รีเซต
ล้วงลึกอาชีพนักข่าวกีฬากับ 'ตู่ พูห์มาร์ท' กับประสบการณ์ 11 ปีในสายงานนี้

ล้วงลึกอาชีพนักข่าวกีฬากับ 'ตู่ พูห์มาร์ท' กับประสบการณ์ 11 ปีในสายงานนี้

ล้วงลึกอาชีพนักข่าวกีฬากับ 'ตู่ พูห์มาร์ท' กับประสบการณ์ 11 ปีในสายงานนี้
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2564 ( 17:00 )
445

เชื่อเหลือเกินว่าอาชีพ "ผู้สื่อข่าวกีฬา" ก็เป็นอีกหนึ่งสาขางานของใครหลายๆคนที่ชื่นชอบกีฬามาตั้งแต่เด็ก หรือมีความคลั่งไคล้ในช่วงขณะในขณะหนึ่งของชีวิตก็ตาม โดยในปัจจุบันอาชีพนี้เปิดกว้างมากๆ ไม่ได้มีแค่ผู้ชายอย่างเดียวที่ทำได้แล้วประสบความสำเร็จ ยังมีสุภาพสตรีอีกหลายๆท่านที่เลือกเดินทางเข้าสู่การเป็นนักข่าวหรือผู้ประกาศข่าวกีฬา แล้วสามารถทำได้เยี่ยมไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการศึกษา และฝึกฝนแบบไม่หยุดหย่อน คอยหาความรู้เข้าใส่ตัวเองเสมอ จนขึ้นเป็นระดับตัวท็อปของวงการมาแล้วหลายต่อหลายคน

สวัสดีครับ! อยู่กับผม "นิก" ธีร์ธวัช กาญจน์วารีทิพย์ ในคอลัมน์ Inspire Connects สานต่อแรงบันดาลใจ แน่นอนตามที่เกริ่นไปด้านบนกับงานนักข่าวกีฬา ซึ่งปัจจุบันผมเองก็ทำอาชีพนี้อยู่ และก็มีความฝันที่อยากจะทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ ม.4 ด้วยความที่ชอบฟุตบอลเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาเด็กๆ เราก็ได้แต่ดูพี่ๆหลายคนที่ทำงานตรงนี้ผ่านจอโทรทัศน์ ทั้ง สาธิต กรีกุล (อาบิ๊กจ๊ะ) , อดิสรณ์ พึ่งยา (พี่แจ็คกี้) , โยธิน อารีการเลิศ (พี่โย) หรือใครต่อใครอีกมากมาย แต่ตัวผมเองไม่มีทางรู้เลยว่า เราต้องทำยังไง จึงจะมีโอกาสได้เข้าไปทำอาชีพนี้ได้ เพราะไกด์ไลน์น้อยมาก การจะไปสอบถามหรือขอความรู้จากคนกลุ่มนี้ในยุคก่อนที่โทรศัพท์ยังทำได้แค่โทรออก กับส่ง SMS มันเป็นไปไม่ได้เลย

วันนี้ผมมีโอกาสได้ทำงานตรงนี้มาแล้วเกือบสามปีเต็ม แม้จะยังไปได้ไม่สุดตามที่ฝันไว้ทั้งหมด แต่ก็มีความพอใจในระดับหนึ่ง แน่นอครับ บุคคลที่ผมจะสัมภาษณ์เพื่อสานต่อแรงบันใจในฉบันนี้ ก็เป็นใครไปไม่ได้ ก็ต้องเป็นบุคลาการวงการสื่อกีฬา ผมตั้งใจจริงๆในฉบับนี้ เพื่อเป็นการไกด์ไลน์ให้น้องๆนักศึกษา หรือคนที่มีความฝันอยากทำอาชีพนี้ มันจะต้องผ่านและเจอกับอะไรบ้าง คนที่ผมเลือกมาพูดคุยในวันนี้ได้แก่ "ตู่ พูห์มาร์ท" หรือ กฤษณ พยุง อดีตผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลไทย ที่เคยทำงานกับองค์กรกีฬายักษ์ระดับประเทศอย่าง สยามสปอร์ต มายาวนานสิบปี คนนี้ผ่านงานมาแล้วเกือบทุกรูปแบบที่เป็นงานผู้สื่อข่าวกีฬา เขาจะมีอะไรมาแชร์บ้าง ไปติดตามพร้อมกันครับ

