รีเซต
รากลึกที่เน่าเฟะ : อธิบายต้นตอที่ “โอลิมปิก” ต้องลุกขึ้นปฏิวัติวงการมวยสากลสมัครเล่น | Main Stand

รากลึกที่เน่าเฟะ : อธิบายต้นตอที่ “โอลิมปิก” ต้องลุกขึ้นปฏิวัติวงการมวยสากลสมัครเล่น | Main Stand

รากลึกที่เน่าเฟะ : อธิบายต้นตอที่ “โอลิมปิก” ต้องลุกขึ้นปฏิวัติวงการมวยสากลสมัครเล่น | Main Stand
เมนสแตนด์
2 สิงหาคม 2564 ( 13:30 )
196

กีฬามวยสากลในโอลิมปิก 2020 มีความเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ตัดสินใจลงมาเป็นผู้จัดการแข่งขัน แทนที่ของ สมาพันธ์มวยสากลนานาชาติ หรือ ไอบ้า  เนื่องจากปัญหาด้านความโปร่งใสของการบริหารองค์กร และการติดสิน  


 

ประเด็นนี้ ชาวโลกยังคงจับตามองว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้ของโอลิมปิก จะทำให้ปัญหาความยุติธรรมถูกขจัดหายไปได้จริงหรือไม่  เพราะอะไรองค์กรอย่างไอบ้า จึงค่อย ๆ หมดความชอบธรรม และทำไมโอลิมปิกจึงต้องเข้ามามีบทบาทในครั้งนี้ 

 

กีฬาดั้งเดิมแต่เสี่ยงหลุดโอลิมปิก 

มวยสากล นับเป็นกีฬาที่อยู่คู่กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก มาตั้งแต่ปี 1904 ที่เมืองเซนต์หลุยส์  สหรัฐอเมริกา  แม้ว่าจะหลุดจากการแข่งขันโอลิมปิก 1912 ที่สตอคโฮล์ม ทว่าตั้งแต่ปี 1920 มวยสากล คือชนิดกีฬาที่ได้รับการบรรจุในโอลิมปิกมาตลอด จนถึงโอลิมปิก 2020  "โตเกียวเกมส์"   

ในอดีต มวยสากล นับเป็นกีฬาชนิดแรก ที่นักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองจาก พเยาว์ พูนธรัตน์ ในโอลิมปิก 1976 ที่มอนทรีออล จากนั้นมวยสากล ก็เป็นชนิดกีฬาที่นักกีฬาไทยสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลมาโดยตลอด 

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้กีฬามวยสากล ถูกตั้งคำถามจากชาวโลกก็คือ การตัดสินที่ไม่เป็นธรรมมาหลายทศวรรษ  เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า มวยสากล คือกีฬาที่ตัดสินจากสายตา  ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของการแข่งขันมวยโอลิมปิก ถูกลดทอนลงไปทุกปีๆ 

 

ปัญหาการตัดสินฝังรากลึก

ที่มาของสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ หรือ ไอบ้า เกิดขึ้นในโอลิมปิก 1920 ที่เบลเยี่ยม  ตัวแทนจาก 5 ชาติ คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่น หรือ FIBA วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ และเปิดโอกาสให้นักมวยสมัครเน มีโอกาสสร้างผลงานระดับนานาชาติ 

FIBA เหมือนจะเดินหน้าด้วยดี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เมื่อพฤติกรรมของผู้บริหารสมาพันธ์บางส่วน ไปมีบทบาททางการเมือง จนทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือในการจัดการแข่งขัน  ประกอบกับความคิดเห็นที่แตกออกเป็นหลายฝ่าย   ดังนั้น FIBA จึงถูกยุบลงในปี 1948  และจากนั้นสมาคมมวยสากลสมัครเล่นของอังกฤษและฝรั่งเศส ตัดสินใจก่อตั้งสมาพันธ์ใหม่ขึ้นมา คือ AIBA   และได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินงานในโอลิมปิก 

