้ตัวเธอ ครอบครัว และทีมงานโค้ชต้องผิดหวัง เธอสามารถเก็บเหรียญทองได้ตั้งแต่รายการแรก ก่อนจะคว้าตำแหน่งชนะเลิศในอีกหลายรายการ 

จนโค้ชตัดสินใจส่งชื่อจอมเตะวัย 16 ปี อย่าง เทนนิส เข้าร่วมคัดตัว ลุยศึกซีเกมส์ 2013 ที่ประเทศเมียนมา แม้ว่าอายุจะยังอยู่ในระดับเยาวชนก็ตาม และเธอก็สามารถผ่านการคัดตัวเข้าสู่มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติได้เป็นครั้งแรกในชีวิต

พาณิภัค ฝ่าด่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ พบกับดาวเตะชาวเมียนมา นุย นุย ผู้เคยมีประสบการณ์เจอกับนักเทควันโดสาวไทยมาแล้วก่อนหน้านี้ และเป็น พาณิภัค ที่เอาชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทว่าครั้งนี้ก็คือการต่อสู้ครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนที่เธอและ นุย นุย เคยพบเจอมา

“สำหรับเด็กคนหนึ่ง ซีเกมส์มันยิ่งใหญ่มาก ด้วยบรรยากาศของกองเชียร์ เหมือนกับเราตื่นสนาม ทำให้เราไม่พร้อมมากพอ ก็ไปโดนเตะหัวในช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้าย ทำให้แพ้ไป”

“ความรู้สึกของหนูเหมือนว่ามันไม่โดน แต่กรรรมการกดแต้ม เพราะตอนนั้นยังใช้เฮดการ์ดแบบไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์”

“ตอนนั้นมีเพื่อน ๆ ที่ขึ้นมาจากชุดเยาวชนพร้อมกันทั้งหมด 4 คน ก็ตั้งเป้าหมายด้วยกันว่าอยากได้เหรียญทอง เพื่อนทุกคนได้เหรียญทองกันหมดเลย ยกเว้นหนูคนเดียว ก็เสียใจมาก (นิ่งเงียบ) มาก ๆ ค่ะ” 

“จำได้เลยว่า หลังจากจบซีเกมส์ กลับไปที่สุราษฎ์ฯ มีบ่อปลา ก็ไปให้อาหารปลา แล้วก็ปาขนมปังใส่หัวปลา (หัวเราะ) เพราะว่าโกรธมาก แค้นมาก ต้องกลับไปชนะให้ได้”

ในความคิดของ พาณิภัค ทางเดียวที่จะกลับไปชนะคือซ้อมให้หนักที่สุด เธอฝึกปรือลูกเตะของตัวเองอย่างเข้มข้น จนสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขัน ยูธโอลิมปิก หรือ โอลิมปิกเยาวชน ในปี 2014 มาครองได้สำเร็จ

เป้าหมายต่อไปของ พาณิภัค จึงมีแค่เอเชียนเกมส์ 2014 ที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ กับโอกาสแก้ตัวในการคว้าเหรียญทอง ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวของเธอในการแข่งขันครั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีประสบการณ์มาก กับรายการใหญ่แบบนี้ และเธอเองก็ยังอายุไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำ 

“หนูคาดหวังกับตัวเองว่าอยากได้เหรียญทอง ไปแข่งต้องหวังเหรียญทอง ไม่มีใครอยากหวังเหรียญทองแดง แต่เหรียญทองก็มีได้แค่คนเดียว เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด”

“แต่ว่า เอเชียนเกมส์ ก็แพ้ได้เหรียญทองแดง ตกรอบ 4 คนสุดท้าย ก็เสียใจอีก เสียใจมาก แล้วก็โดนโค้ชด่า เพราะตอนนั้น มันไม่ได้ไกลที่เราจะเอื้อมถึงเหรียญทอง แต่เราไปพลาดเอง”

พาณิภัค เล่าให้เราฟังว่า ทุกครั้งที่เธอพ่ายแพ้ไม่ว่าจะรายการไหน เธอไม่อายที่จะร้องไห้ออกมาเพื่อแสดงความเสียใจกับการพลาดเหรียญทอง อันเป็นเป้าหมายเดียวของเธอ 

แต่หลังจากคราบน้ำตาจางหายไป เธอจะลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ซ้อมอย่างหนักเหมือนที่เคยทำมาตลอด กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม เพื่อล่าเหรียญทองในการแข่งขันครั้งถัดไป

ด้วยเหตุนี้ พาณิภัค จึงได้โอกาสครั้งสำคัญอีกครั้ง กับการลุยโอลิมปิก เกมส์ 2016 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งในตอนนั้นชื่อเสียงของเธอเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาชาวไทยแล้ว พร้อมแบกความคาดหวังจากทุกคนว่า จอมเตะสาวจากจังหวัดสุราษฎ์ธานี ดีพอที่จะคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทย 

 

หลั่งน้ำตาที่บราซิล 

“โอลิมปิก คือมหกรรมที่นักกีฬาทุกคนคาดหวังอยากไปเล่นสักครั้งในชีวิต แต่พอมีโอกาสได้ไปแข่ง ก็ต้องหวังเหรียญทอง ต้องทำให้เต็มที่เพื่อที่จะได้เหรียญกลับมา” 

