TRUE UNLOCK: Big Data วงการกีฬา เคล็ดลับสู่ชัยชนะ ... by "STEWAN"
ช่วงนี้คอบอลเริ่มกลับมาคึกคักมีชีวิตชีวากันอีกรอบ เพราะศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่ได้รับความนิยมจนฮอตฮิตติดลมบนในบ้านเราเปิดฉากฟาดแข้งในฤดูกาลใหม่กันไปแล้ว 2 สัปดาห์
สุดสัปดาห์นี้เป็นการลงสนามแมตช์ที่ 3 ของสโมสรต่างๆ ใครเจอกับใครยังไงบ้าง สามารถติดตามกันได้จากเนื้อหาของทีมงาน true id sport ที่มีให้เลือกอ่านครบครัน
เอาล่ะมาเข้าเรื่องที่อยากจะนำเสนอในบทความนี้ดีกว่าว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Big Data, Artificial Intelligence (AI), Data Analytics, Internet of Things (IoT) และอีกมากมายจนเกินจะสาธยายหมดในที่นี้ เอาแค่นี้พอก่อน (จริงๆ คือแอบขี้เกียจเล็กๆ ฮ่าๆๆ)
จำได้ว่าสมัยก่อนตอนเด็กๆ ที่เริ่มต้นดูกีฬา ซึ่งตัวผมเองไม่ได้ยึดติดอยู่กับแค่ฟุตบอลแม้จะชื่นชอบมากที่สุดก็ตาม เพราะหลังจากรับเอาเกมการดวลแข้งของสองฝั่งๆ ละ 11 คนเข้ามาอยู่ในสายเลือดแล้ว หลังจากนั้นก็พัฒนาไปสู่การติตดามกีฬาหลากหลายประเภท อาทิ อเมริกันเกมส์ ซึ่งประกอบไปด้วย อเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล เบสบอล (ส่วนฮ็อกกี้ผมไม่ค่อยอินแฮะ เหมือนๆ กับที่ไม่ค่อยสนใจฟุตบอลเมเจอร์ลีกของที่นั่น) มวย วอลเลย์บอล เทนนิส ว่ายน้ำ ยิมนาสติก ฯลฯ
มืออาชีพไม่เคยมองข้ามสถิติ
สิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากๆ เกี่ยวกับเกมกีฬาแต่ละประเภทคือ “สถิติ” ซึ่งบางคนอาจจะหมายความถึง ผลการแข่งขันระหว่างทีมเอ vs ทีมบี หรือ นาย ก. ปะทะ นาย ข. ว่าเคยเจอกันมากี่ครั้งแล้วผลที่ผ่านมาเป็นยังไง ใครชนะ ใครแพ้ หรือเคยเสมอกันมามั้ย
แต่สำหรับผมแล้ว สถิติ มีความหมายทั้งกว้างทั้งลึกและทั้งมีประโยชน์มากกว่าที่เราๆ ท่านๆ คิดว่ามันจะมีอีกครับ
ขอยกตัวอย่างเล็กๆ ให้พอจะเห็นภาพกันซักนิดนึง ถ้าใครที่ติดตามการถ่ายทอดสดการลงสนามแข่งขันของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยของเราอยู่บ่อยๆ คงจะเคยเห็นภาพที่โค้ชของทีมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “โค้ชอ๊อด” หรือ “โค้ชด่วน” ล้วนแล้วแต่มีแทบเล็ตถือติดมือในระหว่างที่ลูกทีมกำลังบรรเลงเพลงตบกันอยู่ในสนาม
แน่นอนครับว่าผู้ฝึกสอนมืออาชีพเหล่านั้นเค้าไม่ได้เอาคอมพิวเตอร์พกพาไว้ดูหนังหรือซีรีส์ของทรูไอดีหรอกครับ (แต่ถ้าดูเวลาอื่น แนะนำเว็บหรือแอป true id เลยนะฮะโค้ช ขออนุญาตเนียนขายของหน่อย อิอิ) อ้าวแล้วเอาไว้ทำอะไรล่ะ? หลายคนคงอยากจะรู้แล้ว ซึ่งคำตอบก็คือไม่ใช่แค่เอาไว้ดูภาพการแข่งขันในมุมกล้องที่มีให้ดูหลากหลายกว่าที่สายตาตัวเองได้ดู แต่สิ่งสำคัญคือยังเอาไว้ใช้ดูสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างแข่ง เพื่อคิดหาแผนการแก้เกมคู่ต่อสู้ได้อย่างทันท่วงที
ผมจำได้ว่าวินาทีแรกๆ ที่เปิดโลกตัวเองเข้าสู่วงการอเมริกันเกมส์ บอกตรงๆ ว่า โคตรงง!!! คืองงมากกับตัวเลขต่างๆ นานาที่ขึ้นมาบนหน้าจอในระหว่างถ่ายทอด ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพวกสถิตินี่แหละ แต่พอทำความเข้าใจเรียนรู้จนซึมซับเอาแก่นแท้ของกีฬาแต่ละประเภทเข้ามาอยู่ในหัวสมองแล้ว ผมกลับพบว่านี่มันคือขุมทรัพย์ขนาดมหึมาเลยทีเดียวเชียววววววววว
ข้อมูล คือ ตัวกำหนดแท็กติก