การแข่งขันมวยสากลในโอลิมปิก ยังคงเป็นไปด้วยดีและไม่มีปัญหาการตัดสินที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง  อาจเนื่องมาจากการเข้าถึงสื่อในยุคก่อนที่ยังไม่กว้างขวางนัก  ทำให้ประเด็นการตัดสินยังไม่ถูกตั้งคำถามจากผู้ชม  แต่หากพิจารณาจากรายงานแล้ว พบว่า การตัดสินที่ค้านสายตา เกิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิกแทบทุกครั้ง  เช่น ปี 1960  มีรายงานว่าผู้ตัดสินถูกปลดจากการทำหน้าที่หลายคน เนื่องจากทำหน้าที่ค้านสายตา  ในขณะที่โอลิมปิก 1964  โช ดองกี นักมวยเกาหลีใต้ ถูกผู้ตัดสินปรับแพ้สตานิสลาฟ โซโรคิน จากสหภาพโซเวียต  เนื่องจากต่อยแบบก้มต่ำเกินไปหลังเวลาผ่านไปเพียง 1 นาที กับ 6 วินาทีในยกแรก ทำให้เขาตัดสินใจประท้วงไม่ลงจากเวทีนานถึง 51 นาทีด้วยกัน 

 

รอย โจนส์ จูเนียร์ กับ ความพ่ายแพ้ที่กระเพื่อมสู่ชาวโลก 

จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในปี 1986 เมื่ออัลวา ชอร์ดรี้ ชาวปากีสถาน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานไอบ้า  การตัดสินที่ค้านสายตาทวีความรุนแรงขึ้น  โดยเฉพาะไฟต์ระหว่าง พัค ซีฮอน  นักชกเกาหลีใต้ เจ้าภาพ กับ รอย โจนส์ จูเนียร์   ที่สายตาของชาวโลกมองว่า ไม่ว่าอย่างไร รอย โจนส์ จูเนียร์ ก็ค้าเหรียญทองมาครองได้แน่  แต่สุดท้าย กลับกลายเป็นว่า กรรมการกลับให้ พัค เป็นฝ่ายชนะไป 3-2 เสียง ชนิดช็อกโลก   ซึ่งหลังชก กรรมการจากโมร็อกโกที่เป็นหนึ่งในสามเสียงที่ให้พัคชนะ ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าเขาคิดว่า รอย โจนส์ น่าจะชนะง่ายๆ และกรรมการอีก 4 คน คงให้ชนะหมดอยู่แล้ว ดังนั้นก็เลยอยากให้คะแนนออกมาดูสูสี โดยไม่คิดว่าจะมีกรรมการอีก 2 คน ที่ให้พัค ชนะด้วย  

เหตุการณ์นี้ ทำให้ ชอร์ดรี้ ตัดสินใจรื้อระบบการตัดสินมวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิก จากระบบกรรมการให้คะแนน มาเป็นระบบนับหมัด  เขาใช้เวลา 2 ปในการวิจัยระบบ จนถูกนำมาใช้ในโอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลนา  

 

ระบบนับหมัดที่ (เหมือน) จะยุติธรรม

แรก ๆ ระบบนับหมัดก็เหมือนจะทำให้การตัดสินดูยุติธรรม เพราะผู้ชมจะได้เห็นในทุกๆช่วงที่คะแนนขึ้นจากการต่อยหมัดเข้าไป  แต่เมื่อนานไป ก็กลับสู่วงจรเดิม คือ การตัดสินที่ค้านสายตา   

ในเอเชี่ยนเกมส์ 2002  อัลวา ชอร์ดรี้ ถูกตั้งคำถามหนักมาก เพราะนักมวยของทีมชาติปากีสถาน สามารถผ่านเข้าชิงเหรียญทองถึง 5 รุ่น ชนิดที่ค้านสายตาชาวเอเชียอย่างมาก  แต่สุดท้ายกลับคว้ามาได้ 1 เหรียญทอง และที่น่าสังเกตก็คือ หลังยุคของอัลวา ชอร์ดรี้ ในเอเชี่ยนเกมส์ 2006 นักชกปากีสถาน ไม่ได้เหรียญรางวัลเลยเเม้แต่เหรียญเดียว  สิ่งนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ กับสมาคมกีฬาที่ผลงานโดดเด่นในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี 

