แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล : เข็มขัดทรงคุณค่าที่แฟนมวยปล้ำตัวจริงหลงรัก
เป้าหมายสูงสุดของนักมวยปล้ำ ย่อมหนีไม่พ้น เข็มขัดแชมป์โลก สัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งของวงการ แม้มวยปล้ำจะเป็นกีฬาที่กำหนดผลล่วงหน้า แต่ตำแหน่งแชมป์คือการมอบรางวัล เพื่อตอบแทนการทำงานอย่างหนักหลังเวที
สำหรับแฟนมวยปล้ำอย่างเรา โดยเฉพาะแฟนที่ติดตามตั้งแต่ยุค 80s หรือ 90s แชมป์โลกอาจไม่ได้มีความหมายมากกว่าแชมป์เส้นอื่น หากเนื้อเรื่องหรือผู้ถือครองตำแหน่งไม่ถูกใจ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเทใจให้กับเข็มขัดอื่น ที่มีคุณค่าและความหมายมากกว่า
Main Stand นำเสนอเรื่องราวของ แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล (Intercontinental Champion) เข็มขัดแชมป์เส้นรองใน WWE ที่แฟนมวยปล้ำตัวจริงหลงรัก จากแมตช์การปล้ำคุณภาพ และทำหน้าที่ผลักดันนักมวยปล้ำฝีมือดี สู่ตำแหน่งแชมป์โลกมาแล้วมากมาย
เริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ถือกำเนิด เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี 1979 โดยเข็มขัดเส้นนี้มีเรื่องราวน่าสนใจ ตั้งแต่การเดินทางของมันยังไม่เริ่มต้น
Photo : www.wwe.com
ย้อนกลับไปเดือนสิงหาคม ปี 1979 สมาคม WWF (WWE ในปัจจุบัน) ประกาศแมตช์การปล้ำหยุดโลก เป็นการพบกันระหว่าง แพท แพทเทอร์สัน เจ้าของแชมป์อเมริกาเหนือ และ จอห์นนี ร็อดซ์ เจ้าของแชมป์อเมริกาใต้ ผู้ชนะแมตช์ดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งเป็นแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล คนแรกของวงการ
โชคร้ายของแฟนมวยปล้ำชาวอเมริกัน การปล้ำเพื่อหาแชมป์คนใหม่ จัดขึ้นที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ด้วยความยากลำบากในการถ่ายทอดสดหรือบันทึกเทป ไม่เคยมีใครรับชมแมตช์ดังกล่าว จนถึงทุกวันนี้
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แมตช์การปล้ำที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ จะไม่มีผู้ชมสักคนถ่ายภาพ หรือบรรยากาศของการแข่งขันในวันนั้นไว้เลยหรือ? คำตอบคือ ไม่มี และหากคุณจะหาเหตุผลว่าทำไม เราคงต้องตอบตามความจริงที่เกิดขึ้นว่า แมตช์ชิงแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล และเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามา ... ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
การปล้ำที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร และ เข็มขัดแชมป์อเมริกาใต้ เป็นเพียงนิยายที่ WWF แต่งขึ้น สมาคมเคลมว่า แพท แพทเทอร์สัน เอาชนะ จอห์นนี ร็อดซ์ กลายเป็นแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัลคนแรก เพื่อสร้างบารมีให้กับเข็มขัดเส้นใหม่ของสมาคม ที่จะเข้ามารับบทบาทแชมป์ลำดับที่ 2 รองจากแชมป์โลก WWF
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ทำหน้าที่ของมันได้ดีนับแต่นั้น เจ้าของแชมป์ส่วนใหญ่ คือ นักมวยปล้ำระดับกลางที่สมาคมอยากผลักดัน แต่ไม่ถึงขั้นแชมป์โลก เช่น เปโดร โมราเลส, ดอน มูราโค หรือ ติโต ซานตานา โดยการเปลี่ยนแชมป์ส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นใน Madison Square Garden สังเวียนอันทรงเกียรติของกีฬาต่อสู้ บ่งบอกได้ดีว่า เข็มขัดเส้นนี้ มีคุณค่ามากแค่ไหนในช่วงเวลานั้น