ทำไมผมถึงเชื่อแบบนั้น คำอธิบายที่พอจะถ่ายทอดให้คุณผู้อ่านผ่านบทความนี้ก็คือ การเก็บสถิติของเกมกีฬาทุกประเภทล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับผลแพ้ชนะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากเราสามารถเจาะจงให้ลึกลงไปได้ว่าเหตุที่ทีมเราหรือตัวเราเคยพ่ายแพ้ให้กับคู่ต่อสู้มาก่อนนั้น มันเกิดจากสาเหตุใดบ้าง แล้วถ้าเราจะล้างแค้นเพื่อเอาชัยชนะกลับคืนมาต้องทำยังไง
หลายคนบอกว่าก็ไม่แปลก เพราะการค้นหากลยุทธ์ แผนการ หรือแท็กติก เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของโค้ชหรือผู้ฝึกสอนแต่ละคนอยู่แล้ว ใช่ครับ ผมไม่ปฏิเสธ แต่ในโลกยุคนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลจนถึงระดับที่ว่าเราสามารถเก็บข้อมูลในปริมาณมากมายมหาศาลหรือที่เรียกกันว่า Big Data แล้วนำข้อมูลขนาดใหญ่นั้นไปใช้ประโยชน์ต่างๆ นานา
อย่างในเกมกีฬา การที่เป๊ป กวาร์ดิโอลา หรือ เจอร์เกน คลอปป์ จะคิดแท็กติกมาเพื่อกำชัยชนะและยัดเยียดความปราชัยให้อีกฝ่ายนั้น ไม่ได้มีแค่การจัดตัวผู้เล่นที่คิดว่าพร้อมสมบูรณ์ที่สุดลงไปในรูปแบบการเล่นที่มักจะเรียกกันเป็นสูตร เช่น 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 เพียงแค่นั้น แต่ยังละเอียดไปถึงขนาดที่ต้องวิเคราะห์เจาะลึกไปถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของนักเตะแต่ละคนในแต่ละตำแหน่ง
ยกตัวอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้และลิเวอร์พูล ทีมที่ทั้งสองกุนซือชื่อดังคุมอยู่ต่างเล่นบอลภาคพื้นเน้นการต่อบอลครองบอลเป็นหลัก ดังนั้นจุดที่กุนซือทั้งสองทีมต้องวางแผนให้ลูกทีมก็คือการโจมตีเปิดแผลไปที่จุดอ่อนของคู่ต่อสู้ให้ได้ ถ้าใครที่เป็นแฟนบอลแบบนั่งดูแล้วฟังผู้บรรยายหรือนักพากย์แบบตั้งใจฟังไปด้วย คงเคยได้ยินอะไรทำนองนี้บ้าง “ช่วงนี้ กุน อเกวโร่ เหมือนถูกตัดออกจากเกม”, “หงส์แดงใช้เพรสซิ่งเร็วบีบนักเตะแมนฯ ซิตี้”, “ต้องหาทางปิดการทำเกมของ เควิน เดอ บรอยน์ เพราะสร้างสรรค์โอกาสให้เพื่อนมีโอกาสได้ยิงบ่อยๆ” เป็นต้น
สถิติบอกทิศทางเกม
ทีนี้บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะแล้วแบบนี้สโมสรต่างๆ จะเก็บข้อมูลทุกสิ่งอย่างได้ยังไงกันนะ เพราะข้อมูลหรือสถิติในเกมมันมีเยอะมากมายก่ายกองไปหมด ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อคุณโทรมาใน 3 นาทีนี้ อุ้ย! ไม่ใช่ละ นั่นมันคำโปรยขายของทางทีวีต่างหาก จริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้มีบริษัทที่ทำธุรกิจเป็นผู้รวบรวมข้อมูลมาขายให้กับผู้ที่ต้องการจะใช้งาน
ยกตัวอย่างในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษเนี่ยมี opta ซึ่งคอยรวบรวมข้อมูลและสถิติไว้ให้ ไม่ว่าจะเบสิกๆ อย่าง เตะมุมกี่ครั้ง ลำหน้ากี่หน หรือจะเฉพาะเจาะจงไปที่นักเตะแต่ละคนก็มีให้หมด เช่น แบบที่เราคงจะทราบกันว่าในฤดูกาลที่แล้ว เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ ปราการหลังดีกรีทีมชาติเนเธอร์แลนด์ของ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ที่โชว์ฟอร์มได้สะแด่วแห้วเป็นกำลังสำคัญให้ทีมคว้าแชมป์ UCL และเกือบคว้าแชมป์ลีกมาได้ (เดอะค็อป อย่าเคืองกันนะ ไม่ได้เยาะเย้ยเขียนแต่ข้อเท็จจริงนะเนี่ย ^_^) เป็นนักเตะที่ไม่มีใครสามารถเลี้ยงบอลผ่านเขาไปได้!!!
สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ “สถิติ” ในเกมกีฬาที่มักจะโผล่ขึ้นมาบนหน้าจอเวลาถ่ายทอดสดนั้น หลายคนอาจจะเห็นว่าช่างขัดหูขัดตาซะเหลือเกิน ไหนจะทำลายอรรถรสบดบังการชมโมเมนต์ต่างๆ ในเกม แต่จริงๆ แล้วฟังก์ชั่นของมันมีประโยชน์มากมายมหาศาลจริงๆ เพราะการมีข้อมูลทุกๆ อย่างอยู่ในมือล้วนส่งผลต่อการกำหนดปลายทางของการแข่งขัน บ่อยครั้งที่เราดูอยู่หน้าจอแล้วทีมหรือคนที่เราเชียร์มีฟอร์มการเล่นที่ผิดไปจากที่เราเคยเห็น ไม่ว่าจะเล่นไม่ออก ฟอร์มฝืด วืดเป้า ซึ่งอาจจะไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่ามาจากสาเหตุอะไรแต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเจอคู่แข่งแก้เกมมานั่นเอง และก็แน่นอน สถิติ หรือ ข้อมูล มีบทบาทสำคัญต่อการนำมาซึ่งการแก้เกมแบบที่ว่ามา
ถนนวงการกีฬาทุกเส้นมุ่งสู่ “AI”
ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมากๆ ลำพังแค่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่มาไว้ใช้งานก็ดูจะไม่เพียงพอซะแล้ว บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายแห่งจึงต่อยอดไปถึงการนำ “ปัญญาประดิษฐ์” (ใช้คำให้งงเล่นๆ จริงๆ มันคือภาษาไทยของคำว่า Artificial Intelligence หรือ AI นั่นแหละ) ความหมายของคำนี้แบบง่ายๆ ก็คือ ให้คอมพิวเตอร์ช่วยเราประมวลผลข้อมูลที่มีอยู่มากๆ มาให้เรา เพราะฉะนั้นต่อไปในอนาคตซึ่งคิดว่าน่าจะมาถึงในไม่ช้า (ถ้าช้า ก็ไม่เกี่ยวกับผมทายผิดนะ ฮา!) เราจะมีโค้ชหรือผู้ฝึกสอนเป็น AI คอยวิเคราะห์และแก้เกมให้นักกีฬาโดยอาศัยการรวบรวมประมวลผลจากข้อมูลที่ได้มาแบบเรียลไทม์!!!
แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งคิดว่าเฮ้ยแบบนี้ใครกุมอำนาจการใช้งานสถิติหรือข้อมูลได้มากกว่ากัน หรือใครวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำกว่ากัน จะผูกขาดความเป็นแชมป์ จะผูกขาดชัยชนะไว้กับตัวเองจนทำให้การเชียร์กีฬาน่าเบื่อ เพราะไม่ว่าจะยังไงตราบใดที่นักกีฬายังเป็นมนุษย์ธรรมดาเดินดิน ต่อให้แผนหรือแท็กติกที่ผ่านการคิดวิเคราะห์จะแม่นยำขนาดไหน แต่อย่าลืมว่านักกีฬาเก่งฉกาจขั้นเทพอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด เลโอเนล เมสซี หรือแม้แต่ แมนนี ปาเกียว ยังเคยมีช่วงเวลาผิดพลาดให้เราได้เห็นกัน
ใช่ครับ นี่แหละเกมกีฬา นี่แหละเสน่ห์ของกีฬา และนี่แหละคือความบันเทิงที่กีฬามอบให้กับแฟนกีฬาอย่างพวกเรา
“STEWAN”