Q : สวัสดีครับพี่ตู่ ขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติมาร่วม Inspire Connects สานต่อแรงบันดาลใจกับเรา เชื่อว่าในวงการฟุตบอลไทย รวมไปถึงฟุตซอล คงคุ้นหน้ากันอยู่แล้ว แต่อยากให้แนะนำตัวอีกครั้ง



ตู่ พูห์มาร์ท : ก็ขอสวัสดีทุกคนนะครับ ขอบคุณทาง TNN ที่ให้เกียรติในครั้งนี้ ตัวผมชื่อ กฤษณ พยุง หรือรู้จักกันในนาม "ตู่ พูห์มาร์" ตอนนี้อายุ 38 ปี เรียนจบจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ปัจจุบันผมลาออกจากงานประจำมาทำแฟนเพจและชาแนวตัวเองเต็มตัว Futsal Addict ในเฟซบุ๊ก , GOAT TV ในยูทูป นอกจากนี้ยังมี งานไลฟ์สตรีม กีฬา,แถลงข่าว โปรดักชั่น ทุกรูปแบบ ประปรายครับ

Q : คงต้องถามก่อนเลยว่า เส้นทางการเข้ามาเปนผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มต้นอย่างไร รู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากทำอาชีพนี้ ?



ตู่ พูห์มาร์ท : จริงๆแล้ว ตอนเด็กๆ ผมก็ฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬานะ แล้วก็นักพากย์ฟุตบอลด้วย แต่ว่ากว่าจะได้มาเริ่มจริงๆก็ตอนปี2010 จังหวะที่สยามกีฬา ตอนนั้นได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทย เขาก็จะทำช่องเคเบิ้ล ชื่อช่องฟุตบอลสยามทีวี มี "พี่ปูเป้" สมฤกษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ เปิดรับสมัครแล้วเลยลองส่งโปรไฟล์เข้ามา เลยมีโอกาสได้ทดสอบ แล้วเขาก็เลือกเรา เป็นส่วนหนึ่งของช่องตั้งแต่วันแรก แล้วก็ทำที่สยามกีฬามายาวถึง11 ปี

 

Q : เริ่มสนใจกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีความทรงจำอะไรกับฟุตบอลในช่วงแรกๆที่ติดตามบ้าง

ตู่ พูห์มาร์ท : เป็นคนชอบดูฟุตบอลตั้งแต่เด็กแล้ว ก็ดูบอลนอกมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ทีนี้มันมีช่วงเรียนมหาวิทยาลัย อยากสัมผัสบรรยากาศฟุตบอลในสนามก็ชวนเพื่อนไปดูที่สนามศุภฯ , สนามเทพฯ เพราะสมัยนั้นเขาเตะสนามกลางกัน แต่ก็ไม่ได้เชียร์ทีมไหนเป็นพิเศษ แล้วพอจะเรียนจบก็หายไปสักพันนึง ก่อนจะกลับมาอีกที คือช่วงที่มีเวบบอร์ด "ไทยแลนด์สู้ๆ" สมัยนั้นดังมาก ก็เข้าไปสมัครลองเล่นดู แล้วก็ได้เพื่อนที่รู้จักมาอีกหลายคนเลยครับ ก็ดูบอลไทยมาจริงจังตั้งแต่ปี 2008 ตามเชียร์ชลบุรี เอฟซี ทุกนัดในกรุงเทพเลย พอจบฤดูกาล ก็คุยกับเพื่อนๆในกลุ่ม ว่า เราต้องหาทีมในกรุงเทพเชียร์แล้ว เพราะฟุตบอลมันคือ "โลคอลทีม" ท้องถิ่นจริงๆ กลุ่มเราคนกรุงเทพ ก็เลือกเชียร์ทีมกรุงเทพ ปีนั้นมีเมืองทองฯ ขึ้นมาพอดี กับ แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่เป็นทีม ม.กรุงเทพ เดิมกับ ก.ท.ม. รวมกัน ให้เลือกเชียร์ สุดท้ายเลือก แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่แข่งสนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เพราะเดินทางง่ายกว่า ลองไปถามแฟนบอลเก่าๆ ทรู แบงค็อกฯ ได้เลย พี่นี่แกนนำเชียร์นะ แล้วก็ถือโทรโข่งร้องเพลงเชียร์จริงจังเลย จนได้เข้าไปทำงานที่สยามกีฬา ส่วนเรื่องความประทับใจช่วงติดตามบอลไทย ที่ดีที่สุดน่าจะเป็น เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ปี 2008 ที่ชลบุรี ได้เล่น เรารอนัดที่พวกเขาเล่นในบ้านที่สนามศุภฯ ก็ตามไปดู นัดที่อยู่ในความทรงจำคือ นัดที่ชนะ เมลเบิร์น วิคตอรี่ 3-1 เนย์ ฟาเบียโน่ นี่คือเทพมาก เลยแบบติดใจแล้วก็ดูอยู่เรื่อยๆเลย