พาณิภัค สามารถผ่าด่านเข้าสู่รอบ 8 คนสุดท้าย พบกับ คิม โซฮึย จากเกาหลีใต้ ในช่วงท้ายแมตช์ ดาวเตะชาวไทยนำอยู่ 4-2 จนกระทั่งไม่กี่วินาทีสุดท้าย ก็เกิดเหตุการณ์ที่เธอยังจำไม่ลืมจนถึงทุกวันนี้

“ตอนนั้นเหลือเวลาอยู่ 4 วินาที เขาก็บุกเข้ามา หนูก็เตะสวนกลับไป และเขาเตะหัวกลับมา คะแนนของเขาขึ้น แต่ของหนูไม่ขึ้น ก็โดนพลิกมาแพ้ไป”


“หลังจากที่แพ้ ทุกคนบอกว่าหนูประมาท แต่หนูไม่ได้ประมาท หนูเห็นทุกอย่าง ถ้าคะแนนลูกนั้นมันขึ้น ทุกคนก็จะไม่พูดว่าหนูประมาท หนูเต็มที่ในทุก ๆ ทางแล้ว เพียงแต่ว่า ผลมันออกมาเป็นแบบนั้น” 

“หนูเสียใจมาก เพราะมันแค่เอื้อมจริง ๆ แต่เราไปพลาดตรงนั้น ร้องไห้แบบร้องลั่นจนตาบวม แต่ว่าหลังจากนั้นยังมีอีกสองแมตช์ที่ต้องแข่ง เพื่อเอาเหรียญทองแดง ก็ต้องบอกตัวเองให้กลับมาแข่งให้ได้ เพื่อจะได้เหรียญทองแดงกลับมา ต้องทำ ต้องไปให้ได้ แล้วก็ชนะมา” 

“ความพ่ายแพ้ในโอลิมปิก 2016 ทำให้หนูบอกกับตัวเองว่า หลังจากนี้เจอใครหนูจะเตะไม่ยั้ง ต่อให้ต้องทำแต้ม 50 หรือ 60 แต้มก็จะทำ ไม่อยากเจอกับเหตุการณ์พลิกมาแพ้อีกแล้ว”


ประสบการณ์ครั้งนั้น คือบทเรียนสำคัญที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับ พาณิภัค เธอใช้เวลาตลอดหลายปีที่ผ่านมาเก็บเหรียญรางวัลมากมาย 5 ปีผ่านไป เธอก้าวขึ้นมาเป็นนักเทควันโดหญิงหมายเลข 1 ของโลกอย่างไร้ข้อกังขา การันตีด้วยตำแหน่งแชมป์โลก 2 สมัย 

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาร่วม 10 ปี ในฐานะนักสู้ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เผชิญกับความเหนื่อยล้า ทั้งทางร่ายกาย และจิตใจ ซึ่งสะสมจากการฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นเวลายาวนาน และภาระอันหนักอึ้งกับการหวังคว้าเหรียญทองในทุกรายการที่ลงแข่งขัน

แต่ทุกความเหนื่อยยากที่เข้ามา ไม่เคยทำให้หญิงสาวคนนี้คิดที่จะยอมแพ้ กลับกันเธอแข็งแกร่งมากขึ้นในทุกวัน เพื่อล่าความฝันที่เธอมองว่ายังไม่สำเร็จ นั่นคือ การคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์

“ทุกวันนี้ยังตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ หาเป้าหมายที่ชัดเจน ในฐานะนักกีฬาคนหนึ่งก็อยากได้เหรียญทองโอลิมปิก”

“ตอนนี้คิดว่าตัวเองมีความพร้อมมากขึ้น สภาพร่างกายและจิตใจพร้อมทุกอย่าง ช่วงนี้ได้พักร่างกายมาด้วย เพราะก่อนหน้านี้แข่งถี่มาก มีทุกเดือน การซ้อมก็หนักไม่ต่างจากการแข่ง คือต้องสู้เท่านั้น (หัวเราะ)”

จากเด็กคนหนึ่งที่ไม่พบเจอกับชัยชนะในการเล่นเทควันโดมาตลอดหลายปี วันนี้เธอเรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ และจดจำช่วงเวลาที่เลวร้ายในฐานะนักกีฬา จนทำให้เธอเติบใหญ่ กลายเป็นความหวังของคนไทยที่จะได้เหรียญทองโอลิมปิก จากการแข่งขันโตเกียวเกมส์ 2020

ไม่ว่า พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จะสามารถเก็บเหรียญทองตามฝันของเธอได้หรือไม่ แต่เชื่อได้เลยว่า เธอจะทุ่มสุดตัว ทุกหยาดเหงื่อ เพื่อทำเป้าหมายของเธอให้เป็นจริง เหมือนที่เธอแสดงให้เห็นมาตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเธอ

คำถามสุดท้ายที่เราจำเป็นต้องถามเธอในบทสัมภาษณ์นี้คือ ยังแพ้อาหารทะเล หรือผงชูรสอยู่ไหม ?

“กินจนชนะแล้วค่ะ” นี่คือคำตอบส่งท้ายของเธอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้