เหตุการณ์ที่ทำให้แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล มีคุณค่าไม่แพ้แชมป์โลก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปี 1987 เจ้าของแชมป์ "มาโชแมน" แรนดี ซาเวจ มีโปรแกรมป้องกันเข็มขัดกับ ริคกี สตีมโบต ในศึก WrestleMania III หนึ่งในโชว์มวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
Photo : thegreenescreen.net
ต่อหน้าแฟนมวยปล้ำเกือบ 8 หมื่นคน ซาเวจ และ สตีมโบต สร้างแมตช์การปล้ำที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ WWF (ขณะนั้น) การต่อสู้ของทั้งสองได้รับรางวัลแมตช์แห่งปี จาก Pro Wrestling Illustrated และ Wrestling Observer Newsletter หมายความว่า แมตช์นี้ได้การยอมรับจากแฟนทั่วไปและแฟนฮาร์ดคอร์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แมตช์นี้ จะทำให้แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล โดดเด่นไม่แพ้แชมป์โลก WWF นับแต่นั้น
แสงสว่างในความมืด
ความยิ่งใหญ่ของแชมป์อินเตอคอนติเนนทัล ถูกสานต่อหลังจากแมตช์ในศึก WrestleMania III ด้วยมือของ เดอะฮองกีท็องแมน (The Honky Tonk Man) ในฐานะแชมป์อินเตอร์ฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จากการครองแชมป์ยาวนาน 454 วัน ไม่เคยมีใครถือเข็มขัดเส้นนี้นานเท่า เดอะฮองกีท็องแมน
Photo : www.cagesideseats.com
เรื่องราวของ เดอะฮองกีท็องแมน ถูกเล่าขานถึงปัจจุบัน เนื่องจากสถิติครองแชมป์ยาวนานที่สุดของเขา ยังไม่ถูกทำลาย แฟนมวยปล้ำรุ่นใหม่จำนวนมาก เชื่อว่าเขาคือแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ และมีส่วนอย่างมากที่ทำให้แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล คงอยู่ถึงปัจจุบัน แม้ความจริงที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แบบนั้น
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล กลับมาเป็นที่สนใจของแฟนมวยปล้ำอีกครั้ง ในปี 1990 เมื่อ ดิ อัลติเมท วอร์ริเออร์ นักมวยปล้ำหน้าใหม่มาแรง ที่เป็นเจ้าของเข็มขัดเส้นนี้ในขณะนั้น ก้าวขึ้นไปท้าชิงแชมป์โลก WWF จาก ฮัลค์ โฮแกน ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของสมาคม ในศึก WrestleMania VI
ผลการแข่งขันในแมตช์ดังกล่าว จบลงด้วยชัยชนะของ ดิ อัลติเมท วอร์ริเออร์ แม้เจ้าตัวจะไม่ได้ถือเข็มขัดสีเหลืองอันเป็นที่รักของแฟนมวยปล้ำอีกต่อไป แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างบรรทัดฐานใหม่แก่ WWF ว่า นักมวยปล้ำที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลกในอนาคต ต้องครองแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล เป็นอันดับแรก
Photo : whatculture.com
นักมวยปล้ำหน้าใหม่ที่แจ้งเกิดในยุค New Generation ไม่ว่าจะเป็น เบรต ฮาร์ต, ชอว์น ไมเคิลส์, เรเซอร์ รามอน, ดีเซล, บริติช บูลด็อก หรือ มิสเตอร์ เพอร์เฟ็คต์ ต่างพาเหรดเข้ามาคว้าแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ในช่วงต้นยุค 90s ก่อนคว้าแชมป์โลก หรือประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
การเข้ามาของนักมวยปล้ำเหล่านี้ เพิ่มความนิยมมหาศาลแก่แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล เนื่องจากรายชื่อทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นนักมวยปล้ำฝีมือดี สวนทางกับแชมป์โลก WWF ที่เต็มไปด้วยแมตช์การปล้ำคุณภาพแย่ และเนื้อเรื่องที่น่าขบขัน เช่นการปะทะมนต์ดำ ระหว่าง ดิ อัลติเมท วอร์ริเออร์ กับ ปาปา แชงโก