 

Q : เข้าเรื่องการทำงานกันบ้างครับ สื่อกีฬาเป็นอาชีพที่หลายๆคนที่ชอบดูกีฬาใฝ่ฝัน ในมุมมองคิดว่าต้องเริ่มจากอะไร จึงจะสามารถเข้ามาอยู่ในวงการนี้ได้ แท้จริงแล้ว คำว่าสื่อกีฬา มีอะไรให้ทำย่อยลงไปอีก ในคำคำนี้ 

ตู่ พูห์มาร์ท : เอาจริงๆนะ ทุกคนที่เข้ามาก็จะมาจากชอบก่อน ทุกคนชอบฟุตบอล ชอบอะไรที่ตัวเองอยากจะเป็น แต่มันไม่ใช่ว่าชอบแล้วจะทำได้ดีทุกคน หรือที่บอกว่าชอบ คุณชอบมากพอไหมที่จะทำให้มันกลายเป็นอาชีพ อันนี้สิน่าสนใจ อย่างทำข่าว มันเหมือนสรุปเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว ให้ออกมาเป็นสาระสำคัญ เช่น แมตช์ฟุตบอลแข่ง 90 นาที เราต้องทำให้เหลือ สัก 10บรรทัด , บอลจบแล้ว แต่งานของเรายังไม่จบนะ ต้องมีหลังเกม , มีสรุป มีอะไรหลายอย่างเยอะแยะ ถ้ายิ่งเกมไหนมีประเด็นใหญ่ๆ มันยังไม่จบ ต้องตามให้สุด

เรื่องพากย์ ก็แน่นอนแหละ ต้องถนัดพูดก่อน ตามมาด้วยสิ่งที่ต้องมี คือข้อมูล มีไม่พอนะ ต้องดูอีกด้วยว่าเราควรจะปล่อยตอนไหน, จังหวะไหนดี อีกข้อที่สำคัญคือ "โทนเสียง" อย่างพี่พากย์ ก็จะอีกโทนนึง ไม่เหมือนตอนพูด หรือจัดรายการ มันต้อง Smooth กลมกล่อม เปิดแล้วน่าฟังตาม ไม่ใช่ตะแบงพูด ตะโกนแข่งกัน แบบนี้ได้ยินเราคงอยากเปลี่ยนช่องแล้วอะ บางเกมบอลโคตรสนุกเลยคนพากย์ทำพังก็เยอะแยะ (แต่อันนี้แล้วแต่คนนะ ซึ่งพี่คิดแบบนี้)

จัดรายการ นี่ก็ยากเหมือนกัน คือใครๆก็เข้ามาพูดได้นะ ในสมัยนี้ แต่จะพูดยังไงให้คนเข้ามาฟังนี่คือสาระมากกว่า ตัวพี่ พี่คิดว่า เวลาเราจัดรายการเราต้องมีข้อมูลที่คนอื่นไม่รู้ ถ้าเอาจากเนื้อข่าวมาพูด มาวิเคราะห์มันก็ทำได้นะ คนอื่นเขาก็ทำกัน แต่แบบนั้น คนดูก็ดูคนอื่นได้เหมือนกัน ไม่ต้องมาดูเรา เราเลยเลือกข้อมูบแบบเอกซ์คลูซีฟเยอะหน่อย พาร์ทของการเล่าให้เข้าใจง่ายอันนี้ พี่ว่ายาก มันต้องเรียบเรียงให้เป็นช่วงเป็นขั้นตอน เป็นลำดับไทม์ไลน์ เล่าโดดไปโดดมา คนฟังก็งง คนฟังเขาฟังรอบเดียว มันต้องพูดให้รู้เรื่องในครั้งเดียว