มาตรฐานการให้คะแนนก็มีเกณฑ์ไม่มีความสมดุล โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่คะแนนหมัดขึ้นยาก  (กรณีสมรักษ์ ได้เหรียญทอง ชนะนักชกบัลแกเรีย แค่ 8-5 )  จนกระทั่งปี 2000 ที่ซิดนีย์ (วิจารณ์ พลฤทธิ์ ชนะคู่แข่งจากคาซัลคสถาน 21-13)  และ 2004 ที่กรีซ (มนัส บุญจำนงค์ ชนะ นักชกคิวบา  17-11) บางคู่ผู้ชนะต่อยเข้าเป้าถึง 30 หมัด  มาปี 2008 ที่จีน คะแนนขึ้นยากเหมือนเดิม (กรณีสมจิตร จงจอหอ เอาชนะ นักชกคิวบาเพียง  8-2)  และมาโอลิมปิก 2012 ที่อังกฤษ   ไม่มีการโชว์คะแนนขณะต่อย  มาโชว์อีกที หลังจบยกเลย  ซึ่งแก้ว พงษ์ประยูร แพ้ต่อ ซูชิหมิง 10-13 

 

ชอร์ดรี้เสียบัลลังก์สู่ยุคมืดซ้ำรอย

ปี 2006  ชอร์ดรี้  แพ้การเลือกตั้งต่อ "ชิง กัวะ วู"  ไอโอซีเมมเบอร์ชาวไต้หวัน ไป 4 เสียงในการเลือกตั้ง  ท่ามกลางกระแสการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก  เป็นอันหมดยุคการครองอำนาจของขั้วอำนาจเดิม นโยบายของ "ชิง กัวะ วู" ตัดสินใจนำเอาคำว่าสมัครเล่นออกจากชื่อ เพื่อยกระดับให้กีฬามวยมีความเป็นสากลยิ่งขึ้น แต่ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาการตัดสินค้านสายตาที่ยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ  

การตัดสินในโอลิมปิก 2012 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะทางฝ่ายถ่ายทอดสด ตัดสินใจปิดคะแนนหมัดของนักชกระหว่างการแข่งขัน แต่จะเปิดเผยในช่วงหมดยกเท่านั้น  ทำให้เราไม่มีทางรู้เลยว่า หมัดที่ได้ มาจากจังหวะไหน 

ดังเช่นกรณีของ แก้ว พงษ์ประยูร กับ โจว ซื่อหมิง (หรือ ซู ชิหมิง ที่คนไทยคุ้นหู) ในรุ่น 49 กิโลกรัมชาย ที่เห็นว่า แก้ว ต่อยดีกว่า โจว แต่พอหมดยก คะแนนของแก้วกลับเป็นรอง จนเมื่อกรรมการประกาศผลออกมา แก้วเป็นฝ่ายแพ้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โตในวงการมวยสากล แต่สุดท้าย ก็ไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบกับการติดสินแบบนี้ 

 

มวยอาชีพ = มวยสากล ?

ปี 2014  ไอบ้า ตัดสินใจนำระบบการให้คะแนนแบบสวยสากลอาชีพมาใช้ โดยใช้กรรมการ 3 คน ตัดสินหาผู้ชนะ ในระบบการให้คะแนนแบบมวยอาชีพ ยกละ 10 คะแนน  เพราะนโยบายของชิง กัวะ วู กล่าวอ้างว่า ต้องการยกระดับ มวยสากลให้เป็นอาชีพ และให้นักมวยต่อยแบบไม่มีเฮดการ์ด  พร้อมเปิดช่องให้นักชกอาชีพ สามารถเข้าแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ได้ด้วย  นี่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้วงการมวยเจอกับภาวะวิกฤติ 

โอลิมปิก 2016  กับระบบการให้คะแนนแบบมวยอาชีพ ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะไมเคิ่ล คอนแลน นักชกชาวไอร์แลนด์ ถูก วลาดิเมียร์ นิกิติน เอาชนะในรอบรองชนะเลิศของรุ่น 56 กิโลกรัมชายแบบสุดงง ทั้งที่เขาต่อยนิกิตินจนรอบฟกช้ำขึ้นที่ใบหน้า แต่กรรมการกลับชูมือให้นิกิตินชนะไปแบบสุดงง  รวมถึงการตัดสินในรุ่นอื่นๆ ก็มีปัญหาการตัดสินค้านสายตาเกิดขึ้นด้วย

