รีเซต
เรียนรู้จากกรณีของไทย : สารกระตุ้นมีอิทธิพลกับวงการกีฬาจนต้องลงโทษแบนเลยหรือ ? | Main Stand

เรียนรู้จากกรณีของไทย : สารกระตุ้นมีอิทธิพลกับวงการกีฬาจนต้องลงโทษแบนเลยหรือ ? | Main Stand

เรียนรู้จากกรณีของไทย : สารกระตุ้นมีอิทธิพลกับวงการกีฬาจนต้องลงโทษแบนเลยหรือ ? | Main Stand
เมนสแตนด์
31 ตุลาคม 2564 ( 20:30 )
505

ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการกีฬาไทยรับไตรมาสสุดท้ายปี 2021 เมื่อ องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ WADA ตัดสินลงโทษประเทศไทยเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากทำผิดกฎเรื่องสารต้องห้ามเกี่ยวกับนักกีฬาในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย

 


ส่งผลให้บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งในสหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติ ต้องถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงไม่สามารถใช้ชื่อประเทศไทย และธงชาติไทยในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่ค่อนข้างหนัก หากเทียบกับความบกพร่องที่ประเทศไทย ไม่สามารถบังคับใช้กฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก อย่างเต็มรูปแบบ

Main Stamd หยิบกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้อิทธิพลของสารกระตุ้นต่อวงการกีฬา ถึงเหตุผลที่ WADA ต้องเอาจริงเอาจังกับโทษแบน แม้ชาติต่าง ๆ จะมีความผิดเล็กน้อยก็ตาม

 

สรุปบทลงโทษของ WADA ต่อวงการกีฬาไทย

ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่าง WADA กับ วงการกีฬาไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2021 หลังมีการออกแถลงการณ์จากองค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก ถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 (World Anti-Doping Code 2021) ของ 5 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทย, อินโดนีเซีย, เกาหลีเหนือ, สมาพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติผู้พิการทางการได้ยิน (DIBF) และ International Gira Sports Federation (IGSF)

WADA กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้เริ่มจากการประชุมระหว่าง WADA และ คณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (CRC) เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2021 โดยฝ่ายหลังรายงานถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของ 8 องค์กร และแนะนำให้ WADA แสดงสิทธิ์จะลงโทษองค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก

วันที่ 15 กันยายน 2021 ทาง WADA จึงคำชี้แจงอย่างเป็นทางการไปยังทุกองค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 โดยขีดเส้นใต้ให้ทั้ง 8 องค์กรปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก ภายใน 21 วัน ซึ่ง องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของเยอรมนี, เบลเยียม และมอนเตเนโกร สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แตกต่างจากประเทศไทย และอีก 4 องค์กรที่กล่าวไปข้างต้น

WADA ชี้แจงในแถลงการณ์ดังกล่าวว่า องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทย บกพร่องในการนำกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ไปปรับใช้กับนักกีฬาในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการใช้กฏหมายของประเทศไทย ส่งผลให้วงการกีฬาไทยต้องยอมรับบทลงโทษที่ตามมา ได้แก่ การถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์จาก WADA ซึ่งรวมถึง การระงับสิทธิเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาที่ถูกจัดหรือร่วมจัดโดย WADA

ประเทศไทย ยังถูกตัดสิทธิในการส่งบุคลากรเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการในสหพันธ์กีฬาระดับนานาชาติ และยังไม่สามารถเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป หรือระดับโลก รวมถึงไม่สามารถใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยบทลงโทษนี้จะคงสถานะไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น หากไทยไม่สามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของ WADA

ทั้งนี้ นักกีฬาจากประเทศไทยไม่ได้ถูกแบนการแข่งขันกีฬาระดับโลก เพียงแต่ไม่สามารถใช้ธงชาติไทยระหว่างการแข่งขันเท่านั้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถจัดการแข่งขันกีฬา และใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันระดับโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ ส่งผลให้บทลงโทษจาก WADA ไม่ส่งผลกระทบต่อทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงต้นปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แต่อย่างใด

 

สารกระตุ้น ปัญหาที่ใหญ่กว่าเกมกีฬา

กล่าวตามตรง บทลงโทษที่ประเทศไทยได้รับจาก WADA ไม่รุนแรงเท่าอินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกตัดสินว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับรัสเซีย เมื่อปี 2019 ส่งผลให้นักกีฬาทีมชาติรัสเซียไม่มีสิทธิลงแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2020 และต้องลงแข่งขันในนามนักกีฬาคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย (ROC) แทน รวมถึงนักกีฬา ทีมกีฬาจากรัสเซีย ที่ต้องลงแข่งภายใต้ธงของสหพันธ์กีฬานั้น ๆ ประจำประเทศ