ภาคสนาม นี่เป็นงานแรกๆเลยที่ทำ ไม่ต้องกังวลมาก ประสบการณ์จะคอยสอนเองว่า ทำอันนี้แล้วดี ทำอั้นนั้นแล้ว ไม่ดีช่วงทำงานแรกๆ ก็มีพลาดเหมือนกัน แต่โชคดีไปกับพี่ช่างภาพรุ่นใหญ่ แกก็สอนว่า เวลาถามคำถาม เราไม่ต้องพูดเยอะ ถามให้เขาตอบ ยกตัวอย่างนะ

เรา: วันนี้เป็นยังไงบ้างครับ ยิงแฮททริตในเกมแรกของตัวเอง หลังจากที่ย้ายทีมมา แล้วแฟนบอลก็เข้ามาเต็มสนามเลย

นักบอล: ก็ดีครับ ดีใจมากเลย ! ถ้าเจอแบบนี้เราเอาไปทำอะไรต่อก็ไม่ได้เลยนะ แต่ถ้า ถามสั้นๆ ว่าแฮททริกแรกเป็นยังไง แล้วให้เขาเล่า ก็จะดีกว่า คนไม่ได้อยากฟังเราพูด แต่อยากฟังนักบอลที่เราสัมภาษณ์มากกว่า

 

Q : ในยุคแรกๆที่เริ่มต้นสายงานนี้ มีแค่ สื่อสิ่งพิมพ์ , วิทยุ และ โทรทัศน์ จนผลัดใบมาถึงปัจจุบัน ที่มาอยู่กันบนโลกออนไลน์ ตรงนี้รู้สึกอย่างไร และตัวเองมีการปรับตัวตามอย่างไร ?

ตู่ พูห์มาร์ท : สมัยก่อน นักข่าวคนนึงทำแค่หาข่าว หรืออาจจะมาอ่านข่าว มีหน้าที่แค่นี้ แต่ตอนนี้มันทำแค่นั้นไม่ได้แล้ว มันต้องถ่ายคลิปเป็น ตัดต่อขั้นเบสิกได้ , ถ่ายรูปได้ ก็เริ่มรู้ตัวเองว่าต้องปรับตั้งแต่ทำงานมาได้สัก4 ปี แต่ตอนนั้นยังไม่ได้จริงจังมาก เมื่อก่อนคนเข้าอ่านจากหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นเป็นเว็บไซต์ ซึ่งจากเว็บก็เปลี่ยนมาเป็นแฟนเพจ ก็กลายมามาเป็นแพลตฟอร์มต่างๆมากมายแบบทุกวันนี้ สิ่งที่ต้องปรับคือ การทำงานมันจะทำสนองเราอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องทำให้คนอื่นชอบงานของเราด้วย แล้วพอมันโตพอที่เราจะทำอะไรอย่างที่เราอยากทำได้แล้ว อันนั้นค่อยคิดอีกทีว่าจะมาสานต่องานตัวเองยังไง ส่วนงานโซเชียล มันหลากหลายมาก อยู่ที่ว่า จะทำยังไงให้น่าสนใจมากที่สุด อย่าง เฟซบุ๊ก บางคนลงแค่รูปเดียวคนแชร์เป็นพัน บางคนทำคลิปแทบตาย ไม่มีคนดู อันนี้มันต้องมาหาจุดแก้ไขแล้วก็ปรับให้มันดีขึ้น เรียกว่าความผิดพลาดเป็นบทเรียนมากกว่า

Q : ขออนุญาตถาม การเลือกที่จะเดินออกจากงานประจำเพื่อมาทำงานอิสระ ทำไมจึงตัดสินใจแบบนั้น และมี mindset ตรงนี้อย่างไร ?

