รีเซต
TRUE TALK : "ไสยศาสตร์การกีฬา" ภัยสุขภาพที่เกิดจาก "ความเข้าใจผิด" ... by "พี่หมอเอก"

TRUE TALK : "ไสยศาสตร์การกีฬา" ภัยสุขภาพที่เกิดจาก "ความเข้าใจผิด" ... by "พี่หมอเอก"

TRUE TALK : "ไสยศาสตร์การกีฬา" ภัยสุขภาพที่เกิดจาก "ความเข้าใจผิด" ... by "พี่หมอเอก"
kentnitipong
7 กันยายน 2561 ( 18:06 )
240

การตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลตามปกติของผม จะมีนักกีฬาหลากหลายประเภทแวะเวียนมาหาเพื่อปรึกษาเรื่องอาการบาดเจ็บ เรื่องการพัฒนาร่างกาย การพัฒนาความฟิต การเจ็บไข้ได้ป่วย
มีทั้งนักฟุตบอล นักกอล์ฟ นักบาสเกตบอล นักวอลเลย์บอล นักวิ่ง นักปั่นจักรยาน นักปีนเขา นักเพาะกาย นักเทควันโด ซึ่งจะมีตั้งแต่พวกที่เป็นนักกีฬาสมัครเล่น เป็นนักกีฬาเดินสาย นักกีฬาระดับเยาวชนอนาคตไกล ไปจนถึงนักกีฬาอาชีพค่าตัวแพง

 

 

ทำให้ผมได้พบความจริงข้อหนึ่งที่หลายๆคนชอบพูดกันว่า “ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬา” ซึ่งอันที่จริงแล้วสิ่งที่ทำๆ กันนั้นหลายๆอย่างน่าจะเข้าข่าย ไสยศาสตร์การกีฬาซะมากกว่านะครับ เพราะสิ่งที่ทำที่ฝึก ที่บอกต่อๆ กันมานั้นล้วนไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับเลย แค่มีความรู้สึกว่าได้ทำอะไรที่ยุ่งยากเพิ่มขึ้น ได้กินอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่นหน่อย แบบนี้ก็ภูมิใจกันว่าได้ใช้วิทยาศาตร์การกีฬากันแล้ว

อย่างกรณีแรก เป็นเรื่องของนักกอล์ฟเยาวชนอายุประมาณ 8-14 ปี เข้ามาตรวจสมรรถภาพร่างกายที่โรงพยาบาล ซึ่งก็ตามธรรมดาของผมที่จะพูดคุยซักถามรายละเอียดเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็ได้เจอเรื่องที่เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนักของเด็กๆ และผู้ปกครองกลุ่มนี้จากการบอกเล่าของเด็กๆ และผู้ปกครองว่า เขาจะเน้นการกินโปรตีนก่อนการฝึกซ้อม และการลงแข่งขัน !!!

ผมก็ต้องเชิญมานั่งคุยปรับทัศนคติกันใหม่ซะหน่อย เพราะอันที่จริงแล้วกระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยโปรตีนนั้นจะใช้เวลาในการย่อยประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้นการกินอาหารที่มีโปรตีนมากๆ ก่อนการซ้อมหรือลงแข่งขันไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดเพราะอาหารไม่ย่อยได้ เนื่องจากขณะออกกำลังกาย หรือขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะถูกกระตุ้นนั้นปริมาณเลือดที่ส่งไปเลี้ยงกระเพาะอาหาร และลำไส้ถูกร่างกายทำให้ลดลงโดยอัตโนมัติก็จะยิ่งทำให้การย่อยอาหาร – การดูดซึมสารอาหารจากกระเพาะอาหาร และลำไส้ช้าลงไปอีก

ดังนั้น สิ่งที่ถูกต้องควรจะต้องกินอาหารมื้อหลัก 2-3 ชั่วโมงก่อนเวลาซ้อมหรือแข่งขัน โดยอาจจะเน้นอาหารจำพวกแป้งในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อให้แป้งเข้าไปสะสมเป็นแหล่งพลังงานขณะออกกำลังกาย โดยก่อนการลงซ้อมหรือแข่งขันประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงยังสามารถกินอาหารว่าง เช่น แซนด์วิช ผลไม้ หรือน้ำผลไม้ได้

ส่วนอาหารประเภทโปรตีนจะให้กินหลังซ้อมหรือแข่งเสร็จแล้วแทน และเน้นให้เป็นชนิดที่ไม่หนักมาก และดูดซึมง่าย เช่น นม โยเกิร์ต เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายนำโปรตีนเข้าไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอขณะออกกำลังกายได้ทันที

ส่วนอีกกรณีนี้ก็เป็นเรื่องของนักวิ่งมือสมัครเล่นทั้งหลายที่ช่วงนี้การวิ่งเป็นกระแสต่อเนื่องทำให้มีคนให้ความสนใจออกมาวิ่งกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีคนโพสต์ คนแชร์เรื่องต่างๆมากมายในโซเชียลมีเดีย ทั้งที่หลายเรื่องที่แชร์ต่อๆ กันมานั้นเข้าข่าย ไสยศาสตร์การกีฬา ซะมากกว่าวิทยาศาสตร์การกีฬา

อย่างที่แนะนำกันมาให้วิ่งโซน 2 เรื่อยๆ จะทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น !!!