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล จึงเปรียบเหมือนแสงสว่างท่ามกลางความมืด มีแมตช์การปล้ำระดับตำนานมากมายจากเข็มขัดเส้นนี้ เช่น เบรต ฮาร์ต ปะทะ มิสเตอร์ เพอร์เฟคต์ ศึก SummerSlam 1991, เบรต ฮาร์ต ปะทะ ร็อดดี ไพเปอร์ ศึก WrestleMania VIII และ เบรต ฮาร์ต ปะทะ บริติช บูลด็อก ศึก SummerSlam 1992 โดยเฉพาะแมตช์หลังสุด ที่ได้รับการบันทึกเป็นคู่เอกในโชว์มวยปล้ำที่มีคนดูมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ WWF ขณะนั้น ด้วยจำนวน 78,927 คน
เข็มขัดเส้นนี้พุ่งสู่จุดสูงสุด จากการเข้ามาสู่ดิวิชั่นของ ชอว์น ไมเคิลส์ นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมตัวแสบ ที่เพิ่งแยกทีม The Rockers หันเป็นนักมวยปล้ำเดี่ยวเต็มตัว เขาถูกผลักดันให้เป็นตัวหลักในเส้นเรื่องแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ช่วงปี 1992-1994 นำมาสู่แมตช์การปล้ำระดับ 5 ดาว แมตช์แรกของ WWF
แมตช์ดังกล่าวคือการปล้ำระหว่าง ชอว์น ไมเคิลส์ และ เรเซอร์ รามอน ในการแข่งขันแบบใต่บันได เนื่องจากทั้งสองเป็นเพื่อนซี้หลังฉาก จึงมีการพูดคุยกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นแมตช์เป็นอย่างดี ผลคือ แฟนมวยปล้ำทั่วโลก ได้เห็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต หลังแมตช์นี้จบลง ไมเคิลส์ และ รามอน กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ เช่นเดียวกับ แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล
Photo : www.enuffa.com
ปี 1991-1994 คือช่วงเวลาที่ใครหลายคนกล่าวว่า นี่คือยุคมืดของ WWF จาก ความล้มเหลวในการผลักดันนักมวยปล้ำระดับสูง, คาแรกเตอร์นักมวยปล้ำที่เหมือนหลุดจากการ์ตูนยามเช้า และ เนื้อเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล
แต่สำหรับแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ช่วงเวลาดังกล่าวกลับเป็นยุคทองของเข็มขัดเส้นนี้ สวนทางกันอย่างน่าประหลาด
ทว่าเมื่อ WWF เปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่ดีที่สุดของสมาคม ความยิ่งใหญ่ของแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล กลับร่วงหล่นอย่างน่าใจหาย
ความขลังเริ่มเสื่อมหาย
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ทำหน้าที่เข็มขัดแชมป์ลำดับสองของสมาคมเป็นอย่างดี กระทั่งปี 1998 ทาง WWF ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางค่าย จากมวยปล้ำเพื่อคนทุกเพศวัย กลายเป็นมวยปล้ำที่เต็มไปด้วยความรุนแรง กับยุคสมัยที่รู้จักกันดีว่า Attitude Era หรือ ยุคแอดติจูด
Photo : sportsbreak.com
ในช่วงเวลาดังกล่าว WWF อยู่ใน "สงครามคืนวันจันทร์" (Monday Night Wars) หรือการแข่งขันชิงเรตติ้งทางโทรทัศน์กับ WCW ทั้งสองค่ายต่างทำทุกวิถีทาง เพื่อให้แฟนมวยปล้ำเปลี่ยนช่องมาชมรายการมวยปล้ำของตัวเอง แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล จึงตกเป็นหนึ่งในเครื่องมือระหว่างสงครามที่เกิดขึ้น
ในช่วงต้นยุค 90s แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล คือเข็มขัดที่ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า นักมวยปล้ำรายนี้จะถูกผลักดันในอนาคต ความหมายทั้งหมดหายไปในยุคแอดติจูด แชมป์อินเตอร์ฯ กลายเป็นเข็มขัดที่เปลี่ยนเจ้าของบ่อยครั้ง เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชม ให้ติดตามรายการอย่างใกล้ชิด ด้วยคอนเซ็ปต์ว่า แชมป์เส้นนี้อาจเปลี่ยนมือเมื่อไรก็ได้