ตู่ พูห์มาร์ท : จริงๆคิดมานานแล้วว่าจะออกมาทำงานของตัวเอง ประมานสักปีนึงได้ แต่ช่วงนั้นคือมีโควิด-19 ช่วงแรกพอดี เลยแบบรักษางานไว้ก่อนแล้วก็ แต่มันก็เดินทางมาถึงช่วงที่ เพจเรา, ช่องยูทูปเรา มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น , มีงานข้างนอกมากขึ้น เราไม่สามารถทำงานของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราก็เลยตัดสินใจทิ้งเงินเดือน ออกมาทำของตังเอง แต่มันไม่ใช่ทุกคนนะ ที่ควรจะทำ พี่ทำ เพราะว่าพี่มีทางออกของชีวิต รออยู่แล้ว ก็ถึงเวลาที่ควรตัดสินใจเสียที อีกเรื่องที่ต้องคิดดีๆคือ มุมมองของการทำงานกับเป้าหมายขององค์กรที่พวกเขาวางไว้มันตรงกับเป้าที่เราจะไปหรือเปล่า ถ้ายังตรงกันอยู่ ก็สู้ไปด้วยกัน แต่ถ้าไม่ตรงกันแล้ว อยู่ไปค่าของเรามันยิ่งลดลง แล้วไฟมันจะค่อยๆหมดลงไป อันนี้อันตรายเลย อยากให้ไฟในตัวหมดลงไปดื้อๆ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นคนที่ไร้ค่า

 

Q : ทำไมจึงสนใจฟุตบอลไทยมากกว่าฟุตบอลต่างประเทศ ?

ตู่ พูห์มาร์ท : เราแค่คิดง่ายๆเลยว่าเราเป็นคนไทยนะ เราไม่เชียร์แล้วใครจะเชียร์ ลิเวอร์พูล เราก็รักแหละชอบมากเลย แต่ไปได้ไกลที่สุดก็แค่ผู้ติดตาม ส่วนบอลไทย ใครจะคิดว่าวันนึงเราจะได้ไปอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของทีมชาติไทย คือพี่อยู่บนรถแห่ ของทีมไทยตอนที่ได้แชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ปี 2014 ที่มีคนมารอหน้าสนามบินดอนเมืองเป็นหมื่นๆคน มีคนโบกมือให้ตามทางตลอดทาง จนไปถึงหน้าสนามคมฯ ที่สนามศุภฯ ลองคิดดูสิ นี่คือแชมป์อาเซียนนะ ไม่ใช่แชมป์โลก มันเป็นอะไรที่อยู่ในความทรงจำของชีวิตแล้วหละ แล้วก็คิดว่าหลังจากนี้คงไม่น่ามีช่วงเวลาแบบนั้นแล้ว 

 

Q : เกินกว่า 70 % ผู้สื่อข่าวกีฬาที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย จะเริ่มต้นงานกับสยามกีฬา ทำไมหลายๆท่านจึงเลือกที่จะทำงานกับสยามกีฬาเป็นที่แรกรวมทั้งตัวเองด้วย ?

ตู่ พูห์มาร์ท : ข้อดีของสยามกีฬาคือสิ่งที่อื่นไม่มีเลย คือ หนัก, หนักมาก, แล้วก็ค่อยข้างอิสระในการทำงาน ด้วยความที่พวกเขาทำสิ่งพิมพ์ มันจำเป็นที่จะต้องเน้นปริมานไว้ก่อน แต่การที่เน้นปริมานคุณภาพมันย่อมลดลงใช่มะ แต่นี่แหละคือสิ่งที่มันสอนเราว่า แล้วเราจะทำยังไงให้งานมันออกมาดีและมีคุณภาพ คนที่อยู่สยามกีฬาส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเดียวกันคือ ทนงานหนัก, ใจสู้ และสามารถทำได้หลากหลาย คนที่ออกไปพอไปเจอที่อื่นก็พูดกันทุกคนไม่มีที่ไหนหนักเท่าสยามกีฬาแล้ว ฝั่งหนังสือพิมพ์ เข้างาน 11 โมงเช้า ซึ่งต้องเลิกสองทุ่มใช่มะ แต่ต้องรอปิดหน้า รอตรวจ กลับจริงๆเที่ยงคืน ตัวพี่เองอยู่ฝั่งทีวี ต้องอ่านข่าว เข้าห้องตัดต่อ ลงเสียง พากย์บอล ทำครบ ช่วงไทยลีกบูมๆตอนนั้นปี 2010 มั่ง ชลบุรี มาเยือนเมืองทอง เขาเริ่มขายบัตร 10 โมงเช้า คนมารอซื้อตี 5 พี่ต้องตื่นไปรายงานหน้าสนามเมืองทองฯ แล้วให้แมสเซนเจอร์ วิ่งเอาเทปกลับไปส่งที่สตูฯ เพื่อรายงานข่าวตอนเที่ยง แล้วก็ไม่ได้กลับนะ ต้องอยู่สนามทั้งวัน รายงานผลตอนเย็นด้วย คิดดูสมัยก่อยไม่ได้มีอะไรที่ครบวงจรเหมือนตอนนี้ ตัวพี่เอง ใช้กล้อง HDV เป็น, ตัดต่อเป็น, ลงเสียง, อ่านข่าว, กราฟฟิค เอาง่ายๆที่เป็นเราทุกวันนี้เพราะเริ่มจากสยามกีฬานี่แหละ แต่มันต้องอัพเดทเทรนอยู่ตลอดเวลาด้วยนะ ไม่ใช่เป็นแล้วเป็นเลย