ซึ่งมีความจริงบางส่วนไม่จริงทั้งหมดครับ…

การวิ่งโซน 2 ที่พูดถึงคือการวิ่งช้าๆ ให้หัวใจเต้นอยู่ที่ประมาณ 60% – 70% ของ Maximum Heart Rate โดย Maximum Heart Rate หาได้จากการเอา 220 ลบ อายุ นั่นเอง

มีข้อมูลจากการวิจัยบอกไว้ว่า ในคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเป็นประจำมาก่อนนั้นเพียงแค่ออกกำลังกายเบาๆ แบบวิ่งช้าๆ ให้ชีพจรเต้นในโซน 2 ก็สามารถทำให้ค่าความฟิตเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีที่มาเนื่องจากการเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั้นร่างกายจะสร้างน้ำเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น ผลที่ได้คือค่า VO2max เพิ่มขึ้นหรือมีความฟิตมากขึ้นนั่นเอง

แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว หากต้องการพัฒนาระดับความฟิตขึ้นนั้นต้องมีการฝึกหัวใจเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจได้มีความพร้อมสำหรับงานหนัก เพราะการเพิ่มปริมาณน้ำเลือดจากการออกกำลังกายจะต้องมีจุดที่เพิ่มต่อไม่ได้แล้ว

การฝึกหัวใจแบบนี้จึงเหมือนเป็นการแกล้งร่างกายให้ทำงานอย่างหนักบ้าง ด้วยวิธีการฝึกแบบ Interval run หรือ Tempo run (Long run) ให้หัวใจได้ถูกกระตุ้นให้เลยจุดที่เรียกว่า Lactate threshold ไปบ้าง จึงจะเพิ่มความฟิตได้

ส่วนการวิ่งโซน 2 นั้น จะแนะนำให้ใช้สำหรับการวิ่งเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ให้ร่างกายมีการใช้ระบบพลังงานที่ต้องการออกซิเจนเพื่อขับของเสียที่เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนักก่อนหน้านั้นได้

ดังนั้น การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาปรับตารางการซ้อมวิ่งแบบให้เข้าใจง่ายๆ คือ ในแต่ละวันเราไม่ควรจะวิ่งระยะเท่าเดิมหรือวิ่งเร็วเท่าเดิมตลอด เพื่อไม่ให้ร่างกายมีการสร้างกำแพงขึ้นมาปิดกั้นการพัฒนาทั้งกำแพงที่ชื่อว่า VO2max และ Lactate threshold และรวมทั้งอีกหนึ่งกำแพงที่สำคัญคือกำแพงทางด้านจิตใจ โดยที่ในแต่ละสัปดาห์ต้องมีโปรแกรมการแกล้งหัวใจให้โดนกระตุ้นให้ทำงานหนักบ้าง

ความจริงมีอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นความเชื่อผิดๆ ในวงการกีฬาที่ใช้ไสยศาสตร์การกีฬา แทนที่จะใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างถูกต้อง และมีอีกหลายอย่างที่มีการสอนให้ทำต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงทางด้านข้อมูลวิชาการที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้สิ่งที่เมื่อก่อนคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องนั้นกลายเป็นสิ่งที่ผิดในปัจจุบัน

ผมจึงอยากจะขอเน้นย้ำว่าข้อมูลต่างๆ ที่บอกต่อกันมาให้ทำตามไม่ว่าจะทางปากเปล่าหรือทางโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แชร์ต่อกันมา ควรต้องมีการเช็คความถูกต้องก่อนที่จะปฏิบัติตามนั้นด้วยครับ ถึงแม้บางอย่างหากทำตามก็อาจไม่ส่งผลเสียอะไร แต่บางอย่างอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้บาดเจ็บมากขึ้น หรือแม้กระทั่งทำให้ประสิทธิภาพในการแข่งขันลดลงได้

ถ้าหากทำตามหลักการที่ถูกต้องเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ แล้วเราจะได้ออกกำลังกายอย่างมีความสุขแถมด้วยสุขภาพแข็งแรงด้วย

รักใครให้ชวนมาออกกำลังกายกันครับ

“พี่หมอเอก”

 

ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ กดเลย

 

ช่องทางการรับชมการถ่ายทอดสดทาง TrueID

ดูบอลสดผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี คลิก!
ดูบอลสดผ่านเว็บไซต์ ทรูไอดี ฟรี คลิก!

ติดตามข่าวสารกีฬาได้ที่ TrueID App หรือร่วมพูดคุยกันผ่านทาง Line @TrueID ร่วมไปถึงแฟนเพจ TrueID Sports

ยอดนิยมในตอนนี้