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล จึงได้รับฉายาว่า Workhorse Title เนื่องจากมีการเปลี่ยนเจ้าของบ่อยมาก บางครั้งมากเกินจำเป็น ในปี 1999 มีการเปลี่ยนผู้ถือครองเข็มขัดเส้นนี้รวม 11 ครั้ง แม้แฟนมวยปล้ำหน้าใหม่ที่เพิ่งติดตามมวยปล้ำ ในช่วงยุคแอดติจูด จะรู้สึกสนุกกับบุคกิงแบบนี้ แต่สำหรับแฟนรุ่นเก่า แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล สูญเสียมนต์ขลัง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
รายชื่อผู้ถือแชมป์ กลายเป็นอีกปัญหาของเข็มขัดเส้นนี้ จากเดิมที่ผู้ครองแชมป์ต้องเป็นนักมวยปล้ำฝีมือดี และ อนาคตคู่เอก เช่น เบรต ฮาร์ท และ ชอว์น ไมเคิลส์ กลับกลายเป็นนักมวยปล้ำกิมมิคจัด ไล่ตั้งแต่ วาล เวนิส, โกลดัส, เดอะ ก็อดฟาเธอร์ จนถึง ดีโล บราวน์ ทั้งหมดเป็นนักมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมระยะสั้น เนื่องจากคาแรกเตอร์แปลกประหลาด แต่สำหรับระยะยาว นักมวยปล้ำเหล่านี้ ไม่มีวันก้าวถึงแชมป์โลก
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ไปไกลสุดขีดเมื่อมันตกไปอยู่ในมือของ ไชนา นักมวยปล้ำหญิงฝีมือดี ที่ได้รับความนิยมมหาศาลจากคนดู หากมองย้อนกลับไปจากปี 2020 เราจะรู้สึกว่า นักมวยปล้ำหญิงถือเข็มขัดชายไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ
Photo : lastwordonprowrestling.com
แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในปี 1999 คือ ความนิยมในตัว ไชนา ตกลงหลังคว้าแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล สะท้อนความจริงที่ว่า แฟนมวยปล้ำ ไม่ยอมรับว่าเธอดีพอจะถือครองเข็มขัดเส้นนี้ เช่นเดียวกับ แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ที่ถูกมองเป็น "แชมป์ที่ผู้หญิงก็ถือได้" นับแต่นั้น
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ตายทั้งเป็นนับแต่นั้น ก่อนจะพบกับความตายที่แท้จริง ในปี 2002 เมื่อ WWE มองเห็นว่า แชมป์อินเตอร์ฯ ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หลังได้แชมป์โลก WCW หรือแชมป์โลกเฮฟวีเวต มาครอบครอง เข็มขัดลำดับ สอง ที่มีเรื่องราวยาวนานกว่า 20 ปี จึงยุติการทำหน้าที่ลงในวันที่ 20 ตุลาคม 2002 ด้วยการถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับแชมป์โลกเฮฟวีเวต
มรดกที่เหลือไว้
หลังหายจากวงการมวยปล้ำเกือบ 1 ปี แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2003 เพื่อทำหน้าที่เป็นเข็มขัดลำดับสองของแบรนด์ย่อยใน WWE เช่น RAW หรือ SmackDown แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่กลับมา คือความสำคัญของแชมป์ ที่ดูเหมือนจะหายไปนับตั้งแต่ยุคแอดติจูด
Photo : www.wwe.com
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล กลายเป็นแชมป์เพื่อนักมวยปล้ำระดับกลาง โดยสมบูรณ์ แม้บางครั้งอาจมีนักมวยปล้ำชื่อดัง เช่น คริส เจอริโก มาถือครองเข็มขัด แต่หากพิจารณาบทบาทของเขาในตอนนั้น เจอริโก ไม่ใกล้เคียงกับดิวิชั่นแชมป์โลกแม้แต่น้อย
วันดีคืนร้าย หากเมื่อใด WWE คิดจะลดระดับของแชมป์โลกสักเส้น ให้มีความสำคัญน้อยกว่าแชมป์โลกเส้นหลัก เช่น ช่วงปี 2010-2013 ที่แชมป์โลกเฮฟวีเวต ด้อยค่ากว่า แชมป์โลก WWE โดยสมบูรณ์