 

Q : การเป็นสื่อกีฬาที่ดี และมีคุณภาพ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างในมุมมองส่วนตัว ?

ตู่ พูห์มาร์ท : เชื่อไหมทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองดีหรือเปล่า แล้วไอ้ที่ดีมันวัดจากอะไร ยอดซับ ,ยอดไลก์ หรือคนพูดถึง ฯลฯ ไม่รู้จริงๆ ไอ้ที่ดีบอกลำบาก แต่ไอ้ที่ไม่ดีพอจะบอกได้ คือ อย่าทำตัวแบบที่ขายข่าวลวง เน้นยอดไลก์ , อย่าขายเรื่องเสียของคนอื่น มากกว่าเรื่องดี เพื่อให้เกิดการพูดถึง, อย่าทำตัวน้ำเต็มแก้ว อย่าคิดว่าที่รู้ คือแน่แล้ว มันยังมีคนที่เขารู้มากกว่าเราและเก่งมากกว่าเรา แค่3อย่างนี้ก็น่าจะพอเห็นภาพสื่อดีแล้วมั้ง ฮ่าๆ หลายๆคนที่เป็นคลื่นลูกเก่า ก็โดนคลื่นลูกใหม่เบียดหายไป ตัวพี่ก็แค่พยายามให้ไม่ถูกกลืนแล้วหายไปมากกว่า

 

Q : ตอนนี้หลายๆคนค่อนข้างเชื่อถือและติดตาม ในเรื่องของข่าววงในการย้ายทีมในตลาดไทยลีก ว่าตัวพี่ตู่มีความชัวร์กับเรื่องพวกนี้มาก จนมีการตั้งฉายาให้เป็น "โรมาโน่เมืองไทย" หรือ "โรมาตู่" ตรงนี้มองอย่างไร ?

ตู่ พูห์มาร์ท : จริงๆไม่เคยชอบว่าให้คนเป็นโรมาโน่เลย คือไอ้วันที่ถูกมันก็โอเค แต่ถ้าวันไหนมันผิด หรือไม่ตรงมา 2-3 ที ความมั่นใจมันก็เสียไปด้วย แถมโดนคนด่าอีก เราแค่อยากเป็นสื่อที่เสนอข่าวจริง ก็อาศัยว่าทำงานมานาน พอจะมีคอนเน็คชั่นบ้าง เมืองนอกมันมีข่าวลือที่จริง เราแค่อยากเป็นแบบนั้นมากกว่า

Q : คิดว่าทุกวันนี้สื่อกีฬาสู้กันด้วยอะไรบ้าง นอกจากความรวดเร็วในการนำเสนอข่าว ?

ตู่ พูห์มาร์ท : ความเร็วก็ส่วนนึง แต่มุมมองสำคัญกว่านะ ซึ่งทั้งคู่มันต้องทำไปด้วยกันนะ ส่วนตัวไม่ชอบทำอะไรแบบอิงกระแสมากนัก เราอยากให้คนที่ดูเราจะวนมาดูอีกกี่ปีก็ยังวนมาดูได้ เรื่องไม่เน่า อะไรแบบนั้นมากกว่า หลังๆงานของพี่เป็นแนวว่า ถ้าเกิดเรื่องขึ้นแล้วจะมีแนวโน้มไปยังไงกันต่อ ไม่เอาเรื่องที่เกิดขึ้นมาเผยข้อมูลว่ามีรายละเอียดอะไรยังไง อย่างเช่น เรื่องการย้ายทีมของนิว (ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์) คนอื่นก็จะมาอธิบายว่าทำไมถึงย้าย มีรายละเอียดยังไง แต่พี่กลับทำว่า มันดีทั้ง 3 ฝ่ายนะ แล้วนิวจะไปยังไงต่อ ชมันแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนนะไม่ผิดไม่ถูก แต่พี่เลือกทางแบบนี้

Q : อยากจะบอกอะไรกับน้องๆที่มีความฝันอยากจะเข้ามาทำงานเป็นนักข่าวกีฬา หรืออยู่ในวงการนี้ (ไกด์ไลน์) ?