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงว่า ประเทศไทยไม่เคยบกพร่องในการตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา เพียงแต่ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 กลับไม่สอดคล้องกับกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ที่กำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่กฎหมายของประเทศไทยกำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือ ในระหว่างเวลาทำการ นอกจากนี้ องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของ WADA

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด แต่เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายระดับชาติย่อมต้องใช้เวลา ซึ่งตั้งเป้าหมายหวังจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยภายในเวลา 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม ดร.ก้องศักด ยอมรับว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันเส้นตาย 21 วันของ WADA บทลงโทษที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงเพราะ ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ตามกำหนดเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการตรวจหาสารกระตุ้นแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแบนเป็นเรื่องราวใหญ่โตแบบรัสเซีย แต่ถึงอย่างนั้น บทลงโทษของ WADA ในครั้งนี้ส่งผลเสียต่อประเทศไทยไม่น้อย จนนำมาสู่คำถามว่า แค่ความบกพร่องในการบังคับใช้กฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก ถือเป็นความรุนแรงจนต้องลงโทษด้วยการแบนธงชาติในการแข่งขันระดับโลกเลยหรือ ?

ทั้งนี้ WADA ได้กำหนดถึงสารเคมีที่เข้าข่ายเป็นสารกระตุ้นไว้ตามเกณฑ์ 3 ข้อดังนี้ คือ 1. มีศักยภาพในการสมรรถนะการเล่นกีฬา 2. มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับนักกีฬา 3. ละเมิดจิตวิญญาณของเกมกีฬา โดยสารเคมีใดที่เข้าข่าย 2 ใน 3 ข้อนี้ จะถือเป็นสารกระตุ้นที่ถูกแบนโดย WADA

หน้าที่ของ WADA ในปัจจุบันจึงเป็นการสะท้อนเกณฑ์กำหนดสารกระตุ้นทั้งสาม กล่าวคือ เพื่อกำจัดการเสริมสมรรถภาพนักกีฬาโดยสารเคมี ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักกีฬา และเพื่อรักษาความเท่าเทียมในการแข่งขัน อันถือเป็นจิตวิญญาณสำคัญของเกมกีฬา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความพยายามที่จะใช้สารกระตุ้นเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพนักกีฬา เกิดขึ้นด้วยความจงใจในหลายการแข่งขันทั่วโลก โดยย้อนกลับไปในอดีต ประเทศระดับมหาอำนาจในสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่จากโลกเสรี เช่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมันตะวันตก หรือ ชาติจากโลกคอมมิวนิสต์ ทั้ง สหภาพโซเวียต, จีน และเยอรมันตะวันออก ต่างมีประวัติยาวยืดเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้น เพื่อพิชิตความเป็นหนึ่งในสงครามตัวแทนบนเวทีโอลิมปิกเกมส์

ไม่ว่าจะเป็น การใช้สารกระตุ้นอย่างเปิดเผยของนักกีฬาโซเวียตในโอลิมปิก มอสโก 1980 จนถูกตั้งชื่อเล่นว่า "เกมของนักเคมี" (Chemists' Games) ส่วน เรเนตท์ นอยเฟลด์ นักสปรินต์หญิงของเยอรมันตะวันออก ยอมรับว่าเธอถูกบังคับให้ใช้สารกระตุ้นเพื่อลงแข่งขันในโอลิมปิก มอสโก 1980 (นอยเฟลด์ลี้ภัยไปฝั่งตะวันตกในปี 1977 จึงไม่ต้องลงแข่งขัน)

ส่วน ประเทศจีน ดำเนินการใช้สารกระตุ้นกับนักกีฬาตามโครงการของภาครัฐตลอดช่วงยุค 1980s และ 1990s ขณะที่เยอรมันตะวันตกมีการเปิดเผยเอกสาร 800 หน้า ที่กล่าวถึงการใช้สารกระตุ้นของภาครัฐต่อนักกีฬาตั้งแต่ปี 1980 ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาเองมีการเปิดเผยว่า มีนักกีฬากว่า 100 คน ที่ไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้น แต่สามารถลงแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ในช่วงปี 1988 ถึง 2000

หลังโลกจากฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นหนึ่ง WADA จึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1999 ภายใต้ "ปฏิญญาโลซานน์" เพื่อเพื่อส่งเสริม ประสานงาน และสังเกตุการณ์ในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา ก่อนนำมาสู่ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านสารกระตุ้นในกีฬา (International Convention Against Doping in Sport) ซึ่งถูกประกาศใช้ในปี 2005 และถือเป็นหนึ่งในสนธิสัญญายูเนสโกพหุภาคี หรือข้อตกลงนานาชาติที่ถูกรับรองโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ว่าแต่ละประเทศจะป้องกันและกำจัดการใช้สาระกระตุ้นในเกมกีฬา

การลงโทษประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกอย่างจริงจัง จึงไม่ได้มีความรุนแรงเกินจำเป็น หากมองในแง่ที่ชาตินั้น ๆ กำลังละเมิดและไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนานาชาติที่เคยรับรองไว้ ตัวอย่างสำคัญคือ ประเทศรัสเซีย ที่ถูกลงโทษแบน 2 ปี หลังถูกตัดสินมีความผิดในฐานมีเจตนาปกปิดบังข้อมูลการใช้ยา ซึ่งอาจเป็นสารต้องห้ามของนักกีฬา ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎและทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการแข่งขัน

การตัดสินลงโทษแบนประเทศรัสเซียของ WADA เกิดขึ้นไปตั้งแต่ปี 2019 (แต่มีการตัดสินอีกครั้งในปี 2020 โดยศาลกีฬาโลก ลดโทษจาก 4 ปีที่กำหนดโดย WADA เหลือ 2 ปี) ถือเป็นตัวอย่างสำคัญถึงการทำงานอย่างจริงจังในการปราบปรามสารกระตุ้นจากวงการกีฬา แต่อย่างที่เราเห็นกันชัดเจนว่า WADA เพิ่มความเข้มงวดในกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 จนหลายประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ทัน แสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องสารกระตุ้นที่ยังคงอยู่ในโลกปัจจุบัน

การขีดเส้นตายภายใน 21 วัน ก่อนตัดสินใจลงโทษประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก จึงถือเป็นการงัด "ไม้แข็ง" ของ WADA เพื่อให้การปราบปรามการใช้สารกระตุ้นในวงการกีฬามีการปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า มีประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหา และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ WADA ได้จริง ภายใต้เส้นตาย 21 วัน

บทลงโทษที่ประเทศไทยต้องพบเจอจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า "มีความเหมาะสม" เพราะถึงท้ายที่สุด การลงดาบของ WADA ครั้งนี้ สะท้อนถึงความไม่ครอบคลุมและอาจปล่อยให้เกิดช่องว่างในการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬา แม้บ้านเราจะยังไม่มีนักกีฬาคนไหนที่ฝ่าฝืนจนเป็นกรณีชัดเจนเหมือน อินโดนีเซีย และ เกาหลีเหนือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ. สารกระตุ้นฉบับปัจจุบันของไทย ถือว่าล้าหลังเกินไปในสายตาของ WADA

การแบนธงชาติในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติอาจดูรุนแรงเกินไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในวงการกีฬาบ้านเราหันมาศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของวงการกีฬาไทยในระยะยาว และยังสะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมในการแก้ปัญหา เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามคำเตือนของ WADA ในกรอบกำหนดเวลา 21 วัน แตกต่างจากชาติยุโรป อย่าง เยอรมนี, เบลเยียม และมอนเตเนโกร

การใช้ไม้แข็งของ WADA กับวงการกีฬาไทยในครั้งนี้ จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญในประเทศไทยเรียนรู้ถึงอิมแพคต์ของสารกระตุ้นในเกมกีฬา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในระดับความสัมพันธ์นานาชาติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การแข่งขันกีฬาระดับโลกในปัจจุบัน ถือเป็นกิจกรรมที่อุดมไปด้วยหลากหลายมิติ และการใช้สารกระตุ้นที่ถือเป็น "สูตรโกง" ในโลกกีฬา ไม่เพียงแต่ทำลายจิตวิญญาณในเกมกีฬา แต่ยังหมายถึงการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เหมือนกับที่เราเห็นแล้วในยุคสงครามเย็น

 

อ้างอิง

https://www.wada-ama.org/en/media/news/2021-01/wada-2021-list-of-prohibited-substances-and-methods-now-in-force
https://www.wada-ama.org/en/media/news/2021-10/wada-confirms-non-compliance-of-five-anti-doping-organizations
https://en.wikipedia.org/wiki/World_Anti-Doping_Agency#History
https://www.wada-ama.org/sites/default/files/resources/files/2021_wada_code.pdf

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

541