แม้หลังโอลิมปิกจะมีการลงโทษผู้ตัดสินไปถึง 36 คน  แต่ก็เหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และอ้างว่าผู้ตัดสินทำหน้าที่ได้ตามมาตรฐานแล้ว  

แต่เหตุการณ์นี้ ได้สร้างจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งสำหรับการแข่งขันมวยสากล ก็คือ การเพิ่มกรรมการให้คะแนนจาก 3 คน เป็น 5 คน  ในเวลาต่อมาในการดำเนินงานของไอบ้า

 

ไอโอซีบีบไอบ้าขอความโปร่งใส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ ชิง กั๊วะ หวู เริ่มหมดอำนาจลงเรื่อยๆ เขาถูกลงมติไม่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่ต่อ แต่ก็ยังคงมีการต่อสู้มาเรื่อยๆ  กระทั่งปี 2018 ชิง กัวะ วู เป็นฝ่ายยอมถอยออกจากไอบ้า ในที่สุด โดยตั้ง กาฟูร์ ราคิมอฟ ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอุซเบกิสถาน ขึ้นมาเป็นประธานไอบ้าแทน   

อย่างไรก็ตามไอโอซี ที่จับตาไอบ้าอยู่แล้ว ได้กดดันให้ราคิมอฟลาออก เนื่องด้วยไอบ้าสืบทราบว่า ราคิมอฟ ทำธุรกิจที่ไม่ใสสะอาด และอาจเป็นภัยต่อการจัดการแข่งขัน  สุดท้ายราคิมอฟก็ยอมลาออกในปี 2019  แม้ไอบ้าจะพยายามหาทางออก  แต่สุดท้าย ไอโอซีเล็งเห็นว่า คงไม่อาจทนได้กับปัญหาที่สะสมมายาวนานหลายยุคหลายสมัย ไอโอซี จึงตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้จัดการแข่งขันแทนที่ของไอบ้า ในโอลิมปิก 2020   

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลประโยชน์และเม็ดเงินที่มหาศาล ที่ทำให้เหล่าบรรดาผู้บริหารต่างไม่อยากถอยไปจากตำแหน่ง และด้วยผลประโยชน์และอำนาจในการต่อรอง ทำให้ปัญหาการตัดสินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่ทำให้ไอบ้าเป็นหนี้ร่วม 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,600 ล้านบาท) ทำให้ความเชื่อมั่นที่มี ทวีความเสื่อมถอยลงไป 

 

BTF แสงสว่างแห่งความฝันของนักมวยสากล

จนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 บอร์ดบริหารของไอโอซี มีมติไม่ตัดกีฬามวยสากล ออกจากการแข่งขันโอลิมปิก 2020 แต่ห้ามไอบ้า เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากความโปร่งใสขององค์กรที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้   พร้อมจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Boxing Task Force หรือ BTF ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการแข่งขันแทน  โดยมีโมรินาริ วาตานาเบะ ประธานสมาพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจาก 5 ทวีป และต่างสมาพันธ์กีฬา  

วัตถุประสงค์ของ BTF จัดขึ้นเพื่อทำให้การแข่งขันมวยสากลในโอลิมปิก 2020 เป็นไปอย่างยุติธรรม และเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกนักมวยเข้าแข่งขันในโอลิมปิก ทำงานร่วมกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในแต่ละประเทศ  จุดยืนสำคัญนอกจากการตัดสินที่ใสสะอาดแล้ว ยังพร้อมรับฟังเสียงของนักกีฬา และทำให้ชาวโลกมั่นใจได้ว่า จะได้นักมวยที่ดีที่สุด ที่คว้าเหรียญทองในแต่ละประเภท 

ส่วนการจัดหาผู้ตัดสิน  จะไม่ใช่ผู้ตัดสินที่ผ่านการคัดเลือกจากไอบ้าเลย  โดยจะคัดเลือกจากผู้ที่มีประสบการณ์สูง และมีประวัติการตัดสินที่ยอดเยี่ยม โดย BTF มีการประเมินผู้ตัดสินแต่ละคนด้วยตัวเองในช่วงก่อนหน้านี้ ก่อนจะส่งไปทำหน้าที่ในแต่ละไฟต์