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล จะมีคุณค่าเท่ากับเข็มขัดลำดับสามของสมาคม นักมวยปล้ำที่ถือเข็มขัดเส้นนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น อีซีเกียล แจ็คสัน, เคอร์ติส เอ็กเซล หรือ เวด บาร์เร็ตต์ ต่างเป็นนักมวยปล้ำที่ล้มเหลวใน WWE ทั้งสิ้น
แฟนมวยปล้ำที่ติดตามแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ตั้งแต่ยุค 90s คงปวดใจที่เข็มขัดของอนาคตแชมป์โลก กลายเป็นแชมป์ของนักมวยปล้ำรอวันโดนไล่ออก ใน WWE แต่ถึงอย่างนั้น มนต์ขลังของแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ไม่เคยเสื่อมคลาย หรืออย่างน้อย อดีตของเข็มขัดเส้นนี้ยังคงหอมกรุ่น
ในปี 2011 โคดี โรดส์ เปลี่ยนดีไซน์ของแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ให้กลายเป็นรูปแบบดั้งเดิมเหมือนช่วงต้นยุค 90s การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สร้างความพอใจแก่แฟนมวยปล้ำจำนวนมาก หลายคนสัมผัสถึงความศักด์สิทธิ์ของเข็มขัดนี้อีกครั้ง จากรูปลักษณ์ที่แตกต่าง ทั้งที่ความจริง แชมป์อินเตอร์ฯ ถูกใช้งานทิ้งขวางไม่เคยเปลี่ยน
Photo : fanpop.com
นับจากวันนั้น แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี ที่เข็มขัดเส้นนี้มีบทบาทใน WWE ผ่านทั้งช่วงเวลาที่ดีและร้าย แต่ไม่ว่าอย่างไร แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ยังคงอยู่ในใจแฟนมวยปล้ำ จากเรื่องราวและมรดกที่ส่งต่อถึงวงการมวยปล้ำปัจจุบัน
ค่ายคู่แข่งของ WWE ทั้ง NJPW และ AEW อาจมีเข็มขัดเส้นรอง (แชมป์ IWGP อินเตอร์ฯ และแชมป์ TNT) ที่มีความสำคัญและคุณค่าในปัจจุบัน มากกว่าแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัลของ WWE แต่หากไม่มีเข็มขัดเส้นนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า เข็มขัดลำดับสอง อาจไม่มีบทบาท หรือคุณค่ามากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล จึงกลายเป็น แชมป์ที่แฟนมวยปล้ำตัวจริงหลงรัก จาก ความทรงจำที่หอมหวาน, มนต์ขลังที่มากกว่าฐานะ หรือ สัญลักษณ์ของมวยปล้ำคุณภาพ เชื่อเหลือเกินว่า แฟนมวยปล้ำทุกคน เฝ้ารอวันที่จะเห็นเข็มขัดเส้นนี้กลับมามีคุณค่า และเฉิดฉายอย่างที่ควรจะเป็นอีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ 100 Things a WWE Fan Should Know & Do Before They Die
http://www.thehistoryofwwe.com/ic_belt.htm
https://www.cagematch.net/?id=5&nr=16
https://www.cagematch.net/?id=1&nr=1774
https://www.cagematch.net/?id=8&nr=1&page=7&sortby=colDate&sorttype=ASC&s=0
https://prowrestling.fandom.com/wiki/WWE_Intercontinental_Championship/Champion_gallery
https://sites.google.com/site/chrisharrington/mookieghana-prowrestling
-------------------------------------------------
ดูบอลสดพรีเมียร์ลีก ได้ฟรีทางช่อง ไอดี สเตชั่น ง่ายๆเพียงแค่สมัครสมาชิกทรูไอดีและล็อคอิน สมัครสมาชิกทรูไอดีได้ที่นี่ ก็สามารถดูบอลสดได้เลยทันที !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> กิพจัง วริยา : ลิเวอร์พูล กับความผูกผันผ่าน "เปียโน, เฮฟวี่เมทัลฟุตบอล"
>> ย้อนรำลึก!! อิตโต มังงะนอกกระแสในญี่ปุ่น ที่ดังสุดๆ ในไทย
– ดูฟรี! พรีเมียร์ลีก มากกว่า 100 คู่ คลิก ID Station
– ดู พรีเมียร์ลีก online คลิกที่นี่
– สมัครชม พรีเมียร์ลีกทั้งฤดูกาล คลิกที่นี่