ตู่ พูห์มาร์ท : ทำในสิ่งที่ชอบ ลองทำเลย ทุกวันนี้โลกเปิดกว้าง สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ แล้วเดี๋ยวมันจะรู้เองว่า มันเหมาะกับเราหรือเปล่า มีหลายคนที่เอาความชอบมาเป็นอาชีพนะ แต่เราจะทำให้อาชีพของเราที่มันมาร่วมกับความชอบ มันเจริญเติบโตไปยังไง หรือทำเป็นงานอดิเรก กับทำเป็นอาชีพมันต่างกันนะ หลายๆคนที่เข้ามาในการทำสื่อล้มหายตายจากไปก็มีเยอะ เจริญรุ่งเรื่องก็มีตัวอย่างเพียบ สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่ตัวเราจริงๆว่าเราจะทำมันสำเร็จเหมือนคนอื่นๆหรือเปล่า

Q : คำถามนี้ เป็นคำถามบังคับของ Inspire Connects ที่ต้องตอบทุกคน แม้จะเป็นผู้ชายอย่างพี่ก็ตาม ตอนนี้พี่ตู่มีสาวข้างกายทำงานหรือดูบอลเป็นเพื่อนหรือยัง หากยังไม่มี ให้บอกสเปคที่ชอบ ?

ตู่ พูห์มาร์ท : คบกับแฟนมา 10ปี แล้ว มีแพลนจะแต่งงานนะ แต่ก็ด้วยสถาการณ์แหละ สเปคก็แฟนคนนี้เลยฮ่าๆๆ ตัวเล็กๆ หมวยๆ ก็บอกเลยว่าชีวิตนี้พี่คงจะรักใครไม่ได้อีกแล้วครับ ^^

 

Q : สุดท้ายฝากผลงาน ช่องทางติดตาม มีอะไรอยากจะพูดเกี่ยวกับอะไรก็เชิญ ทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจคนไทยสู้โควิด ?

ตู่ พูห์มาร์ท : งานที่กำลังปั้นอยู่คือยูทูป ชื่อช่อง GOAT TV ครับ พึ่งเริ่มทำเมื่อต้นปีนี้เอง ทำแบบจริงๆจังๆ ตอนนี้ก็จะหมื่นซับละ แต่ก็ยังต้องการซับเพิ่มอยู่นะ ฝากด้วยครับ แล้วก็ฟุตซอลแอดดิก Futsal Addict เพจสำหรับคนที่ชอบฟุตซอลนะ ฝากกดไลค์ด้วยครับ แล้วช่วงนี้ผมทำเสื้อฟุตบอลวินเทจขาย ติดตามหรือสนใจสั่งซื้อกันได้ที่เพจเลย ฝากอีกเรื่องคือ ดูแลตัวเองดีๆนะครับ อย่าป่วยอย่าติดโควิด รอวันที่เราจะกลับมาปกติ ใช้ชีวิตดีๆปลอดภัยครับทุกคน

นี่แหละครับ พี่ตู่ พูห์มาร์ท หรือ กฤษณ พยุง อีกหนึ่งผู้สื่อข่าวสายกีฬา ที่ทางเราเลือกนำมาพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ รวมถึงประสบการณ์ทำงาน เป็นการไกด์ไลน์ถึงอาชีพนี้ และเป็นแนวทางให้น้องๆที่อยากเข้าวงการนี้ได้ติดตามกัน นับเป็นแขกผู้ชายไม่กี่คนของเรา แต่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและสาระแน่นอน สำหรับครั้งหน้า เราจะพาไปพบกับคนกีฬาหน้าตาดีและมีความสามารถคนใด ติดตามไว้นะครับ เพราะนี่คือ Inspire Connects สานต่อแรงบันดาลใจ สวัสดีครับ!

เรียบเรียงโดย : NickyMAN (นิก ธีร์ธวัช)

---------------------------------

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ << คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้