ในการคัดเลือกระดับทวีปทั้ง 5 โซน ปรากฏว่าไม่มีการร้องเรียนการตัดสินเท่าใดนัก ซึ่งก็ดูเหมือนว่า BTF จะอยู่ในสถานการณ์ที่ได้รับการยอมรับจากสมาพันธ์มวยในแต่ละชาติ  

แต่ประเด็นสำคัญดันมาเกิดขึ้น ในช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อ BTF ตัดสินใจยกเลิกทัวร์นาเมนต์ World Qualifier ที่เป็นรายการคัดเลือกนักกีฬาที่ยังไม่ผ่านการคัดเลือกระดับทวีป  เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  รวมทั้งเป็นห่วงสวัสดิภาพของนักกีฬา  ก่อนจะตัดสินใจคัดเอานักกีฬาที่อันดับดีที่สุดแต่ยังไม่ผ่านเข้ารอบ ในแต่ละรุ่นไปแทนโดยไม่ต้องลงสู่สังเวียน 

ประเด็นนี้ ไอบ้า ออกมาวิพากษ์การทำงานของ BTF ว่า เป็นการตัดสิทธิ์นักกีฬาที่เตรียมความพร้อมเพื่อไปคัดโอลิมปิกในรอบนี้ และจะไม่ได้นักมวยที่มีฝีมือจริงๆเข้าแข่งขัน  ส่วนสมาพันธ์มวยบางประเทศ เช่น อูกานดา ก็ออกมาบ่นถึงประเด็นนี้เช่นกัน ว่าทาง BTF ไม่น่ายกเลิกการคัดเลือกครั้งนี้ 

 

โอลิมปิกได้อะไรจากการจัดมวยสากล 

สิ่งที่โอลิมปิก พยายามรักษาให้กีฬามวยยังคงสภาพในโอลิมปิก นอกจากสิ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า เพื่อเป็นการให้โอกาสนักกีฬามวยสากลได้แสดงความสามารถในโอลิมปิกแล้ว สิ่งสำคัญที่กีฬามวยไม่สามารถหลุดจากกีฬาโอลิมปิก ก็คือ ส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน  

ปัจจุบัน กีฬาในโอลิมปิก มีการจัดกลุ่มความนิยม โดยพิจารณาจากปัจจัยดังนี้คือ 1.ความนิยมทางโทรทัศน์ 40%, ความนิยมทางโลกออนไลน์ 20%, ผลสำรวจจากแฟนกีฬา 15%, ความนิยมจากบัตรเข้าชมการแข่งขัน 10%, การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ 10% และ จำนวนสมาชิกในสหพันธ์ 5%   โดยหากจัดอันดับตามกลุ่มแล้ว จะจัดอันดับดังนี้ ไล่จาก A-E คือได้รับความนิยมสูงสุดไล่เรียงลงไป  

กลุ่ม A : กรีฑา, กีฬาทางน้ำ , ยิมนาสติก
กลุ่ม B : จักรยาน, เทนนิส, บาสเกตบอล, ฟุตบอล, วอลเลย์บอล
กลุ่ม C : ยิงธนู, แบดมินตัน, มวยสากล, ยูโด, เรือพาย, ยิงปืน, เทเบิลเทนนิส และ ยกน้ำหนัก 
กลุ่ม D : เรือแคนู/คายัค, ขี่ม้า, ฟันดาบ, ฮอกกี้ , แฮนด์บอล, เรือใบ, เทควันโด, ไตรกีฬา, มวยปล้ำ 
กลุ่ม E : ปัญจกรีฑาสมัยใหม่, กอล์ฟ, รักบี้ 

ส่วนกีฬาที่มีการเพิ่มขึ้นมา อย่าง สเกตบอร์ด, ปีนหน้าผา, โต้คลื่นและเบรกแดนซ์ (โอลิมปิก 2024) จะยังไม่ได้พิจารณาเข้ามาในกลุ่มนี้  เนื่องจากต้องรอการประเมินผลหลังจบการแข่งขันในแต่ละครั้ง 

จากการจัดกลุ่มดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า กีฬามวยสากล ยังจัดเป็นกีฬาที่จะสร้างมูลค่าจากการถ่ายทอดสด ให้กับการแข่งขันโอลิมปิกได้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่ม Tier C ซึ่งมีผู้เข้าชมการแข่งขัน และความนิยมอยู่ในระดับที่สูง  หากตัดการแข่งขันมวยสากลออกไป จะส่งผลกระทบในภาพรวม  โดยเฉพาะในด้านของธุรกิจ  เพราะเหตุนี้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กีฬาโอลิมปิกยังต้องมีมวยสากลอยู่  เพราะหากไม่มีกีฬาชนิดนี้  ผลกระทบจะเกิดกับทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การที่โอลิมปิกมาเป็นผู้จัดเอง ใช่ว่า จะไม่เจ็บตัว เพราะการจัดการแข่งขันทุกอย่าง  ทุกขั้นตอน  และการสรรหากรรมการตัดสิน  ทุกอย่างโอลิมปิกจะต้องใช้งบประมาณของตัวเองในการลงทุน  แต่พวกเขาเชื่อว่า สิ่งที่กลับมาในเชิงธุรกิจ จะคุ้มค่า  และที่คุ้มค่าที่สุด ก็คือ การปรับภาพลักษณ์ของกีฬามวยสากล ให้กลับมาน่าเชื่อถืออีกครั้ง 

 

ไอบ้า(หวัง) รีเทิร์น 

ในช่วงเวลาที่ BTF จัดการแข่งขันอยู่นั้น ไอบ้า ไม่ได้อยู่นิ่งรอวันตาย  แต่ยังคงมีการเคลื่อนไหวในการปฏิรูปองค์กรอยู่ตลอด โดยช่วงปลายปี 2563  ได้มีการเลือกตั้งประธานไอบ้าคนใหม่ และผู้ที่ได้รับตำแหน่ง คือ อูมาร์ เครมเลฟ จากรัสเซีย ที่ประกาศจะทำให้ไอบากลับมาเป็นที่ไว้ใจของให้ชาวโลก และไอโอซีอีกครั้ง ให้ทันการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส  โดยงานแรกของเขา คือ ต้องเร่งสะสางหนี้ที่มีอยู่  พร้อมจัดตั้งอะคาเดมีมวยทุกทวีป เพื่อพัฒนานักมวย, โค้ชและผู้ตัดสิน  และที่สำคัญที่สุดคือ การบริการองค์กรทุกภาคส่วนจะต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่ให้ซ้ำรอยเดิม 

นอกจากนั้น ไอบ้า ยังดึง รอย โจนส์ จูเนียร์ อดีตนักมวยที่ถูกตัดสินอย่างค้านสายตาเมื่อปี 1988 เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมปฏิรูป  โดยเขากล่าวว่า ไม่อยากให้ความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้นกับเขาที่กรุงโซล เกิดขึ้นกับใครอีก  เพราะในครั้งนั้น ตัวเขาควรจะได้เหรียญทองอย่างมาก  

 

 

ยุติธรรมจริงไหม.. ใครจะรู้ ?

ไม่มีใครตอบได้ ณ ตอนนี้ว่า การทำงานของ BTF ในโอลิมปิกครั้งนี้จะทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่  เพราะคงต้องให้ผลตอบรับจากแฟนมวย, นักกีฬาและสตาฟฟ์โค้ช เป็นผู้ที่ตัดสินผลงานของพวกเขา สุดท้ายจะซ้ำรอยยุคมืดของไอบ้าหรือไม่นั้น  เชื่อว่านักกีฬาทุกคนคงไม่มีใครอยากเอาฝันมาทิ้งบนสังเวียนผ้าใบโอลิมปิก เพียงเพราะการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม จากกรรมการเพียง 5 คนอย่างแน่นอน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://boxing.athlete365.org/boxing-task-force-what-you-need-to-know/
https://www.washingtonpost.com/sports/olympics/2021/06/28/roy-jones-jr-amateur-boxing-reform/
https://www.theguardian.com/sport/blog/2012/feb/15/olympic-moments-roy-jones-jr
https://sportstar.thehindu.com/boxing/aiba-banned-from-2020-tokyo-olympics-amateur-boxing-michael-conlon-boxing-corruption/article28159659.ece
https://www.asoif.com/News/News_Article.aspx?ID=3392

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้